SNP NEWS

ฉบับที่ 533

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

ท่าเรือบก

“ศึกชิงท่าเรือบกอีสาน (ยก 2)”

หัวข่าวไทยรัฐออนไลน์ (https://www.thairath.co.th/content/1370223) เสนอหัวข้อข่าวข้างต้นเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561

เนื้อหาพอสรุปได้ว่า มีการเสนอให้จังหวัดขอนแก่นเป็นท่าเรือบกหลักในภาคอีสานเพื่อเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้านอกจากภายในประเทศไทยแล้ว ในแผนโครงการก็ยังสามารถกระจายไปยังจีน (ยูนนาน) ลาว เมียนมา เวียดนาม กัมพูชา รวมไทยเป็น 6 ประเทศอีกด้วย

ขณะที่มีผู้ไม่เห็นด้วยและต้องการให้จังหวัดนครราชสีมาเสนอตัวเป็นท่าเรือบกเช่นกัน

ความคิดเห็นที่ขัดแย้ง จังหวัดไหนจะเหมาะสมกว่ากัน ???

ท่าเรือบก ภาษาอังกฤษเรียก Dry Port บางครั้งก็เรียก Inland Container Depot (ICD) ที่มีความหมายตรงกันข้ามกับ ‘ท่าเรือน้ำ’

ท่าเรือน้ำคือ ท่าเรือที่เรือสินค้าสามารถจอดเทียบท่าอย่างที่เห็น ๆ กันอยู่

ในอดีต การขนถ่ายสินค้าเพื่อการนำเข้าและการส่งออกที่ต้องใช้เรือเดินทะเลเป็นพาหนะก็ต้องใช้ท่าเรือเพื่อให้เรือเทียบท่าและขนถ่ายสินค้า

ต่อมาธุรกิจการค้าระหว่างประเทศเติบโตขึ้น ปริมาณสินค้านำเข้าและส่งออกมากขึ้น แล้วก็เกิดเหตุการณ์ท่าเรือแออัด (Port Congestion) ตู้สินค้ามากมายกองล้นในเขตท่าเรือ เรือสินค้ารอการเทียบท่าขณะที่เรือที่จอดขนถ่ายไม่สามารถออกได้ตามเวลา

ต้นทุน Logistics เพิ่มมากขึ้นตามมา ในที่สุด ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นก็ถูกผลักภาระไปยังผู้นำเข้าและผู้ส่งออกด้วยการเก็บเงินค่าแออัดในท่าเรือ (Port Congestion Surcharge)

รัฐบาลแก้ไขปัญหาด้วยการสร้างและขยายท่าเทียบเรือใหม่ ๆ รองรับ ขณะเดียวกันก็ให้มีการสร้างท่าเรือบกควบคู่กัน

เมื่อเรือสินค้าเทียบท่า ตู้สินค้าจะถูกลากไปยังท่าเรือบก (Dry Port) แทนการกองที่ท่าเรือน้ำ หากเป็นการขนส่งตู้สินค้าโดยทางรถไฟครั้งละมาก ๆ ต้นทุนค่าเคลื่อนย้ายต่อตู้ก็ยิ่งถูกลง

ท่าเรือบกจะมีด่านศุลกากรบริการพิธีการศุลกากรและรับชำระค่าภาษีอากรให้เบ็ดเสร็จ

ในการส่งสินค้าออกก็เช่นกัน ผู้ส่งออกอยู่ใกล้ท่าเรือบกเขตไหนก็นำสินค้ามาเข้าตู้สินค้าได้ จากนั้นตัวแทนเรือจะเป็นผู้เคลื่อนย้ายไปยังท่าเรือน้ำเพื่อนำขึ้นเรือเดินทางไปต่างประเทศ

ทั้งหมดนี้คือ ความสะดวกสบายและการพัฒนา Logistics ของไทยที่เริ่มมานานและได้ผลดีเรื่อยมา

กระทั่งมาถึงวันนี้ วันที่การกระจายสินค้า (Distribution Service) ไปสู่การบริโภคเป็นหัวใจสำคัญต่อธุรกิจการค้า ศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center) จึงกลายเป็นหัวใจสำคัญสูงสุดต่อการพัฒนาประเทศเพื่อกระจายสินค้าในภาคนักธุรกิจเอกชน

แนวคิดการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลาง Logistics เพื่อกระจายสินค้าไปยัง 6 ประเทศ ภายใต้กรอบร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ GMS (Greater Makong Subregion) เป็นหลักจึงเกิดขึ้นเป็นโครงการ

โครงการนี้มีเต็มชื่อเต็มว่า “ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” หรือ GMS Economic Corridors เพื่อเชื่อมต่อจีน (ยูนนาน) ลาว เมียนมา เวียดนาม กัมพูชา และไทยรวม 6 ประเทศ

วัตถุประสงค์หลักก็เพื่อการส่งเสริมการขยายตัวด้านอุตสาหกรรม การเกษตร การค้า การลงทุนและบริการเพื่อให้เกิดการจ้างงาน ยกระดับการครองชีพ การถ่ายทอดเทคโนโลยี การศึกษาระหว่างกัน การใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ส่งเสริมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มความสามารถการแข่งขันในเวทีการค้าโลก

การท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นหัวเรือหลักในการเสนอขอนแก่นเป็นท่าเรือบกอีสานโดยใช้ผลการศึกษาจาก “สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” รองรับ

การศึกษาเกิดขึ้นในปี 2558 เพื่อศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการพัฒนาธุรกิจท่าเรือบก (Dry Port) ดังกล่าว

ผลการศึกษาพบว่า พื้นที่ที่เหมาะสมในการพัฒนาเป็นท่าเรือบกคือ จังหวัดขอนแก่น

ยิ่งไปกว่านั้น ขอนแก่นยังจัดให้มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางรางเพื่อเชื่อมต่อทั้ง 6 ประเทศดังกล่าว แต่ยังต้องรอผลการศึกษาจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรมาประกอบ

หากพิจารณาในแนวคิดนี้ ขอนแก่นน่าจะเหมาะสมต่อการเป็นท่าเรือบกอีสาน

ตรงกันข้าม หากมองว่านครราชสีมาเป็นทั้งประตูสู่อีสาน อยู่ใกล้ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังที่กำลังขยายเป็นท่าเรือส่งออกที่สำคัญของระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก มีถนนยุทธศาสตร์และทางรถไฟเชื่อมกับท่าเรืออยู่แล้ว และนครราชสีมาก็ยังเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมส่งออกหลายแห่ง

การจะพิจารณา นครราชสีมาให้เป็นท่าเรือบกเพื่อการส่งออกไปยังท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังก็น่าจะมีความเหมาะสมเช่นกัน

แนวคิดนี้ก็ยังสามารถให้ขอนแก่นเป็นศูนย์กลางของ 6 ประเทศ GMS ลุ่มแม่น้ำโขง ส่วนนครราชสีมาก็ให้เป็นศูนย์กลางของภาคอีสานที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนอีสานอีกด้วย

หากพิจารณาในแนวคิดนี้ นครราชสีมาก็น่าจะมีความเหมาะสมไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

วันนี้ การพิจารณายังไม่แล้วเสร็จ การตัดสินใจก็ยังไม่เกิดขึ้น แต่ไม่ว่าจังหวัดใด หรือทั้ง 2 จังหวัดจะได้รับเลือก ผู้ประการการทั่วไป ผู้ประกอบการการค้าระหว่างประเทศ และ Logistics ที่ต้องเกี่ยวพันธ์กับภาคอีสาน และประเทศใน GMS ลุ่มน้ำโขงทั้ง 6 ประเทศดังกล่าวก็ควรรับทราบล่วงหน้า

การเตรียมการเพื่อก่อสร้างคลังสินค้า ศูนย์การขนส่ง ศูนย์กระจายสินค้าของตน การสร้างสำนักงาน หรือแผนทางธุรกิจอื่นที่จำเป็นในอนาคตในสัมพันธ์กับโครงการพัฒนาดังกล่าวก็จะเป็นประโยชน์ไม่น้อย

