SNP NEWS

ฉบับที่ 557

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

ยังเหมือนเดิม

‘สื่อนอกรายงาน วันพิพากษาพรรค ทษช.

สะท้อนสังคมไทยยังแตกแยก’

วันพฤหัสที่ 7 มี.ค. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำตัดสินพรรคไทยรักษาชาติ ต่อกรณีเสนอชื่อ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดี สมควรเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อโดยรัฐสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคไทยรักษาชาติ

ผลของคำตัดสินให้ยุบพรรคและตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี รายละเอียดอื่นเป็นที่รับรู้กันไปทั่วโดยศาลรัฐธรรรมนูญได้ให้เหตุผล ดังนี้

‘เป็นการกระทำที่ย่อมเล็งเห็นได้ว่าจะส่งผลให้ระบอบการเมือง การปกครองของไทยแปรเปลี่ยนไปสู่สภาพอันเดียวกับระบอบการเมืองที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ และมีพระบรมวงศานุวงศ์ใช้อำนาจหน้าที่ทางการเมืองในการปกครองประเทศ สภาพการณ์เช่นนี้ย่อมมีผลให้หลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย ที่ถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงราชย์ แต่มิได้ทรงปกครอง ต้องถูกเซาะกร่อนทำลาย บ่อนทำลายให้เสื่อมทราม’

‘อนึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มีเจตนารมณ์สำคัญประการหนึ่ง มุ่งลดเงื่อนไขความขัดแย้งให้ประเทศสงบสุขบนฐานรู้รักสามัคคี ตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย และประเพณีที่เหมาะสมกับสถานการณ์และลักษณะสังคมไทย อีกทั้งรัฐธรรมนูญบัญญัติปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน’

“การนำสมาชิกพระบรมวงศานุวงศ์มาฝักใฝ่พรรคการเมือง เพื่อความได้เปรียบทางการเมือง สุ่มเสี่ยงต่อการทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีความเป็นกลางทางเมือง อยู่เหนือการเมือง และเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนเสื่อมโทรม และจะก่อให้เกิดการตำหนิติเตียน ความไม่สมัครสมานสามัคคีระหว่างเจ้านายกับราษฎร ซึ่งขัดต่อรากฐานหลักการการปกครองของประเทศไทยภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข” (อ้างถึง https://voicetv.co.th/read/wfxKNUs9e)

ภายหลังการตัดสิน นักวิเคราะห์ต่างให้ความเห็นทั้งที่คล้ายและแตกต่างกันในประเด็นผลสะท้อนของคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ

“ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ทำให้พรรคการเมืองในปีก ‘ทักษิณ’ ได้คะแนนเลือกตั้งลดลง แต่อีกฝ่ายหนึ่งมองว่า การยุบพรรคจะลดทอนความเป็นไปได้ที่กลุ่มการเมืองฝ่ายทักษิณจะได้จัดตั้งรัฐบาล” (อ้างถึง https://voicetv.co.th/read/RZGv0Xnjo)

การตัดสินของศาลรัฐธรรรมนูญส่งผลแตกต่างกันตามแต่มุมมอง หากให้นักวิเคราะห์ที่ไม่เข้าใจระบอบเมืองการปกครองของไทยก็จะมองในทางหนึ่ง แต่หากให้ผู้ที่มีความเข้าใจก็จะมองอีกมุมหนึ่ง

แตกต่างกันแน่นอน

ด้วยมุมมองที่แตกต่างกันนี่เอง นักการเมืองของไทยก็จะคว้าผลการวิเคราะห์ด้านที่เป็นประโยชน์ต่อตน มาขยายความให้เกิดประโยชน์ต่อตนให้มากยิ่งขึ้น

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สังคมไทย ประชาชนคนไทยยังแตกแยก ยังรวมเป็นหนึ่งเดียวกันไม่ได้

ต่างฝ่ายต่างนำการวิเคราะห์ที่ตนได้ประโยชน์ นำเหตุ นำผล มาอ้างเรื่อยมา

ทั้ง ๆ ที่รัฐธรรมนูญปี 2560 จะมุ่งลดเงื่อนไขความขัดแย้งให้ประเทศสงบสุขตามที่ศาลรัฐธรรมนูญท่านแถลงให้ทราบ

แต่สิ่งที่เห็นในวันนี้ยังเป็นเครื่องตอกย้ำว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังยึดความขัดแย้งกันอยู่

แม้นักวิเคราะห์ข้างต้นจะมองว่า ภายหลังการตัดสิน คะแนนในฝ่ายทักษินจะลดลงจนลดทอนความเป็นไปได้ในการตั้งรัฐบาลก็ตาม แต่เพราะความขัดแย้งยังอยู่ ประชาชนที่สนับสนุนฝ่ายคุณทักษิณและเตรียมจะเลือกพรรค ทษช. ก็จะหันไปเลือกพรรคอื่นในปีกคุณทักษิณอยู่ดี

บางท่านก็วิเคราะห์ว่า จะเกิด Landswing ด้วยความเห็นใจ คะแนนเหวี่ยงกลับมาฝ่ายคุณทักษิณมากขึ้นจนจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่เพราะความขัดแย้ง ประชาชนฝ่ายต่อต้านคุณทักษิณก็จะยังไม่ Swing กลับมาฝ่ายคุณทักษิณเหมือนเดิม

ทุกอย่าง “ยังเหมือนเดิม”

เพียงแต่ว่าคำตัดสินอาจสร้างอารมณ์ร่วมให้มากขึ้น จากนั้นก็ค่อย ๆ ลดลงเท่านั้น ฝ่ายต่อต้านคุณทักษิณอาจสะใจแล้วก็เลือกพรรคที่ต่อต้านคุณทักษิณต่อไป

