SNP NEWS

ฉบับที่ 520

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

ปัญหาสงฆ์


กฤษฎีกาเปิดรับความเห็นแก้ ‘พ.ร.บ. สงฆ์’

รื้อ มส. – ถวายพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง

MGR Online ข่าวสารออนไลน์เผยแพร่: 24 มิ.ย. 2561 ด้วยข้อความข้างต้นซึ่งเป็นอันรู้กันว่า โครงสร้างของมหาเถรสมาคมกำลังจะถูกรื้อตามหัวข้อข่าวข้างต้น

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่คนไทยนับถือมากที่สุด ยิ่งไปกว่านั้นจำนวนชาวต่างชาติที่เข้ามานับถือศาสนาพุทธก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งหลักธรรมคำสั่งสอนที่สืบต่อกันมาก็ล้วนเป็นสิ่งพิสูจน์ได้

“สัตว์โลกล้วนเป็นไปตามกฎแห่งกรรม”

“ผู้ใดทำกรรมใดไว้ก็ต้องได้รับกรรมนั้นกลับคืน”

ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา การเจริญเติบโตของศาสนาพุทธกลับตามมาด้วยปัญหาที่แก้ไม่หลุด คล้ายลิงติดแหที่แก้อย่างไรก็ไม่หลุด เกิดเป็นข่าวไม่เว้นวัน ส่วนใหญ่ของปัญหาก็มักเกิดจากสงฆ์ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด

เมื่อสงฆ์ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด พฤติกรรมของสงฆ์ที่ไม่ดีบางรูปจึงไม่ต่างจากปุถุชนทางโลกเท่าใดนัก

บทสรุปก็คือ สงฆ์ไม่เคร่งครัดต่อพระวินัยเพราะกิเลสตัญหาที่ยังตัดไม่ขาด

วันเวลายิ่งผ่านไป ดูเหมือนว่า กิเลสตัญหาที่เข้าครอบงำสงฆ์ไทยไม่ได้ลดน้อยลง ตรงกันข้าม นับวันกลับยิ่งมากขึ้นจนทำให้พระธรรมวินัยถูกละเลยมากยิ่งขึ้น

ไม่มีใครตอบได้ชัด ๆ ว่าพฤติกรรมที่ไม่ดีเหล่านี้ ต้นเหตุมาจากที่ใด แต่หากพิจารณาองค์ประกอบของสงฆ์แล้วก็คงประกอบด้วยพระผู้ใหญ่ตามลำดับชั้นต่าง ๆ มหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล ตลอดจนพระที่จำวัดเกือบทุกจังหวัด

การปกครองสงฆ์เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่สุดท้ายก็มีเรื่องไม่งามเกิดขึ้นไม่ว่าจะพัวพันสีกา พุทธพาณิชย์ ทรัพย์สิน และการทุจริตโดยไม่มีคำตอบชัด ๆ ว่า พฤติกรรมสงฆ์ที่ไม่ยึดมั่นธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดเกิดจากจุดใด หรือจากองค์ประกอบทั้งหมดร่วมกัน

แล้ววันนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาก็ตัดสินใจแก้ไขปัญหาสงฆ์โดยการแก้ไขกฎหมายอีกครั้งหนึ่งในส่วนการปกครองสงฆ์

มาตรา  20  ระบุว่า “คณะสงฆ์ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม”

มาตรา 12 ระบุว่า “มหาเถรสมาคมประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราชซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง สมเด็จพระราชาคณะทุกรูปเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และพระราชาคณะซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งมีจำนวนไม่เกินสิบสองรูปเป็นกรรมการ”

กฎหมายส่วนนี้บ่งบอกว่า สงฆ์ควรปกครองโดยสงฆ์และโดยมหาเถรสมาคม

ไม่มีใครตอบได้ว่า ปัญหาสงฆ์ที่เกิดสะสมจนมาทุกวันนี้เกิดจากการปกครองสงฆ์โดยมหาเถรสมาคมหรือไม่ ???

