Logistics Corner

ฉบับที่ 502

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

“แล้วไทยล่ะ”

‘รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขู่ลงโทษเกาหลีเหนือ ก่อนร่วมพิธีเปิดโอลิมปิก’

ข่าวข้างต้นเกิดขึ้นก่อนพิธีเปิดกีฬาระดับโลก โอลิมปิกฤดูหนาว ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ไม่กี่วัน ข่าวรายงานว่า ทันทีที่รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เดินทางถึงเกาหลีใต้ ร่วมประชุมเสร็จ ก็ออกคำแถลงข้างต้นทันที

ในคำแถลงสรุปว่า

‘สหรัฐฯ กับเกาหลีใต้จะยืนหยัดเคียงบ่าเคียงไหล่รับมือเกาหลีเหนือและจะใช้แรงกดดันขั้นสูงสุดต่อรัฐบาลกรุงเปียงยางให้ยุติโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และทดสองขีปนาวุธ’

การประชุมเกิดขึ้นในเกาหลีใต้ ขณะที่ผ่านมา รัฐบาลเกาหลีใต้พยายามใช้นโยบายกระชับความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ ผ่านการเข้าร่วมกีฬาโอลิมปิก และการรวมชาติที่อาจจะมีขึ้นในวันใดวันหนึ่ง (https://www.voathai.com/a/us-north-korea-olympics/4245277.html)

คำแถลงของรองประธานาธิบดีสหรัฐจึงดูขัด ๆ กับนโยบายเกาหลีใต้ในที

การเมืองก็อย่างนี้ ความขัดแย้งก่อให้เกิดความแตกแยก เมื่อมีการเมืองภายในประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง ประเทศก็แตกออกเป็น 2 ส่วนได้ง่าย ๆ

เยอรมันนี เวียตนาม และอีกหลายประเทศก็เป็นแบบนี้ และเป็นตัวอย่างให้เห็น

การแตกออกเป็น 2 ประเทศย่อมมีบุคคลกลุ่มหนึ่งได้ผลประโยชน์ไม่ว่าการได้ครองอำนาจ การได้ขายอาวุธสงคราม หรือแม้แต่การได้คอมมิชชั่นจากการซื้ออาวุธสงคราม ในทำนองเดียวกัน การรวมกันเป็นประเทศเดียวก็มีอีกกลุ่มได้ผลประโยชน์

ไม่ว่าจะรวมหรือแยกประเทศ ย่อมมีกลุ่มหนึ่งได้ กลุ่มหนึ่งเสียตลอดเวลา

แม้ความแตกแยกจะให้ผลประโยชน์สู่คนกลุ่มหนึ่ง แต่ความแตกแยกทุกครั้งมักส่งผลกระทบต่อระบบการค้าทั้งในและระหว่างประเทศ การลงทุน ระบบ Logistics และระบบเศรษฐกิจในภาพรวมมากกว่า

ดังนั้น ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ และผู้มีอาชีพที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น Logistics การลงทุน หรืออื่น ๆ ย่อมให้การสนับสนุนการรวมประเทศมากกว่า

แก้วที่แตกแล้วยากจะประสาน การแตกเป็น 2 ประเทศก็คล้าย ๆ กับแก้วที่แตกแล้ว แต่คนไม่ใช่แก้ว ความแตกแยกที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นมักค่อย ๆ คลายตัวทั้งสภาพสังคม เศรษฐกิจที่บีดรัด

ดังนั้น ความแตกแยกจึงต้องใช้เวลาที่ถึงจุดหนึ่ง ความขัดแย้งย่อมค่อย ๆ คลายตัว ความเป็นเชื้อชาติเดียวกันย่อมทำให้การร่วมชาติค่อย ๆ เป็นรูปเป็นร่าง

