LOGISTICS CORNER

ฉบับที่ 497

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

“ความถูกต้อง”

คนทำบัตรประชาชนหายถูกจับเข้าคุก

เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นที่ไหนก็ได้โดยเฉพาะประเทศไทย ใครไม่โดนกับตัวไม่รู้หรอกว่า มันปวดร้าวเพียงใด

ทั้ง ๆ ที่ตอนบัตรประชาชนหายก็ไปแจ้งความแล้ว แต่ตำรวจเจ้าของท้องที่ทางภาคเหนืออ้างว่า ได้ออกหมายเรียกไปก่อนหน้านี้ แต่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาพบ

ภายหลังหมายเรียกเปลี่ยนเป็นหมายจับ ผู้ถูกกล่าวหากลับมารายงานตัวแต่มารายงานตัวที่กองปราบและให้การกับตำรวจกองปราบพร้อมหลักฐานใบแจ้งความว่า

‘บัตรประชาชนหายไปก่อนหน้านี้’

เรื่องราวที่ออกมาตามสื่อต่าง ๆ แจ้งว่าบัตรประชาชนที่หายถูกแก๊งคอลเซนเตอร์นำไปเปิดบัญชีกับธนาคารถึง 9 บัญชี จากธนาคาร 7 แห่ง ทั้ง ๆ ที่ผู้มาขอเปิดบัญชีใส่หน้ากากอนามัยปิดบังใบหน้าจนทำให้ไม่รู้ว่า คนที่มาเปิดบัญชีมีหน้าตาเหมือนกับรูปในบัตรประชาชนหรือไม่

ยิ่งไปกว่านั้น บัตรประชาชนที่หายยังถูกนำไปเปิดซิมโทรศัพท์ใช้งานอีก 4 หมายเลขเพื่อหลอกประชาชนให้โอนเงินเข้ามา

ผู้ถูกกล่าวหามาแสดงความบริสุทธิ์ที่กองปราบจากนั้นก็ถูกส่งตัวไปสอบสวนต่อใน สน. ภาคเหนือที่เป็นท้องที่เกิดเหตุ

เมื่อสอบสวนแล้ว ตำรวจท้องที่ก็ส่งตัวมายังศาลเพื่อขออำนาจฝากขัง เนื่องจากความเสียหายใหญ่หลวง ตำรวจจึงคัดค้านการประกันตัว แต่จากเนื้อหาข่าวระบุว่า ตำรวจให้ข้อมูลต่อศาลไม่ครบถ้วนในการคัดค้านการประกันตัว

ในที่สุด ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว ต้องนอนในห้องขัง

ข่าวนี้เป็นที่กล่าวถึงในช่วงเวลานี้ ธนาคารยืนยันว่า การเปิดบัญชีเป็นไปตามขั้นตอนอย่างถูกต้องตามพิธีการ ขณะที่ตำรวจท้องที่ก็ยืนยันว่า การสอบสวนและส่งตัวขออำนาจศาลเพื่อฝากขังก็เป็นไปตามขั้นตอนอย่างถูกต้องตามพิธีการ ขณะที่ค่ายโทรศัพท์มือถือที่เปิดซิมไม่มีข่าวออกมา

ต่างฝ่ายต่างอ้างได้ทำตามขั้นตอนด้วยความถูกต้อง

หากเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง และหากผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์จริงแต่กลับถูกจับติดคุก อย่างนี้แล้วเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรทั้ง ๆ ที่ต่างฝ่ายต่างก็อ้างความถูกต้อง

นี่กระมัง ผู้ที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองจึงอยู่ในอาการตกใจ เหตุผลง่าย ๆ เพียงข้อเดียวคือ กระบวนการยุติธรรมน่าจะมีไว้เพื่อรักษาความยุติธรรมในสังคม

คนผิดต้องได้รับโทษ คนบริสุทธิ์ต้องได้รับการคุ้มครอง นี่คือความถูกต้อง

แต่ความถูกต้องที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้กลับทำให้คนที่น่าจะบริสุทธิ์ติดคุก

ส่วนเรื่องราวจะเป็นจริงขนาดไหน จะมีลับลมคมในอย่างไร และตอนจบจะลงเอยอย่างไร เชื่อว่าอีกไม่นาน กระบวนการทำงานต่าง ๆ คงให้คำตอบ

ในการเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างประเทศก็ไม่ต่างกัน

วัฒนธรรมและพิธีการศุลกากรของแต่ละประเทศ ทำให้การนำเข้า การส่งออก และระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ (International Logistics) ถูกกระทบจากความถูกต้องหลายครั้ง

