LOGISTICS CORNER

ฉบับที่ 485

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

“Shipping Mark”

ข้างหีบห่อสินค้า ไม่มี Shipping Mark and Number

การนำสินค้าเข้าหรือส่งสินค้าออกของประเทศไทย

ทำไมต้องมีค่าปรับสำหรับ ???

ข้อปฏิบัติที่ทำให้การค้าระหว่างประเทศ ดูแตกต่างจากการค้าภายในประเทศอย่างสิ้นเชิงคือ วัฒนธรรม (Culture) และการศุลกากร (Customs)

บางท่านก็เรียก 2C’s ผู้ยิ่งใหญ่ที่ทุกประเทศต้องมี

วัฒนธรรมและการศุลกากรของแต่ละประเทศที่แตกต่างกันนี่เอง หลายกรณีก็ส่งผลให้เป็นอุปสรรคทางการค้า ระบบขนส่ง (Shipping) และระบบ Logistics อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สมมติสินค้ามีเจ้าของหลายรายใช้หีบห่อ (Packing) คล้ายกัน หรือเหมือนกันโดยไม่มี Shipping Mark and Number กำกับข้างหีบห่อ แต่สินค้าทั้งหมดนี้ถูกจัดเรียงในตู้คอนเทนเนอร์ใบเดียวกันแบบตู้รวม LCL (Less than Container Loaded)

อะไรจะเกิดขึ้น ???

คำตอบคือ ผู้เคลื่อนย้ายสินค้าปลายทาง เจ้าหน้าที่คลังสินค้า กรรมกร คนทำงาน หรือแม้แต่ผู้รับสินค้าปลายทางก็อาจส่งมอบและรับมอบสินค้าผิดได้ง่าย ๆ

ยิ่งไปกว่านั้น การนำสินค้ามาให้ศุลกากรตรวจสอบเพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีอากรก็ยังทำได้ยาก ก่อให้เกิดความวุ่นวาย ความล่าช้าต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

สุดท้ายก็อาจสร้างความเสียหายต่อเจ้าของสินค้าเอง

การจัดทำ Shipping Mark and Number ให้ชัดเจนกำกับไว้ที่ข้างหีบห่อสินค้า จึงเป็นการตอบโจทย์นี้ได้ถูกต้องและตรงที่สุด

บางประเทศให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้มาก ศุลกากรของประเทศนั้นก็จะออกประกาศให้มีค่าปรับในกรณีที่ข้างหีบห่อไม่มี Shipping Mark and Number กำกับดังกล่าว

ในอดีตที่ผ่านมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2469 ประเทศไทยก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้โดยมีการออกกฎหมายให้มีค่าปรับไม่เกิน 5,000 บาท แต่ในทางปฏิบัติก็มักปรับในอัตราที่พอรับได้คือ 1,000.00 บาท เรื่อยมา

แล้วอยู่ ๆ ค่าปรับดังกล่าวก็เกิดเปลี่ยนแปลงให้สูงขึ้นอย่างน่าตกใจ

ใน พรบ. ศุลกากรใหม่ พ.ศ. 2560 ที่จะนำมาใช้ราวกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ ได้ยกเลิก พรบ. ศุลกากาเก่า ๆ มากถึง 24 ฉบับมารวมแล้วปรับปรุงให้ทันสมัยและเป็นปัจจุบัน ให้เหลือเพียงฉบับเดียวเพื่อความสะดวกในการใช้และอ้างอิง

ในบทการลงโทษ ตามมาตรา 211 ระบุว่า

“ผู้นําของเข้าหรือผู้ส่งของออก ผู้ใดไม่จัดให้มีเครื่องหมายหรือเลขหมายกํากับหีบห่อ หรือภาชนะบรรจุของ หรือไม่แสดงเครื่องหมายหรือเลขหมายไว้ในเอกสารที่เกี่ยวกับของนั้น ต้องระวางโทษปรับ ไม่เกินห้าหมื่นบาท”

กฎหมายศุลกากรไทยกำหนดค่าปรับเพิ่มขึ้นถึง 50,000.00 บาท สูงมากอย่างน่าตกใจ ซึ่งผู้ชำนาญการศุลกากรบางท่านให้ความเห็นว่า

ค่าปรับในระยะต้น ๆ อาจเริ่มจาก 1,000.00 บาท เหมือนเดิมไปก่อน แล้วความร้อนแรงก็จะค่อย ๆ ปรับสูงขึ้นเรื่อยไปตามความเหมาะสม

นี่เป็นเพียงการคาดเดาเท่านั้น

สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่า กฎหมายศุลกากรของไทยกำลังให้ความสำคัญต่อ Shipping Mark and Number ที่กำกับข้างหีบห่อมากขึ้น

แล้วผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออกในวันนี้รับทราบกันดีแล้วหรือยัง ???

