SNP NEWS

ฉบับที่ 530

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

นำกลับเข้ามา

สินค้าส่งออกไปแล้วถูกนำกลับเข้ามา (Re-Importation)

สามารถยกเว้นภาษีอากรได้หรือไม่ ???

คำถามดังกล่าวข้างต้น คนที่มีความรู้ความเข้าใจด้านพิธีการศุุลกากรดีก็สามารถตอบได้ชัดเจน ตรงกันข้าม คนที่ไม่มีความรู้ หรือพอรู้ พอเข้าใจก็อาจตอบได้ไม่ชัดเจนนัก

สินค้าที่ผลิตในประเทศไทย หากส่งออกไปต่างประเทศและถูกนำกลับเข้ามาภายหลังในด้านหลักการและเหตุผลแล้วย่อมเป็นสินค้าของไทยที่ไม่ควรเสียภาษีอากร

ด้านหลักการและเหตุผลนี้ก็คล้าย ๆ กับบุุคคลที่มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

ไม่ว่าบุคคลดังกล่าวจะอาศัยอยู่ในประเทศใด สุดท้ายก็คือคนไทย เว้นแต่จะยินยอมสละสัญชาติไทยด้วยความสมัครใจ

ขณะเดียวกัน สินค้าต่างประเทศที่เคยชำระภาษีอากรขณะนำเข้าไว้แล้ว

เมื่อส่งออกไปไม่ว่าเพื่อการซ่อม หรือการใด ๆ แล้วนำกลับเข้ามาใหม่ ในด้านหลักการและเหตุผลย่อมเป็นสินค้าที่ชำระภาษีอากรไว้แล้วก็ไม่ควรต้องชำระภาษีอากรซ้ำอีก

ทั้งหมดนี้คือ ด้านหลักการและเหตุผล

ในด้านกฏหมายศุลกากรของไทยก็ยึดหลักการและเหตุผลไม่ต่างกัน เพียงแต่กฏหมายได้กำหนดเงื่อนไขให้เป็นวิธีการพิสูจน์ไว้อย่างชัดเจน

เมื่อใดที่สินค้านำกลับเข้ามา (Re-Importation) ได้รับการปฏิบัติตามเงื่อนไขของกฏหมายไว้ครบถ้วนแล้ว สินค้านั้นย่อมได้รับการยกเว้นภาษีอากร

เงื่อนไขดังกล่าว ประกอบด้วยวิธีการปฎิบัติ 3 ข้อเท่านั้น คือ

  1.  ขณะส่งออกสินค้าหรือของนั้นได้ทำใบสุทธินำกลับ (Re-Importation Certificate) ไว้แล้ว ในกรณีที่มิได้ทำไว้ขณะส่งออก กฏหมายยังให้อำนาจอธิบดีกรมศุลากรในการผ่อนผันได้โดยผ่านกระบวนการพิสูจน์ตามที่ท่านอธิบดีจะกำหนด

ใบสุทธินำกลับนี้ (Re-Importation Certificate) จะใช้เป็นหลักฐานพิสูจน์เพื่อพิสูจน์ว่า สินค้าหรือของนั้นผลิตในประเทศไทย

ทั้งนี้ รวมถึงสินค้าหรือของต่างประเทศที่ได้ชำระภาษีอากรขณะนำเข้าไว้แล้ว ส่งออก และนำกลับเข้ามาภายหลังเช่นกัน โดยยกเว้นภาษีอากรให้แก่มูลค่าเดิมของสินค้าหรือของขณะส่งออกเท่านั้น ส่วนมูลค่าที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าการซ่อม ปริมาณของที่เพิ่ม ต้องชำระภาษีอากรตามพิกัดอัตราของสินค้าหรือของที่ส่งออกนั้น

