SNP NEWS

ฉบับที่ 554

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

อำนาจศาล

ด่วน !! ศาลฎีกา พิพากษายืน
จำคุก 6 เดือน แกนนำพันธมิตรฯ ยึดทำเนียบ ชี้ชัดชุมนุมไม่สงบ

ข่าวสดออนไลน์ (https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_2204520) ได้พาดหัวข้อข่าวข้างต้นในวันวาเลนไทน์ 14 ก.พ. 62
เนื้อหาข่าวสรุปว่า แกนนำพันธมิตร 6 คน ประกอบด้วย พล.ต. จำลอง / นายสนธิ / นายพิภพ / นายสมเกียรติ / นายสมศักดิ์ / และ ดร. สุริยะใส กตะศิลา ทั้งหมดอายุระหว่าง 68-83 ปี ยกเว้น ดร. สุริยะใส อายุ 45 ปี มีความผิดทำให้เสียทรัพย์กรณีบุกยึดทำเนียบฯ เพื่อให้นายสมัคร สุนทรเวช ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2551
แกนนำทั้งหมดต่อสู้ตามกระบวนการ ศาลชั้นต้นตัดสินให้จำคุกคนละ 3 ปี แต่คำให้การเป็นประโยชน์ มีเหตุบรรเทาจึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกคนละ 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ตัดสินให้จำคุกคนละ 8 เดือนโดยไม่รอลงอาญา
จำเลยฎีกา ในที่สุดศาลฎีกาก็ตัดสินในวันที่ 13 ก.พ. 62 ยืนตามศาลอุทธรณ์ ให้จำคุกคนละ 8 เดือนโดยไม่รอลงอาญาดังกล่าว
การบุกยึดทำเนียบรัฐบาลเป็นส่วนหนึ่งของความวุ่นวายทางการเมือง จากนั้นก็มีความวุ่นวายอื่นตามมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี ข่าวนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อยุติที่อาจจะถูกจารึกให้เป็นตำนาน
ผู้ทำผิดทั้ง 6 ยอมรับ “อำนาจศาล” โดยไม่หนี ยอมติดคุกตามระบอบประชาธิปไตย

