SNP NEWS

ฉบับที่ 521

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

บาเซิล

‘ห้ามนำเข้าขยะพิษ’

ขณะนี้ ปัญหาขยะนำเข้าของไทยได้กลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาทั้ง ๆ ที่ระบบการนำเข้า การตรวจสอบ การควบคุมก็มี และยังมีอนุสัญญาบาเซิลที่หลายประเทศต่างได้ลงนามร่วมกัน

อนุสัญญาบาเซิล (Basel Convention on the Control of Transboundary Movements of Hazardous Wastes and Their Disposal) เป็นสนธิสัญญาระดับนานาชาติว่าด้วยการจำกัดการเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศพัฒนาไปยังประเทศด้อยพัฒนา (https://th.widipedia.org/wiki/อนุสัญญาบาเซิล)

จุดมุ่งหมายคือ ลดปริมาณสารพิษที่เกิดจากของเสียหรือขยะ หรือหากกล่าวง่าย ๆ คือการห้ามเคลื่อนย้ายขยะไปสู่ประเทศด้วยด้อยพัฒนานั่นเอง ส่วนของเสียที่อยู่ในข่ายห้ามขนย้ายก็แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม

กลุ่มโลหะ เช่น สารหนู ตะกั่ว ปรอท แอสเอสเบสตอส แคดเมียม

กลุ่มอนินทรียสาร เช่น สารเร่งปฏิกิริยาฟลูออลีน ฯลฯ

อินทรียสาร เช่น น้ำมันดิบ น้ำมันเตา ฯลฯ

อนินทรีสารอนินทรียสารและหรืออินทรียสาร เช่น ของเสียจากโรงพยาบาล วัตถุระเบิด ฯลฯ

ระบบการนำเข้า ระบบการควบคุม และอนุสัญญาบาเซิลมีความชัดเจนแต่สุดท้ายก็กลายเป็นปัญหาในประเทศไทยจนได้

ไม่ใช่อยู่ ๆ กระบวนการทำผิดกฎหมายจะกลายเป็นข่าวใหญ่ด้วยตัวของมันเอง หรือเกิดจากการตรวจสอบและพบขยะพิษ แต่ข่าวนี้เกิดจากชาวบ้านที่อยู่อาศัยบริเวณโรงงานคัดแยกขยะได้รับผลกระทบจากขยะพิษ ไม่ว่าจากกลิ่นและน้ำเสียที่ไหลออกมา

ขยะที่ไม่ใช่สารพิษนำเข้ามาได้ใช้เพื่อนำมาคัดแยก นำกลับมาใช้ใหม่ และอื่น ๆ ในทางการค้า แต่ขยะพิษนำเข้าไม่ได้

แล้วขยะพิษเข้ามาประเทศไทยได้อย่างไร ???

หากพิจารณาจากระบบการนำเข้าและการควบคุม ผู้นำเข้าต้องได้โควต้านำเข้า ก่อนนำเข้าก็ต้องได้รับใบอนุญาตไปแสดงต่อกรมศุลกากร

ใบอนุญาตต้องแสดงประเภทและปริมาณของขยะที่จะนำเข้า

ทุกอย่างมีระบบชัดเจนในการตรวจสอบขยะเป็นพิษหรือไม่ !!!

แล้วข่าวไทยรัฐฉบับวันที่ 21 มิถุนายน 2561 ก็ระบุว่า ผู้นำเข้าทำผิดเงื่อนไขในใบอนุญาตโดยนำเข้ามาในปริมาณที่เกินและเป็นขยะที่ไม่ถูกต้องตามที่ได้รับอนุญาต

แล้วก็มากองอยู่ในชุมชนร่วมกับชาวบ้านจนกลายเป็นขยะพิษอย่างที่เห็น

จากนั้นอีก 2 วัน วันที่ 23 มิถุนายน 2561 MGR Online ก็เผยแพร่ข้อมูลด้วยหัวข้อข่าว

‘กฎหมายเดิมเอาไม่อยู่ จ่อใช้ ม.44 ล้างขยะอิเล็กทรอนิกส์ พบโรงงานส่วนใหญ่เป็นของต่างชาติ’

พร้อมรายละเอียด: รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้เปิดเผยการตรวจพบโรงงานลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ผิดกฎหมาย 13 บริษัท 33 โรงงาน มีขยะรวมกันกว่า 5 แสนตัน

