SNP NEWS

ฉบับที่ 532

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

INVOICE

ทำไมสินค้านำเข้าหรือส่งออกจึงเกิดปัญหาการตีความพิกัด ???

ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้ประกอบการ Logistics บางท่านอาจประสบปัญหาข้างต้นจากการตีความของศุลกากรขณะสินค้ากำลังผ่านพิธีการ หรืออยู่ในขั้นตรวจปล่อยสินค้า

การตีความพิกัดจนแตกต่างจากที่สำแดง บางครั้งก็เป็นเหตุให้ภาษีอากรขาดหรือเกิน บางครั้งก็กลายเป็นความผิดและเกิดค่าปรับ และบางครั้งก็ทำให้สินค้าต้องติดใบอนุญาตทำให้การนำเข้าหรือส่งออกไม่สามารถทำได้จนกว่าจะได้ใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประกอบ

ทำไม ???

สินค้าที่กำลังนำเข้าหรือส่งออกส่วนใหญ่จะถูกป้องกันและห่อหุุ้มอยู่ในหีบห่อที่มิดชิด

หากเป็นการนำเข้า หีบห่อก็มักกองรวมกันอยู่ในคลังสินค้าท่าเรือหรือเก็บไว้ในตู้คอนเทนเนอร์ ส่วนสินค้าส่งออกก็มักอยู่บนรถบรรทุกสินค้า หรือยังคงเก็บอยู่ในคลังสินค้าของผู้ส่งออกเอง

ในเบื้องต้น เจ้าพนักงานศุลกากรมิได้เห็นตัวสินค้าแต่อย่างใด

ในขั้นตอนพิธีการไม่ว่าจะโดยระบบ Manual Formality ที่ตัวแทนออกของไปยื่นเรื่อง หรือโดยระบบ Paperless Formality ที่ใช้ Electronic ในการส่งผ่านข้อมูล ขั้นตอนนี้จะไม่มีการตรวจดูสินค้าแต่ประการใด

ขั้นตอนพิธีการต้องใช้การพิจารณาจากข้อมูลที่สำแดงในเอกสารเป็นหลัก

จะมีส่วนขั้นตอนการตรวจเท่านั้นที่ เจ้าพนักงานศุลกากรจึงจะมีโอกาสได้ดูตัวสินค้าจริง ๆ

เอกสารจึงเป็นเพียงตัวแทนสินค้าเช่นเดียวกับบัตรประชาชน หรือ Passport ที่ใช้แทนตัวบุคคลที่ต้องมีข้อมูลถูกต้องและครบถ้วน

เอกสารที่สำคัญที่สุดในการเป็นตัวแทนสินค้าก็คือใบกำกับสินค้า หรือ Invoice

ปัญหาจึงมักเกิดจากข้อมูลที่ผู้ขายจัดพิมพ์ลงใน Invoice บางครั้งใช้คำที่ไม่ครบถ้วนถูกต้อง บางครั้งก็ใช้คำสั้นเกินไป หรือยาวเกินไปจนอ่านแล้วเกิดความสับสนทำให้เกิดการตีความ

นอกจาก Invoice แล้ว ใบเสร็จรับเงินค่าสินค้า (receipt) หรือหลักฐานการซื้อขายอื่น ๆ ที่ผู้ขายต่างประเทศออกให้ก็ยังใช้แทน Invoice ได้ เช่น กรณีเดินทางไปซื้อสินค้าหลายอย่างที่ต่างประเทศด้วยเงินสด และนำสินค้าเหล่านั้นส่งเข้าตู้คอนเทนเนอร์กลับมาประเทศไทยด้วยตนเอง เป็นต้น

ดังนั้น การระบุข้อมูลใน Invoice หรือเอกสารอื่น ๆ ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนสินค้า ผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออกจึงต้องทราบก่อนว่า ชื่อสินค้าที่ถูกต้องตามที่ระบุในหนังสือพิกัดอัตราศุลกากรนั้นใช้ชื่อว่าอะไร ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย สะกดอย่างไร

จากนั้นก็ควรเขียนหรือพิมพ์ให้เป็นไปตามที่ระบุ ไม่ผิดเพี้ยนไปมากเกินควร ไม่ตัดคำให้สั้น หรือต่อคำให้ยาวจนเกินความจำเป็น