  1.  เมื่อส่งออกไปแล้วต้องนำกลับเข้ามาภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ส่งออก เงื่อนไขเวลา 1 ปีนี้ กฏหมายยังให้อำนาจอธิบดีกรมศุลกากรในการขยายเวลาครั้งละไม่เกิน 1 ปี ตามความจำเป็น
  2.  สินค้าหรือของที่นำกลับเข้ามาต้องไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะเดิม เว้นแต่การซ่อมหรืออื่น ๆ ที่ได้แจ้งเจตนาไว้ขณะทำใบสุทธินำกลับ

เงื่อนไขทางกฏหมายไม่ซับซ้อนอะไร

ข้อแนะนำคือ หากรู้ว่า สินค้าหรือของที่จะส่งออกนั้นจะมีการนำกลับเข้ามาภายหลัง หรือรู้อย่างไม่แน่ใจ ก็ควรทำใบสุทธินำกลับขณะส่งออกไว้ก่อน

สิ่งเดียวที่พึงระลึกถึงเสมอคือ เมื่อใดที่เงื่อนไขและหลักเกณฑ์ทางกฏหมายถูกละเลย เมื่อนั้น หลักการและเหตุผลที่แม้จะถูกต้องเพียงใดก็ไม่อาจช่วยได้

สินค้าหรือของที่ควรได้รับการยกเว้นภาษีอากร ก็อาจถูกพิจารณาให้ชำระภาษีอากรอย่างไม่น่าจะเป็นไป

ความรู้ ความเข้าใจ หรือการเคียงบ่าเคียงไหล่กับตัวแทนออกของที่มีประสบการณ์อย่างแท้จริงด้วยข้อมูลข่าวสารครบถ้วนย่อมทำให้ภาระค่าภาษีอากรนำเข้าและความวุ่นวายลดลง

อีกทั้งรายจ่ายด้าน Logistics ก็อยู่ในความควบคุมที่ดีเช่นกัน

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

ปล. ข้อมูลทางกฎหมายเกี่ยวกับใบสุทธินำกลับ (Re-Importation Certificate)

ใบสุทธินำกลับ หมายถึง หลักฐานทางศุลกากรเพื่อใช้ในการยกเว้นอากรสำหรับของที่ส่งออกไปต่างประเทศแล้วจะนำกลับเข้ามาภายใน 1 ปีนับแต่วันส่งออก ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของภาค 4 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 การยกเว้นอากรโดยใช้ใบสุทธินำกลับมี 2 ประเภท ได้แก่

ประเภทที่ 1 ของที่ส่งออกรวมทั้งของที่ส่งกลับออกไปซึ่งนำกลับเข้ามาภายใน 1 ปีโดยไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะหรือรูปแต่ประการใด และในเวลาที่ส่งออกนี้ได้รับใบสุทธินำกลับเข้ามาแล้ว

ประเภทที่ 2 ของที่นำมาในประเทศไทยซึ่งได้เสียอากรไว้ครบถ้วนแล้ว และภายหลังส่งออกไปซ่อม ณ ต่างประเทศ หากนำกลับเข้ามาภายใน 1 ปีหลังจากที่ได้รับใบสุทธินำกลับเข้ามาซึ่งได้ออกให้ในขณะส่งออก

ของตามประเภทที่ 1 หมายถึง การส่งสินค้าออกไปต่างประเทศซึ่งจะนำกลับเข้ามาภายใน 1 ปีนับแต่วันส่งออกโดยไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะหรือรูปแต่ประการใด และในเวลาที่ส่งออกได้จัดทำใบสุทธินำกลับเป็นหลักฐานไว้แล้ว ก็จะได้รับยกเว้นอากรในเวลาที่นำกลับเข้ามา

ตัวอย่างเช่น ส่งสินค้าเครื่องประดับหรืออัญมณีมีค่าออกไปแสดงหรือจำหน่ายในต่างประเทศแล้วจะนำกลับเข้ามาในภายหลัง หรือส่งสินค้าพร้อมบรรจุภาชนะที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้อีกออกไปต่างประเทศแล้วนำภาชนะนั้นกลับเข้ามาในภายหลัง เช่น ถังบรรจุก๊าซ กล่อง หีบ ถุง แกนหลอดด้าย ฯลฯ

