SNP NEWS

ฉบับที่ 453

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

ทรัพยากร

“เขาเล่นการเมืองเพื่ออะไร ?”

คำถามลักษณะข้างต้น หลายคนอาจทราบคำตอบดี ขณะที่หลายคนก็อาจทราบบ้าง ไม่ทราบบ้าง หรืออีกหลายล้านคนอาจไม่ทราบคำตอบเลยก็ได้

เห็นนักการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้งก็ไปเลือก

ทีวีโฆษณาให้เลือกคนดีก็ใช้วิธีถามกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือคนที่เคารพนับถือ แล้วก็เลือกตามนั้น  บางคนใช้วิธีคิดแบบผิด ๆ ว่า ใครให้เงินคนนั้นก็เป็นคนดีแล้วก็เลือกคนให้เงินมาทำงานการเมือง

พฤติกรรมต่าง ๆ นานาเหล่านี้สะท้อนว่า คนที่เข้าใจการเมืองในประเทศไทยมีไม่มาก ส่วนคนหมู่มากที่เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง กลับมีมาก

มันมีมากจนทำให้ประเทศไทยเป็นอยู่ทุกวันนี้

ในหลักการแล้ว คนเล่นการเมืองต่างก็เล่นเพื่อให้ได้อำนาจมาทั้งสิ้น เมื่อได้มาแล้วก็จะใช้อำนาจนั้นจัดสรรทรัพยากรของชาติให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม

นี่คือหลักการ

ทรัพยากรของชาติแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม หนึ่งก็ทรัพยากรที่สร้างขึ้น เช่น งบประมาณ คนของรัฐ เครื่องไม้เครื่องมือ และอีกหนึ่งก็คือทรัพยากรที่เป็นธรรมชาติ เช่น แผ่นดิน น้ำ ทะเล ป่าไม้ แร่ธาตุ สัตว์ป่า พลังงาน และอื่น ๆ เป็นต้น

คำว่า ‘ทรัพยากรของชาติ’ ก็ต้องเป็นของทุกคนในชาติ ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง

ทรัพยากรบางอย่างใช้ไม่หมด มีทดแทนขึ้นใหม่ไม่สิ้นสุด บางอย่างสร้างทดแทนขึ้นใหม่ได้แต่อาจไม่เหมือนเดิม และบางอย่างมีจำกัดใช้แล้วก็หมดไป

ไม่ว่าทรัพยากรจะมีอยู่อย่างจำกัดหรือไม่จำกัดก็ตาม ใคร ๆ ก็อยากได้ อยากใช้กันทั้งนั้น ยิ่งใช้ฟรีได้ก็ยิ่งดี พอมีคนใช้ฟรีสักคน คนที่เหลือมากมายก็จะใช้ฟรีบ้าง ถึงขั้นแย่งชิงก็มี สุดท้ายจึงต้องมีการจัดสรรเพื่อให้ทุกคนในชาติได้ประโยชน์

แล้วใครจะมาทำหน้าที่จัดสรร ???

คำตอบก็คือ นักการเมืองเป็นผู้จัดสรรด้วยการออกกฎหมาย หรือแก้ไขกฎหมาย ดังนั้น นักการเมืองจึงต้องมาจากประชาชน โดยประชาชน และทำเพื่อประชาชนอย่างเสมอภาค

นี่คือหลักการและเหตุผลของคำว่า ‘ประชาธิปไตย’

หากเป็นทรัพยากรที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ใครที่ได้รับการจัดสรรก็ต้องจ่ายค่าสัมปทาน ค่าธรรมเนียม ภาษีอากร หรืออื่น ๆ รัฐก็นำรายได้นี้มาสร้างประโยชน์อื่น ๆ ให้ทุกคนในชาติต่อไปเพื่อให้เป็นไปหลักการที่ว่า