พฤติกรรมนี้ย่อมนำไปสู่การตีความโดยง่าย

ในกรณีที่ไม่ทราบ ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้ประกอบการ Logistics ก็อาจหาซื้อหนังสือพิกัดจากกรมศุลกากรมาไว้อ้างอิง หรือสามารถตรวจตามเว็บไซด์ของกรมศุลกากร หรือหารือกับผู้ชำนาญการศุลกากร (Customs Specialist) ที่เชื่อถือได้

การยึดถ้อยคำในหนังสือเป็นหลักนี้จึงเป็นการป้องกันการตีความที่อาจถูก อาจผิด ได้ดีที่สุด

ขณะเดียวกันก็เป็นการป้องกันการเสียเวลา เสียค่าเช่าโรงพักสินค้า รายจ่ายอื่นที่นำไปสู่การเพิ่มต้นทุนการค้าและ Logistics ที่อาจไม่ต้องประสงค์แต่อย่างใด

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

ปล. ประเภทของ Invoice

ก.  Proforma Invoice คือใบแจ้งราคาค่าสินค้าเพื่อให้ผู้ซื้อตรวจสอบรายละเอียดการซื้อขายคร่าว ๆ ไม่ละเอียดเนื่องจากสินค้ายังไม่พร้อมจัดส่ง ข้อมูลส่วนใหญ่จะประกอบด้วย ชื่อสินค้า ราคา จำนวนสินค้า วันเวลาที่ใช้ในการผลิต เงื่อนไขในการชำระเงินและการขนส่ง เป็นต้น

วัตถุประสงค์ของ Proforma Invoice เพื่อให้ผู้ซื้อนำไปจัดการบางกิจกรรมล่วงหน้า เช่น การเปิด L/C, ส่งต่อให้คนดูแลสต๊อกสินค้า ทำทั้งต้นทุนและวางแผนสต๊อก, หรือส่งให้กับตัวแทนขนส่ง เพื่อทำการคิดคำนวณค่าใช้จ่ายในการขนส่ง เป็นต้น

ข.  Commercial Invoice คือเอกสารออกให้เมื่อสินค้ามีความแน่นอน หรือพร้อมที่จะจัดส่งออกแล้ว ดังนั้น ข้อมูลต่าง ๆ ใน Invoice นี้จึงต้องครบถ้วน สมบูรณ์ ประกอบด้วย

      1.  ชื่อสินค้า (product name) ให้ถูกต้องครบถ้วนตามหนังสือพิกัดของสินค้าเพื่อไม่ก่อให้เกิดปัญหาการตีความ และต้องตรงกับเอกสารประกอบอื่น เช่น ใบตราส่งสินค้า (B/L หรือ MAWB และ HAWB หรือ เอกสารเพื่อการขนส่งอื่น ๆ (other Bills of Transport) ใบกำกับการบรรจุสินค่า (Packing list) ใบอนุญาตนำเข้าหรือส่งออก (import license) ใบรับรองเมืองกำเนิดประเภทต่าง ๆ (certificate of origin) เอกสารยกเว้นภาษีของ B.O.I. สูตรการผลิต (product formulation) ที่ได้ยื่นขอไว้ และเอกสารอื่น ๆ ที่อาจต้องใช้ประกอบในการนำเข้าและส่งออก
      2. เลขที่ (Invoice number)  และ วันที่ (Invoice date)ที่ต้องตรงกับเอกสารประกอบอื่นเช่นกัน
      3. ชื่อและที่อยู่ของผู้ขาย (seller’s name and address) หรือผู้ส่งออก (exporter / shipper) ที่ต้องตรงกับเอกสารประกอบอื่นเช่นกัน
      4. ชื่อและที่อยู่ของผู้ซื้อ (consignee’s name and address) หรือผู้นำเข้า (importer / receiver) ที่ต้องตรงกับเอกสารประกอบอื่นเช่นกัน(
      5. ราคาสินค้า ทั้งราคา Unit price และ Amount หรือราคารวมที่ต้องตรงกับจำนวนสินค้า
      6. เงื่อนไขการชำระเงิน (term of payment) เช่น D/P D/A L/C เป็นต้น
      7. เงื่อนไขการส่งมอบสินค้า (delivery term) เช่น FOB CFR CIF EXW or DDP เป็นต้น ในกรณีการนำเข้า กฎหมายศุลกากรของไทยกำหนดให้แสดงราคา CIF ส่วนการส่งออกให้แยกราคา FOB ออกมาให้ชัดเจน มิฉะนั้นจะเกิดการตีความได้เช่นกัน การแยกค่า (break down) Freight และ Insurance Premium กรณีที่ราคาสินค้าได้รวมไว้แล้วจึงเป็นข้อมูลที่สำคัญประการหนึ่ง
      8. Shipping Mark and Number หรือเครื่องหมายและเลขหมายข้างหีบห่อที่กฎหมายศุลกากรก็กำหนดให้ต้องแสดงและต้องสอดคล้องกับที่แสดงไว้ข้างหีบห่อสินค้าจริงและเอกสารประกอบอื่น ๆ
      9. ชนิดของสินค้า (Brand) ของตัวสินค้า หากไม่มี ก็ต้องระบุให้ชัดเจนว่า No Brand  
      10. Country of Origin แหล่งหรือถิ่นกำเนิดของสินค้า บางกรณีสินค้าที่นำเข้าหรือส่งออกมิได้มีถิ่นกำเนิดจากประเทศต้นทางโดยตรงก็ต้องระบุอย่างชัดเจนว่า แหล่งผลิตสินค้ามาจากแหล่งกำเนิดใดบ้าง เป็นต้น

