SNP NEWS

ฉบับที่ 536

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

ม. 19 VS 19 ทวิ

ก่อนปี พ.ศ. 2560 ผู้ประกอบการที่นำวัตถุดิบเข้าผลิต หรือนำสินค้าเข้ามาบรรจุใหม่ หรือนำเข้ามาผ่านประเทศไทยเพื่อส่งออกไปขายยังประเทศที่ 3 ต้องเคยสงสัยความแตกต่างของมาตรา 19 และ 19 ทวิ แห่ง พรบ. ศุลกากร 2482 ไม่มากก็น้อย

ความสงสัยเหล่านี้อาจทำให้การเลือกใช้ กระโดดข้ามไปมา หรือสลับการใช้สิทธิประโยชน์ระหว่าง 2 มาตรานี้ผิดพลาดไปด้วย

พอผ่านปี 2560 ความสงสัยของผู้ประกอบการก็อาจลดน้อยลงด้วยเหตุผล 4 ประการคือ

  1.  ผู้ขายต่างประเทศได้พัฒนาตนเองเข้าสู่ข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA (Free Trade Area)กับไทยมากขึ้นสินค้านำเข้าส่วนใหญ่จึงได้รับการยกเว้นอากร การนำเข้าจึงอยู่ข่ายปลอดภาษีไปด้วย
  2.   ประเทศที่ยังไม่ได้เข้าร่วมข้อตกลง FTA เต็มรูปแบบ ส่วนหนึ่งก็ค่อย ๆ ลดภาษีอากรสำหรับสินค้านำเข้าให้เหลือน้อยลง บางรายการเหลือร้อยละ 0 ไปเลยก็มี
  3.  ปัจจุบันประเทศไทยมีข้อตกลงระหว่างประเทศและกฎหมายอื่น ๆ เช่น A.T.A Carnet, B.O.I., คลังสินค้า ทัณบนฑ์(Bonded warehouse)หลายประเภท, หรือ เขตปลอดอากร (Free Zone) เพื่อช่วยเหลือให้สินค้านำเข้าเพื่อการส่งออกได้รับการยกเว้นภาษีอากรขณะนำเข้ามากขึ้น
  4.  ประเทศไทยได้ บัญญัติกฎหมายศุลกากรฉบับปี 2560 ขึ้นมาใหม่ ยกเลิกกฎหมายเก่าหลายสิบฉบับโดยการนำมาปรับถ้อยคำและปรับเนื้อหาให้เข้ากับสังคมปัจจุบัน

กฎหมายใหม่ทำให้มาตรา 19 ปรับเปลี่ยนเป็นมาตรา 28 และมาตรา 19 ทวิ ปรับเปลี่ยนเป็นมาตรา 29 แห่ง พรบ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 แทนที่

แม้จะมีเหตุผล 4 ประการข้างต้น แต่ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งก็ยังคงต้องนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าจากต่างประเทศที่ยังอยู่ในข่ายต้องเสียภาษีอากรอยู่ดี

บางรายก็ไม่สามารถใช้สิทธิ์ B.O.I หรือไม่สะดวกใช้ประโยชน์คลังสินค้าทัณฑ์บนที่มีรายจ่ายการจัดเก็บสูงกว่าปกติ เป็นต้น

ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงยังมีผู้ประกอบการหลายรายที่ยังคงต้องใช้สิทธิประโยชน์จากกฎหมายมาตรา 19 และ 19 ทวิ หรือมาตรา 28 และ 29 แห่ง พรบ. ศุลกากร 2560 อยู่ดี

เมื่อยังต้องใช้สิทธิประโยชน์ผู้ประกอบการบางท่านก็อาจไม่เข้าใจข้อแตกต่าง เมื่อมีเหตุให้ต้องกระโดดข้ามระหว่าง 2 มาตรานี้ก็อาจผิดพลาดจนทำให้เสียสิทธิ์การยกเว้นภาษีอากรไปก็มี

ข้อแตกต่างระหว่างมาตรา 28 และ 29 เพื่อการนำเข้าและส่งกลับออกไปให้ได้รับการยกเว้นภาษีอากรมีดังนี้

  1.  ด้านการแจ้งล่วงหน้า มาตรา 28 ไม่ต้องแจ้งความประสงค์ล่วงหน้า สามารถนำเข้าได้ทันที และยื่นใบขนสินค้าขาเข้าเพื่อขอชำระภาษีอากรได้ตามปกติ

แต่หากต้องการใช้สิทธิ์ตามมาตรา 29 เพื่อนำเข้ามาผลิต ผสม ประกอบ หรือบรรจุเป็นสินค้าสำเร็จรูป ผู้ประกอบการต้องแจ้งความประสงค์ในหลักการโดยหนังสือที่กำหนดล่วงหน้า

หากเป็นการนำวัตถุดิบชนิดนี้เข้ามาครั้งแรก ต้องยื่นหลักการล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน และต้องได้รับการอนุมัติก่อนการนำเข้า ส่วนการนำเข้าครั้งต่อ ๆ ไปก็ยังคงต้องแจ้งขณะนำเข้า