แต่โดยกฎหมาย สงฆ์ที่จะดำรงตำแหน่งกรรมการในมหาเถรสมาคมกลับเป็นโดยตำแหน่ง และตำแหน่งนั้นคือสมเด็จพระราชาคณะทุกรูป

เนื้อหากฎหมายแม้บ่งบอกว่า สงฆ์ควรปกครองโดยสงฆ์ตามลำดับชั้น แต่คณะกรรมการกฤษฏีกากลับมีความเห็นว่า สมเด็จพระราชาคณะส่วนใหญ่ชราภาพมีปัญหาสุขภาพ ไม่อาจเข้าประชุมได้สม่ำเสมอ

บางรูปก็มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และบางรูปก็อยู่ในระหว่างการไตร่สวน บางรูปตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา

กรรมการกฤษฎีกาเล็งเห็นปัญหาเหล่านี้ และมองว่า ปัญหานี้อาจเป็นเหตุให้การปกครองขาดประสิทธิภาพจนเกิดปัญหาตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาก็ได้

วันนี้ กรรมการกฤษฏีกาจึงมีความคิดให้ยกเลิกองค์ประกอบกรรมการมหาเถรสมาคมที่กำหนดในกฎหมายโดยตำแหน่ง

แต่ถวายพระมหากษัตริย์ให้ทรงแต่งตั้งจากพระภิกษะผู้มีพรรษาอันสมควร และมีจริยวัตรที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์

หากจะกล่าวโดยสรุป การแต่งตั้งกรรมการหาเถรสมาคมและตำแหน่งอื่นที่สำคัญให้เป็นพระราชอำนาจของในหลวงโดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

นี่คือสิ่งที่คณะกรรมการกฤษฏีกาเริ่มแก้ไขกฎหมายแล้ว แต่ยังได้เชิญพระภิกษุและบุคคลทั่วไปแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักการตามประเด็นดังกล่าวเข้ามาทางเว็บไซต์

www.krisdika.go.th ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2561

วันนี้จึงเป็นที่แน่ชัดว่า คณะกรรมการกฤษฏีกาขอเริ่มต้นแก้ไขปัญหาสงฆ์ที่ยืดเยื้อมานานด้วยการแก้ไขที่หาของกรรมการมหาเถรสมาคมโดยให้เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

การแก้ไขกฎหมายอาจมีข้อดีและไม่ดีที่คณะกรรมการกฤษฏีกาอาจมองไม่เห็น จึงมีแถลงการขอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้แสดงความคิดเห็น

หากประชาชนเห็นว่า การแก้ไขกฎหมายในข้อนี้มีส่วนทำให้สงฆ์ไทยดีขึ้น หรือมีความคิดเห็นอื่นใดเกี่ยวกับกฎหมายนี้ก็ขอให้ทุกท่านโปรดสละเวลาแสดงความคิดเห็นในเว็บไซต์ดังกล่าว

สงฆ์ควรปกครองโดยสงฆ์ แม้จะเป็นหลักการที่ดี แต่สถาบันสงฆ์อยู่ไม่ได้แน่หากขาดการยอมรับจากประชาชน

สิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการจากสงฆ์มีเพียงประการเดียวคือ การปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดซึ่งย่อมทำให้สงฆ์ละจากทางโลกอย่างแท้จริง และเป็นที่พึ่งทางใจของประชาชนให้กราบไหว้อย่างสนิทใจ

การมีส่วนร่วมในการแก้ไขกฎหมายสงฆ์จึงเป็นสิ่งจำเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

Logistics

ประเทศไทยของเรากำลังประสบปัญหาท่าเรือไทยมีไม่พอใช้

ประเทศไทยของเรากำลังประสบปัญหาใหญ่ที่มีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจการค้าของประเทศเป็นอย่างมาก นั่นคือ เรามีท่าเรือขนาดใหญ่ที่เป็นท่าเรือน้ำลึกไม่พอใช้ ทั้งๆ ที่เราพึ่งพาการส่งสินค้าออกไปยังตลาดต่างประเทศ แต่เรามีท่าเรือน้ำลึกที่รองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ได้เพียง 2 ท่าเท่านั้นคือ ท่าเรือมาบตาพุดของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและท่าเรือแหลมฉบังของการท่าเรือแห่งประเทศไทย