LOGISTICS

ฟัน “ไทย” ทุ่มตลาดหนังยางรัดของ สหรัฐฯสั่งรีดภาษีเพิ่ม 5.86% แต่โชคดี “จีน” คู่แข่งอ่วมกว่า 

 
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก ประเทศสหรัฐฯ รายงานเมื่อวันที่ 30 ส.ค.61 ที่ผ่านมาว่า สำนักงานกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USITC) ได้ประกาศผลไต่สวนชั้นต้นในขั้นสุดท้าย โดยยืนยันว่า สินค้าหนังยางรัดของที่นำเข้าจากไทยและจีน มีการทุ่มตลาดในสหรัฐฯฯ หรือราคาขายสินค้าในสหรัฐฯ ต่ำกว่าที่ขายในประเทศผู้ผลิตจริง จนส่งผลให้ผู้ผลิตภายในของสหรัฐฯได้รับความเสียหาย ส่งผลให้ USITC ได้กำหนดเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) จากผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยในอัตรา 0.00-5.86% และจากจีน 27.27% เท่ากันทุกราย

อย่างไรก็ตาม สินค้าหนังยางรัดของไทยนั้น เดิมไม่เสียภาษีนำเข้าสหรัฐฯ อยู่แล้ว แต่สำหรับจีนอาจต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นอีก เพราะสินค้าหนังยางรัดของจีนอยู่ในบัญชีสินค้า 6,031 รายการ ที่สหรัฐฯประกาศสงครามการค้ากับจีน โดยจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีนในอัตรา 25% และจะมีผลในช่วงกลางเดือน ก.ย.61 นี้ ซึ่งเมื่อรวมกับภาษีเอดีที่ 27.27% แล้ว จะทำให้หนังยางรัดของจากจีนจะต้องเสียภาษีนำเข้าในสหรัฐฯสูงถึง 52.27% แต่จากมาตรการนี้ สินค้าหนังยางรัดของจากไทยจะเสียภาษีนำเข้าในสหรัฐฯ อัตรา 5.86% ดังนั้น จะทำให้ศักยภาพแข่งขันของไทยในตลาดสหรัฐฯ ยังมีอยู่ และอาจทำให้หนังยางรัดของจากไทยทดแทนสินค้าจากจีนได้ แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่ไทยจะได้รับผลกระทบจากหนังยางรัดของปลอดภาษีจากศรีลังกาที่มีสัดส่วนในตลาดสหรัฐฯ 10% เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาด

ในปี 60 สหรัฐฯนำเข้าหนังยางรัดของจากไทย 12.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนตลาด 61% และนำเข้าจากจีน 4.9 ล้านเหรียญฯ มีสัดส่วนตลาด 25% โดยการไต่สวนมาตรการเอดีสินค้าหนังยางรัดของมาจากบริษัท Alliance Rubber Co. ผู้ผลิตหนังยางรัดของรายสำคัญของสหรัฐฯ ร้องเรียนให้เปิดไต่สวนการทุ่มตลาดและอุดหนุนสินค้าหนังยางรัดของนำเข้าจากไทย จีน และศรีลังกา เมื่อวันที่ 30 ม.ค.61 โดย USITC ได้ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นและมีเหตุผลเพียงพอว่าไทยและจีนทุ่มตลาดในสหรัฐฯ และให้สืบสวนต่อ แต่ยกเลิกการไต่สวนสินค้าจากศรีลังกา

ที่มา: https://www.thairath.co.th/content/1374411