ดังนั้น หากสินค้านำเข้ามาเพื่อผลิตภายใต้มาตรา 29 แล้วจะยกเลิกกระโดดข้ามไปส่งออกโดยไม่มีการผลิตก็ยังสามารถทำได้ตามมาตรา 28

ตรงกันข้าม หากนำเข้าเพื่อส่งออกในภายหลังตามมาตรา 28 แต่จะกระโดดกลับมาผลิตตามสิทธิ์มาตรา 29 จะไม่สามารถทำได้ดังกล่าวข้างต้นเว้นแต่จะส่งออกไปประเทศข้างเคืองในสภาพเดิมตามมาตรา 28 เพื่อขอคืนอากร และนำกลับเข้ามาใหม่เพื่อผลิตตามสิทธิ์ของมาตรา 29 เท่านั้น

  1.  ด้านการเปลี่ยนแปลงรูปสินค้า มาตรา 28 ต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะสินค้า ไม่มีการใช้ประโยชน์ ต้องเป็นการนำเข้ามาเพื่อการส่งกลับออกไปเท่านั้น

ส่วนมาตรา 29 สามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะได้โดยผ่านกระบวนการผลิต ผสม ประกอบ หรือบรรจุใหม่ ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการจึงต้องยื่นสูตรการผลิตก่อนการส่งออก ขณะที่การใช้สิทธิ์ตามมาตรา 28 ซึ่งไม่มีการผลิตจึงไม่ต้องยื่นสูตรการผลิต

  1.  ด้านการชำระค่าภาษีอากร มาตรา 28 ต้องชำระด้วยเงินสดเท่านั้น ส่วนมาตรา 29 สามารถชำระด้วยเงินสด ธนาคารค้ำประกัน หรือการประกันลอยตามที่ได้อนุมัติในหลักการ
  2.  ด้านระยะเวลาส่งกลับออกไป มาตรา 28 ต้องส่งกลับออกไปภายใน 1 ปีนับแต่วันยานพาหนะเทียบท่าโดยต้องแจ้งความประสงค์ล่วงหน้าก่อนการส่งออกอย่างน้อย 1 สัปดาห์ และต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบสินค้าเพื่อยืนยันการเป็นชนิดเดียวกับที่นำเข้า

ส่วนมาตรา 29 ต้องใช้ในการผลิตหรือส่งกลับออกไปภายใน 1 ปี เช่นกัน แต่หากมีเหตุสุดวินัยก็สามารถขอขยายเวลาได้อีกไม่เกิน 6 เดือน

  1.  ด้านการขอคืนภาษีอากร มาตรา 28 ที่ชำระด้วยเงินสดก็จะได้รับคืนด้วยเช็คธนาคาร หรือโอนเข้าบัญชีที่กำหนด

เงินที่ได้รับคืนตามปริมาณที่ส่งออกยกเว้นไม่เกิน 1,000 บาทที่หักไว้เป็นค่าธรรมเนียมโดยผู้ประกอบการต้องยื่นขอคืนภายใน 6 เดือน

ส่วนมาตรา 29 หากมีการชำระภาษีอากรขาเข้าด้วยวิธีใดก็จะได้คืนด้วยวิธีการนั้นตามปริมาณที่ส่งออกโดยคำนวณผ่านสูตรการผลิต ยกเว้นส่วนสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากการผลิตที่แสดงไว้ชัดเจนในสูตรการผลิต หรือส่วนสูญเสียที่ไม่ได้รับการอนุมัติให้คืนในสูตรการผลิต

ผู้ประกอบการต้องยื่นขอคืนภายใน 6 เดือนเช่นกัน แต่สามารถขยายเวลาได้อีกไม่เกิน 6 เดือน

ทั้งมาตรา 28 และ 29 หรือมาตรา 19 และ 19 ทวิ ในอดีตนั้น ยังมีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการปัจจุบัน ความเข้าใจในเนื้อหาและทราบข้อแตกต่างจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถเลือก กระโดดข้ามไปมา หรือสลับการใช้เพื่อได้รับประโยชน์ตามนัยแห่งกฎหมายอย่างแท้จริง

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

ปล. พรบ. ศุลกากร 2560 มาตรา 28 และ 29 เนื้อหาเต็ม ดังนี้

มาตรา ๒๘ ผู้นําของเข้ามาในราชอาณาจักรและเสียอากรแล้ว หากส่งของนั้นกลับออกไป นอกราชอาณาจักร หรือส่งไปเป็นของใช้สิ้นเปลืองในเรือหรืออากาศยานที่เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ให้มีสิทธิขอคืนอากรขาเข้าสําหรับของนั้นเก้าในสิบส่วนหรือส่วนที่เกินหนึ่งพันบาทของจํานวนที่ได้เรียกเก็บไว้ โดยคคำนวณตามใบขนสินค้าขาออกแต่ละฉบับ แล้วแต่จํานวนใดจะสูงกว่า ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(๑)   ต้องพิสูจน์ได้ว่าเป็นของรายเดียวกันกับที่นําเข้ามาในราชอาณาจักร

