SNP NEWS

ฉบับที่ 529

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

ดีหรือร้าย

“สำแดงเท็จครั้งแรกไม่เจออาญา กรมศุลฯ ผ่อนผันจบแค่ปรับเงิน”

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยในงานสัมมนา “Digital Customs 2018” ว่า 1 ก.ย.นี้ กรมศุลกากรพร้อมเริ่มใช้ระบบออนไลน์ในพิธีการศุลกากรกับทุกหน่วย
(https://www.thairath.co.th/content/1361150)
รายละเอียดของข่าวสรุปว่า กรมศุลกากรเตรียมออกประกาศยกเลิก ‘การระงับคดี’ กรณีผู้นำเข้าสำแดงเท็จ หรือเสียภาษีไม่ถูกต้อง
ในข่าวกล่าวว่า ประกาศใหม่จะให้จ่ายเพียงแค่ภาษีที่ขาด ค่าปรับ และเงินเพิ่มเพื่อแลกกับการไม่ต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย เพื่อถือเป็นคดีภาษีที่เกี่ยวด้วยภาษีอากร ไม่ใช่คดีอาญา
ประกาศใหม่นี้จะเปิดโอกาสให้ผู้นำเข้าที่ทำผิดฐานสำแดงเท็จได้สิทธิ์เพียงครั้งเดียวที่จะขอระงับคดีได้
หากพบว่ามีการกระทำผิดซ้ำอีก ก็จะทำสำนวนส่งฟ้องศาลเพื่อพิจารณาความผิดทางอาญาที่มีโทษปรับตามกฏหมาย 2-4 ไม่เกิน 4 เท่าของราคาสินค้าและโทษอื่น ๆ โดยไม่มีการเจรจาระงับคดีเพื่อขอเสียค่าปรับและเงินเพิ่มได้อีก
กรมศุลกากรจะให้ส่งฟ้องศาลแทนการปรับเพื่อระงับคดีในชั้นศุลกากร

หัวข้อและเนื้อหาข่าวข้างต้น ใครได้อ่านก็อาจตีความไปถึง 2 ทาง
ทางหนึ่งเป็นคุณ ส่วนอีกทางหนึ่งก็เป็นโทษ หรืออาจมองว่า นี่เป็นทั้งข่าวดีและข่าวร้ายให้แก่ผู้ประกอบการในเวลาเดียวกัน
ทำไมหรือ ???
พรบ. ศุลกากรเป็นกฏหมายที่มีลักษณะพิเศษคล้าย ๆ กับ พรบ. จราจรที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจในการออกคำสั่ง จับกุม และตกลงยอมความกับผู้ทำผิดโดยการชำระค่าปรับ
ด้วยอำนาจพิเศษนี้ เมื่อผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออกทำผิดด้วยการหลีกเลี่ยงภาษีอากรก็สามารถตกลงยอมความกับเจ้าพนักงานศุลกากรได้โดยการชำระภาษีอากรที่ขาด ค่าปรับ และเงินเพิ่มตามที่กฏหมายกำหนด
ในอดีตที่ผ่านมา ค่าปรับที่ต้องชำระก็มักกำหนดกันตั้งแต่ 1,000 บาท หรือร้อยละ 10 ของอากรที่ขาดในกรณีความผิดเบา หรือหนักสุดก็อาจปรับ 2 เท่า จนถึง 4 เท่าของอากรที่ขาด
การพิจารณาลงโทษก็เป็นไปตามลักษณะของความผิดและดุลยพินิจของเจ้าพนักงานศุลกากร
คำว่า ‘ภาษีที่ขาด’ หมายถึง จำนวนเงินภาษีอากรที่ขาดหายจำนวนไปเท่าไรก็ให้จ่ายเพิ่มเท่านั้น
คำว่า ‘เงินเพิ่ม’ เบี้ยปรับ หมายถึง เงินค่าปรับ เช่น 1,000 บาท หรือ 10% หรือ 2-4 เท่าของอากรที่จ่ายขาดจำนวนให้แก่กรมศุลกากร และภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องจ่ายให้กับกรมสรรพากรโดยกรมศุลกากรช่วยเรียกเก็บแทนอีกราว 1-1.5 เท่าของภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขาด
คำว่า ‘เงินเพิ่ม’ หมายถึง ความล่าช้าที่จากการจ่ายภาษีอากรที่ขาดโดยนับตั้งแต่วันนำเข้า หรือส่งออกโดยอากรกรมศุลกากรจะเก็บ ‘เงินเพิ่ม’ ในอัตราร้อยละ 1 ต่อเตือน ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มจะเก็บในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน
นี่คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 กันยายน 2561