ส่วนใหญ่มีชาวต่างชาติเป็นเจ้าของ เล็งใช้ ม.44 กวาดล้างให้สิ้นซาก

โรงงานส่วนใหญ่มีเจ้าของเป็นต่างชาติ อาจไม่รักบ้านเกิดเมืองนอนเหมือนคนไทย โรงงานที่ตรวจพบไม่มีระบบคัดกรองตามมาตรฐาน ไม่มีบ่อบำบัดน้ำเสีย ไม่มีที่ดักจับฝุ่นละออง และการกำจัดขยะอิเล็กทรอสนิกส์ไม่ถูกลักษณะ

รายงานข่าวระบุว่า โรงงานทั้งหมดมีประมาณ 95% เป็นชาวต่างชาติ แต่มีคนไทยช่วยทำเอกสาร ทำบัญชีสำแดงเท็จยื่นต่อเจ้าหน้าที่เพื่อลักลอบนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้าประเทศไทย และไม่เสียภาษีอากรอย่างถูกต้อง อีกทั้งพบว่า สารพิษตกค้างจำนวนมากแพร่กระจายลงสู่พื้นดินและแหล่งน้ำ

การเสนอให้ใช้ ม. 44 ย่อมหมายความว่า ปัญหาขยะพิษหนักมากจนกระบวนการปกติเอาไม่อยู่แล้วแม้ว่าจะมีระบบการนำเข้า การตรวจสอบ การควบคุม และอนุสัญญาบาเซิลค้ำคอก็ตาม

ขยะพิษ 5 แสนตัน อยู่ใน 33 โรงงาน เฉลี่ยโรงงานละ 15,151.52 ตัน หากขยะพิษทั้งหมดนำเข้าโดยแอบซ่อนในตู้คอนเทนเนอร์ สมมติตู้หนึ่งบรรจุได้ 20 ตัน ขยะพิษ 5 แสนตัน ก็ต้องใช้ 25,000 ตู้คอนเทนเนอร์เลยทีเดียว

ประเทศไทยรับขยะพิษจากต่างชาติ 25,000 ตู้ มันแสดงปริมาณมากจริง ๆ มันมากจนคนติดตามข่าวตกใจ และมันมากจนฝ่ายรัฐบาลถึงกับเปรยว่าจะใช้ ม. 44 จัดการ

ทำไมต่างประเทศจึงฝ่าฝืนอนุสัญญาบาเซิลส่งขยะมาประเทศไทยมาก ???

หรือประเทศไทยเป็นประเทศด้อยพัฒนาในสายตาต่างชาติ

จากการตรวจสอบข้อมูลจาก PPTV ผ่าน https://www.pptvhd36.com/ พบว่า ประเทศที่ส่งขยะต่าง ๆ เข้ามาไทยคือ ออสเตรเลีย เยอรมันนี อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม และสิงคโปร์

ขยะทั้งหมดส่วนใหญ่นำเข้าโดยตู้คอนเทนเนอร์ขึ้นท่าเรือแหลมฉบัง ต้องผ่านด่านศุลกากร ผ่านการตรวจสอบ ผ่านระบบเอ็กซเรย์ ก่อนที่จะรับมอบออกไปได้

ระบบการตรวจสอบก็ถูกกำหนดขึ้นอย่างรัดกุม

แต่จากผลการตรวจโรงงานข้างต้นกลับเป็นเครื่องยืนยันว่า ขยะพิษแอบปะปนเข้ามาในปริมาณที่มากซึ่งแสดงว่า ระบบการตรวจสอบไม่ได้รัดกุมอย่างที่กำหนด

ดังนั้น การที่รัฐบาลเล็งใช้ ม. 44 เพื่อยุติปัญหาโดยพลัน และเพื่อกำหนดโทษให้รุนแรงขึ้น เช่น การยึดทรัพย์ จึงน่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

แต่ขยะต้องเกิดขึ้นทั่วโลกทุกวัน ทั้งที่นำมาแยกใช้ใหม่เพื่อใช้ประโยชน์ได้และขยะพิษ

เหตุผลง่าย ๆ ประเทศผลิตสินค้าต้องผลิตทุกวัน กฎหมายในประเทศผู้ผลิตรุนแรง ไม่อาจปล่อยทิ้งขยะได้ง่าย ๆ การทำลายเป็นเรื่องใหญ่ที่มีค่าใช้จ่ายสูง

สุดท้ายผู้ผลิตก็ต้องหาแหล่งทิ้งขยะในต่างประเทศ

แล้วประเทศไทยที่การบังคับใช้กฎหมายอ่อนก็เป็นเป้าหมาย โรงงานคัดแยกในไทยก็มีอยู่จำนวนมาก แม้แต่เวียดนามซึ่งน่าจะเป็นประเทศที่มีระดับเดียวกับไทยก็ยังส่งขยะมาไทย

ดังนั้น หากคนไทยที่ทำงานอยู่ในขบวนการนำเข้า ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนออกของ ผู้ประกอบการขนส่ง ผู้ให้บริการ Logistics หรือแม้แต่ศุลกากร ยังไม่ตระหนักถึงอันตรายจากขยะพิษที่เข้ามาทำลายผืนดิน แหล่งน้ำ สายลม และสภาพแวดล้อมของไทย

อย่างนี้แล้ว อะไรจะเกิดขึ้น ???