ทุกคนในชาติได้ประโยชน์จากทรัพยากรนั้น

ดังนั้น การจัดสรรจึงเป็นหน้าที่ใหญ่หลวงนัก ยิ่งไปกว่านั้น นักการเมืองที่ทำจัดสรรยังต้องกำกับดูแลคนของรัฐ ข้าราชการในการจัดสรรและในการป้องกันการลักลอบใช้ทรัพยากรของชาติให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายอีกด้วย

เมื่อนักการเมืองได้อำนาจการบริหารมา นอกจากจะใช้อำนาจนั้นในการออกกฎหมายหรือแก้ไขกฎหมายแล้ว นักการเมืองยังใช้อำนาจนั้นโยกย้ายบุคลากร อนุมัติรายจ่ายงบประมาณแผ่นดิน และอื่น ๆ เพื่อจัดสรรและป้องกันทรัพยากรของชาติภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย

หากจะว่าไปแล้ว นักการเมืองจึงเป็นอาชีพเดียวที่เข้าถึงทรัพยากรของชาติง่ายที่สุด

ในทำนองเดียวกัน นักการเมืองก็เป็นอาชีพเสี่ยงที่สุดต่อการจัดสรรผลประโยชน์ให้เกิดการทับซ้อนไม่ว่าต่อตนเองและพวกพร้องมากที่สุดเช่นกัน
ในเมื่อนักการเมืองเป็นอาชีพที่เสี่ยงต่อผลประโยชน์ทับซ้อนที่สุด ถามว่า หากไม่มีนักการเมืองแล้วจะเอาใครมาทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากรของชาติ ???

คำตอบง่าย ๆ คือ หากอำนาจปกครองประเทศเป็นของพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช การจัดสรรก็เป็นอำนาจของพระองค์หรือผู้แทนพระองค์

หากอำนาจการปกครองประเทศมาจากการรัฐประหาร ผู้จัดสรรก็คือคณะรัฐประหาร และหากอำนาจมาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย อำนาจนั้นก็มาจากประชาชนผู้เลือกตั้งซึ่งเป็นผู้มอบให้นักการเมืองผ่านการเลือกตั้ง

ประชาชนท้องถิ่นอยู่ใกล้ทรัพยากรของชาติที่สุด อยากใช้มากที่สุด แล้วจะมีประชาชนที่รู้จริง ๆ ว่า นักการเมืองที่ตนกำลังจะเลือกนั้นเขาจะได้อำนาจในการจัดสรรไปด้วย

นักการเมืองนำอำนาจที่ได้นั้นไปจัดสรรเพื่อประชาชนส่วนรวมหรือเพียงกลุ่มหนึ่งกันแน่ ???

ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งไม่ช้าก็เร็ว ๆ นี้ นักการเมืองกำลังเปิดเกมช่วงชิงอำนาจ ขณะที่ประชาชนก็กำลังถูกดึงเข้าสู่เกมการเป็นผู้มอบอำนาจไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

คำถามที่ว่า “เขาเล่นการเมืองเพื่ออะไร ?”

ทรัพยากรของชาติจึงน่าเป็นคำตอบที่ตรงประเด็นที่สุด

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

LOGISTICS

สร้างศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่ท่าอากาศยานฉางเป่ย เมืองหนานชาง มณฑลเจียงซี

ท่าอากาศยานฉางเป่ย ณ เมืองหนานชาง มณฑลเจียงซี ปัจจุบันสามารถรับผู้โดยสารได้ 10 ล้านคนต่อปี ถือว่าเป็นท่าอากาศยานขนาดใหญ่ของประเทศจีน มีขีดความสามารถในการรองรับสินค้าได้ 5 หมื่นตัน เมื่อเร็วๆนี้รัฐบาลเจียงซี มีแผนพัฒนาท่าอากาศยานฉางเป่ย ให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ทางอากาศ คาดว่าปี 2563 จะสามารถรองรับสินค้าได้ 2 แสนตัน และปี 2568 จะขยายเป็น 1 ล้านตัน

เมื่อการพัฒนาแล้วเสร็จ ท่าอากาศยานฉางเป่ยจะเป็นศูนย์โลจิสติกส์ทางอากาศที่สำคัญของเขตเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี  ซึ่งเป็นฐานการขนส่งทางอากาศที่สำคัญ โดยเป็นหนึ่งในสนามบินอัจฉริยะในเส้นทาง “One Belt and One Road”