เจ้าพนักงานศุลกากรยึดมั่นแต่กฎหมาย เคารพแต่พิธีการโดยไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย อ้างความถูกต้องจนสร้างความเสียหายก็มีให้เห็นมากมาย

เจ้าหน้าที่ศุลกากรมีหน้าที่หลัก ๆ เพียง 2 ข้อเท่านั้นคือ การจัดเก็บภาษีอากรเกี่ยวกับสินค้าหนึ่ง และการป้องกันปราบปรามการหลบเลี่ยงภาษีอากร และการลักลอบสินค้านำเข้าและส่งออกอีกประการหนึ่ง

การป้องกันและปราบปรามก็เพื่อตรวจจับผู้ที่มีเจตนาไม่บริสุทธ์และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่บริสุทธ์เท่านั้น แต่แล้วเหตุการณ์ความยึดมั่นต่อความถูกต้องตามพิธีการก็เกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน

ล่าสุด กรณีที่ไม่น่าจะต่างจากบัตรประชาชนหายแล้วถูกติดคุกก็เกิดขึ้นกับการส่งออกปลากะตักตากแห้งและปลาช่อนตากแห้งที่ต้องขออนุญาตกรมประมงก่อนส่งออก

การขออนุญาตสมัยใหม่ก็คือการกรอกข้อมูลลงใน APP ไปยังกรมประมงและจะได้รับเลขที่การอนุญาตมาพิมพ์ลงในใบขนสินค้าขาออกเพื่อยื่นต่อกรมศุลกากร

พนักงานตัวแทนผู้ส่งออกด้วยความพลั้งเผลอได้พิมพ์รายการปลากะตักตากแห้ง ลงใน APP เพียงรายการเดียว ขณะที่ใบกำกับสินค้า (Invoice) และใบขนสินค้าขาออกได้พิมพ์ปลากะตักตากแห้งและปลาช่อนตากแห้งทั้ง 2 รายการลงไป

เมื่อส่งออกไปนานนับปี แล้วอยู่ ๆ กรมศุลกากรก็ตรวจพบข้อผิดพลาดดังกล่าว ใบอนุญาตไม่มีคำว่า ปลาช่อนตากแห้งจึงส่งเรื่องมายังผู้ส่งออกให้ชี้แจง

ไม่ว่าผู้ส่งออกจะชี้แจงอย่างไร ข้อกล่าวหาว่าลักลอบส่งออกสินค้าที่ต้องขออนุญาตพร้อมค่าปรับเท่ากับราคาสินค้าราว 130,000 บาท ก็เกิดขึ้นทุกครั้ง

ทั้งกรมศุลกากรและกรมประมง ต่างฝ่ายต่างยืนยันความถูกต้องตามกฎหมายและพิธีการ แล้วตั้งเรื่องจะเปรียบเทียบปรับผู้ส่งออก 1 เท่าของราคาปลาช่อนตากแห้งโดยมองว่า ทำไมความถูกต้องมาปรับเงินจำนวนมากจากผู้มีเจตนาบริสุทธิ์

รัฐบาลพยายามส่งเสริมการส่งออกแทบตาย ผู้ประกอบการที่บริสุทธิ์ก็พยายามทำกันแทบตายเพื่อให้ได้เงินตราต่างประเทศเข้ามา การแสดงข้อมูลด้านเอกสารก็เป็นไปอย่างเปิดเผย ไม่ได้มีเจตนาลักลอบส่งออกแต่อย่างใด

หากถามแต่ว่า การพิมพ์ตกไป 1 รายการ เป็นความผิดหรือไม่ ?
คำตอบคือ ใช่

หากถามว่า การพิมพ์ตกไป 1 รายการแต่เอกสารอื่น ๆ แสดงครบถ้วนทั้ง 2 รายการ จะถือเป็นเจตนาลักลอบส่งออกโดยไม่ขออนุญาตหรือไม่ ?

คำตอบคือ ไม่ใช่แน่ เพราะผู้ส่งออกสำแดงข้อมูลเปิดเผยทุกด้านที่แสดงให้เห็นว่า ความผิดเกิดจากการพิมพ์ตกไป 1 รายการเท่านั้น

กรมประมงและกรมศุลกากรต่างฝ่ายต่างถือความถูกต้องทางกฎหมาย ทางพิธีการ แต่ไม่ยอมร่วมกันพิจารณาในข้อเท็จจริง

สินค้าไม่ได้ห้ามส่งออกเด็ดขาด เพียงแต่ต้องการให้ขออนุญาตก่อน หากผู้ส่งออกพิมพ์ทั้ง 2 รายการ ครบถ้วน การออกเลขที่ใบอนุญาตก็เหมือนเดิม ไม่ต่างจากทุกครั้งที่ทำมา

