LOGISTICS CORNER

ฉบับที่ 498

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

“UBER”

คุณลุงข้างบ้านมาจากบ้านนอกอย่างคนยากจนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว

คุณลุงเริ่มอาชีพด้วยการขับรถ Taxi จนพอมีกินมีใช้ แล้วก็พาครอบครัวมาเช่าบ้านอยู่ ด้วยความขยันทำงานและขยันเก็บเงิน

ผ่านไป 20 ปี วันนี้ ลุงมีบ้านเป็นของตัวเองและมีกิจการเล็ก ๆ มี Taxi ให้คนอื่นเช่าถึง 10 คัน
เรื่องราวข้างต้น ใคร ๆ ก็เคยได้ยิน และได้ยินต่อ ๆ มาว่า วันดีคืนดีก็มีไอ้หนุ่มต่างชาติคนหนึ่งสร้าง Application ขึ้นมาเรียกว่า Uber เพื่อให้รถส่วนบุคคลเข้าสู่ระบบรถร่วมเดินทาง Ride Sharing

คุณลุงใช้เวลา 20 ปี มี Taxi 10 คัน ไอ้หนุ่มที่ว่านี้ใช้เวลาไม่กี่ปีกลับมี Taxi ทั่วโลกนับหมื่น นับแสนคัน มีรายได้ระดับเศรษฐีโลกคนหนึ่ง

โลกนี้มีอะไรแปลก ๆ เกิดขึ้นทุกวัน ใครไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ

ส่วน Application ที่ว่านี้อยู่บน Smart Phone มันจึงให้ความสะดวกสบายต่อประชาชน ใครจะเดินทางไปไหนก็กดเข้าสู่ระบบร่วมเดินทางได้ การร่วมเดินทางก็ไม่ใช่ฟรี ๆ แต่ต้องจ่ายเงิน

รถส่วนบุคคลไม่ใช่รถสาธารณะ ไม่มีกฎหมายรองรับให้ทำมาหากินได้ พอเป็น Uber ก็ไปกระทบกับคนขับรถ Taxi สาธารณะที่ในประเทศไทยปัจจุบันก็มีหลายหมื่นคันที่รวมคุณลุงข้างบ้านไปด้วย

เมื่อ Uber ไม่ใช่รถสาธารณะ จุดที่ดูเหมือนจะเอาเปรียบ Taxi ที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องเป็นรถสาธารณะก็เกิดขึ้นอย่างน้อย 3 ประการ คือ

  1.  การเสียภาษีใช้รถประจำปี แน่นอนว่า รถที่เป็น Uber เสียน้อยกว่า Taxi ทำให้มีต้นทุนต่ำกว่าเล็กน้อย
  2.  ใบขับขี่ คนขับ Uber ไม่ต้องผ่านการอบรมการให้บริการ ไม่ต้องตรวจร่างกาย ไม่ต้องมีสังกัด ไม่ต่องผ่านการตรวจประวัติอาชาญากรรม สารเสพติด ใครมีรถส่วนตัวก็มาลงทะเบียนใน Application กับไอ้หนุ่มต่างชาติที่ว่านี้ก็ขับได้เลย ต้นทุนก็ต่ำลงไปอีก ความปลอดภัยต่อผู้โดยสารก็ลดลงลงไปด้วย
  3.  ประกันภัย รถส่วนบุคคลชำระเบี้ยประกันถูกกว่า ในกรมธรรณ์ประกันภัยจะมีคำกำกับชัดเจนว่า รถส่วนบุคคลไม่ใช้รับจ้าง ค่าเบี้ยประกันก็ถูกกว่ารถรับจ้าง เมื่อนำมาเป็น Uber รับจ้างสาธารณะก็กลายเป็นการใช้รถผิดประเภท ความคุ้มครองประกันภัยจึงไม่มี

ข้อแตกต่าง 3 ประการนี้ ทำให้ Uber ได้เปรียบ Taxi ด้านต้นทุนที่ต่ำกว่าไปในตัว

ส่วนต้นเหตุของปัญหาของเรื่องนี้ ก็เพียงแต่ว่าประเทศไทยไม่มีกฎหมายรองรับ Uber แล้วก็นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่าง Uber กับ Taxi การปิดล้อม การจับกุมที่มีโทษทั้งจำและปรับ

หากจะถามว่าผิดมั้ย ???