ขณะนี้ รัฐบาลเจียงซีได้ออกมาตรการจูงใจให้พัฒนาโลจิสติกส์ทางอากาศโดยการให้รางวัลแก่ผู้ปฏิบัติตามเป้าหมาย เช่น น้ำหนักสินค้าเข้าออกเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1 กิโลกรัมให้รางวัล 1 หยวน เครื่องบินบรรทุกสินค้าภายในประเทศน้ำหนักเพิ่มขึ้น 1 กิโลกรัม ให้รางวัล 3 หยวน เปิดเส้นทางบินใหม่ได้ ให้รางวัล 30,000 หยวนต่อเที่ยวบิน เป็นต้น

นายเฉินจุน ผู้จัดการใหญ่ของ บริษัท Jiangxi Aviation Ground Service จำกัด ให้ข้อมูลว่า เพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาอย่างรวดเร็วของความต้องการขนส่งสินค้า ท่าอากาศยานฉางเป่ยได้เตรียมพร้อมในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ การจัดหาอุปกรณ์ขนถ่ายสินค้า การสร้างคลังสินค้า รวมทั้งการเพิ่มพื้นที่ลานจอดรถ โดยมีมูลค่าการลงทุนกว่า 60 ล้านหยวน

ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการขออนุญาตให้สร้างคลังสินค้าในท่าอากาศยานฉางเป่ยเป็นท่าเรือบกนานาชาติ (Inland Port) เพื่อสามารถนำเข้า-ส่งออก สัตว์น้ำแช่แข็ง ผลไม้สด รวมทั้งจัดตั้งด่านศุลกากร ศูนย์ประมวลผลไปรษณีย์นานาชาติ ซึ่งเมื่อการก่อสร้างคลังสินค้าแล้วเสร็จจะช่วยให้การค้าระหว่างประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ผลไม้จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะสามารถเข้าสู่เมืองหนานชางได้สะดวกขึ้น จดหมายและพัสดุภัณฑ์จากเมืองหนานชางสามารถส่งไปทั่วโลกได้รวดเร็วขึ้น

ความเห็นของ สคต. ณ เมืองเซี่ยเหมิน

มณฑลเจียงซี ไม่มีทางออกสู่ทะเลทำให้การนำเข้าหรือส่งออกสินค้าโดยส่วนใหญ่ต้องผ่านเมืองกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง หรือผ่านเมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน ปี 2560 เมืองหนานชาง มีประชากร 5.46 ล้านคนและ ปี 2560 มูลค่า GDP 5,003.19 ล้านหยวน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 YoY) ส่วน GDP per capita มีมูลค่า 91,570 หยวน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 YoY) จะเห็นได้ว่าอัตราการขยายตัวของ GDP และ GDP per capita ค่อนข้างสูง และสูงกว่าอัตราขยายตัวของ GDP ของจีน ปี 2560 (ปี 2560 GDP ของจีน ขยายตัวร้อยละ 6.9) หรืออีกนัยนึงคือ สภาพเศรษฐกิจของเมืองหนานชางดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้บริโภคมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสของสินค้าไทยในการเข้าสู่ตลาดเมืองหนานชาง

ข้อมูลจากศุลกากรจีน (ประมวลโดย World Trade Atlas) ระบุว่า ปี 2560 เมืองหนานชางนำเข้าสินค้าจากไทยผ่านด่านศุลกากรหนานชาง มูลค่า 134.88 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ร้อยละ 40) ดังนั้น การที่ท่าอากาศยานฉางเป่ย ณ เมืองหนานชาง จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ทางอากาศ จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งในกระจายสินค้าไทยไปยังเมืองหนานชาง และเมืองใกล้เคียง

ที่มา: http://www.ditp.go.th/ditp_pdf.php?filename=contents_attach/239686/239686.pdf&title=239686

pdf&title=163816