SNP NEWS

ฉบับที่ 513

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

“ โกงทั้งแผ่นดิน ”

“โกงสะบึมส์”

ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชันเรื่องไหนจะน่าเศร้าใจเท่ากับการโกงเงินสงเคราะห์คนยากจน คนติดเชื้อเอดส์ และคนไร้ที่พึงพิง
หัวข้อข่าวย่อยข้างต้น ปรากฎบนหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันพุทที่ 2 พฤษภาคม 2561 เนื้อหาข่าวให้รายละเอียดว่า ‘การโกงเป็นขบวนการ ประเทศไทย 76 จังหวัด ตรวจพบการโกงไปแล้ว 67 จังหวัด มีเหลือเพียง 9 จังหวัดเท่านั้นที่ยังตรวจไม่พบ’

ตรวจไม่พบ หมายถึง ยังตรวจไม่พบ ไม่ได้หมายความว่า ‘ไม่มี’

การโกงหลายเรื่องเป็นเส้นผมบังภูเขาที่คาดไม่ถึง อย่างกรณีที่เป็นข่าวใหญ่โต ต้นเรื่องก็มาจากฟางเล็ก ๆ เส้นเดียว เมื่อนักศึกษากำลังฝึกงานในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น ถูกสั่งให้ปลอมลายมือในใบเบิกเงินจำนวน 6.9 ล้านบาท

เด็กเห็นว่าผิดปกติ ออกมาแฉ ในที่สุดก็กลายเป็นข่าวใหญ่โตจนเกิดการตรวจสอบและพบการโกงอย่างมโหฬารดังกล่าว

พอข่าวใหญ่โต บางคนที่รับไม่ได้ก็พูดประชดประชันเหมารวมว่า มันโกงกันทุกโครงการนั่นล่ะ โกงไม่เว้นแม้เงินช่วยเหลือคนจน คนป่วย คนพิการ เงินวัด เงินการกุศล หรือเงินช่วยเหลือเด็กยากไร้ บางคนก็ใช้คำว่าโกงทั้งแผ่นดินไปเลยจนเป็นที่เสียดแทงหัวใจข้าราชการที่ซื่อสัตย์

‘โกงทั้งแผ่นดิน’

ในความเป็นจริงข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรเอกชนก็ตาม คนโกงมีน้อย คนไทยซื่อสัตย์สุจริตมีมากกว่า แต่คนน้อยที่โกงนี่ล่ะที่ทำให้คนส่วนใหญ่เสียหายไปด้วย

คนส่วนน้อยที่โกงเงินจากโครงการต่าง ๆ ของรัฐก็เป็นการโกง ‘เงินแผ่นดิน’ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเงินที่เก็บจากประชาชน ใครมีรายได้ก็เสียภาษี ใครนำเข้าก็เสียภาษี เสียค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ใครเดินเข้าร้านสะดวกซื้อก็เสียภาษี ฯลฯ

สมมติคนจน 20 ล้านคน เข้าร้านสะดวกซื้อแล้วซื้อของใช้คนละ 100 บาทต่อวัน

รวมแล้วคนจน 20 ล้านคน ก็ต้องจ่าย 2,000 ล้านต่อวัน อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ก็เป็นเงิน 140 ล้านบาทต่อวัน หรือ 4,200 ล้านต่อเดือน หรือ 50,400 ล้านบาทต่อปี

นี่แค่สมมติจากคนจน 20 ล้านคน ซื้อของแค่วันละ 100 บาทเท่านั้น ยังต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มถึง 50,400 ล้านบาทต่อปีให้แก่รัฐไปเป็น ‘เงินแผ่นดิน’

ประเทศไทยไม่ได้มีคนจนแค่ 20 ล้านคน แต่มีมากกว่านั้นและยังมีคนชั้นกลาง คนรวยที่ต้องซื้อของมากกว่า 100 บาททุกวัน เมื่อรวมภาษีอากรอื่น ๆ อีกหลายรูปแบบแล้ว เงินภาษีอากรที่เข้าไปเป็น ‘เงินแผ่นดิน’ ในปีหนึ่ง ๆ ก็น่าจะเข้าไปเป็นแสนล้าน หรือล้านล้านบาทเลยทีเดียว

ดังนั้น ‘เงินแผ่นดิน’ ที่นำไปใช้จ่ายของรัฐในโครงการต่าง ๆ และถูกโกงออกไป มันก็คือเงินของประชาชนเราดี ๆ นี่เอง

ประชาชนเป็นเจ้าของเงิน แต่เวลา ‘เงินแผ่นดิน’ ถูกโกง ทำไมประชาชนน้อยคนจริง ๆ ที่จะรู้สึกว่า เงินตนเองถูกโกงไป ไม่เหมือนเด็กนักศึกษาฝึกงานคนนั้นที่ยอมออกมาแฉ

อย่างนี้แล้ว ประเทศไทยจะแก้ไขปัญหาการโกงได้หรือไม่ ???
ในทางปฏิบัติ หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานทุกแห่งต่างต้องมีผู้บังคับบัญชาทั้งสิ้น การใช้เงินตามโครงการหรืองบประมาณต่าง ๆ แต่ละครั้งก็ต้องผ่านความเห็นชอบก่อน

หากหัวไม่ส่ายแล้วหางจะกระดิกได้อย่างไร ??