อย่างน้อย ผู้นำเข้าของไทยก็ควรจะระบุลงไปใน L/C หรือใบสั่งซื้อทุกครั้ง หากไม่รู้จะใช้อะไรเป็น Shipping Mark and Number กำกับข้างหีบห่อ ก็แนะนำให้ใช้ชื่อกิจการของตนเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด

หากเอาง่าย ๆ ก็ใช้อักษรย่อชื่อกิจการนี่ล่ะให้เป็นมาตรฐานสำหรับการสั่งซื้อทุกครั้ง

อย่างน้อยก็ป้องกันค่าปรับสูง ๆ ค่าใช้จ่ายอื่น ในการชำระค่าปรับ ค่าเช่าโรงพักสินค้า และค่าเสียเวลาตู้สินค้า (Demurrage Charge) ที่อาจต้องรอระหว่างดำเนินพิธีการทางกฎหมายในการชำระค่าปรับ และค่าใช้จ่ายไม่พึงประสงค์อื่น ๆ ได้

แล้วคำถามก็ตามมาอีก Shipping Mark and Number ที่ใช้กำกับข้างหีบห่อนั้นจะใช้เป็นภาษาอื่นนอกจากภาษาอังกฤษได้หรือไม่ หรือจะใช้เป็นรูปภาพแทนตัวอักษรได้หรือไม่ ???

แล้วคำตอบก็มาอยู่ตรงประกาศกรมศุลกากรที่ 23/2556 ซึ่งยังมีผลใช้บังคับอยู่

ประกาศกำหนดให้ Shipping Mark and Number ต้องพิมพ์สำแดงลงในใบขนสินค้าเพื่อการผ่านพิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์โดยตัวอักษรไม่เกิน 512 ตัว และเป็นอักษรที่สามารถบันทึกได้ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือภาษาอังกฤษ

ในประกาศกำหนดว่า หากเป็นภาษาอื่นหรือเป็นรูปภาพที่ไม่สามารถพิมพ์ได้ โดยผ่อนผันให้ระบุคำว่า “Picture” แทน

ประกาศข้อ 3 กำหนดให้สินค้าที่ได้รับการผ่อนผันไม่ต้องมี Shipping Mark and Number มีอะไรบ้างตาม ป.ล. ท้ายบทความนี้

วันนี้ 2 C’s ผู้ยิ่งใหญ่ของประเทศไทยให้ความสำคัญกับ Shipping Mark and Number มากขึ้น

ตัวแทนออกของ (Customs Broker) ที่ดีก็ต้องลุกขึ้นมาทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการให้รับทราบเพื่อประสิทธิภาพงานโดยพร้อมเพรียงกัน

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

ป.ล.      การสำแดงเครื่องหมายและเลขหมายหีบห่อ ในใบขนสินค้า

ตามประกาศกรมศุลกากรที่ ๒๓/๒๕๕๖ กำหนดคู่มือการผ่านพิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ว่าด้วยกระบวนการทางศุลกากรสำหรับการนำเข้า (e-Import) เกี่ยวกับการ สำแดงเครื่องหมายและเลขหมายหีบห่อ (Shipping Marks) ในใบขนสินค้าให้ตรงกับความเป็นจริงซึ่งจะต้องตรงกับใบตราส่งสินค้าโดยให้สำแดง ดังนี้

  1.         ถ้าเครื่องหมายและเลขหมายหีบห่อเป็นข้อความ ให้บันทึกเป็นข้อความตามจริง หากเครื่องหมายและเลขหมายหีบห่อมีความยาวเกิน 512 ตัวอักษร ให้บันทึกเพียง 512 ตัวอักษรได้
  2.         ถ้าเครื่องหมายและเลขหมายหีบห่อเป็นข้อความที่เป็นภาษาต่างประเทศ ซึ่งไม่สามารถบันทึกข้อความนั้น ได้ เช่น ภาษาจีน ให้ระบุคำว่า “PICTURE”
  3.         ถ้าเครื่องหมายและเลขหมายหีบห่อเป็นรูปภาพให้ระบุคำว่า “PICTURE”

กรณีผ่อนผันไม่ต้องสำแดงเครื่องหมายและเลขหมายหีบห่อ (Shipping Marks) ในการจัดทำข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าให้ระบุคำว่า “NO SHIPPING MARK” แทนได้ สำหรับกรณีดังต่อไปนี้

3.1       กรณีหีบห่อของใช้ส่วนตัวตาม ประเภทที่ 5 ภาค 4 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530

3.2       กรณีหีบห่อของที่ได้รับเอกสิทธิ์ ตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีต่อองค์การสหประชาชาติตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือตามสัญญากับนานาประเทศ

3.3       ของที่มิได้บรรจุหีบห่อ เช่น รถยนต์ ยางรถยนต์ รางรถไฟ ลวด โลหะเป็นแท่งหรือก้อนกระดาษพิมพ์หนังสือเป็นม้วน กระเบื้อง

