SNP NEWS

ฉบับที่ 511

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

“ Jack Ma 

หวังประโยชน์จากแจ็ค หม่า

อย่าลืมมองรอบด้าน

หัวข้อข่าวข้างต้น ขึ้นหัวโดยกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เพื่อเตือนผู้เกี่ยวข้องของไทยให้มองรอบด้าน (http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail)

ผลดีที่ได้จากแจ๊คหม่ามีมากมาย แต่ผลเสียที่ประเทศไทยจะได้รับล่ะ ???

สัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวทุกสำนักต่างให้ความสำคัญต่อนายแจ็ค หม่า ที่เข้ามาประเทศไทย และเข้าพบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2561 เพื่อร่วมลงนามความเข้าใจในการลงทุน

ไทยย่อมหวังประโยชน์จากแจ็คหม่า แต่การทำธุรกิจเมื่อมีได้ก็ต้องมีเสียเป็นของคู่กัน แบบนี้แล้วไทยต้องเสียอะไรให้กับแจ็คหม่าบ้าง ???

เมื่อพิจารณา MOU บันทึกเพื่อความเข้าใจที่สื่อต่าง ๆ เสนอก็พบว่ามี 4 ฉบับ ครอบคลุมกิจการ 4 กลุ่ม

  1. ความร่วมมือในด้านการค้าการลงทุนและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ระหว่างสำนักงาน EEC และ Alibaba (China) Company Limited
  2.    ความร่วมมือด้านการลงทุน Smart Digital Hub ในพื้นที่ EEC ระหว่างสำนักงาน EEC, กรมศุลกากร และบริษัท Cainiao Smart Logistics Network
  3. ความร่วมมือด้านการพัฒนาบุคลากรในด้าน Digital และการส่งเสริมธุรกิจผ่าน E-Commerce ระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และ Alibaba Business School
  4. ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวผ่าน Digital และการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และบริษัท Fliggy จัดทำ Thailand Tourism Platform สำหรับประเทศไทย เพื่อนำสินค้า OTOP แผนที่ท่องเที่ยวกระจายในระบบออนไลน์แพลตฟอร์มเชื่อมโยงกับนักท่องเที่ยวจีน รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องกับ Internet of Things (IOT) ที่เป็นเทคโนโลยีคลื่นลูกใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการธุรกิจ

ทั้งก่อนและภายหลังการลงนาม MOU การวิเคราะห์จากบุคคลหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ผู้มีประสบการณ์ และผู้ประกอบการในหลายรูปแบบก็เกิดขึ้นตามสื่อต่าง ๆ

สิ่งที่น่าคิดคือ ไทยใช้ Facebook และ  Google เป็นช่องทางการค้าร่วมกับชาวโลกส่วนใหญ่ ขณะที่ในจีนถูกต่อต้าน รัฐบาลเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง และรัฐบาลจีนก็มีช่องทางของจีนเป็นเอกลักษณ์

ทุกประเทศที่ Alibaba ไปเปิดเครือข่ายงานก็จะได้ช่องทางจำหน่ายเพิ่มขึ้น เมื่อมาเปิดในไทย แน่นอนว่าทุกช่องทางจำหน่ายที่ไทยใช้อยู่ จีนได้ใช้ด้วยพร้อม ๆ กับพาช่องทางจีนออกมาด้วย

ด้านหนึ่งผู้ประกอบการไทยย่อมมีโอกาสค้าขายเพิ่มขึ้น เอาแค่สปอตโฆษณาขณะนี้ ‘1 นาที แจ๊คหม่าขายทุเรียนได้ 80,000 ลูก’ เกษตรกรก็ดีใจ คนไทยก็ตื่นเต้นแล้ว แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นการเพิ่มโอกาสกับผู้ประกอบการจีนได้ช่องทางมากขึ้นเช่นกัน

การเข้ามาไทยของ Alibaba ทำให้ช่องทางเปิดมากขึ้น ผู้มีความพร้อมได้ประโยชน์ แต่ผู้มีความพร้อมของไทยมีไม่มาก ขณะที่ผู้มีความไม่พร้อมและมีความไม่ชำนาญกลับมีมากกว่าจึงไม่รู้ว่าเกษตรกรไทยจะมีความพร้อมและได้ประโยชน์มากน้อยเพียงใด

สุดท้ายคนไม่พร้อมก็ต้องพึ่งพา Alibaba ที่อาจผลให้สินค้าจีนหลั่งไหลเข้าไทยง่ายกว่าเดิม

ขณะที่กลุ่มธุรกิจ Start Up ของไทยในปัจจุบันเริ่มเข้ามาใช้ E-Commerce มากขึ้น เมื่อ Alibaba เข้ามาเป็นทางเลือก และมีทีท่าว่าจะได้รับการส่งเสริมจากหลายภาคส่วนมากกว่า

การพึ่งพา Alibaba ก็อาจมีมากกว่าจนกลายเป็นการผูกขาดในที่สุด

ธุรกิจการให้บริการของไทย เช่น Logistics ก็ได้ผลกระทบเมื่อเครือข่ายการให้บริการที่ทันสมัยมากกว่า ขอบข่ายงานที่กว้างกว่า ต้นทุนต่ำกว่าเข้ามาแข่งขัน