ผู้ส่งออกไม่ได้ประโยชน์ใด ๆ เลยจากการพิมพ์ปลาช่อนตากแห้งขาดไป 1 รายการ มันจึงไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่ผู้ส่งออกจะตั้งใจพิมพ์ให้ขาดไป 1 รายการ

กฎหมายมีไว้ลงโทษผู้มีเจตนาลักลอบส่งออกสินค้าจริง ๆ ไม่ใช่มีเจตนาไว้ลงโทษความบริสุทธิ์

ความผิดที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ การลงโทษจึงควรเหมาะสมกับความผิด มิใช่นำบทลงโทษเต็มตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายมาบังคับใช้

เจ้าพนักงานของรัฐเป็นต้นทางความยุติธรรม มิใช่อะไร ๆ เอะอะก็ยึดกฎหมาย ยึดพิธีการ อ้างความถูกต้อง แล้วผลักทุกอย่างให้ไปจบในชั้นศาลเหมือนคดีบัตรประชาชนหายที่ต้องติดคุก

นี่กระมังที่เขาว่าเป็นอุปสรรคทางการค้า Non Tariff Barrier และอุปสรรคทาง Logistics ที่ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการเกิดขึ้นอย่างไม่น่าจะเป็นไป

หรือว่า เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้เฉพาะในประเทศไทยจริง ๆ ???

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

The Logistics

มาทำความรู้จักระบบขนส่งพื้นฐานของ BRICS กันเถอะ ​(​China ตอนที่ 3​)​​

การขนส่งทางเรือและการขนส่งทางอากาศของประเทศจีน

มูลค่าการลงทุนของจีนในท่าเรือต่างๆ นั้นสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยเฉพาะแผนพัฒนาประเทศ 5 ปี จีนลงทุนในท่าเรือถึง 357 พันล้านหยวน การลงทุนเหล่านี้ทำให้จีนมีความก้าวหน้าอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกจะประสบปัญหาก็ตาม ท่าเรือใหญ่ๆ ในประเทศต้องรองรับสินค้ามากถึง 13.5 ล้าน 20 ลูกบาศก์ฟุต (Twenty-foot Equivalence Unit: TEU) ในเดือนมกราคม 2011 หรือเติบโตร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งสอดคล้องกับการเพิ่มจำนวนของท่าเรือหลักตามชายฝั่งจากปี 2001ถึง 2010 ในช่วงนั้น เซี่ยงไฮ้กลายเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีปริมาณการส่งออกถึง 29.06 ล้าน TEU ในปี 2010 ในตลาดสินค้าที่ไม่ใช่หีบห่อ (Bulk Cargo) กำลังการผลิตส่วนเกินมีผลทำให้อัตราค่าระวางลดลงโดยเฉพาะน้ำมันและสินค้าแห้ง ก่อให้เกิดปัญหาอุปทานไม่สมดุลกับอุปสงค์ ในแง่หนึ่ง เรือของจีนจำนวนมากได้เปิดเส้นทางเดินเรือใหม่ จึงเพิ่มศักยภาพในการบรรทุกมากขึ้น แต่ในอีกด้านวิกฤติหนี้สินในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศได้กดให้อุปสงค์ของโลกลดลง ผลที่เกิดขึ้นคือการลงทุนในท่าเรือได้ลดลงตาม แต่อย่างไรก็ดี ศักยภาพที่จีนมีในตอนนี้ก็เพียงพอที่จะจัดการกับอุปสงค์ที่ลดลงจากสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาแล้ว

การขนส่งทางอากาศของจีน  จากรายงานของ Civil Aviation Administration of China ปี 2015 พบว่าในปี 2014 จีนมีสนามบินทั้งหมด 256 แห่ง เฉพาะสนามบินขนาดใหญ่ที่สุด 100 แห่งทั่วประเทศมีจำนวนผู้โดยสารรวมกันทั้งปี 817 ล้านคน โดยสนามบินที่มีผู้โดยสารใช้บริการมากที่สุดคือ สนามบินนานาชาติปักกิ่ง มีผู้โดยสาร 86 ล้านคน มีเที่ยวบิน 5.8 แสนเที่ยวบินในรอบปี รองลงมาคือ สนามบินนานาชาติกวางโจวไบ่หยุน มีผู้โดยสารรวม 55 ล้านคน โดยมีเที่ยวบินรวม 4 แสนเที่ยวในรอบปี การขนส่งทางอากาศของจีนนั้นได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2000นั้น มีผู้โดยสารของสนามบินใหญ่ที่สุด 100 แห่งรวมกันเพียง 133 ล้านคนเท่านั้น หรือ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่ามีการขยายตัวถึงกว่า 6 เท่าตัว

ที่มา: International Institute for Trade and Development (ITD) www.itd.or.th​​​