ความวุ่นวายทางการเมืองทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งมาจากมีผู้แอบอ้างระบอบประชาธิปไตยแต่ไม่ยอมรับ “อำนาจศาล” เมื่อถูกตัดสินว่าผิดแล้วกลับไม่ยอมรับผิด หลบหนี แล้วใช้โซเซียลยุยงปลุกปั่นผู้อื่นด้วยข้อมูลเท็จก่อให้เกิดการหลงเชื่อจนเกิดความขัดแย้งและความวุ่นวาย
การต่อสู้ การแย่งชิง ความขัดแย้งอาจเกิดขึ้นได้ระหว่างประชาชน หรือประชาชนกับรัฐถือเป็นเรื่องปกติทางสังคม หากปล่อยให้คู่ขัดแย้งตัดสินความถูกผิดกันเอง สุดท้ายใครมีกำลังเหนือกว่าไม่ว่าจะเป็น “เงิน” หรือ “คน” ก็จะกลายเป็นผู้ชนะที่ตามมาด้วยการไม่ยอมรับและความวุ่นวายอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
การปกครองระบอบประชาธิปไตยถือว่าเป็นระบอบที่ดีที่สุดแล้วโดยประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ประชาธิปไตยได้แยกอำนาจการปกครองประเทศเป็น 3 ส่วนแยกจากกัน คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ
ระบบนี้เริ่มจากผู้เสนอตัวสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. ให้ประชาชนเลือกเพื่อช่วงชิงอำนาจ เมื่อได้อำนาจนั้นมา ส.ส. จะมีหน้าที่หลักเพียง 2 อย่างคือ
1. เลือกนายกรัฐมนตรีเพื่อให้นายกฯ ไปจัดตั้งรัฐบาลมาบริหารประเทศ
2. พิจารณากฎหมายเพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศ แก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน จัดทำงบประมาณแผ่นดิน และควบคุมการบริหารของรัฐบาล ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้หลักกฎหมายทั้งสิ้น
นี่คืออำนาจนิติบัญญัติ หรืออำนาจเกี่ยวกับกฎหมายที่ ส.ส. ได้รับมอบจากประชาชนให้เข้ามาจัดการผ่านการเลือกตั้ง
เมื่อรัฐบาลถูกเลือกโดย ส.ส. รัฐบาลก็ได้อำนาจบริหารนั้นมา การบริหารก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ผ่าน ส.ส. มาก่อน จะบริหารกันไปตามอำเภอใจไม่ได้
ส่วนอำนาจตุลาการเป็นของศาลที่เป็นผู้ตัดสินความถูก ความผิดของทุกคนในประเทศ
การตัดสินของศาลก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของ ส.ส. มีหลักการ และมีเหตุผลที่อธิบายให้ยอมรับได้ ศาลท่านไม่สามารถตัดสินได้เองตามอำเภอใจเช่นกัน
การปกครองในระบอบประชาธิปไตยก็คือ การปกครองด้วยกฎหมายโดยกฎหมายนั้นมาจากประชาชนผ่านทาง ส.ส. ที่ประชาชนเลือกเข้ามา
ส.ส. จึงมีความสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตยมาก
ประเทศที่ปกครองด้วยกฎหมายจึงต้องมี ส.ส. คอยเสนอกฎหมาย แก้ไขกฎหมายโดยกฎหมายนั้นต้องเป็นประโยชน์เพื่อประชาชน ไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง และกฎหมายก็ถูกส่งผ่านไปถึงอำนาจบริหารและตุลาการเพื่อนำไปปฏิบัติ
รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ศาลมีหลายรูปแบบ เช่น ศาลอาญา ศาลแพ่งและพาณิชย์ ศาลเด็กและเยาวชน ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลอื่น ๆ เป็นต้น
บางศาลก็ตัดสินด้วยหลักนิติศาสตร์หรือหลักกฎหมายเพียงอย่างเดียว หากผู้แพ้ไม่พอใจผู้แพ้ก็ยังมีสิทธิ์อุทธรณ์ได้ หรือไปถึงศาลฎีกาได้อีก 2 ศาล
บางศาลก็ใช้หลักนิติศาสตร์ร่วมกับหลักรัฐศาสตร์ บางศาลผู้แพ้มีสิทธิ์อุทธรณ์ได้เพียงครั้งเดียว ได้แก่ศาลปกครอง ขณะที่บางศาลไม่มีการให้สิทธิ์อุทธรณ์เลย ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
ศาลเป็นอำนาจพิเศษ คนที่จะมาทำหน้าที่ต้องมีความรอบรู้กฎหมายอย่างแตกฉาน ผ่านการตรวจประวัติมาอย่างดี และสุดท้าย แต่ละศาลก็มีขบวนการพิจารณาของศาลที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ
ประเทศไทยประสบความขัดแย้งทางการเมืองมายาวนาน ความขัดแย้งนี้ได้สร้างความเดือดร้อนทางสังคมและเศรษฐกิจเรื่อยมาจนก่อให้เกิดการรัฐประหารถึง 2 ครั้ง ในปี 2549 และ 2557 แล้วต้องมาตั้งต้นร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องเลือกตั้ง ส.ส. ใหม่ วนเวียนอย่างที่เห็น
ตามหลักประชาธิปไตย ความขัดแย้งเหล่านี้ควรยุติลงแล้วเมื่อศาลตัดสิน
หลายปีมานี้ ศาลได้ใช้อำนาจตามระบอบประชาธิปไตยตัดสินคดีไปแล้วมากมาย แต่ผู้แพ้กลับไม่ยอมรับ จากนั้นก็สร้างนิยาย “ศาลไม่ยุติธรรม” ให้เป็นความขัดแย้งจนประชาชนที่ไม่รู้เรื่องราวทั้งหมดหลงเชื่อและร่วมก่อความวุ่นวายเรื่อยมา
แต่พอมีการเลือกตั้ง ส.ส. ใหม่ ผู้แพ้หรือกลุ่มผู้แพ้ที่ไม่ยอมรับกลับส่งพวกพร้องลงสมัคร แถมตอนหาเสียงก็ยังใช้คำว่า “ประชาธิปไตย” เป็นฉากบังหน้าเพื่อการเลือกตั้งอย่างหน้าตาเฉย
มันจะเป็นประชาธิปไตยไปได้อย่างไรในเมื่อไม่ยอมรับ “อำนาจศาล”
การยอมรับอำนาจศาลฏีกาที่พิพากษายืนให้พลตรีจำลองและพวกรวม 6 คนต้องถูกจำคุกโดยไม่หนีและยอมเข้าคุกข้างต้นจึงเป็นไปตามระบอบ “ประชาธิปไตย” เป็นการชี้ถูกชี้ผิด เป็นจุดหนึ่งที่จะยุติความขัดแย้งที่อาจถูกจารึกให้เป็นตำนานอย่างที่กล่าวข้างต้น
หากนักการเมืองของไทยรักประชาธิปไตยจริง ใช้ประชาธิปไตยเพื่อประชาชนจริง เข้าใจอำนาจต่าง ๆ จริง นักการเมืองนั้นก็ต้องเคารพและยอมรับ “อำนาจศาล”
ไม่โวยวาย ไม่ต่อล้อต่อเถียง แพ้เป็นแพ้ ไม่อ้างว่าศาลไม่ยุติธรรม จบเป็นจบ คุกเป็นคุก เพื่อเดินหน้าใหม่
ในการเลือกตั้งทั่วไป 2562 นี้ ประชาชนอาจตรวจสอบนักการเมืองได้ง่าย ๆ
พรรคใดใช้คำว่า “ประชาธิปไตย” เพื่อชักจูงประชาชนให้คล้อยตาม แต่พรรคนั้นไม่ยอมรับ “อำนาจศาล” สิ่งนี้สื่อให้เห็นว่า พรรคนั้นใช้ประชาธิปไตยเพื่อชุบตนเองให้ดูดี

