SNP NEWS

ฉบับที่ 508

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

ฉลุยอเมริกา

ข่าวดี “ทรัมป์” ต่ออายุโครงการ GSP

สินค้าไทยเฮ!  ส่งออกอเมริกาฉลุย

หัวข้อข่าวข้างต้นปรากฎในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 มี.ค. 61 หน้า 8

เนื้อข่าวพอสรุปได้ว่า สิทธิประโยชน์ทางภาษี GSP ที่สหรัฐให้กับสินค้าไทยได้หมดอายุลงตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 60 ส่งผลให้สินค้าไทยที่อยู่ในข่าย GSP และนำเข้าจากวันที่ 1 ม.ค. 61 ต้องชำระอากรขาเข้า

คนที่รู้เรื่อง GSP ก็อาจตื่นเต้นดีใจไปด้วย ส่วนคนที่ไม่รู้จัก GSP ก็อาจงงเป็นธรรมดา

GSP คืออะไร ???

แล้วทำไมสินค้าไทยต้องเฮด้วย ???

GSP ย่อมาจากคำว่า Generalized System Preference ระบบการให้ประโยชน์มากกว่า ซึ่งก็คือ ประโยชน์ที่ประเทศพัฒนาแล้วให้กับประเทศกำลังพัฒนาที่มากกว่าประเทศอื่น

ประโยชน์ที่ว่านี้คือ การได้รับสิทธิลดหย่อน หรือยกเว้นอากรให้กับสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนาให้เข้าไปขายในประเทศที่พัฒนาแล้ว

ผลที่ได้รับคือ สินค้าในประเทศกำลังพัฒนาก็จะขายได้มากขึ้น ผลิตได้มากขึ้น คนงานก็มีงานทำมากขึ้น และส่งผลให้คุณภาพชีวิตของคนในประเทศกำลังพัฒนาดีขึ้นตามไปด้วย

นี่คือเหตุผลที่ทำให้สินค้าไทยได้เฮ

เมื่อผู้นำเข้าสหรัฐได้รับการยกเว้นอากรขาเข้า ต้นทุนสินค้าก็จะต่ำลงก็อยากซื้อของจากไทยมากขึ้น

สินค้าไทยที่ได้ประโยชน์ครั้งนี้ เช่น สินค้าเกษตร เกษตรอุตสาหรรม เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องจักรไฟฟ้า ยานยนต์ อุปกรณ์ ยางและผลิตภัณฑ์ พลาสติก อาหารปรุงแต่ง และเครื่องดื่ม เป็นต้น

ในข่าวรายงานว่า นอกเหนือจากสินค้าข้างต้น สินค้าอื่นที่มีเงื่อนไขเกินกำหนดหรือหลุดจาก GSP ไปแล้วก็กำลังอยู่ในขั้นพิจารณาจะให้สิทธิ GSP กลับคืน

ส่วนผู้นำเข้าสหรัฐที่ชำระภาษีไปก่อนหน้าขณะนำเข้า ก็สามารถขอคืนภาษีได้ซึ่งผู้นำเข้าของสหรัฐย่อมดีใจกับข่าวนี้

ข่าวยังเตือนให้ผู้ส่งออกของไทยแจ้งไปยังผู้ซื้อในสหรัฐ ให้ทราบการต่ออายุ GSP และเพื่อมาซื้อสินค้าไทยมากขึ้น

นี่คือข่าวดีของสินค้าไทย

หากจะมองอีกด้านหนึ่ง ข่าวนี้น่าก็น่าจะสะท้อนมายังกรมศุลกากรและผู้นำเข้าของไทยในกรณีการขอคืนภาษีอากรบ้าง

ที่ผ่านมา กรมศุลกากรกำหนดแนวทางการสงวนสิทธิ์เพื่อขอคืนภาษีอากรในเรื่องต่าง ๆ ไว้แน่นหนาเกินไป มันแน่นหนาจนทำให้ผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออกเสียโอกาส หรือไม่อยากชำระภาษีอากรไว้ก่อนแล้วมาต่อสู้กันเพื่อขอคืนภายหลัง

ส่วนหนึ่งก็เลือกต่อสู้ให้เสร็จสิ้น แม้ว่าต้องใช้เวลา แม้ว่าต้องชำระค่าเช่าโรงพักสินค้าจนทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น

แม้ในข่าวไม่ให้รายละเอียดว่า ผู้นำเข้าของสหรัฐทำอย่างไรขณะนำเข้าและต้องทำอย่างไรต่อบ้างในการคืนภาษีอากร

