SNP NEWS

ฉบับที่ 510

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

“ สงกรานต์ 2561 

‘สงกรานต์คึกคัก ใช้จ่ายสะพัด 1.3 แสนล้านบาท’
ข้อความข้างต้นเป็นหัวข้อข่าวของกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ช่วงก่อนสงกรานต์ 2561 ที่ผ่านมา (http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/798708)

เนื้อหาข่าวระบุว่า ตัวเลขดังกล่าวมาจากผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ประชาชนมีการใช้จ่ายเงินถึง 1.32 แสนล้านบาท โดยส่วนใหญ่ใช้เพื่อการท่องเที่ยว

มันหมายความว่า อยู่ ๆ เงินมหาศาล 1.32 แสนล้านบาท ถูกทุ่มเข้าสู่กระแสเศรษฐกิจของประเทศในช่วงสงกรานต์เพียง 1 สัปดาห์

เงินเหล่านี้ส่งผลอะไรให้เกิดขึ้นบ้าง???

เงิน 1.32 แสนล้านบาทคือ การบริโภค (Consumption) โดยตรงของประชาชน เงินเหล่านี้จะถูกนำไปใช้เพื่อเป็นค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ซื้อของขวัญ ของฝาก ส่งผลให้เกิดการซื้อ การขาย การผลิตเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องอย่างมหาศาล

กิจกรรมโลจิสติกส์ (Logistics Activities) เพื่อการรวบรวม จัดเก็บ เคลื่อนย้าย และกระจายสินค้าก็จะเติบโตขึ้นเป็นเงาตามตัว

ผู้ขายสินค้าและบริการได้เงินมากขึ้น การจ้างงานก็จะมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

เมื่อผู้ขายได้เงินมาไม่ว่าจะมาจากการขายสินค้าหรือแรงงานก็นำเงินที่ได้ไปซื้อ ไปจ้าง และไปใช้จ่ายอีกต่อหนึ่ง

เศรษฐกิจก็จะขยายตัวออกไปเป็นรอบ ๆ อย่างไม่รู้จบ

นี่คือเส้นทางที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศโต และคือเหตุผลทำไมรัฐบาลจึงต้องทุ่มเทให้กับละครออเจ้า สงกรานต์ และกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างที่เห็น
ในรายงานยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หากประเมินด้านเศรษฐกิจ ตัวเลขการใช้จ่ายดังกล่าวกระจุกตัวอยู่ในชนชั้นกลางและคนรายได้สูงที่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว โดยพิจารณาจากการนำเงินเดือนมาใช้จ่ายมากกว่าการออม

นั่นย่อมหมายความว่า การบริโภค (Consumption) ที่กระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ส่วนใหญ่มาจากชนชั้นกลางและคนที่มีรายได้สูงมากกว่า

ส่วนคนมีรายได้น้อยก็อาจกระตุ้นได้ไม่มาก สาเหตุจากผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำเป็นหลัก

รายงานยังแนะนำรัฐบาลให้เร่งอัดฉีดเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจตามแผน เร่งใช้งบกลาง 1.5 แสนล้านบาทที่จะเข้าไปช่วยเกษตรกรปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนตามแผนการจัดโซนนิ่งสินค้าเกษตรเพื่อช่วยคนจนให้มีรายได้ จากนั้นคนจนก็จะมากระตุ้นเศรษฐกิจอีกต่อหนึ่ง

ด้วยข้อมูลเหล่านี้ รายงานคาดการว่า ตัวเลข GDP ไตรมาส 2 จะขยายตัว 4.2 – 4.4% ซึ่งเป็นตัวเลขที่หลายฝ่ายพอใจขณะที่เพื่อนบ้านหลายประเทศ ตัวเลข GDP อยู่ที่ 5 – 7% สูงกว่าไทยจนเป็นเหตุให้ฝ่ายไม่ชอบรัฐบาล คสช. ออกมาโจมตี

สงกรานต์ 2561 มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจ และการใช้จ่ายภาครัฐก็มีต่อเศรษฐกิจประเทศด้วยเหตุนี้ ทุกครั้งที่กล่าวถึงตัวเลขเศรษฐกิจ คำว่า GDP มักถูกนำขึ้นมากล่าวถึง

GDP คืออะไร ???

GDP ย่อมาจากคำว่า Gross Domestic Product แปลเป็นไทยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือผลผลิตภายในประเทศแต่ละช่วงเวลา

ผลผลิตที่ว่านี้จะสะท้อนว่า เศรษฐกิจของประเทศเติบโตขึ้น อุดมสมบูรณ์ดี ประชาชนมีงานทำ มีเงินใช้จ่ายมากขึ้นมากน้อยเพียงใด หรือไม่เติบโต ถดถอยลง ประชาชนมีงานทำน้อยลง และมีเงินใช้จ่ายน้อยลง เป็นต้น

GDP สำหรับคนที่เคยเรียนเศรษฐศาสตร์พื้นฐานมา ก็พอเข้าใจวิธีการประเมินด้วยสูตร C + I + G + (X – M)

ตัวเลขเหล่านี้ ทุกประเทศจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคอยเก็บตัวเลขในแต่ละช่วงเวลาแล้วนำมาประเมิน

C = Consumption คือมูลค่าการบริโภคของเอกชนต่าง ๆ ซึ่งสะท้อนมาจากการมีรายได้ไม่ว่าจะเป็นบุคคล องค์กร หรือกิจการ

