Logistics Corner

ฉบับที่ 507

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

“ บทบาทภาษี 

‘สงครามการค้าสหรัฐ-จีน’ ระอุ !

หลังทรัมป์ลงนามรีดภาษีนำเข้าจากจีนกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์
สัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาชาติออนไลน์ได้ลงหัวข้อข่าวข้างต้นพร้อมเนื้อหาข่าวว่า สินค้าที่จะได้รับผลกระทบมีอยู่ถึง 1,300 รายการรวมถึงเหล็กและอะลูมีเนียมด้วย

ข่าวแจ้งว่า กระทรวงพาณิชย์จีนได้ประกาศตอบโต้ทันทีด้วยการตั้งกำแพงภาษีสินค้าราว 128 รายการ มูลค่าราว 3,000 ล้านดอลล่าร์

(https://www.prachachat.net/world-news/news-134320)

การตอบโต้ระหว่าง 2 ประเทศ ส่อเค้าสงครามเศรษฐกิจให้ร้อนระอุขึ้นมาโดยใช้อัตราภาษีเป็นอาวุธทั้ง ๆ ที่โลกเข้าสู่ยุคเขตการค้าเสรี (FTA – Free Trade Area) ไปมากแล้ว

คำว่า ‘ภาษี’ บางครั้งก็ใช้คำว่า ‘ภาษีอากร’ รวมกันเป็นรายได้ของรัฐ

ภาษีเป็นรายได้ที่รัฐเก็บจากกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดจากบุคคลเป็นหลัก ขณะที่อากรเก็บจากกิจกรรมที่เกิดจากสินค้าหรือสิ่งของเป็นหลัก

ความหมายต่างกันนิดเดียว แต่คนจัดเก็บคือรัฐ คนทั่วไปก็เลยเรียกสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่า ภาษี

ในอดีต ประเทศที่ด้อยกว่าเกรงว่า สินค้าจากประเทศที่มีเทคโนโลยีเหนือกว่าจะไหลเข้ามาทำลายวัฒนธรรม ทำลายการจ้างงาน ทำลายเศรษฐกิจภายใน หรือมอมเมาประชาชน ประเทศที่ด้อยกว่าก็ตั้งกำแพงภาษีขึ้นมาเพื่อป้องกัน

ภาษีในที่นี้จึงมีบทบาทปกป้องประเทศไม่ต่างไปจากกำลังทหาร

ตัวอย่างง่าย ๆ สมมติไทยขายข้าวได้ตันละ 15,000 บาท ขณะที่โทรศัพท์มือถือที่มากด้วยเทคโนโลยีราคา 30,000 บาท

ขนาดและน้ำหนักของสินค้าต่างกันมาก แล้วผลเป็นอย่างไร ???

ไทยต้องใช้เวลาหลายเดือน ใช้แรงงาน ใช้ทรัพยากรมากมายกว่าจะได้ข้าวมา 2 ตันเพื่อไปแลกกับโทรศัพท์มือถือเพียง 1 เครื่อง

เทคโนโลยีเล็ก เบา ขนาดนิดเดียว แต่ราคาเท่ากับข้าวสารถึง 2 ตัน มันน่าเจ็บใจแค่ไหน

สมมติว่าไทยนำเข้าเทคโนโลยีมากกว่าส่งออกข้าว ค่าเงินบาทที่ต้องนำไปแลกดอลล่าก็ต้องใช้มากกว่า ยิ่งใช้เงินบาทมาก ค่าเงินก็ยิ่งอ่อนตัวส่งผลให้สินค้าจำเป็นที่ต้องพึ่งพาต่างประเทศแพงตามค่าเงินไปด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น เทคโนโลยีที่นำเข้ามามาก ๆ ขึ้นก็จะค่อย ๆ ทำลายวัฒนธรรมและสังคมให้เสื่อมลงอย่างที่เห็น ๆ สังคมก้มหน้าและสื่อลามกที่กระจายกันอยู่ในปัจจุบัน

ประเทศผู้ซื้อย่อมกลัว แต่ประเทศที่มีเทคโนโลยีเหนือกว่าก็อยากขายให้มากขึ้น

ในอดีต ประเทศที่มีเทคโนโลยีเหนือกว่าก็พยายามใช้กฎเกณฑ์ของข้อตกลงการค้าโลกมาทำลายกำแพงภาษีของประเทศที่ด้อยกว่าให้ราบหมดไปโดยเรียกว่า ข้อตกลงการค้าเสรีที่บังคับให้ประเทศสมาชิกต้องลดภาษีลงมาเหลือศูนย์เพื่อให้การค้าคล่องตัว