แต่หลังวันที่ 1 กันยายน 2561 เป็นต้นไป ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกที่มีความผิดฐานหลีกเลี่ยงภาษีอากรตั้งแต่ครั้งที่ 2 ขึ้นไป กรมศุลกากรจะไม่ใช้เกณฑ์การลงโทษและการใช้ดุยลพินิจนี้อีกแล้ว
ข่าวนี้หากจะตีเป็นข่าวดีสำหรับผู้นำเข้าและผู้ส่งออกที่มั่นใจว่าตนเองไม่ผิดก็ได้ เพราะในอดีตมักถูกตัดสินให้ผิด ชำระภาษีเพิ่มพร้อมค่าเบี้ยปรับและเงินเพิ่มโดยไม่สมัครใจ
บางรายไม่ยอมรับก็ให้ส่งศาลพิจารณาความผิดด้วยความมั่นใจในหลักฐานที่พร้อมพิสูจน์
การขึ้นสู่การพิจารณาของศาลย่อมมีระบบ มีกระบวนการ มีการใช้ทนายความ และเวลาที่ใช้ก็มากกว่า อีกประการหนึ่งศาลท่านก็ย่อมมีดุลยพินิจตามกฎหมายที่ต่างไปจากเจ้าพนักงานศุลกากร
ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกกลุ่มนี้จึงมองว่า นี่คือข่าวดี
ตรงกันข้าม ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกที่ได้รับผลดีจากการประนีประนอมหรือจากการพิจารณาของเจ้าพนักงานศุลกากรมาตลอดก็อาจมองว่า นี่คือข่าวร้ายก็ได้
ไม่ว่าจะเป็นข่าวดีหรือข่าวร้ายก็ตาม วันนี้ ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกควรรู้และเข้าใจระบบงานศุลกากรมากขึ้น เข้าใจถึงความสำคัญของ NSW (National Single Window) ซึ่งเป็นระบบที่ทุกหน่วยงานราขการต่างใช้หน้าจอคอมพิวเจอร์เดียวกัน
วันนี้ ข้อมูลต่าง ๆ ที่ใช้ในการเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างประเทศทุกเรื่องสามารถเปิดดูได้จากทุกหน่วยงานตั้งแต่ต้นทางกระทั่งปลายทางจนเป็นเหตุให้ความผิดสามารถตรวจสอบพบได้ง่ายขึ้น
ความผิดตรวจสอบพบได้ง่าย ผลดีและร้ายก็มีคู่กัน
ดังนั้น การป้องกันผลร้ายให้ได้แต่ผลดีที่สุดจึงมีเพียงทางเดียวคือ การมีความรู้และความเข้าใจกฎหมายศุลกากรเพื่อมิให้เกิดข้อผิดพลาดที่จะนำไปสู่กระบวนการพิจารณาลงโทษเท่านั้น

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

————————————-

LOGISTICS

รัสเซีย – ญี่ปุ่น มีแผนขนส่งสินค้าระหว่างกันทางราง 

ข่าวจากญี่ปุ่นรายงานว่า การขนส่งสินค้าทางรางระหว่างรัสเซียและญี่ปุ่น คาดว่าจะได้รับการพัฒนาร่วมกันอย่างเป็นทางการ ซึ่งมันจะเป็น “ช่องทางการกระจายสินค้าทางเลือกที่สาม” นอกเหนือจากการขนส่งทางเรือและทางอากาศ การขนส่งสินค้าจะใช้เส้นทางการเดินทางผ่านเส้นทาง “ทรานส์ไซบีเรีย” ที่มีระยะทางยาว 9,289 กิโลเมตร ที่ถือว่าเป็นเส้นทางเดินรถไฟที่ยาวที่สุดในโลก เชื่อมระหว่างกรุงมอสโกกับภูมิภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย โดยใช้เวลาเดินทางรวดเดียว 7 วัน เส้นทางนี้ถูกสร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2434 – 2459 และมีเวลาที่แตกต่างกันถึง 8 โซนเวลาตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง 
 
การเปิดทําการทดลองใช้เส้นทางขนส่งครั้งนี้ จะใช้ฤกษ์การจัดการประชุม Eastern Economic Forum ครั้งที่ 4 ที่เมืองวลาดิวอสตอค ระหว่างวันที่ 11-13 กันยายน 2561 โดยจะมีบริษัทเอกชนเข้าร่วมทําการทดลองในเบื้องต้นประมาณ 10 ราย (ส่วนมากเป็นบริษัททําธุรกิจกระจายสินค้าของญี่ปุ่น) โดยจะเน้นศึกษาเรื่องปัจจัยด้านต้นทุนและระยะเวลา การบริหารจัดการเรื่องศุลกากร และขั้นตอนพิธีการนําเข้า-ส่งออกเป็นสําคัญ 
 
ปัจจุบันการค้าระหว่างญี่ปุ่น – รัสเซียจะใช้ทางเรือและทางอากาศเป็นหลัก หากเลือกทางเรือในการขนส่งจากญี่ปุ่นไปยังกรุงมอสโกผ่านทางมหาสมุทรอินเดียต้องใช้เวลาระหว่าง 53 – 62 วัน แต่ถ้าหากใช้การขนส่งทางบกผ่านระบบรางจะใช้เวลาเพียง 20-27 วัน อีกทั้งยังจะสามารถประหยัดต้นทุนลงได้ถึงร้อยละ 40 
 
