LOGISTICS CORNER

ฉบับที่ 495

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

มุมมอง 2561

‘แห่กลับ กทม. หนึบทุกสาย’

หัวข้อข่าวรองในไทยรัฐประจำวันที่ 2 มกราคม 2561 พร้อมรายละเอียดของข่าวที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

‘เงินสะพัดเชียงแสนวันละ 10 ล้าน – กรุงเทพฯ ถูกจับเมาขับสูงสุด’

‘คสช. พร้อมตรึงกำลังดูแลความเรียบร้อยปี 2561 ยังไม่พบปัจจัยทำเลือกตั้งเคลื่อนจากสิ้นปี’

เนื้อหาข่าวสำนักอื่น ๆ ก็ไม่ต่างกันที่สื่อว่าความสุขที่คนไทยได้รับช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ได้ส่อเค้าความกังวลด้านเศรษฐกิจมีท่าทีคลายตัวลงบ้าง

ปี 2560 ผ่านพ้นไปแล้ว

เวลา 365 วัน ของปี 2560 ที่ผ่านไปได้สอนอะไรต่อระบบสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของไทย แน่นอนว่าทุกคนในระบบสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองย่อมมีผู้ได้และผู้เสียกันทั้งนั้น

สิ่งที่เห็นได้ชัดก่อนสิ้นปี 2560 คือ ระบบกฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้น กฎหมายไทยมีมากแต่คนรู้กฎหมายจริง ๆ มีน้อย ทุกเทศกาลจึงมีคนยิงปืนขึ้นฟ้าโดยไม่รู้ว่าผิดกฎหมาย กระทั่งมีข่าวการจับกุมนักร้องดังเกิดขึ้นใหญ่โต

หากยิงแล้วไม่ลงในโซเชียล ตำรวจก็คงไม่รู้

การทำผิดกฎหมายของคนไทยอย่างไม่รู้ตัวจึงมีมาก แล้วก็รวมไปถึงการทำผิดกฎระเบียบองค์กร ทำผิดต่อสังคม จนทำให้การเมืองของไทยกลายเป็นการเมืองที่ทำผิดง่าย ๆ เหมือนกัน

เมื่อผู้นำประเทศต้องการทำกฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ ให้เป็นที่ประจักษ์ และมีความจริงจัง คดีความต่าง ๆ ในปี 2560 ที่เพิ่งผ่านไปจึงมีการตัดสินโทษอย่างชัดเจน รวดเร็ว และหนักแน่น

ขณะเดียวกันก็มีการนำกฎหมายใหม่ ๆ ออกมาบังคับใช้ กฎหมายเก่าได้รับการปรับปรุงแก้ไขไม่เว้นแม้แต่กฎหมายศุลกากรจำนวน 24 ฉบับที่ถูกปรับปรุงให้เหลือเพียงฉบับเดียว

ผู้ประกอบการนำเข้า ส่งออก ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และ Logistics ที่สุจริตย่อมไม่มีความกังวลใด ๆ แต่กลับส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ทุจริตต่างต้องระมัดระวังกันมากขึ้น

คนในวงการธุรกิจและการเมืองคาดหมายกันว่าปลายปี 2561 จะมีการเลือกตั้งสอดคล้องกับท่าทีของคณะ คสช. ขณะที่บางท่านทำนายว่า “ไม่มี” ซึ่งมักมองไปที่ความขัดแย้งการทางการเมืองภายในประเทศที่ไม่มีใครรู้ว่าจะส่งผลบานปลายจนใหญ่โตขึ้นหรือไม่

เว้นแต่ คณะ คสช. จะเอาอยู่

การเลือกตั้งไม่ว่าจะมีหรือไม่มีก็ตาม แต่เจตนารมณ์ที่แสดงออกว่าจะมี ได้ทำให้ความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติเพิ่มมากขึ้น แล้วก็มาตอกย้ำจากการเปิดทำการวันแรก 3 มกราคม 2561 ตลาดหุ้นก็ปิดบวกไปถึง +24.82 จุด ไปจบที่ 1,778.53 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวม 85,850.49 ล้านบาท

