LOGISTICS CORNER

ฉบับที่ 476

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

“ใบกำกับสินค้า”

คำถาม    บุคคลใช้อะไรเป็นเอกสารแทนตน ???

คำตอบ   บุคคลใช้บัตรประชาชน พาสปอร์ต หรือเอกสารอื่น ๆ ที่ออกโดยราชการ เป็นเอกสารแทนตน

เมื่อบุคคลที่เป็นตัวการไม่สามารถเดินทางไปกระทำการเรื่องใดเรื่องหนึ่งด้วยตนเองได้ บุคคลที่เป็นตัวการก็สามารถมอบหมายให้ผู้อื่น เดินทางไปกระทำการแทนได้ในเรื่องที่กฎหมายกำหนด

ตัวการเพียงทำหนังสือมอบอำนาจพร้อมมอบเอกสารแทนตนเพื่อยืนยันตัวตนและฐานะ ซึ่งเปรียบเสมือนหนึ่งตัวการได้เดินทางมากระทำการด้วยตนเอง

บัตรประจำตัวประชาชน พาสปอร์ต หรือเอกสารอื่น ๆ ที่ราชการกำหนดจึงถือเป็นเสมือนบัตรแทนตนที่ตัวการใช้มอบหมายให้บุคคลอื่นกระทำการแทน

เอกสารแทนตนจึงต้องมีข้อมูลที่มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนโดยเฉพาะภาพถ่ายที่แสดงลักษณะ รูปร่าง หน้าตา และข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุคคล

หากการมอบหมายให้กระทำการในเรื่องหนึ่งแล้วพบว่า เอกสารแทนตัวการที่นำมาแสดงแทนตนนั้นไม่ใช่ตัวการตามที่ระบุ หรือไม่เหมือนกับตัวการที่แท้จริง

อะไรจะเกิดขึ้น ???

เบื้องต้น บุคคลที่เกี่ยวข้องย่อมมีความผิดตามกฎหมายที่อาจมีโทษปรับ หรือจำคุกตามแต่ความผิดนั้นจะเกี่ยวข้องกับกตัวบทฎหมายใด

นี่คือการปฏิสัมพันธ์ในสังคมโลกปัจจุบัน

สินค้าก็อาจเป็นตัวการที่มีบัตรแทนตนได้ไม่ต่างกับบุคคลเช่นกัน

สินค้าที่มีขนาดใหญ่ มีปริมาณมาก ๆ หรือบรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ย่อมไม่สามารถนำสินค้าขึ้นมาตรวจสอบได้อย่างง่ายดาย การตรวจสอบย่อมเป็นไปอย่างยากลำบาก

ใบกำกับสินค้า (Invoice) จึงเป็นเสมือนบัตรแทนสินค้าเพื่อการตรวจสอบสินค้าเบื้องต้น

ใบกำกับสินค้า (Invoice) นอกจากจะต้องแสดงลักษณะ รูปร่าง หน้าตา และข้อมูลอื่น ๆ ของสินค้าให้ครบถ้วนตามที่ผู้ตรวจสอบต้องการแล้ว

ใบกำกับสินค้า (Invoice) ที่ดียังต้องมีการแสดงรายละเอียดของข้อมูลที่แสดงให้เห็นภาพสินค้าที่แท้จริงได้อีกด้วย

การเคลื่อนย้ายสินค้า การผ่านพิธีการศุลกากร การชำระภาษีอากร การตรวจสอบสินค้าในคลัง และการคำนวณภาระต่าง ๆ ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกทั่วโลกย่อมไม่สามารถแบกสินค้าตัวการที่มีขนาดใหญ่โต หรือปริมาณมาก ๆ ทั้งหมดมาตรวจสอบเบื้องต้นได้อย่างสะดวกได้

ดังนั้น การส่งมอบใบกำกับสินค้า (Invoice) ให้มาตรวจสอบเบื้องต้นจึงเป็นระบบที่ทำกันในการค้าปัจจุบัน

แล้วก็จะมีคำถามในทำนองเดียวกันติดตามมา

หากการส่งมอบใบกำกับสินค้า (Invoice) ให้มาตรวจสอบในขั้นตอนต่าง ๆ เช่นการผ่านพิธีการศุลกากร การชำระภาษีอากร การตรวจสอนสินค้าคงคลัง หรือการคำนวณต่าง ๆ แล้วพบว่า ใบกำกับสินค้า (Invoice) ไม่ตรงกับสินค้านำเข้าหรือส่งออกที่แท้จริง

อะไรจะเกิดขึ้น ???