3.4       ของเหลวบรรจุในขวดใหญ่และมีวัตถุถักหุ้มขวด เช่น น้ำกรด

3.5       ของที่มาเป็นกอง เช่น ถ่านหิน

3.6       ของที่บรรจุหีบห่อเดียว

3.7       ของที่บรรจุในหีบห่อที่เป็นมาตรฐานเดียว (Standard Packing) เช่น ลังไม้ หรือลังกระดาษที่มี   ขนาดกว้างยาวเท่ากัน ของที่บรรจุมีจำนวนเท่ากัน เช่น นมสด สุ รา เบียร์ อาหารปนแป้ง วิทยุ

3.8       ของที่มาเป็นถังเหล็กหรือถังไฟเบอร์ (Drum or Fiber Drum) ที่มีลักษณะขนาด น้ำหนัก และจำนวนของที่บรรจุเท่ากัน เช่น จุกขวด น้ำยาดับกลิ่น น้ำมันเครื่อง สีทา

3.9       ของที่บรรจุมาในถุงกระดาษหรือกระสอบ ที่มีลักษณะขนาด น้ำหนัก และจำนวนของที่บรรจุเท่ากันเช่น ปุ๋ย แอมโมเนีย แป้ง ข้าวสาลี หิน กากเพชร น้ำตาล

3.10     ของที่บรรจุมาในหีบโปร่ง (Crate) เช่น เครื่องยนต์

The Logistics

e-Commerce ของจีนเจอปัญหาขาดแคลนกล่องกระดาษแข็ง

สัปดาห์นี้ขอพักข่าวเกี่ยวกับ BRICS  มาคั่นด้วยเรื่องของกล่องกระดาษที่กำลังเผชิญกับสภาวะขาดแคลนในประเทศจีนกันก่อนนะคะ ปัจจุบัน ธุรกิจe-Commerce ของจีนกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีการส่งพัสดุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2559 จำนวนพัสดุของจีนสูงถึง 31,300 ล้านห่อ เพิ่มขึ้น 6 เท่าจาก 4 ปีก่อนทำให้ความต้องการของกล่องกระดาษแข็งสำหรับบรรจุสินค้าเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก อนึ่ง เพื่อป้องกันปัญหามลพิษทางอากาศ รัฐบาลจีนได้ให้ความสำคัญในการควบคุมผู้ผลิตกระดาษมากขึ้น หากโรงงานผลิตกระดาษรายใดไม่ตรงกับมาตรฐานการปล่อยไอเสีย จีนจะสั่งให้โรงงานหยุดการผลิต

ทั้งนี้ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 รัฐบาลจีนได้สั่งห้ามนำเข้าขยะบางประเภท (รวมทั้งกระดาษเสีย) จากต่างประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมาจีนนำเข้าขยะ พลาสติกและเหล็กจากยุโรป แต่ปรากฏว่ามีสารพิษตกเจือปนในขยะ จึงมีเสียงวิจารณ์ว่า “จีนกลายเป็นสถานที่ทิ้งขยะของโลก” ด้วยเหตุผลนี้ทำให้ขาดแคลนกล่องกระดาษแข็งในจีน สถิติปี 2559 ระบุว่า จีนบริโภคกระดาษ เพื่อนำไปผลิตกล่องกระดาษแข็งรวมทั้งสิ้น 46 ล้านตัน คิดเป็น 1 ใน 3ของการบริโภคทั้งหมดของโลก (โดยนำเข้ากระดาษเสียประมาณปีละ 17 ล้านตัน) เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2560 บริษัท Nine Dragons Paper Industryจำกัด ผู้ผลิตกล่องกระดาษแข็งรายที่ใหญ่ที่สุดของจีน ได้ประกาศขึ้นราคาสินค้าอีกครั้ง ซึ่งเป็นการขึ้นราคาครั้งที่ 4 แล้ว

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ในวงการธุรกิจที่เกี่ยวข้องระบุว่า เดือนกรกฎาคม 2559 ราคากล่องกระดาษแข็งคิดเป็น 3,000 หยวน/ตัน ในขณะที่เดือนกันยายน 2560 ราคาเพิ่มขึ้นเป็น 5,000 หยวน/ตัน การที่จีนปรับราคากล่องกระดาษแข็งเพิ่มสูงขึ้น นอกจากจะเกี่ยวข้องกับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับปริมาณการผลิตที่ลดน้อยลงด้วย

การขาดแคลนกล่องกระดาษแข็ง จะมีผลกระทบต่อเทศกาลช้อปปิ้งออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กิจกรรม ” Double 11 ” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 11เดือนพฤศจิกายน 2560 ผ่านเว็บไซต์ต่างๆ ที่มีชื่อเสียงของจีน เช่น Tmall.com JD.com Suning.com เป็นต้น โดยในวันนี้ร้านค้าออนไลน์จะลดราคาสินค้า ทำให้เกิดมูลค่าซื้อขายสูงถึงหมื่นล้านหยวน แน่นอนว่า การซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ต้องอาศัยกล่องกระดาษในการบรรจุและขนส่ง หากปริมาณกล่องไม่เพียงพอกับความต้องการจะสร้างความไม่สะดวกแก่ผู้บริโภคอย่างแน่นอน

ที่มา http://www.fiet.gov.cn

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน กันยายน 2560