SNP NEWS

ฉบับที่ 531

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

ส่งกลับออกไป


ไทยจะเป็นศูนย์กลางทางการค้า ???
ในอดีตที่ผ่านมา หลายรัฐบาลของไทยพยายามผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการค้าในภูมิภาคนี้ และทุกครั้งก็มักมองสิงคโปร์เป็นต้นแบบ

ประเทศสิงคโปร์เป็นเกาะเล็ก ๆ มีขนาดใกล้เคียงภูเก็ต ไม่มีทรัพยากรใด ๆ แม้แต่น้ำที่ใช้อุปโภคบริโภคก็ยังต้องซื้อจากมาเลเซีย แต่สิงคโปร์กลับมีเศรษฐกิจเติบโต มีการซื้อ การขายสินค้าและบริการในอันดับต้น ๆ ของโลกจนก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางทางการค้าได้

จากการศึกษาทุกครั้งก็มักพบว่า ประชาชนในสิงคโปร์มีระเบียบ การเมืองมีเสถียรภาพ การโอนเงินระหว่างประเทศสะดวก การบริการราชการมีระบบรวดเร็ว การทุจริตน้อย มีท่าเรือทันสมัยที่อำนวยความสะดวก และสินค้าที่นำเข้าส่วนใหญ่ปลอดภาษีอากร ฯลฯ

เหนืออื่นใด ประชาชนสิงคโปร์มีความรู้ มีความเข้าใจ และมีความสามารถในการจัดการ

ต่าง ๆ นานาเหล่านี้ทำให้คนของสิงคโปร์และคนต่างชาติได้รับความสะดวกต่อการทำการค้า การเป็นศูนย์กลางทางการค้าจึงเกิดขึ้นง่าย ๆ

เมื่อมีต้นแบบ ทุกอย่างก็ไม่ยาก หลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยก็พยายามพัฒนาตนเองในด้านต่าง ๆ ให้ทัดเทียมสิงคโปร์

บางข้อก็ทำได้ดี แต่บางข้อก็ทำได้ช้าหรืออาจทำไม่ได้เลย เช่น การทำให้สินค้านำเข้าส่วนใหญ่ปลอดภาษีอากรที่พร้อมจะส่งขายไปยังประเทศที่สาม

ภาษีอากรเป็นต้นทุนที่ทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น และเป็นอุปสรรคที่ทำให้การไหลเวียนของสินค้าไม่ได้รับความสะดวก (Tarrif Barrier)

ปัจจุบัน หลายประเทศมีข้อตกลงการค้าเสรีไม่ว่าจะเป็นทวิภาคี หรือพหุภาคีที่ทำให้สินค้าปลอดอากรขาเข้า

ขณะที่ประเทศไทยก็มีคลังสินค้าทัณฑ์บนหลายประเภท มีพิธีการสินค้าถ่ายลำ สินค้าผ่านแดน และมีสินค้าส่งกลับออกไป (Re-Exportation) ฯลฯ

ทั้งหมดนี้คือรูปธรรม ที่ทำให้สินค้าปลอดจากภาษีอากรในการส่งขายประเทศที่สามซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการค้าทั้งสิ้น

แต่ในด้านความรู้สึกที่เป็นนามธรรม นักธุรกิจต่างชาติยังมองว่า ไทยก็ยังด้อยกว่าสิงคโปร์อยู่ดี

ขณะที่นักธุรกิจของไทยก็ยังขาดความรู้ความเข้าใจในพิธีการศุลกากรที่แม้จะพัฒนาขึ้นไปมาก และเพราะความรู้ความเข้าใจที่มีไม่มาก ขาดความมั่นใจ นักธุรกิจบางท่านจึงมักรวมค่าภาษีอากรเข้าในไปสินค้านำเข้ามาเพื่อเตรียมส่งกลับออกไปขายยังประเทศที่สาม

ทั้งที่สินค้านั้นไม่ได้ใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรขณะนำเข้า

หลังจากนั้น หากขอคืนภาษีอากรในภายหลังได้ก็ถือว่ากำไรเพิ่ม หากคืนไม่ได้ก็ไม่เป็นไรเพราะได้บวกค่าภาษีอากรเข้าไปในราคาสินค้าเพื่อขายแล้ว

การขาดความรู้ ความเข้าใจนี้ ทำให้สินค้าที่จะส่งกลับออกไปขายมีราคาสูงขึ้น โอกาสขายได้น้อยลง และทำให้ความเป็นศูนย์กลางทางการค้าลดลงไปอย่างน่าเสียดาย
สินค้านำเข้าแล้วส่งกลับออกไปย่อมเป็นสินค้าที่มิได้บริโภคภายในประเทศ สินค้าดังกล่าวจึงควรได้รับการปลอดภาษีอากร หรือหากชำระไว้แล้วก็ควรได้คืน

นี่คือหลักการ และแนวทางปฏิบัติที่มีกฎหมายของไทยตาม พรบ. ศุลกากร 2560 มาตรา 28 (พรบ. ศุลกากร 2482 มาตรา 19) รองรับ

สินค้านำเข้าเพื่อส่งกลับออกไปสามารถทำได้ 2 กรณีคือ

สินค้าอยู่ยังในอารักขาของศุลกากร

หมายถึงสินค้ายังมิได้ชำระภาษีอากรและยังอยู่ในท่า กรณีนี้หากส่งกลับออกไปจากท่านำเข้าเดิมก็ได้รับยกเว้นภาษีอากรทันทีโดยการยินยอมชำระค่าธรรมเนียมสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท

แต่หากส่งกลับออกไปต่างท่าที่นำเข้าก็ให้ปฏิบัติตามระเบียบศุลกากรเพื่อยกเว้นภาษีอากรได้อีกเช่นกัน