สหรัฐย่อมอยู่ในกลุ่มผู้นำด้านเทคโนโลยีและเล่นในบทบาทนี้
มาถึงปัจจุบัน กำแพงภาษีประเทศสมาชิกต่างลดลงไปจนเหลือศูนย์ก็มาก โลกเกือบเข้าสู่ยุคการค้าเสรี (FTA) เต็มรูปแบบ แล้วอยู่ ๆ สหรัฐกับจีน 2 ประเทศ ต่างถอยหลังงัดมาตรการภาษีขึ้นมาห่ำหันกันจนกระทบไปยังประเทศต่าง ๆ

มันน่าตกใจตรงที่สหรัฐอยู่ในกลุ่มผู้นำเทคโนโลยี อยู่ในกลุ่มที่ต้องการให้เกิดการค้าเสรี อยู่ในกลุ่มที่ได้ประโยชน์ แล้วอยู่ ๆ วันหนึ่งก็พบว่า ตนเองกลับกลายสภาพเป็นผู้ซื้อจากจีนมากกว่า

สหรัฐซื้อสินค้าบางประเภทจากจีนมากเกินไป

ผลกระทบจากการซื้อสินค้ามากทำให้การผลิตในประเทศลดลง การจ้างงานลดลง คนว่างงานค่อย ๆ เพิ่มขึ้น วัฒนธรรมเริ่มเปลี่ยนไป เศรษฐกิจภายในประเทศสหรัฐเกิดปัญหามาหลายปี

ในที่สุด สหรัฐก็ย้อนยุคโดยการขึ้นภาษีสินค้าบางประเภทจากจีน สหรัฐใช้ภาษีแทนการใช้กำลังทางทหาร

แล้วจีนก็ตอบโต้กลับกลับด้วยการขึ้นภาษีสินค้าจากสหรัฐไม่ต่างกัน

ภาษีกลายเป็นอาวุธขึ้นมาทันที ไม่ใช่จีนและสหรัฐเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ ประเทศอื่นที่มีการค้ากับ 2 ประเทศยักษ์ก็ย่อมได้รับผลกระทบทางอ้อมไม่มากก็น้อยไปด้วย

ไม่ต้องดูอื่นไกล เอาง่าย ๆ แค่ประเทศไทย ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นักวิเคราะห์ตลาดทุนวิเคราะห์ว่า หุ้นที่อยู่ในแดนลบส่วนหนึ่งมาจากความหวาดกลัวต่อท่าทีสหรัฐที่แสดงออกต่อจีน

ขณะที่จีนใช้ภาษีต่อสู้กับสหรัฐ อีกด้านหนึ่ง จีนก็ใช้ภาษีมาผูกมิตรกับประเทศอื่นไปในตัวโดยการผลักดันการลดภาษีให้กับสินค้านำเข้าตามกรอบข้อตกลงการค้าเสรี

ในรายงานของฐานเศรษฐกิจ (http://www.thansettakij.com/content/245092) รายงานว่า กระทรวงพาณิชย์ของไทยประกาศปี 2561 นี้ จีนกำลังทะยอยลดภาษีนำเข้าลงไปเรื่อย ๆ ตามกรอบข้อตกลง FTA อาเชี่ยน-จีน

ข้อมูลที่ให้เพิ่มเติมคือ การลดภาษีทำให้สินค้าไทยไปสู่จีนมีราคาถูกลง เปิดโอกาสให้ไทยได้ส่งออกมากขึ้น และลดโอกาสการไหลทะลักของสินค้าจีนเข้าสู่ไทยให้น้อยลง เช่นกัน

วันนี้จึงเห็นว่า ภาษีมีบทบาทถึง 2 ด้าน ทั้งแทนกำลังทหารให้ในการรบ และเป็นทูตเจริญสันไมตรีทางการค้าระหว่างประเทศไปในตัว

ขณะเดียวกัน มาตรการภาษีก็ส่งผลกระทบทั้งทางลบและทางบวกต่อประเทศต่าง ๆ ที่มีระบบการค้า การลงทุน การขนส่ง และ Logistics ที่เชื่อมโยงกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

วันนี้ ผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นการค้าภายในประเทศ-ระหว่างประเทศ การเงิน การขนส่ง และ Logistics จึงควรติดตามข่าวสารที่มีแพร่หลาย ประเมินสถานการณ์ และวางแผนงานของตนให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

ทุกด้านย่อมมีประโยชน์ (Benifit) และโทษ (Cost) ตามหลักเศรษฐศาสตร์ทั้งสิ้น
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