วันหนึ่งก็อาจถูกผูกขาดตามไปด้วย

Logistics ยักษ์ใหญ่กำลังเข้ามา แค่เพียงประกาศว่า หากสั่งซื้อสินค้าทาง OnLine จากไทยหรือจีน สินค้าจะถูกส่งไปถึงมือในประเทศผู้ซื้อในภายใน 24 ชั่วโมงด้วยระบบและเทคโนโลยีที่เหนือกว่า

เพียงแค่นี้ Logistics ไทยก็เหนื่อยแทบตายจนอาจถอดใจ

การจัดการต้นทุนขนส่งก็ยังเป็นปัญหาของไทย ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ วันเดียวกับที่แจ็คหม่าเข้าพบนายกรัฐมนตรี 19 เมษยน 2561 ข่าวในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐก็ตีพิมพ์แถลงการของสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยเพื่อเตรียมขอปรับขึ้นค่าขนส่ง 1,000 บาท ต่อเที่ยว

เหตุผลที่ขอขึ้นมีหลายข้อ หนึ่งในนั้นคือ การจราจรที่ติดขัดจนทำให้ต้นทุนขนส่งสูงขึ้น

เส้นทางที่จะขอปรับคือ ท่าเรือคลองเตย, ท่าเรือแหลมฉบัง และไอซีดีลาดกระบัง พร้อมกับเหตุผลอื่น ๆ ตามเนื้อหาข่าวด้านล่างนี้

ข่าวแบบนี้ทำให้ระบบ Logistics ที่พึ่งพาคนน้อยลงของแจ็คหม่าดูมีราศรีขึ้นจับใจ

แจ็คหม่าเข้ามาสร้างปรากฎการณ์ใหม่ ๆ ให้กับไทย ขณะที่ผู้ประกอบการไทยอาจปรับตัวไม่ทันด้วยปัจจัยภายในประเทศหลาย ๆ อย่างจนอาจกลายเป็นเสียมากกว่าก็ได้

หากจะมองให้รอบด้าน มันจึงมีสิ่งน่ากลัวซ่อนเร้นอยู่ เมื่อการพึ่งพา Alibaba ถึงที่สุดแล้ว กิจการต่าง ๆ ของไทยก็อาจถูกผูกขาดตามไปด้วย

ทั้งหมดนี้จึงอยู่ที่รัฐบาลที่จะป้องกันเหมือนอย่างรัฐบาลจีนที่ตั้งกำแพงป้องกัน Facebook, google และ Line มิให้ใช้ได้ในจีนจนทำให้เครือข่ายของจีนเติบโตขึ้นมาส่งเสริมธุรกิจจีนเช่นกัน

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

ปล. แถลงการของ สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย

— Quote —

นายทองอยู่ คงขันต์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า จากที่ราคาน้ำมัน ราคาน้ำมันเครื่องยนต์ จาระบี ล้อยาง มีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นจากเดิม สมาพันธ์จึงจะจัดประชุมสัมพันธ์ในวันที่ 28 เมษายน เพื่อลงมติว่าจะปรับขึ้นค่าขนส่งหรือไม่ แม้ว่าขณะนี้ สหพันธ์ได้แจ้งลูกค้าแล้วว่าอาจต้องปรับขึ้นค่าขนส่ง ทั้งนี้สาเหตุที่ต้นทุนการดำเนินงานของสมาชิกสหพันธ์ปรับเพิ่มขึ้นยังมาจากปัญหาจราจรติดขัดในท่าเรือกรุงเทพฯ (ท่าเรือคลองเตย) ท่าเรือแหลมฉบัง และสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ICD) ลาดกระบัง ส่งผลให้รถบรรทุกต้องเสียเวลา 6-10 ชั่วโมงต่อเที่ยว และทำรอบได้เพียง 1 เที่ยวต่อวัน ฯลฯ

ก่อนหน้านี้ สหพันธ์ได้เสนอปัญหาดังกล่าวให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และรัฐบาลช่วยแก้ไขแล้ว โดยได้เสนอมาตรการแก้ไข 3 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 เป็นการปรับขึ้นค่าขนส่ง 1,000 บาท ต่อเที่ยว ในเส้นทางท่าเรือคลองเตย, ท่าเรือแหลมฉบัง และไอซีดีลาดกระบัง คิดเป็นเพิ่มขึ้น 5-10% จากราคาเดิม

นายทองอยู่ กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลไม่แก้ปัญหาเรื่องจราจรติดขัด และราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มปรับขึ้น ก็ต้องปรับขึ้นค่าขนส่ง 1,000 บาท ต่อเที่ยว เป็นค่าเสียเวลารอสินค้า ถ้าปรับขึ้นจริงก็ต้องเริ่มตั้งแต่เดือน พ.ค. นี้ ส่วนมาตรการขั้นที่ 2 คือ การกดดันรัฐบาลให้แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทั้งปัญหาจราจรติดขัดในท่าเรือคลองเตย, ท่าเรือแหลมฉบัง และไอซีดีลาดกระบัง และขั้นที่ 3 อาจต้องออกมาประท้วง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สหพันธ์มีสมาชิกเป็นสมาคมขนส่งรวม 18 แห่ง และมีความสำคัญต่อต้นทุนการขนส่งสินค้าของประเทศอย่างมาก เพราะประเทศไทยขนส่งสินค้าทางบก 88% โดยสหพันธ์เคยประกาศขึ้นค่าขนส่งครั้งสุดท้ายเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา

— Unquoted —

The Logistics

ท่าเรือ Chu Lai ชื่อนี้มีใครรู้จักบ้าง?