เนื้อในที่แท้จริงคือ “การหลอกลวง” ประชาชนให้หลงเชื่อเพื่อให้ได้อำนาจเท่านั้น จากนั้นก็จะใช้อำนาจนั้นเพื่อประโยชน์ต่อตนเองและพวกพร้องมากกว่าประโยชน์ของประชาชน
ผู้จะใช้คำว่า “ประชาธิปไตย” ที่แท้จริงได้ต้องเป็นผู้ที่ยอมรับอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการในเวลาเดียวกัน ต้องยอมรับ “อำนาจศาล” โดยไม่หลบหนีอย่างที่พลตรีจำลองและพวกกำลังทำอยู่เท่านั้น

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

LOGISTICS

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในชิลีขยายตัวดีขึ้น – โอกาสส่งออกสินค้าของไทย

หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของชิลี El Mercurio ได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับสถานการณ์ตลาดอสังริมทรัพย์ว่ามีการขยายตัวที่ดีขึ้น หลังจากที่ผ่านช่วงชะลอตัวในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยสมาคมนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของชิลี ระบุว่า จำนวนผู้ซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ในปี 2018 เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขของธนาคารกลางชิลีที่ระบุว่าจำนวนการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เพิ่มขึ้น

สมาคมฯ ยังได้ระบุเพิ่มเติมว่า ไม่เพียงแต่เฉพาะที่อยู่อาศัยเท่านั้นที่มีการขยายตัวได้ดี ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเชิงพาณิชย์ก็เช่นกัน ทั้งอาคารสำนักงานและศูนย์การค้าชุมชน หรือคอมมูนิตี้มอลล์ (Community Mall) ที่พบว่ามีความต้องการในตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลมาจากปัจจัยบวกด้านเศรษฐกิจ และบรรยากาศในการลงทุนที่ดีที่ทำให้นักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับที่ต่ำ อีกทั้งรัฐบาลมีโครงการพัฒนาระบบคมนาคมพื้นฐาน ขยายเส้นทางเดินรถไฟใต้ดินหลายสาย ทำให้โครงการที่อยู่อาศัยขยายตามแนวเส้นทางเดินรถไฟเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังพบว่าตลาดต่างจังหวัดที่เป็นเมืองสำคัญด้านเศรษฐกิจ เช่น เมืองคอนเซ็ปสิออน (Concepción) ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมสำคัญ, เมืองลาเซเรนา (La Serena) และเมืองวินญ่า เดล มาร์ (Viña Del Mar) ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญของชิลี มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยวัดจากยอดจำหน่ายสินค้าและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ทั้งนี้ สำหรับทิศทางตลาดในปี 2019 นี้ สมาคมฯ กล่าวว่าจะยังคงมีทิศทางที่ดี โดยในภาพรวมน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10

บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย) “ไทย” เป็นประเทศที่มีการส่งออกปูนซีเมนต์รายสำคัญของโลก ซึ่งเมื่อพิจารณาจากตัวเลขการส่งออกประจำปี 2017 แล้ว พบว่าไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 2 ของโลก รองจากประเทศจีน และโดยที่ชิลีมีการนำเข้าปูนซีเมนต์ เหล็ก และเครื่องจักร รวมปีละประมาณ 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ดังนั้น ทิศทางการขยายตัวที่ดีของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในชิลี ย่อมส่งผลให้มีแนวโน้มการนำเข้าสินค้าในกลุ่มดังกล่าวจากไทยเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

ข้อคิดเห็น/เสนอแนะ
ปัจจุบัน พบว่ารถบรรทุกขนาดไม่เกิน 1 ตัน เป็นสินค้าที่ชิลีมีการนำเข้าจากไทยมากที่สุด เพื่อใช้ในกิจกรรมเหมืองแร่เป็นหลัก โดยมีสัดส่วนการนำเข้าที่สูงถึงร้อยละ 67.37 ของการนำเข้าสินค้าทั้งหมดจากไทย หากไทยสามารถผลักดันสินค้าส่งออกในกลุ่มอื่นไปยังชิลีมากขึ้น นอกจากจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับประเทศอีกทางหนึ่งแล้ว ยังถือเป็นการลดความเสี่ยงจากโอกาสการหดตัวของการส่งออกในกลุ่มยานยนต์ ซึ่งจะเป็นผลโดยตรงหากมีการชะลอตัวในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของชิลีได้อีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้ อนาคตการส่งออกรถยนต์ดีเซลของไทยอาจได้รับผลกระทบจากนโยบายรักษาสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนของรัฐบาลชิลี ที่มีแนวโน้มจะหันมาส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าทดแทนการใช้พลังงานน้ำมันหรือเชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้น ดังนั้น การส่งเสริมสินค้าส่งออกสำคัญของไทยในกลุ่มอื่นมายังชิลี โดยเฉพาะสินค้าในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งกำลังขยายตัวได้ดีในชิลี จึงถือเป็นโอกาสที่ดีต่อการส่งออกของไทยและรักษาระดับความสัมพันธ์ทางการค้าสองฝ่ายในระยะยาวต่อไป

ที่มา: https://ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/530738/530738.pdf&title=530738&cate=413&d=0