Logistics Corner

ฉบับที่ 503

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

“จบ ป. โท”

“หัวหน้าคนใหม่จบ ป. โทเลยนะ”

“คณะอะไร ?”

“เกี่ยวกับบริหารหรือจัดการธุรกิจนี่ล่ะ ตรงสายงานเลย”

“ไม่น่าเชื่อ ทฤษฏีการบริหารการจัดการใช้ไม่เป็นสักเรื่อง ภาษาก็ใช้งานสื่อสารไม่ได้ มีใบปริญญาโทก็เหมือนไม่มี”
การศึกษาไทยเป็นอย่างไร ไม่มีใครตอบได้ชัด ๆ

หากใครสักคนลองเข้าเรียนด้วยตนเองก็น่าจะได้คำตอบ หรือใครได้ทำงานร่วมกับคนที่อ้างว่าจบการศึกษาสูง ๆ แล้วพบว่า ความรู้ ความเข้าใจไม่น่าจะใช่ก็จะเข้าใจเอง

ในความเป็นจริง คนจบปริญญาตรีก็ต้องรู้และเข้าใจอย่างคนจบปริญญาตรี ส่วนคนจบปริญญาโทก็ต้องมีความรู้ระดับปริญญาโท การที่ถูกมองว่าไม่ใช่ แล้วมีความเข้าใจในชีวิต สังคม และหลักการทำงานไม่ต่างจากคนจบมัธยมก็ยิ่งตอกย้ำการศึกษาไทยเข้าไปใหญ่

ตรงกันข้าม บางคนจบมัธยมแต่กลับมีความรู้ ความเข้าใจชีวิต สังคม และหลักการทำงานดีกว่าคนจบปริญญาก็มีให้เห็นถมไป

การศึกษาของไทยจึงปั่นป่วน เอาแน่เอานอนไม่ได้

ปัจจุบัน ใบปริญญาบัตรหาซื้อกันได้ง่าย ๆ หากจะเรียนให้จบระดับปริญญาไม่ใช่เรื่องยาก แต่หากจะเรียนให้มีความรู้ระดับปริญญาจริง ๆ นี่กลับเป็นเรื่องยากมากเพราะการศึกษาถูกปล่อยออกนอกระบบ

สถาบันต่างต้องหารายได้เพื่อความอยู่รอด การเรียนการสอนส่วนใหญ่จึงเป็นไปในเชิงพาณิชย์มากกว่าความเป็นสถาบันที่แท้จริง

สถาบันบางแห่งใช้เป็นสถานที่ชุบตัวนักศึกษาให้ดูเหมือนมีความรู้

บางคนไม่มีพื้นฐานความรู้เพียงพอที่จะเรียนแต่ก็ไปสมัครเข้าเรียน จากนั้นก็ปล่อยเวลาให้ผ่านไปเรื่อย ๆ เข้าเรียนบ้าง โดดเรียนบ้าง ไม่มีความเข้าใจเนื้อหาสาระวิชาที่เรียนใด ๆ

เวลาทำรายงานส่งก็ลอกบ้าง ให้คนอื่นทำบ้าง เวลาสอบก็ลอกอีก

สุดท้าย พอถึงการทำวิทยานิพนธ์หรืองานวิจัย ดูอย่างไรก็ดูออกว่า “ไม่ได้ทำเอง” อาจมีการจ้างทำหรือมีการลอกวิทยานิพนธ์ของคนอื่น แล้วก็จบออกมา

นี่คือต้นเหตุทำลายการศึกษาไทย นี่คือที่มาว่า ทำไมการศึกษาไทยไม่ได้คุณภาพ

หากถามว่า เวลาทำรายงาน เวลาสอบ และเวลาทำวิทยานิพนธ์ อาจารย์ผู้ตรวจจะดูออกหรือไม่ว่า นักศึกษาทำเองหรือเปล่า ???

คนขนาดอาจารย์คลุกคลีกับนักศึกษามาเป็นปี ๆ จะดูไม่ออกเลยหรือว่า คุณภาพรายงานหรือวิทยานิพนธ์ที่อ่านอยู่นี้เป็นความสามารถของนักศึกษา หรือจ้างทำ

ไม่ว่าลูกศิษย์จะมีมากเพียงใด หากอาจารย์เอาใจใส่ดี อย่างไรก็ดูออก

อีกอย่างหนึ่ง ยุคสมัยนี้เวลาส่งวิทยานิพนธ์ หรือดุษฎีนิพนธ์ นักศึกษาต้องส่งเป็นแผ่นซีดีประกอบ อาจารย์ก็เพียงนำซีดีนี้เข้าโปรแกรมคอมพิวเตอร์อ่าน

เท่านี้ก็พอดูออก

หากเนื้อหาบางส่วนไปตรงกับวิทยานิพนธ์หรือดุษฎีนิพนธ์ของผู้อื่นที่อยู่ในระบบ อย่างนี้เครื่องจะฟ้องออกมา สมัยนี้การตรวจสอบจึงง่ายขึ้น