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

LOGISTICS

ท่าเรือร็อตเตอร์ดัมกังวลปัญหาท่าเรือแออัดซึ่งเป็นผลจาก Hard Brexit

ท่าเรือร็อตเตอร์ดัมมีความกังวลและเตรียมรับมือกับปัญหาความแออัดของท่าเรือในสถานการณ์ Hard Brexit แม้ว่าผลสรุปอย่างเป็นทางการจะมีขึ้นในอีก เดือนข้างหน้า รวมทั้งต้องการสัตวแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้าน ICT เพิ่มขึ้นด้วย

จากผลสำรวจของภาครัฐพบว่า ผู้ประกอบการค้าดัชต์ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 ยังไม่ได้เตรียมความพร้อมอย่างจริงจังเพื่อรับมือกับ Hard Brexit ซึ่งสร้างความกังวลให้ท่าเรือร็อตเตอร์ดัมอย่างมาก เนื่องจาก Brexit จะทำให้ขั้นตอนด้านเอกสารและพิธีการศุลกากรมีความซับซ้อนและเข้มงวดมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดความล่าช้าและความแออัดของท่าเรือ โดยทางท่าเรือร็อตเตอร์ดัมต้องการให้ผู้ประกอบการค้ามีความตื่นตัวกับสถานกาณ์ Brexit มากกว่านี้และเริ่มดำเนินการกรอกแบบฟอร์มภาษีศุลกากรที่เกี่ยวข้องเพื่อที่ทางท่าเรือฯจะได้ดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

ความกังวลและผลกระทบจากสถานการณ์ Hard Brexit จะทำให้ขั้นตอนและพิธีการศุลกากรมีความซับซ้อนมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนเจ้าหน้าที่และพื้นที่จุดตรวจคุณภาพอาหารและสุขภาพสัตว์ และระยะเวลาขนส่งล่าช้ามากกว่าเดิม โดยสินค้าประเภทอาหารสด เช่น ผักสด เนื้อสัตว์ หรือ อาหารทะเล อาจได้รับผลกระทบต่อคุณภาพของอาหาร ทั้งนี้ ขั้นตอนการตรวจสอบรถบรรทุกก่อนโหลดลงเรือไปยังสหราชอาณาจักรใช้เวลาประมาณ 1.5 นาทีต่อคัน แต่หลังจาก Brexit คาดว่าจะใช้เวลาในการตรวจสอบไม่ต่ำกว่า 20 นาทีต่อคัน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและข้อกำหนดของศุลกากรฉบับใหม่ รวมทั้งการขนส่งเนื้อสัตว์และสัตว์มีชีวิต เช่น ปลา ม้าแข่ง สุนัขและแมว จากประเทศสมาชิก EU ไปยังอังกฤษ ที่สามารถดำเนินการได้อย่างง่าย แต่หลังจาก Brexit จะต้องใช้แบบฟอร์มหรือเอกสารเพิ่มขึ้นถึง เท่า และจะมีการตรวจสอบคุณภาพเนื้อสัตว์และสุขภาพสัตว์อย่างเข้มงวดอีกด้วย

จากขั้นตอนและกระบวนการที่เพิ่มขึ้นนี้ ทำให้กรมศุลกากรจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ปฎิบัติงานมากกว่า 900 คน และ องค์กรตรวจสอบคุณภาพอาหารและสัตว์ NVWA จำเป็นต้องรับเจ้าหน้าที่และสัตวแพทย์เพิ่มขึ้น 140 คน โดยจุดตรวจสอบและควบคุมจะดำเนินการโดยบริษัทตัวแทนภายนอก เนื่องจากท่าเรือร็อตเตอร์ดัมมีบริเวณพื้นที่จำกัด นอกจากนี้ทางท่าเรือฯ ยังขอความร่วมมือกับทางเขตเทศบาลเพื่อใช้พื้นที่โดยรอบสำหรับเป็นลานพักรถบรรทุก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าท่าเรือร็อตเตอร์ดัมจะมีความกังวล แต่ก็ยังเชื่อมั่นว่าจะสามารถจัดการกับปัญหาความแออัดของท่าเรือและความล่าช้าที่จะเกิดขึ้นได้ หากได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการค้า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีการบริหารระบบ ICT อย่างมีประสิทธิภาพ