หลายประเทศข้างต้นก็เป็นแบบนี้จนรวมประเทศได้สำเร็จ

ตรงกันข้าม เมื่อใดการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ความแตกแยกก็มักกระจายมากขึ้น การเมืองเป็นเรื่องอำนาจและผลประโยชน์ หากเป็นเพียงการเมืองภายในประเทศไม่มีอำนาจภายนอกจากต่างประเทศเข้าวุ่นวาย ความแตกแยกก็อาจค่อย ๆ ทุเลาลงง่ายกว่า

แต่หากมีการเมืองระหว่างประเทศเข้ามาร่วม หากมีประเทศที่ 3 ได้ผลประโยชน์จากความแตกแยกนั้นอย่างเช่นกรณีเกาหลีเหลือ เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ ที่เห็นอยู่ในเวลานี้

การรวมประเทศก็อาจเนิ่นนานออกไป หรืออาจเป็นไปไม่ได้เช่นกัน

แล้วประเทศไทยวันนี้ล่ะ

10 กว่าปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเกิดความแตกแยกมาก ยุคสมัยหนึ่งประชาชนแตกแยกกันอย่างหนักถึงขั้นทะเลาะกัน ทำร้ายกัน ฆ่ากัน และนำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ออกมาพูดจากัน

‘แบ่งประเทศเป็น 2 ไปเลย’

จากวันนั้นมาถึงวันนี้ ความแตกแยกค่อย ๆ ทุเลาลง แม้คนที่อยู่ในสถานการณ์นั้นจะยังอยู่ มันยังไม่ถึงขั้นเปลี่ยนผ่านสู่อีกรุ่นหนึ่ง แต่คำพูดขอแบ่งประเทศก็จางลง

มีรอยยิ้มให้เห็นบ้างแม้จะดูจริงใจในบางครั้ง และฝืนยิ้มในบางครั้ง

ในอดีตหลายสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรัฐบาลที่ดีมาก เป็นความหวังมาก แต่ในที่สุดก็สร้างความเสียหายมากเป็นเงาตามตัว ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็เคยมีรัฐบาลที่ดีน้อย เป็นความหวังน้อย และสร้างความเสียหายน้อย เช่นกัน

ถามคนไทยดู คำตอบก็น่าจะคล้ายกันคือ อยากได้รัฐบาลที่ดีมาก เป็นความหวังมาก และสร้างความเสียหายน้อยกันทั้งนั้น

วันนี้ยังไม่มีใครตอบได้อย่างมีหลักเกณฑ์ชัด ๆ ว่า รัฐบาลที่มาจากรัฐประหารมีดีมาก หรือน้อยเพียงใด และสร้างความเสียหายมาก หรือน้อยเพียงใด

แล้วอยู่ ๆ ข่าวการเลื่อนเลือกตั้งก็กลายเป็นกระแสเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งก็ดังกระหึ่มขึ้น กระบวนการต่าง ๆ ค่อย ๆ ก่อตัวจนเห็นทีท่าความขัดแย้งอาจกลับเข้ามาใหม่

ความแตกแยกกำลังก่อตัวขึ้น แล้วเสียงขอแบ่งประเทศเป็น 2 ก็ค่อย ๆ แว่วขึ้นมาอีกทั้ง ๆ ที่รู้ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ความแตกแยกสร้างความเสียหายไม่รู้จบ เมื่อมีผู้ได้ผลประโยชน์จากความแตกแยกไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ 3 หรือมือที่ 3 ความแตกแยกก็อาจนำมาซึ่งสิ่งไม่คาดฝันได้

ใครถนัดการเลือกตั้งแล้วได้อำนาจมา คนผู้นั้นก็จะทุ่มเททุกอย่างให้มีการเลือกตั้ง ใครที่ได้อำนาจมาจากการรัฐประหารแล้วประชาชนยอมรับก็จะไม่ปล่อยให้มีการเลือกตั้งเร็วนัก