ของตามประเภทที่ 2 หมายถึง การส่งของที่นำเข้าจากต่างประเทศซึ่งได้เสียอากรไว้ครบถ้วนแล้วส่งกลับออกไปเพื่อทำการซ่อมแซมในต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นเครื่องจักรที่นำเข้ามาแล้วส่งออกไปซ่อมทั้งเครื่องหรือซ่อมแต่เพียงบางส่วนก็ได้โดยจะนำกลับเข้ามาภายใน 1 ปีนับแต่วันส่งออก และในเวลาที่ส่งออกได้จัดทำใบสุทธินำกลับเป็นหลักฐานไว้แล้ว

ของที่ส่งออกไปซ่อมก็จะได้รับยกเว้นอากรในเวลาที่นำกลับเข้ามา ตัวอย่างเช่น เครื่องจักร ส่วนประกอบหรืออุปกรณ์ของเครื่องจักร เครื่องควบคุม ใบมีด ลูกกลิ้ง ฯลฯ

การยกเว้นอากรตามประเภทที่ 2 นี้ จะได้รับยกเว้นอากรเพียงเท่าราคา หรือปริมาณแห่งของเดิมที่ส่งออกไปซ่อมเท่านั้น

ส่วนราคาหรือปริมาณที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการซ่อม เช่น ค่าซ่อม ค่าอะไหล่หรือค่าบริการต่าง ๆ จะต้องเสียภาษีอากรตามพิกัดอัตราอากรของของเดิมที่ส่งออกไปซ่อม โดยคำนวณจากราคาหรือปริมาณที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการซ่อม ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าและประกันภัย

ดังนั้นเมื่อนำของที่ส่งออกไปซ่อมกลับเข้ามาใหม่ ผู้นำเข้าต้องยื่นใบขนสินค้าขาเข้าสำแดงเฉพาะค่าซ่อม ค่าอะไหล่หรือค่าบริการที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการซ่อมเท่านั้น และชำระค่าภาษีอากรตามประเภทพิกัดอัตราเดียวกันกับของที่ส่งออกไปซ่อม ตัวอย่างเช่น ส่งเครื่องจักรราคา 500,000 บาท ที่นำเข้ามาจากประเทศอังกฤษออกไปซ่อมที่ประเทศญี่ปุ่นโดยเสียค่าซ่อมและค่าอะไหล่เป็นเงิน 30,000 บาท ผู้นำเข้าต้องชำระอากรในพิกัด 8479.10.10 อัตราอากร 5% ของค่าซ่อมและค่าอะไหล่โดยไม่ต้องรวมราคาเครื่องจักร ค่าประกันภัยและค่าขนส่งแต่อย่างใด ดังนั้นจะเสียค่าอากรเพียง 1,500 บาทพร้อมภาษีมูลค่าเพิ่มอีกร้อยละ 7 ของค่าซ่อมรวมกับค่าอากร

หมายเหตุ อธิบดีกรมศุลกากรมีอำนาจที่จะสั่งให้ได้รับการยกเว้นจากบทบัญญัติว่าด้วยใบสุทธินำกลับเข้ามาหรืออาจอนุญาตให้ขยายกำหนดเวลาออกไปอีกตามความจำเป็นแก่กรณีได้ แต่