แต่หากกรมศุลกากรจะส่งเสริมให้การคืนภาษีอากรมีกระบวนการที่ง่ายขึ้น มันก็เป็นการส่งเสริมให้ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกยินยอมชำระค่าภาษีอากรเพื่อนำสินค้าไปก่อน ลดภาระค่าเช่าโรงพักสินค้าที่เป็นหนึ่งในหลายต้นทุน Logistics ในตัว

การอำนวยความสะดวกแบบนี้ รัฐก็ไม่ได้เสียเปรียบหรือเสี่ยงอะไรแต่กลับเป็นการส่งเสริมธุรกิจการค้า กระบวนการ Logistics และอื่น ๆ ที่เป็นรากฐานเศรษฐกิจของประเทศให้แน่นยิ่งขึ้น

การต่ออายุ GSP เพื่อลดหย่อนภาษีจึงเปรียบเสมือนการใช้ภาษีให้เป็นทูตสันถวไมตรีเพื่อเจริญความสัมพันธ์ให้แก่อีกประเทศหนึ่ง

ภาษีมีบทบาททั้งเป็นกำแพงป้องกันประเทศ ขณะเดียวกันภาษีก็ถือเป็นอาวุธทำลายล้างอีกประเทศหนึ่งได้เช่นกัน

สัปดาห์ที่ผ่านมา สหรัฐได้ประกาศส่งครามภาษีกับจีนโดยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนที่มีมูลค่าสูงถึง 50,000 ล้านดอลล่าร์ ขณะที่จีนก็ตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้าจากสหรัฐ มูลค่า 3,000 ล้านดอลล่าร์ แต่จีนกลับทะยอยลดภาษีนำเข้าลงไปเรื่อย ๆ ตามกรอบข้อตกลง FTA (Free Trade Agreement) อาเชียน-จีนซึ่งไทยเป็นสมาชิกและได้ประโยชน์

สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า ทั้งสหรัฐและจีนต่างก็ใช้ภาษีเป็นกำแพงป้องกันประเทศและเป็นอาวุธถล่มกัน ขณะเดียวกัน ต่างฝ่ายต่างก็หามิตรด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ประเทศอื่น

ไทยจึงได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้

ไทยได้ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจก็จริงแต่ความขัดแย้งก็เริ่มระอุขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมารัสเซียตอบโต้ชาติตะวันตกด้วยการขับไล่ทูต 59 คน จาก 23 ประเทศจากกรณีที่สายลับรัสเซียถูกวางยาในอังกฤษ (MGR Online)

สหรัฐขัดแย้งกับจีน รัสเซียขัดแย้งกับชาติตะวันตก การแบ่งกลุ่มเริ่มมีให้เห็น

ไทยแม้จะได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจแต่ในวันหนึ่ง หากความขัดแย้งระดับโลกบานปลายก็อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากมีการเลือกข้าง ตามประวัติศาสตร์โลก อังกฤษและชาติตะวันตกส่วนใหญ่มักอยู่ข้างสหรัฐ ขณะที่สหรัฐขัดแย้งจีน

มันอาจเป็นต้นเหตุให้จีนกับรัสเซียหันมาจับมือกันโดยมีเกาหลีเหนืออยู่เคียงข้าง แล้วไทยล่ะจะอยู่ตรงไหน ???

การส่งออกไปสหรัฐที่คิดว่าฉลุยก็อาจจะไม่ฉลุยด้วยเหตุนี้ก็ได้

ไม่มีใครรู้ว่า เศรษฐกิจที่กำลังจะดีของไทยตอบรับการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นอาจตกต่ำลงจากความขัดแย้งของโลกที่ใหญ่ขึ้นไปเรื่อย ๆ

มันจึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการทุก ๆ ด้านต้องติดตามเพื่อได้รับประโยชน์ (Benefit) ที่ควรจะได้ และเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Cost) ที่อาจเกิดเมื่อไหร่ก็ได้เช่นกัน

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

ปล. ทูต 23 ประเทศที่ถูกขับไล่ประกอบด้วย ออสเตรเลีย, อัลแบเนีย, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, อิตาลี, โปร์แลนด์, เนเธอแลนด์, โครเอเซีย, ยูเครน, เดนมาร์ก, ไอร์แลนด์, สเปน, เอสโตเนีย, ลัตเวีย, ลิทัวเนีย, มาซิโดเนีย, มอลโดวา, โรมาเนีย, ฟินแลนด์, นอร์เวย์, สวีเดน, แคนาดา, และสาธารณรัฐเช็ก