ต่างฝ่ายต่างก็บอกว่า การได้อำนาจตามแบบที่ตนถนัดนั้นดีต่อประเทศไทยโดยไม่บอกว่าดีต่อพวกพร้องของตน

ทั้งหมดนี้คือ การเมืองและการได้มาซึ่งอำนาจทั้งสิ้นและเป็นต้นทางของความขัดแย้ง

ประชาชนเป็นเพียงทางผ่าน เป็นเพียงเครื่องมือให้ได้มาซึ่งอำนาจเท่านั้น อนาคตของไทยในวันนี้จึงขึ้นอยู่กับประชาชนเท่านั้นที่จะเป็นทางผ่านให้กับผู้ใด

สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด ความแตกแยกในอดีตจนถึงการแยกประเทศแล้วก็อยากกลับมารวมประเทศ แต่ก็มีประเทศที่ 3 คอยให้ความเห็นอยู่ข้าง ๆ โดยไม่มีใครรู้ว่า ผลประโยชน์อะไรบ้างที่เกี่ยวข้องแต่ก็ทำให้เกาหลีอาจไม่ดูไม่คล้ายเกาหลีขึ้นมาก็ได้

แล้วไทยล่ะ ???

ประชาชนไทยมองไม่เห็นอะไรที่เป็นบทเรียนจากเกาหลีเลยหรือ ???

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

The Logistics

มาทำความรู้จักระบบขนส่งพื้นฐานของ BRICS กันเถอะ ​(แอฟริกาใต้​ ตอนที่ 5​)​​

การขนส่งทางอากาศของแอฟริกาใต้

แอฟริกาใต้มีท่าอากาศยาน 10 ท่าอากาศยานที่สามารถรองรับได้มากกว่าร้อยละ 98 ของท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์ ในแต่ละปีมีผู้โดยสารเดินทางจำนวน 10 ล้านคน ในช่วงของ World Cup ในปี 2010 นั้น แอฟริกาใต้ได้ลงทุนเงินจำนวน 20 ล้านแรนด์ ในการปรับปรุงสนามบินโดยที่เน้นไปที่ท่าอากศยานนานาชาติ OR Tambo ที่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก ท่าอากศยานนานาชาติ Cape Town และท่าอากศยานนานาชาติแห่งใหม่ ที่ชื่อ KingShaka ที่อยู่ชานเมืองของเดอร์บัน

นอกจากนี้ยังมีสนามบินภายในประเทศอีก 7 สนามบินซึ่งตั้งอยู่ที่ Port Elizabeth, East London, George, Kimberley, Upington และ Pilanesberg Airports Company of South Africa (Acsa) อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐซึ่งทำหน้าที่บริหารจัดการท่าอากาศยานของประเทศ

​​

และการปรับปรุงการดำเนินงานของท่าอากศยานให้เกิดประสิทธิภาพ และยังรวมไปถึงท่าอากศยานอื่นอีกด้วย อาทิ ท่าอากาศยาน Lanseria (Midrand), Gateway (Polokwane), Nelspruit และ Kruger (Mpumalanga)

ในปี 2012 สายการบินแอฟริกาใต้ (South African Airways (SAA)) ได้รับการโหวตว่าเป็นสายการบินที่ดีที่สุดในทวีปแอฟริกาเป็นปีที่ 10 โดยองค์กรวิจัยการบินทั่วโลก (Skytrax) ของสหราชอาณาจักร สายการบินแอฟริกาใต้ (SAA) เป็นสายการบินที่ใหญ่ที่สุดของทวีปแอฟริกาโดยมีสายการบินที่เชื่อมโยงเมืองต่าง ๆ ระหว่างทวีปได้มากกว่า 28 เมือง 1,365 จุดหมายปลายทาง ใน 193 ประเทศ และจำนวนเที่ยวบิน 21,500 เที่ยวบินในแต่ละวัน​

ที่มา: International Institute for Trade and Development (ITD) www.itd.or.th​​​