สำนักข่าวหลายสำนักต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกัน

‘เครื่องยนต์ 4 เครื่องที่เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศไทยได้จุดติดแล้วไม่ว่าจะเป็นการบริโภคภายในประเทศ การค้าต่างประเทศ การลงทุนภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชน’

หากเป็นไปในแนวทางนี้ สัญญาณแสดงเศรษฐกิจกำลังจะดีขึ้นในปี 2561 ได้เกิดขึ้นแล้ว

เว้นแต่สถานการณ์ความขัดแย้งในไทยจะกลับมาอีก แล้วคณะ คสช. ก็เอาไม่อยู่จนส่งผลกระทบต่อระบบสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองภายในประเทศตามไปด้วย

ขณะที่สถานการณ์โลกก็ไปในทิศทางเดียวกัน

วันนี้ความขัดแย้งระหว่างประเทศไม่ว่าจะเป็นปัญหาบนคาบสมุทรเกาหลี อยู่ ๆ ก็ชื่นมื่นขึ้นในช่วงต้นปีโดยไม่รู้ว่าจะแย่ลงอีกหรือไม่ ปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ความผันผวนของราคาน้ำมันดิบ ปัญหาการอพยพ อาชญกรข้ามชาติ การแบ่งฝ่ายของประเทศต่าง ๆ โดยมีสหรัฐและจีนเป็นตัวละครหลัก ขณะที่ประเทศอื่นเป็นตัวละครรอง

ความขัดแย้งเหล่านี้ ทั้งเป็นการช่วงชิงความได้เปรียบทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองระหว่างประเทศ และทั้งส่งผลกระทบต่อระบบสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองโลกในเวลาเดียวกัน

วันนี้ ความขัดแย้งจึงเป็นองค์ประกอบของโลกและของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างนี้แล้วอะไรกำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทยในปี 2561 ???

ประเทศไทยในปี 2561 ยังคงดำเนินตามรอยของปี 2560 ต่างกันที่ความจริงจังที่อาจมีคนสงสัย กังขา หรือที่เคยเกิดภาพหลอนมาก่อน

ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eatern Economic Coridor – EEC) ที่ผู้นำประเทศหยิบขึ้นมาเป็นตัวชูโรงตั้งแต่ปี 2560 โดยอาจลืมไปว่า ก่อนหน้านั้น 2-3 ปี ประเทศไทยก็ประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนหลายแห่ง มันทำให้คนส่วนหนึ่งเกิดอาการหลอนขึ้นมา

เวลานั้น คนที่ได้ประโยชน์ตามแนวคิดเขตเศรษฐกิจพิเศษก็ดีใจ ตื่นตัว และต่อมาก็ค่อย ๆ จางหายลงไป มาวันนี้คนที่ได้ประโยชน์จาก EEC ก็มีความดีใจ ตื่นตัวไม่ต่างกัน

แล้วคนที่เคยมีความรู้สึกแบบนี้จนจางหายไปก็เริ่มงง ๆ กับความจริงจังที่ว่าจะมีมากแค่ไหน

เมื่อรวมกับความพยายามที่จะผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นยุค 4.0 ในเรื่องต่าง ๆ ก็ทำให้รู้สึกว่า ทุกประการล้วนมาจบที่ความจริงจังจะมีมากน้อยเพียงใดเท่านั้น

ไม่ว่าความจริงจังจะมีมาก มีน้อย กับแนวคิดและนโยบายต่าง ๆ  แต่วันนี้ วิวัฒนาการของเทคโนโลยีด้านการผลิตและการค้ากลับเติบโตด้วยตัวของมันเองอย่างรวดเร็ว

ความเติบโตที่มีวิวัฒนาการก็เพื่อสนองต่ออัตราการเกิดของมนุษย์เท่านั้น มนุษย์เกิดมาแล้วต้องกินต้องใช้ทั่วทุกมุมโลกทุกวินาที

ความขัดแย้งทั้งภายในและระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเกิดใหญ่โตและบานปลายอีกหรือไม่ ความเอาจริงจังของรัฐบาลในการผลักดันเศรษฐกิจไม่ว่าจะมีมากน้อยเพียงใด และไม่ว่าจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจมากอย่างไร