ในบางครั้งก็อาจมีกรณีผู้บังคับบัญชาขาดวิสัยทัศน์ไม่รับรู้เรื่องการโกงเลย กลายเป็นหัวไม่ส่าย หางก็เลยกระดิกสบายเข้าสู่ยุค ‘โกงทั้งแผ่นดิน’ อย่างไม่รู้ตัว

มันจึงเป็นเรื่องวิสัยทัศน์ของฝ่ายบริหาร

ดังนั้น ไม่ว่าหัวจะส่ายจะหางกระดิก หรือไม่รู้เรื่องก็ตาม หากระบบราชการกำหนดให้ผู้บริหารระดับอธิบดีหรือเทียบเท่าขึ้นไป เป็นตำแหน่งที่ต้องมีวิสัยทัศน์ด้วยการแสดง ‘แผนงานเพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริต’ ก่อนเข้ารับตำแหน่ง

แบบนี้ ผู้บริหารที่ขาดวิสัยทัศน์ก็ย่อมทำแผนงานไม่ได้ และก็จะค่อย ๆ เลือนหายไปจากระบบราชการ

เมื่อใดมีแผนงานดี เมื่อนั้นการโกงก็น่าจะเบาบางลง

วิธีการง่าย ๆ คือ ก่อนเข้ารับตำแหน่งในหน่วยงานใดก็ตาม ผู้บริหารต้องรู้ว่า มีเงินอะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง เงินที่จะรับเข้าหน่วยงาน หรือเงินที่จะจ่ายออกผ่านหน่วยงานของตน

จากนั้นก็ให้เสนอ ‘แผนงานเพื่อการป้องกันหรือปราบปราบการทุจริต’

แผนงานก็ไม่ต้องสลับซับซ้อนอะไร เพียงจัดทำเป็นรายงานว่า ในการป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตสำหรับแต่ละโครงการหรือแต่ละเรื่องนั้น ตนจะทำอะไรบ้าง จะทำอย่างไรบ้าง และจะทำเมื่อไร (What How และ When)

มันมีหน่วยงานที่จะป้องกันและปราบปรามการทุจริตมากจริง ๆ ที่ควรเข้ามากำกับ

ดังนั้น เมื่อทำแผนงานแล้ว ก็เสนอไปยังหน่วยงานเหล่านั้น เช่น สำนักงานตรวจเงินตราแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ปปท.) ฯลฯ

เมื่อหน่วยงานรับผิดชอบได้รับแผนงานก็ต้องนำมาวิเคราะห์ผล ความน่าจะเป็นไป หรือการแก้ไขให้เหมาะสม แล้วก็อนุมัติโดย ค.ร.ม. หรือหน่วยงานที่เหนือกว่าเพื่อปิดประกาศให้ประชาชนและหน่วยงานรับทราบ

จากนั้น หน่วยงานรับผิดชอบก็เพียงกำกับ ดูแลให้ผู้บริหารปฏิบัติตามแผนงานในกรอบเวลาที่เสนอมาเท่านั้น

แผนงานที่ประกาศให้ประชาชนทราบจะทำให้เกิดการรับรู้ การติดตาม และสุดท้ายก็น่าจะลดการโกงให้เบาบางลงได้

แผนงานที่ดีจึงน่าจะตอบโจทย์การปราบโกงได้ดีที่สุด

ในอดีต การโกงจากคนไม่กี่คนไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองเลว ข้าราชการเลวหรือเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจเลวได้ลุกลามใหญ่ขึ้นจนกลายเป็นลัทธิเอาอย่างในหมู่ประชาชน

มันลุกลามเข้ากลุ่มธุรกิจเอกชนไม่ว่าจะเป็นการนำเข้า การส่งออก Logistics ตลาดทุน การค้า การขนส่ง หรืออื่น ๆ ต่อมาก็ลุกลามเข้าสู่ครอบครัว พ่อแม่ที่มั่วสุมอยู่กับการทุจริตจึงน่าจะมีแนวโน้มการทุจริตตาม เห็นเป็นเรื่องธรรมดา กลายเป็นคนเห็นแก่เงิน ในที่สุดบุตรหลานก็มีแนวโน้มจะเห็นแก่เงินตามไปด้วย