คนไม่ชอบ Uber ก็จะตอบว่า ผิดเพราะไม่มีกฎหมายรองรับ แต่หากชอบ Uber เขาก็จะตอบว่า Uber ไม่ได้ทำผิดอะไรเพียงแต่ทำในสิ่งที่กฎหมายไม่รองรับเท่านั้น

ต่างประเทศแก้ปัญหานี้ด้วยการสร้างกฎหมายรองรับ ชาวต่างชาติที่ประเทศมีกฎหมายรองรับ เวลาเข้ามาประเทศไทยแล้วเรียกใช้ Uber ก็งง

สุดท้ายก็กระทบการท่องเที่ยวของไทยจนได้

การขนส่งผู้โดยสารเป็นส่วนหนึ่งของระบบ Logistics แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลยังขยับไปไม่มาก มีแต่การศึกษา เสร็จแล้วก็ศึกษาต่อ ไม่มีการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมออกมา

ในเมื่อต้นทุน Uber ต่ำว่า ความปลอดภัยน้อยกว่า ปัญหาก็เห็น ๆ การแก้ไขปัญหาก็น่าจะง่ายขึ้น
วันนี้ หากรัฐบาลจะแก้ปัญหา Uber ด้วยการออกกฎหมายรองรับ เรื่องก็น่าจะจบง่าย ๆ ใคร ๆ ก็รู้ว่าการแก้ปัญหาแบบนี้ ต่างประเทศก็ทำแบบนี้

รัฐบาลก็น่าจะรู้ แต่ทำไมไม่ทำ ???

หากมีกฎหมายให้คนขับ Uber ต้องมาลงทะเบียนกับกรมการขนส่ง ชำระภาษีไม่ต่างจาก Taxi มีการอบรม แล้วตรวจร่างกาย

สุดท้าย บริษัทประกันภัยก็เรียกเก็บค่าเบี้ยประกันเท่ากับ Taxi แล้วหากกลัวว่า Uber จะมีมากเกินไปก็จำกัดจำนวนในกฎหมายไปด้วยในตัว

อย่างนี้ก็จะทำให้ต้นทุนใกล้เคียงกัน การแข่งขันก็จะยุติธรรมมากขึ้น

หากออกกฎหมายรองรับแล้วยังกลัวว่า คนจะลักลอบขับรถ Uber โดยไม่มาลงทะเบียนอีก ก็ต้องเพิ่มโทษปรับและจำคุกให้มากขึ้น

อย่างนี้ คนขับรถ Uber ที่ไม่มาลงทะเบียนก็จะตอบได้เต็มปากเต็มคำว่า ทำผิดกฎหมาย

รัฐบาลยังกลัวอะไรก็ใส่ลงไปในกฎหมายป้องกันตั้งแต่ต้นทาง อย่างนี้การแข่งขันก็จะดีขึ้นที่ส่งผลให้รถ Taxi ต้องปรับตัวอย่างมหาศาล

ภาพการปฏิเสธผู้โดยสาร การไล่ผู้โดยสาร การไม่กดมิเตอร์แต่เรียกค่าโดยสารแบบเหมา และอื่น ๆ อีกมากก็จะลดลง

หากรัฐบาลไม่ทำอะไรเลย อย่างนี้แล้วจะให้คุณลุงข้างบ้านที่อุตส่าห์สอนลูกสอนหลานให้เก็บหอมรอมริบมาชั่วชีวิตจนมีรถ Taxi 10 คัน จะเอาอะไรไปสอนต่อ

ความภาคภูมิใจต่อการสร้างเนื้อสร้างตัวหายไปในพริบตา ไทยนิยมที่เคยเป็น เคยมีไม่รู้หายไปไหน