ทั้งหมดนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของต้นเหตุที่ว่า ทำไมนักศึกษาสาขา Logistics บางคนพอเรียนจบออกมาสัมภาษณ์แล้วยังตอบแบบผิด ๆ ว่า Logistics คือ การขนส่งอยู่อีก

มันยิ่งเป็นการตอกย้ำการศึกษาไทยยังวนเวียนไม่ได้คุณภาพ
หากมองว่าปัญหาการศึกษาไทยวันนี้นโยบายที่กำหนดโดยรัฐบาลเป็นตัวปัญหา อย่างนั้นตัวอาจารย์เองก็น่าจะเป็นปัญหาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ไม่ว่านโยบายรัฐจะแย่ขนาดไหน หากครูดี ศิษย์ย่อมดีตามไปด้วย ในกรณีครูดีแต่ศิษย์ไม่ดีก็อาจมีบ้างแต่ไม่มาก ครูไม่ดีแต่ศิษย์ดีก็มีเหมือนกัน แต่ก็ไม่มากเช่นกัน

รวมความแล้ว นโยบายรัฐก็เรื่องหนึ่ง อาจารย์ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อาจารย์นี่ล่ะคือบุคคลที่จะทำให้การศึกษาไทยดีหรือไม่ดีก็ได้

ในอดีตหลายสิบปี ประเทศไทยไม่ค่อยมีโรงเรียน Inter ส่วนใหญ่จะเป็นพวกบาทหลวงที่เข้ามาสร้างเปิดโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษแล้วเผยแพร่ศาสนาของตนไปในตัว

เด็กไทยลิ้นแข็ง พูดเขียนภาษาอังกฤษไม่เก่ง แต่ด้วยความเอาใจใส่ของบาทหลวงที่อยากเผยแพร่ศาสนาก็ตั้งใจสอนจนเด็กไทยเก่งภาษาอังกฤษและกลายเป็นบุคคลสำคัญมากมาย

วันนี้ การพัฒนาประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 จำเป็นต้องพุ่งเป้าไปที่การศึกษา และหากจะพัฒนาการศึกษาอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะใช้นโยบายอะไร ไม่ว่าจะใช้ระบบอะไร

ตัวอาจารย์กลายเป็นกุญแจสำคัญต่อความเป็น Thailand 4.0

หากอาจารย์ไม่ปล่อยนักศึกษาที่ไม่ได้คุณภาพให้นำใบปริญญาออกมาอวดอ้างภายนอก เท่านี้ก็ถือว่ายกระดับการศึกษาไทยขึ้นมาขั้นหนึ่งแล้ว

‘จบ ป. โท’

คำ ๆ นี้จึงควรให้กับคนจบปริญญาโทด้วยความรู้ความเข้าใจจริง ๆ มากล่าวอ้างเท่านั้น นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีจากครูผู้สอนแล้ว

ทั้งหมดมันอยู่ที่อาจารย์เท่านั้น
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

The Logistics

ONE เดินหน้า เทียบท่า LCB

หลังจากที่มีข่าวการผนึกกำลังระหว่างสายเรือเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางธุรกิจ ในที่สุดก็ใกล้เวลาลั่นกลองรบเข้ามาทุกที สำหรับสายการเดินเรือ ONE ที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆของโลก ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนระหว่างสายเรือ 3 สายได้แก่ Kawasaki Kisen Kaisha (“K” Line), Mitsui O.S.K. Lines (MOL) และ Nippon Yusen Kabushiki Kaisha (NYK) ภายใต้ชื่อ Ocean Network Express (ONE)

การควบรวมธุรกิจเรือขนส่งตู้สินค้าของทั้งสามบริษัทนี้ ทำให้สายการเดินเรือ ONE มีพื้นที่ระวางสินค้ารองรับสูงถึง 1.4 ล้านทีอียู และมีส่วนแบ่งทางการตลาดราว 7-10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจัดว่าใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก

ล่าสุด ตู้คอนเทนเนอร์ชุดแรก จำนวน 30 ตู้ก็เข้าเทียบท่าเป็นครั้งแรกในไทย เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2561 ที่ท่าเรือแหลมฉบัง A3

​ ​

โดยเป็นการนำตู้สินค้าเข้าเพื่อทดลอง ทั้งนี้ ในปีนี้คาดว่าจะมีตู้เข้าที่ท่าเรือแหลมฉบังประมาณ 1 ล้านแปดแสนตู้ ซึ่งถือว่าเป็นรายใหญ่ที่สุดที่เข้าท่าเรือแหลมฉบัง ส่วนเรือของ ONE เที่ยวปฐมฤกษ์ คาดว่าจะเข้าท่าเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบัง ในวันที่ 1เมษายน นี้

​ ​

นับถอยหลังอีกไม่กี่อึดใจ เราคงเห็นตู้คอนเทนเนอร์สีชมพูของสายเรือ ONE กันละลานตาเลยทีเดียว

ที่มา: http://www.tnews.co.th/contents/406195