สินค้าอยู่นอกอารักขาของศุลกากร

หมายถึงสินค้าได้ชำระภาษีอากรขาเข้าแล้ว แต่ภายหลังจะขอส่งกลับออกไป สินค้าก็ยังได้รับการคืนภาษีอากรอยู่ดีโดยการปฏิบัติตามระเบียบศุลกากรที่กำหนด

ข้อกฎหมายนี้ให้แนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนและเป็นจริงในปัจจุบัน แต่เพราะการขาดความรู้ความเข้าใจจึงทำให้นักธุรกิจจำนวนมากเสียโอกาส จนกลายเป็นการขาดความสามารถในการเป็นศูนย์กลางทางการค้าอย่างน่าเสียดาย

การส่งเสริมภาครัฐเป็นส่วนหนึ่ง แต่ความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถของนักธุรกิจในภาพรวมก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ต้องร่วมกันและไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งเพื่อเพื่อโอกาสทางธุรกิจและ Logistics และเพื่อลดความยุ่งยากลดและรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป

มิฉะนั้นแล้ว การผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการค้าในภูมิภาคนี้ก็ไม่อาจทำได้ง่าย ๆ
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
ปล. พรบ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 28
“ผู้นําของเข้ามาในราชอาณาจักรและเสียอากรแล้ว หากส่งของนั้นกลับออกไป นอกราชอาณาจักร หรือส่งไปเป็นของใช้สิ้นเปลืองในเรือหรืออากาศยานที่เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ให้มีสิทธิขอคืนอากรขาเข้าสําหรับของนั้นเก้าในสิบส่วน หรือส่วนที่เกินหนึ่งพันบาทของจํานวนที่ได้เรียกเก็บไว้ โดยคานวณตามใบขนสินค้าขาออกแต่ละฉบับ แล้วแต่จํานวนใดจะสูงกว่า ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(๑)  ต้องพิสูจน์ได้ว่าเป็นของรายเดียวกันกับที่นําเข้ามาในราชอาณาจักร

(๒) ต้องไม่นําของนั้นไปใช้ประโยชน์ในระหว่างที่อยู่ในราชอาณาจักร เว้นแต่การใช้ประโยชน์ เพื่อส่งของนั้นกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และมิได้เปลี่ยนแปลงสภาพหรือลักษณะแห่งของนั้น

(๓) ได้ส่งของนั้นกลับออกไปนอกราชอาณาจักรภายในกําหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่นําของนั้น เข้ามาในราชอาณาจักร และ

(๔) ต้องขอคืนอากรภายในกําหนดหกเดือนนับแต่วันที่ส่งของนั้นกลับออกไปนอกราชอาณาจักร การขอคืนอากร การพิสูจน์ของ การส่งของกลับออกไป และการคืนอากร ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไป ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด

LOGISTICS

คลายปมเรือปริศนาไร้คน โผล่กลางทะเลใกล้เมียนมา ที่แท้ถูกลากจูงเพื่อไปทำลายที่บังกลาเทศ แต่ระหว่างทางเผชิญอากาศเลวร้าย จนต้องตัดสินใจทิ้งเรือไว้กลางทาง

หลังจากเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 61 ที่ผ่านมา สื่อต่างประเทศรายงานว่า ชาวประมงเมียนมาพบเรือปริศนาลอยกลางทะเลใกล้ชายฝั่งของย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา เมื่อเจ้าหน้าที่เดินทางไปตรวจสอบบนเรือปริศนาขนาดใหญ่ลำนี้ พบว่า เป็นเรือสินค้าชื่อว่า SAM RATULANGI PB 1600 “ซัม ราตูลังงี พีบี 1600” ไม่พบผู้คนหรือสินค้าใดๆ อยู่บนเรือ และไม่พบประวัติการเดินเรือในทะเลมานานกว่า 9 ปี

ล่าสุด กองทัพเมียนมาออกมาเปิดเผยว่า เรือลำนี้ไม่ได้มีเงื่อนงำปริศนาแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบเรือชื่อ “อินดิเพนเดนซ์” อยู่นอกชายฝั่งทะเลของเมียนมาราว 80 กิโลเมตร และพบสายเคเบิล 2 สาย ถูกผูกติดกับหัวเรือปริศนา “ซัม ราตูลังงี พีบี 1600” จึงคาดว่า เรือลำนี้ถูกลากจูงโดยเรืออินดิเพนเดนซ์มุ่งหน้าไปยังบังกลาเทศ บนเรือลากอินดิเพนเดนซ์มีลูกเรือสัญชาติอินโดนีเซีย 13 คน สอบถามให้ข้อมูลพบว่า เรือได้ลากเรือสินค้าลำดังกล่าวมาตั้งแต่วันที่ 13 ส.ค. ที่ผ่านมา มุ่งหน้าไปยังโรงงานรื้อทำลายเรือในบังกลาเทศ แต่ขณะกลางทะเลต้องเผชิญกับสภาพอากาศเลวร้าย พายุฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก คลื่นลมรุนแรง จนทำให้สายเคเบิลบางสาย ที่ผูกติดกับเรือสินค้า ซัม ราตูลังงี พีบี 1600 ขาด จึงได้ตัดสินใจทิ้งเรือสินค้าปล่อยให้ลอยอยู่กลางทะเล

ทั้งนี้ ที่เมืองจิตตะกองของบังกลาเทศ มีโรงงานทำลายเรือขนาดใหญ่ที่ในแต่ละปีทำลายเรือสินค้าเก่ารวมๆ แล้วหลายร้อยลำ

ที่มา: http://www.marinerthai.net/forum/index.php?topic=11705.0