 

The Logistics

ออเจ้ารู้หรือไม่ ที่เชียงรายก็มีท่าเรือนะเออ

สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านค่ะ สัปดาห์นี้เราเปิดหัวข้อข่าวอย่างทันสมัย ตามกระแสออเจ้าที่กำลังมาแรงมากในช่วงนี้ แต่ข่าวที่จะนำมาเล่าไม่มีอะไรเกี่ยวกับอยุธยาเมืองคุณพี่หรอกนะเจ้าคะ เราจะพาขึ้นไปไกลกว่านั้นค่ะ ไปกันที่เชียงรายเลยทีเดียว เมืองเหนือขนาดนั้น หลายท่านคงไม่คิดว่าจะมีท่าเรือใช่ไหมคะ

เชียงรายมีท่าเรือค่ะ และกำลังจะเปิดเป็นท่าเรือท่องเที่ยวแห่งแรกในภาคเหนืออีกด้วย ท่าเรือที่ว่านี้ก็คือ ท่าเรือเชียงแสน นั่นเอง ท่าเรือเชียงแสนตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง อยู่ในเขตพื้นที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เนื้อที่ประมาณ 9 ไร่ ฝั่งตรงข้ามเป็นพื้นที่ สปป.ลาว ถูกบริหารโดย บจก.นิว เชียงแสนกรุ๊ป โดยทุ่มเงินกว่า 35-40 ล้านบาทในการปรับปรุงภูมิทัศน์ และเตรียมจับมือเมืองต้นผึ้ง สปป.ลาว-ท่าขี้เหล็ก เมียนมา เชื่อมโยงการท่องเที่ยวมุ่งหวังผลักดันเป็นท่าเรือนานาชาติในอนาคต และจะมีการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี

ทางจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า จังหวัดมีนโยบายให้ความสำคัญด้านการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ เนื่องจากเชียงรายมีภูมิประเทศเหมาะกับการท่องเที่ยว รวมถึงมีพื้นที่ติดกับ สปป.ลาว 155 กม. และเมียนมา 153 กม. นอกจากการจราจรทางบก ปัจจุบัน จ.เชียงราย มีการจราจรทางอากาศที่มีเที่ยวบินมากกว่า 50-60 เที่ยวบิน/วันแล้ว ล่าสุดมีทางเรือ คือ ท่าเรือเทศบาลเวียงเชียงแสน (ท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 1) อ.เชียงแสน ที่จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว จ.เชียงราย และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนได้อย่างดี

ทางด้านนายคงเก่ง ประชากริช ประธานบริหาร บริษัท นิว เชียงแสน กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันได้ดัดแปลงท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 1 เป็นท่าเรือท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในละแวกสามเหลี่ยมทองคำ และต่อไปจะขยายเป็นสี่เหลี่ยมทองคำ รวมถึงประเทศจีน ซึ่งท่าเรือแห่งนี้เป็นท่าเรือท่องเที่ยวแห่งแรกของภาคเหนือ ปัจจุบันเรือที่เข้ามาจะมีการเก็บค่าระวางจอดเรือ 900 บาท โดยไม่จำกัดเวลา ส่วนใหญ่เป็นเรือขนาดใหญ่ จอดเพียง 2-3 วันเท่านั้น

และขณะนี้ได้มีการประสานกับเมืองต้นผึ้ง สปป.ลาว และท่าขี้เหล็ก เมียนมา เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวสามประเทศ เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ต้องการเปิดประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ขณะที่อนาคตจะประชาสัมพันธ์ให้มีคนไทยล่องเรือไปเที่ยว โดยจะสิ้นสุดจะที่ท่าเรือกวนเหล่ยและจิ่งหง ประเทศจีน ซึ่งใช้เวลาเดินทางประมาณ 12 ชั่วโมง หรือจะเป็นการท่องเที่ยวระยะสั้น เช่น สปป.ลาว เมียนมา ตั้งเป้าว่าภายในปี 2561 จะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามาถึง 20,000 คน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งข้อมูลของ ททท.ระบุว่าที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาโดยทางเรือเพียง 2,000 คนต่อปี โดยในช่วงที่ 2 เดือนที่มีการเปิดท่าเรือแห่งนี้ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วกว่า 2,000 คน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนยูนนานที่ซื้อแพ็กเกจท่องเที่ยวจากเอเย่นต์ชาวไทยทั้งในพื้นที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่ และขากลับเดินทางกลับโดยรถยนต์ผ่านอาร์สามเอ

ที่มา:  https://www.prachachat.net/local-economy/news-128283