(MGR Online)

The Logistics

“โดรน” เตรียมพร้อมเปิดให้บริการขนส่งในแคนาดา

ท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือดของธุรกิจค้าปลีกในแคนาดา ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจค้าปลีกแบบมีหน้าร้านทั่วไป และค้าปลีกแบบออนไลน์ ต่างทำให้ธุรกิจต้องมีการแสวงหาแนวทางเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมๆ กับวิธีการลดต้นทุนของภาคธุรกิจ โดยปัจจุบันหนึ่งในต้นทุนสินค้าที่มีสัดส่วนค่อนข้างสูงนั้นมาจากค่าขนส่ง ดังนั้นหากผู้ประกอบการสามารถหากลยุทธ์เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าให้รวดเร็ว ครอบคลุม และ มีต้นทุนน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ จะสามารถสร้างความล้ำหน้าและได้เปรียบคู่แข่งอย่างชัดเจน เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว บริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของโลกไม่ว่าที่อยู่ในสหรัฐฯ และจีนต่างหันไปมองทางเลือกของการใช้โดรนหรือยานไร้คนขับ สำหรับขนส่งสินค้า ซึ่งปัจจุบันกำลังเข้ามามีอิทธิพลต่อรูปแบบการทำธุรกิจ และ เชื่อว่าในอนาคตจะถูกประยุกต์ใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมด้านต่างๆ มากขึ้น

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท Drone Delivery Canada (DDC) ผู้ให้บริการโดรนขนส่งสินค้าในแคนาดา เพิ่งได้รับการผ่านขั้นตอนการตรวจเกณฑ์มาตรฐานและรับรองด้านความปลอดภัยการบินในประเทศ ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของทางบริษัทที่จะสามารถเปิดดำเนินธุรกิจขนส่งสินค้าโดยใช้โดรนในแคนาดาได้อย่างเต็มตัว ทางบริษัทฯ ได้เริ่มทดลองการขนส่งสินค้าทางโดรนในพื้นที่เขต Moosonee และใกล้เคียงในรัฐออนทาริโอมาก่อนหน้า ซึ่งหลังจากผ่านได้รับใบอนุญาตมาแล้ว คาดว่าจะสามารถทดสอบให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงปลายปี 2561 นี้ นาย Tony Di Benedetto ซีอีโอบริษัท Drone Delivery Canada เผยว่า ทางบริษัทฯ น่าจะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือนในช่วงทดสอบส่งสินค้าทั้งประเภทอาหาร ยาเวชภัณฑ์จดหมายและพัสดุต่างๆ และหากดำเนินลุล่วงไปด้วยดีประกอบกับได้รับใบอนุญาตจากกรมขนส่งแคนาดา ก็น่าจะสามารถให้บริการพื้นที่มากขึ้นในปี 2562 โดยขั้นแรกทางบริษัทฯ จะเปิดให้บริการขนส่งสินค้าสำหรับพื้นที่ชนบทและชานเมืองเขต Moosonee และคาดอีก 5 ปีเป็นต้นไปจะวางแผนผลักดันโมเดลพัฒนา “โดรนส่งสินค้า” ให้สามารถขนส่งสินค้าไปทั่วทุกเมืองในประเทศแคนาดาให้ได้

ปัจจุบันโดรนของทางบริษัท DDC สามารถขนส่งสินค้าน้ำหนักได้สูงสุด 4.5 กิโลกรัม และกำลังพัฒนาโมเดลให้สามารถรองรับสินค้าที่มีน้ำหนักได้ถึง 11 กก. จนไปถึง 917 กก. ในอนาคต สามารถขนส่งครอบคลุมพื้นที่ได้กว่า 1,500 – 2,000 กิโลเมตร ด้านค้าปลีกในสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นอะเมซอนหรือวอล์มาร์ท ก็กำลังที่จะพยายามผลักดันการนำโดรนมาใช้ขนส่งสินค้าถึงผู้บริโภคโดยตรง แต่ก็ยังติดอุปสรรคด้านความปลอดภัยทางอากาศจากภาครัฐ ปัจจุบันองค์กรการบินสหรัฐฯ หรือ Federal Aviation Administration กำลังผลักดันให้ทางรัฐบาลกลางเร่งอนุญาตการใช้โดรนสำหรับเชิงพาณิชย์ให้เร็วขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าให้รวดเร็ว ครอบคลุม และมีต้นทุนน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

ที่มา: http://www.ditp.go.th/ditp_pdf.php?filename=contents_attach/223466/223466.pdf&title=223466