(๒) ต้องไม่นําของนั้นไปใช้ประโยชน์ในระหว่างที่อยู่ในราชอาณาจักร เว้นแต่การใช้ประโยชน์ เพื่อส่งของนั้นกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และมิได้เปลี่ยนแปลงสภาพหรือลักษณะแห่งของนั้น

(๓) ได้ส่งของนั้นกลับออกไปนอกราชอาณาจักรภายในกําหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่นําของนั้น เข้ามาในราชอาณาจักร และ

(๔) ต้องขอคืนอากรภายในกําหนดหกเดือนนับแต่วันที่ส่งของนั้นกลับออกไปนอกราชอาณาจักร การขอคืนอากร การพิสูจน์ของ การส่งของกลับออกไป และการคืนอากร ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไป ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด

มาตรา ๒๙ ผู้นําของเข้ามาในราชอาณาจักรและเสียอากรแล้ว เพื่อใช้สําหรับผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดําเนินการด้วยวิธีอื่นใด หากส่งของที่ได้จากการดําเนินการดังกล่าวออกไป นอกราชอาณาจักร หรือส่งไปเป็นของใช้สิ้นเปลืองในเรือหรืออากาศยานที่เดินทางออกไป นอกราชอาณาจักร ให้มีสิทธิขอคืนอากรขาเข้าสําหรับของที่นําเข้ามาในราชอาณาจักรนั้น ตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ หน้า ๓๕ เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๕๓ ก ราชกิจจานุเบกษา ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๐

(๑) ต้องพิสูจน์ได้ว่าได้ผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดําเนินการด้วยวิธีอื่นใดด้วยของที่นําเข้ามา ในราชอาณาจักร

(๒) ต้องพิสูจน์ได้ว่าของที่นําไปใช้ในการผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดําเนินการ ด้วยวิธีอื่นใดนั้นมีปริมาณไม่เกินที่อธิบดีประกาศกําหนด

(๓) ได้ส่งของที่ได้จากการผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดําเนินการด้วยวิธีอื่นใดนั้นออกไป นอกราชอาณาจักรภายในกําหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่นําของที่ใช้ในการผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือ ดําเนินการด้วยวิธีอื่นใดเข้ามาในราชอาณาจักร เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยทําให้ไม่อาจส่งของดังกล่าวออกไปภายในกําหนดหนึ่งปี ให้อธิบดีขยายระยะเวลาได้ แต่ต้องไม่เกินหกเดือน และ

(๔) ต้องขอคืนอากรภายในกําหนดหกเดือนนับแต่วันที่ส่งของออกไปนอกราชอาณาจักร เว้นแต่อธิบดีจะขยายระยะเวลาให้แต่ต้องไม่เกินหกเดือน การขอคืนอากร การพิสูจน์ของ การส่งของออกไป และการคืนอากร ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไป ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด

หมายเหตุ ในมาตรา 29 ยังมีส่วนประกอบอื่นอีกเล็กน้อยที่ปรากฎเป็นมาตรา 30 และ 31 ซึ่งท่านผู้ประกอบการที่สนใจสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.customs.co.th

LOGISTICS

สภาผู้ส่งออก เผยการส่งออกเดือนสิงหาคม เติบโต 6.7%

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เผยการส่งออกเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา มีมูลค่า 22,794 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องในระดับสูงเป็นเดือนที่ 18 ที่ 6.7 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 755,232 ล้านบาท เติบโต 6.1 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ในขณะที่ การนำเข้าในเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา มีมูลค่า 23,383 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโต 22.8 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 784,848 ล้านบาท เติบโต 22.2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้เดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา ประเทศไทยขาดดุลการค้า 588 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 29,616 ล้านบาท สำหรับภาพรวมช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม ปี 2018 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 169,030 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 10.0 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทที่ 5,381,110 ล้านบาท เติบโต 1.9 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 166,679 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโต 15.9 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่า 5,379,050 ล้านบาท เติบโต 7.5 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม ปี 2018 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 2,351 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 2,061 ล้านบาท

ทั้งนี้ การส่งออกของไทยในเดือนสิงหาคม ปี 2018 ยังขยายตัวดี โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดอาเซียนและ CLMV รวมถึงการส่งออกไปอินเดียและเอเชียใต้ยังขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง ส่วนการส่งออกไปจีนลดลง 2.3 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น สหรัฐและสหภาพยุโรป ยังคงเติบโต 3.2 เปอร์เซ็นต์ โดยการส่งออกไปญี่ปุ่นขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าและสหรัฐอเมริกา กลับมาขยายตัวหลังจากลดลงในเดือนก่อน ด้านตลาดศักยภาพระดับรอง ลาตินอเมริกา ออสเตรเลีย เติบโต 5.1 เปอร์เซ็นต์ และและกลุ่มประเทศ CIS เติบโต 6.6 เปอร์เซ็นต์ 10.1 เปอร์เซ็นต์ และ 78.6 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ส่วนตะวันออกกลางยังลดลงต่อเนื่อง 6.7 เปอร์เซ็นต์

ที่มา: http://thai.logistics-manager.com/