มันลุกลามไปสู่อนาคต ‘โกงทั้งแผ่นดิน’ ง่าย ๆ แบบนี้

แม้การจับกุมและการลงโทษเผยแพร่สู่สาธารณะจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่การจับกุมเหล่านี้เป็นเพียงปลายเหตุ คนชั่วที่ไม่ถูกจับกุมยังมีอีกมากจนน่ากลัวต่ออนาคต

แผนงาน และการควบคุมแผนงานเพื่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่มาจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารหน่วยงานนั้นจึงน่าจะเป็นการลดระดับการโกงให้เบาบางลงได้ตรงจุด

มิฉะนั้นแล้ว คำว่า ‘โกงทั้งแผ่นดิน’ ก็อาจไม่ไกลเกินเอื้อมจากประเทศไทย
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

The Logistics

เวียดนามทำ FTAs มากที่สุดในโลก

ความตกลงทางการค้าเสรี (Free Trade Agreements: FTAs) เปิดโอกาสให้เวียดนามส่งออกสินค้าได้มากขึ้น และช่วยแก้ไขปัญหาดุลการค้ากับประเทศคู่ค้า ช่วงเวลาก่อนปี 2007 เวียดนามมีความตกลงการค้าเสรีเพียง 2 ฉบับในฐานะสมาชิก ASEAN คือ อาเซียน – จีน และอาเซียน – เกาหลี ต่อมาเวียดนามได้ทำข้อตกลงการค้าเสรีอีกหลายฉบับ อาทิ ญี่ปุ่น และชิลี ในปี 2015 เวียดนามได้สรุปผลการเจรจาภายใต้ความตกลงแบบพหุภาคี ได้แก่ ความตกลง Trans – Pacific Partnership (TPP), ความตกลง Vietnam – EU Free Trade Agreement (EVFTA), ความตกลง Vietnam – Eurasia Economic Union Free Trade Agreement (VN – EAEU FTA) และความตกลงทวิภาคีกับเกาหลีใต้

เวียดนามจึงเป็นหนึ่งในประเทศที่ทำข้อตกลง FTAs มากที่สุดในโลก โดยได้ลงนามข้อตกลงทางการค้าแล้ว 17 ฉบับ มีผลบังคับใช้แล้ว 10 ฉบับ ลงนามแล้วแต่ยังไม่มีผลบังคับใช้ 2 ฉบับ สรุปผลการเจรจาแล้ว 2 ฉบับ และอีก 3 ฉบับกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามกล่าวว่า สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของเวียดนามปรับตัวดีขึ้น หลังจากขาดดุลการค้าเกือบ 7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2007 จากการเร่งรัดจัดทำความตกลงการค้าเสรีช่วยสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีกับภูมิภาคอื่นๆ และเป็นข้อได้เปรียบสำหรับสินค้าในเวียดนามที่จะเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ

ในปี 1995 มูลค่าการส่งออกของเวียดนามมีเพียง 5,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อมาในปี 2007 การส่งออกมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 48,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 213,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2017 นอกจากการส่งออกสินค้าจะมีกำไรเพิ่มมากขึ้นแล้ว FTAs ยังมีประโยชน์อื่นๆ ด้วย ซึ่งที่โดดเด่นที่สุด คือ การเข้าถึงทรัพยากรอย่างเป็นธรรม ความตกลงการค้าเสรีหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรุ่นใหม่ๆ ได้ให้ความสนใจกับความยุติธรรม ซึ่งบังคับให้เวียดนามต้องดำเนินการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในเวียดนามให้เป็นธรรมระหว่างรัฐวิสาหกิจ และบริษัทเอกชน อีกทั้งยังผลักดันให้มีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การปฏิรูปการบริหาร และลดอุปสรรคทางการค้า

การที่เวียดนามทำข้อตกลงทางการค้ากับต่างประเทศจำนวนมาก ช่วยสร้างแต้มต่อให้กับการส่งออกของเวียดนาม อีกทั้งยังช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมาก ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณาเวียดนามเป็นอีกทางเลือกในการพิจารณาลงทุนหรือขยายฐานการผลิต นอกจากจะใช้เวียดนามเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกและใช้ประโยชน์จากความตกลงเปิดเสรีทางการค้าแล้ว เวียดนามยังมีตลาดในประเทศขนาดใหญ่ (ประชากรมากกว่า 90 ล้านคน) ที่กำลังมีฐานะทางการเงินที่ดีขึ้น เศรษฐกิจที่เติบโตรวดเร็ว มีแรงงานที่ราคาถูกจำนวนมาก อีกทั้งทรัพยากรธรรมชาติและผลผลิตทางการเกษตรและประมงที่อุดมสมบูรณ์​

ที่มา:​ http://www.ditp.go.th/ditp_pdf.php?filename=contents_attach/228147/228147.pdf&title=228147