Logistics Corner

ฉบับที่ 501

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

“รวมรายการ”

เมื่อสินค้านำเข้าหรือส่งออกมากมายหลายร้อยรายการ

การกรอกข้อมูลลงในใบขนสินค้าเพื่อสำแดงต่อศุลกากร ต้องทำอย่างไรจึงจะสะดวกและถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ???

การกรอกข้อมูลลงในใบขนสินค้าแม้จะเป็นข้อปลีกย่อยของวิธีการทำงานหนึ่ง แต่ในความจริงก็อาจทำให้การเคลื่อนย้ายสินค้าในระบบ Logistics ไม่สามารถดำเนินการตามแผนงานที่วางไว้ได้

สินค้านำเข้าหรือส่งออกหลายร้อยรายการ ไม่มีทางที่จะกรอกให้เสร็จในเวลาสั้นประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง การกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรให้กับสินค้าแต่ละรายการก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อน

พิกัดอัตราที่กำหนดผิด มีผลให้ภาษีอากรที่ต้องชำระหรือได้คืนคลาดเคลื่อน และมีผลทำให้เกิดความผิดทางการสำแดง การหลบเลี่ยง หรือการฉ้อภาษีอากรแม้ไม่ตั้งใจก็ตามจนกลายเป็นความผิดและมีค่าปรับทางศุลกากรตามมา

หลายกรณีที่สินค้ามีนับร้อยรายการจนทำให้ระบบ Logistics ที่ต้องวางแผนเพื่อรวบรวม จัดเก็บ เคลื่อนย้าย และกระจายสินค้าต้องถูกกระทบไปด้วย

แล้วก็เสียชื่อประเทศไทยอย่างที่ปรากฎเป็นข่าวเมื่อนักลงทุนต่างชาติไปลงทุนที่อื่น

ผู้ประกอบการต่างชาติยังมองว่า ระเบียบพิธีการของไทยหยุมหยิมเกินไป ไม่ตอบโจทย์ความรวดเร็ว (Speed) ที่เวลานี้ Logistics ต่างแสวงหาเพื่อสนองต่อความต้องการของผู้ประกอบการ

หากเป็นอดีต คนทำอาชีพตัวแทนออกของ (Customs Broker) จะไม่หนักใจเท่าไรนัก ทั้งนี้เพราะสินค้าประเภทเหมือนกัน ใกล้เคียงกัน มีรหัสพิกัดสินค้าหมวดหมู่เดียวกันก็สามารถรวมการสำแดงเป็นรายการเดียวได้

แต่หลายปีที่ผ่านมา พิกัดอัตราศุลกากรมีวิวัฒนาการมากขึ้น มีการจำแนกเป็นพิกัดย่อยมากยิ่งขึ้น มีการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Paperless Customs Formality) มาใช้ในการสำแดงสินค้าแต่ละรายการ

การรวมรายการสินค้าเพื่อสำแดงรายการเดียว ย่อมทำให้ระบบที่ใช้เครื่องเป็นหลักตรวจสอบยาก

ในที่สุด คำสั่งห้ามรวมรายการสินค้าในใบขนสินค้าก็ตามมาเป็นการตอกย้ำว่า Logistics ไทยไม่ว่าจะเป็นด้านการแผนงาน การบริหาร การจัดการต้องถูกกระทบ ต้องล่าช้าไปด้วย

แล้วอยู่ ๆ กรมศุลกากรก็ออกประกาศที่ 33/2561 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2561 เรื่อง ‘การผ่อนผันให้จัดรวมรายการสินค้าในใบขนสินค้าขาเข้า’ ขึ้นมา

เนื้อหาก็เป็นการผ่อนผันให้ผู้นำของเข้า สามารถจัดรวมรายการสินค้าในใบขนสินค้าขาเข้าสำหรับการปฏิบัติพิธีการศุลกากรนำเข้าทางอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยมีเงื่อนไข ดังนี้

  1.     ชนิดสินค้าที่จัดรวมรายการเดียวกันต้องมีพิกัดอัตราศุลกากร (Tariff Code) ในระดับ 8 หลักเดียวกัน และมีรหัสสถิติ (Statistical Code) เดียวกัน
  2.     ชนิดสินค้าที่จัดรวมรายการเดียวกันต้องมีอัตราอากรเท่ากัน และมีรหัสสิทธิพิเศษ (Privilege Code) เดียวกัน
  3. ผู้นำของเข้าต้องไม่ขอใช้สิทธิประโยชน์ใด ๆ ตามใบขนสินค้าดังกล่าว
  4. ผู้นำของเข้าไม่สามารถร้องขอให้แก้ไขข้อมูลใบขนสินค้าเพื่อแยกรายละเอียดของชนิดสินค้าที่จัดรวมรายการสินค้าในใบขนสินค้าขาเข้า ภายหลังการตรวจปล่อยสินค้าขาเข้าแล้ว และ
  5. ในการจัดส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้า ผู้นำของเข้าต้องดำเนินการ ดังนี้