เมื่อไม่นานนี้มีข่าวว่า เรือขนส่งสินค้าของสายเรือ APL ขนาด 1,200 TEU ได้เข้าเทียบท่าที่ท่าเรือ Chu Lai Tam Hiep เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยถือเป็นการเปิดบริการเส้นทางตรงที่ไปยัง Chu Lai ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในบริการรายสัปดาห์ Chu Lai Haiphong Express (CHX) ของ APL ทั้งนี้ เรือ APL Chu Lai ได้ปฏิบัติการขนส่งชิ้นส่วนรถยนต์จากญี่ปุ่น ผ่านท่าเรือ Shekou เพื่อส่งมอบให้แก่บริษัท Truong Hai Automobile Joint-Stock (THACO) ในเครือบริษัท Mazda ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจเปิด Chu Lai

ในแต่ละสัปดาห์ เรือขนส่งสินค้าของบริการ CHX จะเข้าเทียบที่ท่าเรือ Chu Lai, Haiphong, Hong Kong และ Shekou โดยการขนส่งสินค้าขาเข้าจาก Hong Kong และ Shekou ไปยัง Chu Lai จะใช้เวลาทั้งสิ้นสามวันและสองวันตามลำดับ ส่วนสินค้าขาออกจาก Chu Lai จะถึง Hong Kong และ Shekou ภายในเวลาสี่วัน จากศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทั้งสอง ผู้ส่งสินค้าจะสามารถเชื่อมต่อกับตลาดภายในภูมิเอเชียได้มากขึ้น เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ รวมถึงปลายทางอื่นๆ เช่น ทวีปอเมริกาเหนือ ตะวันออกกลาง และยุโรป

บริการนี้สามารถรองรับการเติบโตของเขตเศรษฐกิจ Chu Lai และพื้นที่ใกล้เคียงอื่นๆ ในชายฝั่งทะเลภาคกลางและจังหวัดในที่ราบสูงภาคกลางได้อีกด้วย อีกทั้ง ผู้นำเข้าและส่งออก ยังสามารถใช้ประโยชน์จากบริการนี้ เพื่อเชื่อมต่อไปยังจีนและ Hong Kong ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสามารถลดระยะเวลาการขนส่งและค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าลงได้

ท่าเรือ Chu Lai ตั้งอยู่ในจังหวัดกว๋างนาม ซึ่งอยู่ทางภาคกลางของเวียดนาม เป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในอดีต เพราะเป็นที่ตั้งของอาณาจักจาม และมีเมืองประวัติศาสตร์อย่างเมืองฮอยอันตั้งอยู่ ปัจจุบันจังหวัดกว๋างนามมีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจและมีเครือข่ายที่ดีในการเชื่อมโยงกับจังหวัดต่างๆ

กว๋างนามมีท่าเรือย่อย Ky Ha และ Tam Hiep ในท่าเรือ Chu Lai – Truong Hai ที่มีศักยภาพในการรองรับเรือที่มีน้ำหนัก 20,000 DWT ท่าเรือนี้ส่งสินค้าของภาคเหนือและภาคใต้สู่ต่างประเทศ และไม่ไกลจากท่าเรือดานัง ซึ่งท่าเรือดานังเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในภาคกลางและสามารถรองรับเรือที่มีน้ำหนักได้มากถึง 50,000 DWT และตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 3,000 TEUS

นอกจากท่าเรือแล้ว ยังมีสนามบิน Chu Lai ซึ่งเป็นหนึ่งในสนามบินที่ใหญ่ที่สุดของภาคกลาง มีเที่ยวบินไปกรุงฮานอย และนครโฮจิมินห์ทุกวัน และทางจังหวัดกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างสนามบินขนส่งสินค้านานาชาติระดับ 4F และสถานีซ่อมและบำรุงรักษาเครื่องบินของเวียดนามอีกด้วย และนอกจากนั้นสนามบินนานาชาติดานังก็ห่างจากตัวเมือง Tam Ky (ตัวเมืองของจังหวัดกว๋างนาม) เพียงแค่ 70 กิโลเมตรทางทิศเหนือเท่านั้น ซึ่งสนามบินนานาชาติดานังก็มีเที่ยวบินจากประเทศญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทยในทุกๆ วัน

ที่มา: http://www.thaiembassy.org/hochiminh/th/business

http://thai.logistics-manager.com