จากสถิติของกระทรวงการคลังของญี่ปุ่น พบว่าในปี พ.ศ. 2560 ญี่ปุ่นส่งสินค้าไปยังรัสเซียทั้งสิ้นคิดเป็นมูลค่า ประมาณ 673.7 พันล้านเยน (6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยมีสินค้ารถยนต์คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 44 และ ชิ้นส่วนยานยนต์อีกร้อยละ 12 ทั้งสองฝ่ายหวังว่าการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งจะช่วย ให้การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์และสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ มีความคล่องตัวขึ้น รวมทั้งมีความเป็นไปได้ว่าจะใช้เป็นช่องทางการขนส่งน้ำมันดิบและแก๊สธรรมชาติได้ด้วย 
 
นอกจากนั้น ยังมีแผนที่จะขยายเส้นทางการขนส่งทางรางผ่านกรุงมอสโกยาวไปถึงยุโรป อันจะทําให้การขนส่งสายทรานส์ไซบีเรียกลายเป็นเส้นทางหลักอันหนึ่งระหว่างญี่ปุ่นกับยุโรป โดยแหล่งข่าวจากรัฐบาลญี่ปุ่น กล่าวว่า หากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างญี่ปุ่นและรัสเซียเข้มแข็งขึ้นจากการเชื่อมโยงเส้นทางการขนส่งระหว่างกัน ก็จะช่วยผ่อนคลายความบาดหมางจากข้อพิพาทกับรัสเซีย ในเรื่องกรรมสิทธิ์ดินแดนทางตอนเหนือของญี่ปุ่นที่มีมาอย่างยาวนาน
 
ญี่ปุ่นถือว่าเป็นประเทศหนึ่งของเอเชียตะวันออก ที่มีที่ตั้งอยู่ใกล้กับฝั่งตะวันออกไกลของรัสเซียมาก แต่ด้วยปัญหากรณีข้อพิพาทกับรัสเซียเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ของหมู่เกาะ Kuril Islands และการเป็นพันธมิตรที่แนบแน่นกับฝั่งสหรัฐอเมริกา ทําให้ความสัมพันธ์ในทุกมิติกับรัสเซียไม่ราบรื่น แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายได้มีการประนีประนอมกันมากขึ้น โดยมีความคิดริเริ่มที่จะพัฒนา Kuril Islands ร่วมกันในเชิงเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นก็ได้เดินทางมาร่วมประชุมทางเศรษฐกิจประจําปีที่รัสเซียอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและเมืองวลาดิวอสตอคและยังร่วมแสดงปาฐกถากับประธานาธิบดีปูตินในช่วงไฮไลท์ของการประชุมด้วย แถมยังยกเอาฤกษ์การประชุม Eastern Economic Forum ปีนี้ในการทํา ประชาสัมพันธ์เปิดทดลองเส้นทางการขนส่งทางรางในครั้งนี้อีกด้วย
 
ที่จริงแล้ว เส้นทางการขนส่งสินค้าทางรางสายทรานส์ไซบีเรียในประเทศรัสเซียมีมายาวนานและเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว ดังนั้นการที่ญี่ปุ่นและรัสเซียจะใช้เป็นทางเลือกใหม่ในการขนส่งสินค้าระหว่างกันในครั้งนี้น่าจะเป็นการประชาสัมพันธ์ และแสดงความจริงใจที่จะขยายความสัมพันธ์กับรัสเซียทางเศรษฐกิจและการค้ามากกว่า เพราะที่ผ่านมาญี่ปุ่นก็เสียโอกาสทางการค้ากับรัสเซียมาตลอดเมื่อเทียบกับจีนและเกาหลีใต้ที่อยู่ในกลุ่มภูมิภาคเดียวกัน ซึ่งมีการค้าและการลงทุนจํานวนมหาศาลกับรัสเซีย โดยยกตัวอย่างเช่น ในเมืองใหญ่อย่างกรุงมอสโก และนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กที่จะพบเห็นรถยนต์หลากรุ่น หลายยี่ห้อของเกาหลีใต้วิ่งกันเกลื่อนกลาดมากกว่ารถยนต์จากญี่ปุ่นอย่างเห็นได้ชัดตามท้องถนน อย่างไรก็ตามการขนส่งสินค้าจากประเทศต้นทางโดยสายการเดินเรือไปยังปลายทางที่เมืองวลาดิวอสตอคเพื่อจะขนถ่ายไปยังระบบรางเส้นทางทรานส์ไซบีเรียอีกทอดหนึ่งนั้น ยังเป็นที่น่าสงสัยว่าประสิทธิภาพของโครงสร้างพื้นฐานเมืองวลาดิวอสตอคที่มีอยู่มีความพร้อมเพียงใด จะสามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าจํานวนมากที่เพิ่มขึ้นได้หรือไม่