(1)        ระบุคำว่า “รวมรายการสินค้า” ไว้ในช่องหมายเหตุของใบขนสินค้าในแต่ละรายการที่มีการรวมรายการสินค้า หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้ดำเนินการตามข้อ (2)

(2)        ระบุคำว่า “รวมรายการสินค้า” พร้อมระบุลำดับรายการที่มีการรวมรายการสินค้าไว้ในช่องหมายเหตุของรายการลำดับที่ 1 ของใบขนสินค้า

รายละเอียดอื่น ๆ สามารถหาอ่านได้ตามประกาศข้างต้น

การผ่อนผันของกรมศุลกากรครั้งนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า กรมศุลกากรทราบถึงปัญหาการห้ามรวมรายการสินค้าลงในใบขนสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อระบบ Logistics ในภาพรวม

แต่การผ่อนผันจะเป็นการส่งเสริมระบบพิธีการให้เกิดความรวดเร็วขึ้นหรือไม่ สิ่งนี้คงต้องดูกันอีกยาวไกล

เอาแค่เงื่อนไขข้อ 3 ข้อเดียวที่กำหนดให้ผู้นำของเข้าต้องไม่ขอใช้สิทธิประโยชน์ใด ๆ ตามใบขนสินค้าดังกล่าว แค่นี้ก็เหลือใบขนสินค้าที่จะรวมรายการได้ไม่มากนัก

ทั้งนี้เพราะการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบัน ต่างก็ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามข้อตกลงการค้าเสรี FTA กันมาก

อย่างนี้แล้วการผ่อนผันให้รวมรายการสินค้าก็จะถูกจำกัดในวงที่แคบลง การส่งเสริมระบบ Logistics ในภาพรวมก็จะแคบลงตามไปด้วย

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

The Logistics

มาทำความรู้จักระบบขนส่งพื้นฐานของ BRICS กันเถอะ ​(แอฟริกาใต้​ ตอนที่ 4​)​​

การขนส่งทางเรือของแอฟริกาใต้

แอฟริกาใต้ เป็นประตูการค้าเข้าไปสู่ตลาดประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ อาทิ แองโกลา บอตสวานา โมซัมบิก โดยเฉพาะประเทศสมาชิกในกลุ่มประชาคมเพื่อการพัฒนาแอฟริกาตอนใต้ (Southern African Development Community-SADC) และกลุ่มสหภาพศุลกากรแอฟริกาตอนใต้(Southern Africa Customs Union–SACU) โดยในปัจจุบันแอฟริกาใต้มีการนำเข้าเพื่อส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาแอฟริกาใต้ ในด้านท่าเรือและเส้นทางขนส่งสินค้าจากท่าเรือที่เมืองเดอร์บัน เมืองเคปทาวน์ และ Port Elizabeth

ในปัจจุบันเส้นทางการขนส่งทางเรือหลักตามแนวชายฝั่งของแอฟริกาใต้นั้น จะอยู่ทางใต้ของมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรอินเดีย โดยที่ประมาณร้อยละ 96 ของการส่งออกของประเทศนั้นจะส่งออกทางทะเล ซึ่งมีท่าเรือการค้าอยู่ 8 แห่ง ที่ทำการค้ากันระหว่างประเทศคู่ค้าอย่างแอฟริกาใต้กับแอฟริกาตอนใต้

ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่จะส่งไปยังทวีปยุโรป เอเซีย และ ทางชายฝั่งทั้งทางตะวันออกและตะวันตกของทวีปแอฟริกา

ท่าเรือการค้าที่สำคัญ

ประกอบไปด้วย ในบริเวณของ KwaZulu-Natal มี Richards Bay และ Durban

ในส่วนของบริเวณทางฝั่งตะวันออก (Eastern Cape) มี East London และ Port Elizabeth และ Port of Ngqura และในบริเวณทางฝั่งตะวันตก (Western Cape) มี Mossel Bay และ Cape Town และSaldanha โดยที่ Transnet National Ports Authority (NPA) เป็นผู้บริหารจัดการท่าเรือ

ในขณะที่ Transnet Port Terminals ที่รู้จักกันในนามเดิมของ South Africa Port Operations (SAPO) เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการท่าเรือและการดำเนินงานอาคารขนส่งสินค้า ท่าเรือ Ngqura ถูกสร้างเสร็จเมื่อปี 2006 ซึ่งเป็นการพัฒนานอกชายฝั่งจากท่าเรือ Elizabeth ในบริเวณฝั่งตะวันออก (Eastern Cape) ท่าเรือ Ngqura นี้ถือได้ว่าเป็นท่าที่มีความลึกมากที่สุดในแอฟริกาใต้ และยังเป็นหนึ่งในพื้นที่ของแผนพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติอีกด้วย (Industrial Development Zones (IDZs)) เดอร์บันเป็นท่าเรือที่มีความคึกคักที่สุดของแอฟริกาและมีสิ่งอำนวยความสะดวก ในการลำเลียงที่ใหญ่ที่สุดในของทวีปแอฟริกาตอนใต้ ในขณะที่ Richard’sBayเป็นท่าเรือถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในโลก​

ที่มา: International Institute for Trade and Development (ITD) www.itd.or.th​​​