การขยายกำหนดเวลาให้ทำได้ไม่เกินครั้งละ 1 ปี

LOGISTICS

ทกท. ปรับปรุงระบบ e-Payment ตู้สินค้าขาออก เตรียมเปิดให้บริการกันยายนนี้

เรือตรี ทรงธรรม จันทประสิทธิ์ รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย สายวิศวกรรม รักษาการแทนผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า กทท. จะนำระบบ e-Payment มาใช้จัดเก็บค่าธรรมเนียมยานพาหนะผ่านท่า ค่าภาระตู้สินค้าขาออก และค่าบริการชั่งน้ำหนักตู้สินค้าขาออก ณ ประตูตรวจสอบสินค้าเขื่อนตะวันออกของท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) โดยจะเริ่มเปิดให้บริการในวันที่ 1 กันยายนนี้ ซึ่งการทดลองใช้ในช่วงหกเดือนแรก ทกท. จะให้บริการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว ด้วยระบบเดิมและระบบ e-Payment ควบคู่กันไป โดย กทท. จะออกใบเสร็จแบบย่อ ผู้ใช้บริการสามารถพิมพ์ได้เอง หลังจากทำรายการ e-Payment ผู้ใช้บริการสามารถนำมารับใบเสร็จตัวจริงได้ที่ประตูหลัก (Main Gate) ของ ทกท.

ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการผ่านธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และ ทกท. จะเพิ่มธนาคารทางเลือกที่จะให้บริการรับชำระเงินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้มากขึ้น โดยจะดำเนินการประสานกรมสรรพากร เพื่อเปลี่ยนรูปแบบใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบจากกระดาษเป็นอิเล็กทรอนิกส์ต่อไป

โครงการพัฒนาระบบ e-Payment เป็นส่วนหนึ่งในการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริการให้เป็นท่าเรืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Port) ขานรับนโยบาย Thailand 4.0 ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วยนวัตกรรม โดยใช้ระบบ IT ในการบริหารจัดการ โดยการจัดส่งข้อมูลของลูกค้าจะอยู่ในระบบดิจิทัลทั้งหมด เป็นการลดขั้นตอนในการทำพิธีการตู้สินค้าขาออกที่ผู้ใช้บริการจะต้องนำตู้สินค้าผ่านประตูหลัก (Main Gate) เข้าไปในเขตรั้วศุลกากร ทกท. จากเดิมผู้ใช้บริการต้องเตรียมชำระอัตราค่าธรรมเนียมพาหนะผ่านท่า และอัตราค่ายกขนตู้สินค้าลงจากยานพาหนะ (Lift Off Charges) และค่าบริการชั่งน้ำหนักตู้สินค้า โดยมีเจ้าหน้าที่ของ กทท. ตรวจและรับชำระเงินหน้าประตู ซึ่งอาจเกิดปัญหาจราจรในช่วงเวลาเร่งด่วน การนำระบบ e-Payment จะช่วยลดขั้นตอนการดำเนินงาน ลดเอกสารและประหยัดเวลา โดยผู้ประกอบการสามารถกรอกข้อมูลพิธีการตู้สินค้าขาออกลงในระบบ NSW (National Single Window) ได้ในทุกที่ที่มีโปรแกรมการใช้งาน โดยข้อมูลดังกล่าว จะผนวกรวมกับใบกำกับการขนย้ายสินค้าของกรมศุลกากร พร้อมเชื่อมโยงเป็นฐานข้อมูลอ้างอิงให้กับระบบ e-Payment ซึ่งรถบรรทุกตู้สินค้าจะสามารถสแกนข้อมูลและผ่านเข้าประตูหลัก โดยไม่ต้องเสียเวลาจอดรอเพื่อชำระเงินหรือตรวจประเภทรถและตรวจสอบใบเสร็จผู้ใช้บริการเพียงบันทึกข้อมูลเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรและหมายเลขตู้สินค้า ซึ่งระบบจะเชื่อมโยงข้อมูลบริษัทฯ จากระบบของกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากับระบบ CTMS เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการคำนวณค่ายานพาหนะผ่านท่า ค่ายกขนตู้สินค้าลงจากยานพาหนะ (Lift Off Charges) และค่าชั่งน้ำหนักตู้สินค้าแบบเบ็ดเสร็จ

ที่มา http://thai.logistics-manager.com