การลักลอบนำเข้าก็เกิดขึ้นแล้ว และก็เชื่อว่าการลักลอบนำเข้าก็อาจเกิดขึ้นอีก

มันจึงเป็นหน้าที่ของคนไทยที่จะช่วยกันปกป้อง ไม่เห็นแก่เงิน ไม่สนับสนุนขบวนการเหล่านี้ การปกป้องประเทศจากขยะพิษให้เป็นไปตามอนุสัญญาบาเซิลจึงน่าจะเกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

นอกจากจะใช้ ม. 44 แล้ว รัฐบาลยังต้องรณรงค์ให้ประชาชนรับรู้ ตื่นตัว และเป็นแนวร่วมในการป้องกันอีกด้วย

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

Logistics

WHA เปลี่ยนชื่อนิคมฯเหมราช-โครงการโลจิสติกส์พาร์ค สอดคล้องกลยุทธ์ภายใต้แบรนด์ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป

บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) ผู้นำอันดับหนึ่งในการให้บริการโซลูชั่นครบวงจรด้านโลจิสติกส์ และนิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทย แจ้งเปลี่ยนชื่อบริษัทในเครือจากบมจ.เหมราชพัฒนาที่ดิน เป็นบมจ.ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามกลยุทธ์ภายใต้แบรนด์ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป บริษัทจึงได้ดำเนินการเปลี่ยนชื่อนิคมอุตสาหกรรม ทั้ง 8 แห่ง และโครงการโลจิสติกส์พาร์ค 4 แห่ง ภายใต้การบริหารงานของบริษัท เป็นชื่อนิคมอุตสาหกรรมใหม่ ส่วนนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) ยังคงใช้ชื่อเหมือนเดิม ส่วนรายชื่อที่เปลี่ยนใหม่ เป็นดังนี้

ชื่อนิคมอุตสาหกรรม/โครงการโลจิสติกส์พาร์คเดิม → ชื่อใหม่

นิคมอุตสาหกรรมเหมราชชลบุรี → นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ชลบุรี 1
นิคมอุตสาหกรรมเหมราชชลบุรี 2 → นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ชลบุรี 2
นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด → นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 1
นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด 2 → นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 2
นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด 4 → นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4
นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก (มาบตาพุด) → นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ตะวันออก (มาบตาพุด)
เขตประกอบการอุตสาหกรรมเหมราชระยอง → เขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง
เขตประกอบการอุตสาหกรรมเหมราชสระบุรี → เขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ สระบุรี
เหมราชโลจิสติกส์พาร์ค 1 → ดับบลิวเอชเอ โลจิสติกส์พาร์ค 1
เหมราชโลจิสติกส์พาร์ค 2 → ดับบลิวเอชเอ โลจิสติกส์พาร์ค 2
เหมราชโลจิสติกส์พาร์ค 3 → ดับบลิวเอชเอ โลจิสติกส์พาร์ค 3
เหมราชโลจิสติกส์พาร์ค 4 → ดับบลิวเอชเอ โลจิสติกส์พาร์ค 4

ทั้งนี้ บริษัทจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงป้ายชื่อโครงการ รวมถึงเอกสารทางการตลาดต่างๆ ภายใต้ชื่อบริษัท และชื่อนิคมอุตสาหกรรมและโครงการโลจิสติกส์พาร์คใหม่ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม WHA กล่าวว่า การเปลี่ยนชื่อบริษัทและนิคมอุตสาหกรรมรวมถึงโครงการโลจิสติกส์พาร์คใหม่นี้ สะท้อนให้เห็นถึงกลยุทธ์การสร้างแบรนด์และความมุ่งมั่นของบริษัทที่มีต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด
“การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างหรือธุรกิจของเหมราชฯเดิม แต่อย่างใด บริษัทยังคงให้บริการ
ด้านนิคมอุตสาหกรรมด้วยมาตรฐานสูงสุด จากทีมงานและผู้บริหารที่มีคุณภาพและมากด้วยประสบการณ์” นางสาวจรีพร กล่าว

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/iq05/2847413