เบื้องต้น ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก และผู้ที่เกี่ยวข้องก็อาจต้องมีความผิดตามกฎหมายที่อาจมีทั้งโทษปรับ หรือจำคุกตามแต่ความผิดนั้นจะเกี่ยวข้องกับตัวบทกฎหมายใดซึ่งไม่ต่างกับความผิดของบุคคล

การค้าระหว่างประเทศ (International Trade) และกิจกรรมโลจิสติกส์ (Logistics Activity) เพื่อการรวบรวบ จัดเก็บ เคลื่อนย้าย และกระจายสินค้า จึงจำเป็นต้องมีใบกำกับสินค้า (Invoice) เพื่อการตรวจสอบเบื้องต้นอยู่เสมอ

แต่ปัญหาที่พบในปัจจุบันก็คือ ใบกำกับสินค้า (Invoice) ไม่ได้ทำขึ้นโดยราชการใดเหมือนบัตรประจำตัวประชาชนหรือพาสปอร์ต แต่ทำขึ้นโดยผู้นำเข้าและผู้ส่งออกเอง

ดังนั้น หากผู้นำเข้าและผู้ส่งออกเข้าใจรายละเอียดและข้อมูลต่าง ๆ ไม่เพียงพอต่อความต้องการของหน่วยราชการ ใบกำกับสินค้า (Invoice) ที่ทำขึ้น ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะไม่ตรง หรือไม่สอดคล้องกับสินค้าจริงจนกลายเป็นความผิดได้โดยง่าย

หน่วยงาน หรือหน่วยราชการหนึ่งอาจมีความต้องการรายละเอียด และข้อมูลในใบกำกับสินค้า (Invoice) เหมือนกันหรือต่างกันก็ได้

ดังนั้น ใบกำกับสินค้า (Invoice) ที่ดีจึงต้องมีข้อมูลที่สนองต่อความต้องการที่ถูกต้องของหน่วยงาน หรือหน่วยราชการ

ผู้นำเข้าและผู้ส่งออก จึงต้องเข้าใจรายละเอียดและข้อมูลสินค้าที่ถูกต้องก่อนทำใบกำกับสินค้า (Invoice) หรือปรึกษาผู้ชำนาญการโลจิสติกส์ที่ดี (Logistics Specialist)

ทั้งนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประสิทธิภาพ และมีต้นทุนที่เหมาะสมของการค้าระหว่างประเทศ (International Trade) และกิจกรรมโลจิสติกส์ (Logistics Activity) ต่อไป

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

The Logistics

จีนลงทุนพัฒนาท่าเรือ Hambantota ในศรีลังกา 

ประเทศศรีลังกาได้ลงนามกับจีน โดยให้สิทธิฝ่ายจีนในการบริหารและพัฒนาท่าเรือ Hambantota ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ของเกาะศรีลังกา การลงนามครั้งนี้มีมูลค่ากว่า 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ที่ผ่านมาศรีลังกาใช้เวลานานในการพิจารณาตัดสินใจลงนาม เนื่องจากมีความกังวลว่าฝ่ายจีนจะใช้ท่าเรือนี้เพื่อภารกิจด้านทหาร แต่รัฐบาลจีนได้รับรองว่าจะใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าระหว่างเอเชียและยุโรป เนื่องจากจีนคาดหวังว่า ท่าเรือ Hambantota จะมีบทบาทสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์ One Belt One Road

ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว รัฐวิสาหกิจจีนจะได้รับสิทธิ์การเช่าท่าเรือระยะเวลา 99 ปี รวมทั้งพื้นที่ 15,000 เอเคอร์ ในบริเวณเขตอุตสาหกรรม แต่จะต้องย้ายชาวบ้านหลายพันคนออกจากพื้นที่ดังกล่าว ส่งผลให้เมื่อเร็วๆนี้ สหภาพแรงงานของท่าเรือได้รวมตัวกันประท้วง ณ กรุงโคลัมโบ นอกจากนี้ MP Namal Rajapaksa ผู้แทนสหพันธ์ เสรีภาพประชาชน ( UPFA) ซึ่งเป็นบุตรชายของอดีตประธานาธิบดีศรีลังกา มีความเชื่อว่าจีนจะทำลายอธิปไตยศรีลังกา

ที่ผ่านมาศรีลังกาได้กู้ยืมเงินกว่าพันล้านเหรียญสหรัฐจากจีนเพื่อสร้างถนน ท่าเรือ และสนามบินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจาสงครามกลางเมืองได้ยุติลงเมื่อปี 2552 ดังนั้นเงินลงทุนของฝ่ายจีนเพื่อพัฒนาท่าเรือ Hambantota จะถูกนำไปชำระหนี้ดังกล่าว

สำหรับตอนนี้ศรีลังกายืนยันว่า กองทัพเรือศรีลังกาจะรับผิดชอบในการรักษาความปลอดภัย ณ ท่าเรือ Hambantota และไม่อนุญาตให้กองทัพเรือต่างชาติใช้เป็นฐานทัพ จึงมีคำถามว่า จีนจะทำอย่างไร หากการลงทุนขนาดใหญ่ในต่างประเทศจะถูกคุกคามในอนาคต

ที่มา: http://www.ditp.go.th/ditp_pdf.php?filename=contents_attach/193143/193143.pdf&title=193143