ซึ่งปัจจุบันทั้ง 2 ท่าเรือมีปริมาณสินค้าผ่านเข้าออกล้นพื้นที่มาแล้วเป็นระยะเวลาหลายปีจะขยายพื้นที่การให้บริการก็ขยายไม่ได้หากจะขยายก็ต้องใช้วิธีถมทะเลอ่าวไทยออกไป ซึ่งเป็นการทำลายระบบนิเวศน์ไม่สมควรที่จะกระทำเพราะจะไปกระทบกับสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในบริเวณพื้นน้ำอ่าวไทย

สิ่งที่รัฐบาลไทยโดยเฉพาะกระทรวงคมนาคมจะต้องกระทำก็คือ การเร่งสร้างท่าเรือน้ำลึกที่มีขนาดใหญ่มากพอที่จะรองรับเรือขนาดหนึ่งแสนตันไปจนถึงสามแสนตัน ซึ่งน่าต้องมี 3 ท่าเรือนั่นคือ ฝั่งทะเลอันดามัน 1 ท่าที่จังหวัดตรัง นั่นคือการขยายท่าเรืออำเภอกันตังจังหวัดตรัง อีก 1 ท่าที่ฝั่งทะเลอ่าวไทยที่บริเวณอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา และอีก 1 ท่าทางชายทะเลภาคตะวันออกในพื้นที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

นอกจากนั้นรัฐบาลจะต้องพัฒนาท่าเรือขนาดย่อมที่มีอยู่แล้วในประเทศให้ใช้รองรับเรือขนาด 50,000 ตันลงมา เช่น ท่าเรือคลองเตย, ท่าเรือเกาะสีชังชลบุรี, ท่าเรือระนอง, ท่าเรือสตูล, ท่าเรือปัตตานี, ท่าเรือปราณบุรี, ท่าเรือหัวหิน, ท่าเรือชุมพร เป็นต้น เพื่อกระจายความเจริญและสร้างเมืองท่าขึ้นมาเหมือนนานาอารยประเทศ เช่น จีน, ญี่ปุ่น, สหราชอาณาจักรเยอรมนี, ฝรั่งเศส หรือสหรัฐอเมริกา ได้ทำสำเร็จมาแล้ว

อีกเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลน่าจะให้ความสนใจนั่นก็คือการขุดคลองเชื่อม 2 ฝั่งมหาสมุทร คือ คลองไทยเชื่อมระหว่างทะเลอันดามันกับทะเลจีนใต้เพราะจะทำให้ฐานเศรษฐกิจของไทยก้าวกระโดดขึ้นทันทีแม้จะต้องใช้วงเงินลงทุนทั้งพื้นที่โครงการสูงมากถึง 2 ล้านล้านบาท ก็จริงแต่จะได้ผลคุ้มค่ามากๆ

สำหรับปัญหาเงินทุนในการก่อสร้างไม่น่าจะมี หากรัฐบาลจัดตั้งวิสาหกิจมหาชนนานาชาติระดมทุนขึ้น เชื่อว่าจะมีเงินทุนหลั่งไหลเข้ามาที่ประเทศไทยอย่างมากมายเกินพอ เพราะเงินทุนแค่ 62,500 ล้านเหรียญสหรัฐนั้น ถือว่าไม่ได้มากเลย ภาคเอกชนนานาชาติพร้อมจะป้อนเม็ดเงินเข้ามาในไทยอย่างต่อเนื่องยาวนานอาจะมีวงเงินสูงถึง 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐด้วยซ้ำไป

ประเทศที่พร้อมจะร่วมกับรัฐบาลไทยน่าจะได้แก่ จีน, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, มาเลเซีย, ไต้หวัน, ฮ่องกง, อินเดีย และเกาหลีใต้ ซึ่งจะได้รับผลประโยชน์อย่างมหาศาลร่วมกับไทยถ้าหากมีคลองเชื่อม 2 มหาสมุทรเรื่องการขุดคลองเชื่อม 2 มหาสมุทรนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนชาวใต้ร้อยละ 80 ให้ความสนับสนุนอย่างเต็มที่จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่ควรจะมองข้ามไป เพราะยิ่งสร้างช้ายิ่งจะเพิ่มทุนในการก่อสร้างมากยิ่งขึ้นอีก

ที่มา: http://www.naewna.com/politic/columnist/35854