สุดท้ายมนุษย์ที่เกิดมาต่างก็ยังต้องกินต้องใช้อยู่ดี

หากความขัดแย้งภายในและนอกประเทศบานปลาย การผลิตและธุรกิจการค้าก็อาจจะชะงักลงไปบ้าง แต่สุดท้ายก็ต้องค่อย ๆ กลับมาฟื้นตัว

ดังนั้น ไม่ว่าผลแห่งความขัดแย้งและความจริงจังของรัฐบาลจะออกมาอย่างไร ในซีกของการผลิต ระบบธุรกิจการค้า และ Logistics ของประเทศไทยและทั่วโลกในปี 2561 จะยังคงเดินหน้าต่อไป

ปี 2561 จึงเป็นปีแห่งการฟื้นตัวได้ไม่ยากเย็นนัก

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

The Logistics

มาทำความรู้จักระบบขนส่งพื้นฐานของ BRICS กันเถอะ ​(​China ตอนที่ ​1)​​

ภาพรวมด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศจีน (Infrastructure)

ประเทศจีน หรือ ชื่อทางการ สาธารณรัฐประชาชนจีน นั้น เป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานหลายพันปี มีอิทธิพลทางวัฒนธรรมต่อหลายประเทศรวมถึงไทย และในขณะเดียวกันก็ยังประกอบไปด้วยหลากหลายวัฒนธรรมในประเทศเดียวกันอีกด้วย จีนปกครองโดยราชวงศ์หลาย 10ราชวงศ์ จนปฏิวัติเป็นระบอบสาธารณรัฐที่เป็นกึ่งประชาธิปไตย ก่อนจะเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เช่นในปัจจุบัน

ประเทศจีนมีพื้นที่ 9.6 ล้านตารางกิโลเมตร นับว่าใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย มีพรมแดนติดต่อประเทศต่างๆ โดยรอบ 15 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีเหนือ รัสเซีย มองโกเลีย คาซัคสถาน เคอร์กิซสถาน ทาจิกิสถาน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดีย เนปาล สิกขิม ภูฐาน พม่า ลาว และเวียดนาม และมีประชากรประมาณ 1.4 พันล้านคน ไม่รวมเขตบริหารพิเศษฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน (สิ้นปี 2014) ด้วยเหตุที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล กอปรกับในอดีตจีนได้ปิดประเทศอยู่นาน จีนจึงเร่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานอย่างเต็มที่นับแต่ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา จีนเป็นประเทศที่ทุ่มเทกำลังให้กับงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานมากที่สุดในภาคพื้นเอเชีย ช่วง 10 ปีนับจากปี 2002-2012 จีนได้ลงทุนในปริมณฑลโครงสร้างพื้นฐานรวมทั้งสิ้น 4.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 8.5% ของ GDPสูงกว่าระดับเฉลี่ยร้อยละ 2.6 ของอเมริกาและประชาคมยุโรป อันเป็นปัจจัยสาคัญที่ผลักดันให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้น1.5 เท่า การเจริญเติบโตเฉลี่ยต่อปีร้อยละ 10.7

การค้ากับไทยและอาเซียน จีนเป็นประเทศที่มีสัดส่วนการค้ากับไทยและอาเซียนสูงที่สุดในกลุ่ม BRICS โดยสัดส่วนมูลค่าการนำเข้าและส่งออกระหว่างไทยกับจีนอยู่ที่ร้อยละ 15.9 ของมูลค่าการนำเข้าและส่งออกของไทยกับทั่วโลก และสัดส่วนมูลค่าการนำเข้าและส่งออกของอาเซียนกับจีนอยู่ที่ร้อยละ 1.28 ของมูลค่าการนำเข้าและส่งออกของอาเซียนกับทั่วโลก สินค้านำเข้าที่สำคัญจากจีนมายังไทยและอาเซียน ได้แก่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร เหล็ก และเชื้อเพลิง เป็นต้น ส่วนสินค้าส่งออกที่สำ​คัญที่ไทยและอาเซียนส่งออกไปยังจีน ได้แก่ ชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนเครื่องจักร และแร่ธาตุ เป็นต้น

ที่มา: International Institute for Trade and Development (ITD) www.itd.or.th