รัฐบาลช่วยได้ทั้งคุณลุง Taxi และ Uber นั่นล่ะ

ไม่มีใครรู้ว่า รัฐบาลคิดอะไรอยู่ในเวลา แต่ที่แน่ ๆ หากปล่อยปัญหา Uber ที่คาราคาซังอยู่ให้ยาวนานออกไป ชื่อเสียงของประเทศไทยทางด้าน Logistics ก็จะถูกกระทบหนักเข้าไปเรื่อย ๆ
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

The Logistics

มาทำความรู้จักระบบขนส่งพื้นฐานของ BRICS กันเถอะ ​(แอฟริกาใต้​ ตอนที่ 1​)​​

ภาพรวมด้านโครงสร้างพื้นฐานของแอฟริกาใต้​

แอฟริกาใต้ตั้งอยู่ใต้สุดของทวีปแอฟริกา ทิศเหนือติดกับนามิเบีย บอตสวานา ซิมบับเว ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับโมซัมบิกและสวาซิแลนด์ ทิศตะวันออกติดกับมหาสมุทรอินเดีย ทิศตะวันตกติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก มีพื้นที่ทั้งหมด 1,219,090 ตารางกิโลเมตร มีเขตแดนประชิดชายฝั่งมหาสมุทรยาวประมาณ 2,954 กิโลเมตร มีประชากรประมาณ 52.8 ล้านคน

แอฟริกาใต้มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในทวีปแอฟริกา โดยครองสัดส่วนประมาณร้อยละ 25 ของทั้งทวีป ทั้งนี้ แอฟริกาใต้เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในทวีปแอฟริกา และไทยก็เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของแอฟริกาในภูมิภาคอาเซียน แอฟริกาใต้มีภาคการเงิน การธนาคารและอุตสาหกรรมการผลิตที่แข็งแกร่ง เป็นประเทศผู้ส่งออก โดยเฉพาะ เหล็ก ถ่านหิน และอัญมณีรายใหญ่ของโลก มีอุตสาหกรรมแร่ธาตุและการท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ

จุดแข็งสำคัญของแอฟริกาใต้ คือ การเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจของทวีปแอฟริกา โดยเมื่อปี 2011 แอฟริกาใต้ได้เข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้) ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นตลาดใหม่ที่สำคัญของโลก และเป็นสมาชิกของกลุ่ม G-20 ในแง่ของทรัพยากร แอฟริกาใต้อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและแร่ธาตุหลายชนิด ได้แก่ ถ่านหิน แพลทตินัม ทองคำ แร่เหล็ก แมงกานีส ยูเรเนียม และโครเมียม ขณะเดียวกัน ก็เป็นประเทศที่มีภูมิทัศน์สวยงามและมีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่ง เช่น เมืองเคปทาวน์ ซึ่งเคยได้รับรางวัล “2011 Travellers Choice Destination Award” ในฐานะเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมที่สุดของโลก

แอฟริกาใต้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมที่ทันสมัย โดยมีเครือข่ายเส้นทางถนน การบินและระบบราง ระบบเครือข่ายถนนนั้นมีการเชื่อมต่อและสภาพของถนนก็อยู่ในสภาพที่ดี การบินและระบบรางนั้นนับได้ว่าใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา และในส่วนของท่าเรือแอฟริกาใต้เป็นจุดแวะพักของเรือขนส่งสินค้าที่เดินทางจากทวีปอเมริกา เอเชีย ออสเตรเลีย และชายฝั่งทั้งสองด้านของทวีปแอฟริกา ดังนั้น โครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวของแอฟริกาใต้นั้นมีความพร้อมต่อการรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต ระบบการขนส่งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของรัฐบาลในการส่งเสริมให้แอฟริกาใต้สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคม ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างมาก จึงได้ประกาศแผนการที่จะมีการใช้จ่ายเงินจำนวน 1 ล้านแรนซ์ เพื่อใช้ในการปรับปรุงถนนทางรถไฟและท่าเรือของประเทศ​

ที่มา: International Institute for Trade and Development (ITD) www.itd.or.th​​​