หากพิจารณาการบริโภคในช่วงสงกรานต์ 2561 ตัวเลขการบริโภคก็สูงถึง 1.32 แสนล้านบาทไปแล้ว แต่หากรวมการบริโภคอื่นตัวเลขก็ต้องมากกว่านี้

I  =  Investment คือมูลค่าการลงทุนภาคเอกชน การลงทุนยิ่งมากก็ยิ่งมีการจ้างงานมาก

G = Government คือมูลค่าการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ รัฐยิ่งใช้จ่ายมาก เงินก็ยิ่งแพร่สะพัดภายในประเทศมาก การซื้อ การขายก็ยิ่งตามมา

หากพิจารณาเฉพาะเงินช่วยเหลือ 1.5 แสนล้านบาทที่รัฐบาลจะนำเข้าไปช่วยเกษตรกรปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนตามแผนการจัดโซนนิ่งก็ถือว่า รัฐบาลกำลังใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือคนจน

X  = Export คือมูลค่าการส่งออกซึ่งรวมถึง แรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ การท่องเที่ยวจากต่างชาติเข้ามาในประเทศ และนักศึกษาต่างชาติเข้ามาศึกษาในประเทศไทย

M  = Import คือมูลค่าการนำเข้าซึ่งรวมถึง แรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทย การท่องเที่ยวในต่างประเทศของคนไทย และนักศึกษาไทยไปศึกษายังต่างประเทศ

เราจะรู้ตัวเลขเศรษฐกิจเติบโตหรือถดถอย ก็เพียงเอามูลค่าการบริโภคของเอกชน + การลงทุนของเอกชน + การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ + การส่งออก และลบ (-) ด้วยการนำเข้าตามสูตรที่ว่า C + I + G + (X – M)

ดังนั้น นอกจากผู้บริโภคและรัฐบาลแล้ว ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการต่าง ๆ และ Logistics จึงมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศ หรือ GDP เติบโตทั้งทางตรง และทางอ้อม

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

The Logistics

ปิดตัวลงแล้ว “นิวเจน แอร์เวย์ส”

หลังเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการมาเป็นเวลาเพียง 4 เดือน ล่าสุดสายการบินภายในประเทศ “นิวเจน แอร์เวย์ส” ก็ทนกับสภาวะขาดทุนไม่ไหวจนต้องปิดตัวลงในที่สุด

ก่อนหน้านี้สายการบิน “นิวเจน แอร์เวย์ส” เปิดให้บริการเส้นทางนครราชสีมา-เชียงใหม่, นครราชสีมา-ภูเก็ต และ นครราชสีมา-ดอนเมือง โดยใช้เครื่องบินโบอิ้ง 737-400 ขนาด 168 ที่นั่ง และเครื่องบินโบอิ้ง797-800 ขนาด 189 ที่นั่ง

ในวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา ทางสายการบินได้หยุดให้บริการเส้นทางนครราชสีมา-ภูเก็ต เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารน้อยมาก บางเที่ยวบินมีผู้โดยสารไม่ถึง 50 คน

นายประวัติ ดวงกันยา ผอ. ท่าอากาศยานนครราชสีมา เปิดเผยว่า สายการบินนิวเจนฯอาจไม่พร้อมเรื่องการตลาดและไม่มีกิจกรรมสร้างแรงจูงใจ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ที่เน้นเฉพาะในจ.นครราชสีมา ส่วนที่ จ.เชียงใหม่, จ.ภูเก็ต และกรุงเทพฯ แทบจะไม่มีการประชาสัมพันธ์เลย ดังนั้นลูกค้าจึงไม่หลากหลาย โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้โดยสารจากนครราชสีมา ไปและกลับ สังเกตได้จากเที่ยวบินขาออกจะมีจำนวนผู้โดยสารมากกว่าขาเข้าอย่างชัดเจน บางวันถ้าไม่มีเที่ยวบิน ออฟฟิศนิวเจนฯ ในท่าอากาศยานฯก็ปิด เมื่อผู้โดยสารวอคอินมาซื้อตั๋ว ก็ไม่สามารถดำเนินการให้ได้ ซึ่งผู้โดยสารกลุ่มนี้ไม่สะดวกในการเดินทางเข้าตัวเมืองและสั่งจองตั๋วโดยสารผ่านทางออนไลน์

อย่างไรก็ตาม สนามบินนครราชสีมาแห่งนี้มีศักยภาพทั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกปลอดภัย และขนาดพื้นที่ของรันเวย์ที่เหมาะสม ที่ตั้งที่อยู่ห่างจากตัวเมืองนครราชสีมา ประมาณ 25 กิโลเมตร ถือว่ามีความพร้อมเป็นลำดับต้นๆของประเทศ และประมาณช่วงกลางปีนี้ จะมีการประชุมหารือกับทุกภาคส่วน เพื่อประสานงานสายการบินโลว์คอสให้มาเปิดบริการในเส้นทางนครราชสีมา-เชียงใหม่ นครราชสีมา-ภูเก็ต และนครราชสีมา-ดอนเมือง โดยใช้เครื่องบินขนาด 65-100 ที่นั่งเพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสาร และสามารถตอบโจทย์การเดินทางด้วยเครื่องบินได้อย่างถูกต้อง

https://www.matichon.co.th/news/919301