ส่วนฝ่ายสนับสนุนคุณทักษิณก็อาจสะเทือนใจ แต่ไม่เปลี่ยนใจเพื่อเลือกพรรคอื่นก็จะยังคงเลือกพรรคที่สนับสนุนคุณทักษิณอยู่ดี

การเมืองของไทยเกือบ 20 ปี เป็นการเมืองแห่งความแตกแยก เป็นการเมืองที่มีแต่ความขัดแย้ง มีทั้งผู้ได้และผู้เสียประโยชน์จากความขัดแย้งในเวลาเดียวกัน

ผลประโยชน์นี่ล่ะที่ทำให้ความขัดแย้งถูกหยิบยกขึ้นมาเล่นจนไม่อาจจะหมดไปได้

การเลือกตั้งที่ผ่าน ๆ มา ประชาชนส่วนใหญ่ก็เลือกพรรคการเมืองด้วย ‘ความรู้สึก’ เป็นส่วนใหญ่ และมองความรู้สึกที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกว่ามันคือหลักการ มันคือเหตุผล และมันคือความถูกต้อง

ต่างฝ่ายต่างนำหลักการ นำเหตุผล นำข้อเท็จจริงที่เป็นคุณต่อฝ่ายตนมากกว่ามาสร้างเป็นวาทะกรรมให้ประชาชนในฝ่ายตนที่หลงไหลอยู่แล้วกลับยิ่งถลำหลงไหลเข้าไปอีก

ความแตกแยกจึงยังคงอยู่

เผอิญความแตกแยกก็ให้ผลประโยชน์กับฝ่ายหนึ่งซึ่งตอบยากจริง ๆ ว่า “ฝ่ายไหน” การทำให้ความแตกแยกยิ่งถลำลึกลงไปจึงไม่อาจหมดไปง่าย ๆ  

ยิ่งไปกว่านั้น การสำรวจความคิดเห็นประชาชนทุกครั้งจะพบคนกลุ่มหนึ่งยังไม่ตัดสินใจเลือกพรรคใด แต่จากสภาพความจริงของการเมืองแตกแยกทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้เลือกข้างไว้เรียบร้อยแล้ว จะมีก็แต่เพียงประชาชนส่วนน้อยจริง ๆ ที่ยังไม่เหลือกข้าง

โดยสภาพความแตกแยก ประชาชนส่วนใหญ่ จึงได้เลือกพรรคการเมืองไว้ในใจเรียบร้อยแล้วเพียงแต่ยังไม่กล้าแสดงออกมาเพราะไม่แน่ใจว่า ผู้ถามอยู่ข้างตรงข้ามหรือไม่

ดังนั้น ในการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. 2562 ไม่ว่าฝ่ายคุณทักษินจะชนะ หรือแพ้ จึงไม่น่าจะเกี่ยวกับการตัดสินให้ยุบพรรค ทษช.

ส่วนฝ่ายต่อต้านคุณทักษิณ ไม่ว่าจะชนะ หรือจะแพ้ มันก็ไม่น่าจะเกี่ยวกับการยุบพรรค ทษช. เช่นกัน

ทั้ง 2 ฝ่าย ต่างมีคะแนนเสียงเป็นของตัวเองอยู่แล้ว ไม่เปลี่ยนแปลง ยังเหมือนเดิม เว้นแต่ว่า การวิเคราะห์ของนักวิชาการเป็นจริง ผลของคำตัดสินจะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเปลี่ยนใจไปเทคะแนนให้อีกฝ่ายหนึ่ง แต่มาถึงวันนี้ก็ดูเหมือนจะยาก

ขณะเดียวกัน จำนวนเสียงผู้มีสิทธิ์เลือกรุ่นใหม่ที่พร้อมใจกันเทคะแนนให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็อาจเป็นตัวตัดสินได้ แต่คุณรุ่นใหม่ก็มีความคิดที่ไม่เกี่ยวกับการยุบพรรค ทษช. อีกเช่นกัน

ทั้งหมดจึงไม่น่าจะเกี่ยวกับการยุบพรรคเท่าใดนัก

ขณะที่ตลาดหุ้นในวันตัดสินยุบพรรค ทษช. ก็บวกเล็กน้อยซึ่งเป็นสภาพปกติในช่วงนี้ ไม่เกี่ยวกับการยุบพรรค ทษช. แต่อย่างใด

ส่วนผลที่แท้จริงนั้นก็คงอยู่ที่ผลการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง คะแนนปาตี้ลิสต์แบบใหม่ที่คนไทยยังไม่คุ้นซึ่งเชื่อว่าพรรคที่ได้ ส.ส. เขตมากอาจไม่ได้ ส.ส. ปาตี้ลิสต์เลย หรือได้เพียงไม่กี่คน จากนั้นก็ต้องดูการฟอร์มการจัดตั้งรัฐบาล และภายหลังรัฐบาลชุดใหม่เข้าบริหารประเทศนั่นล่ะ

เวลานั้นจึงจะรู้ว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการลดเงื่อนไขความขัดแย้งจะได้ผลหรือไม่ ???

วันนั้น คนไทยทุกคนก็คงได้คำตอบว่า ความขัดแย้งที่มีมาเกือบ 20 ปี มันจะเปลี่ยนไปดีขึ้นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 หรือจะ “ยังเหมือนเดิม” เหมือนเกือบ 20 ปีที่ผ่าน

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

LOGISTICS

Smart Community 

ย้ายชุมชนครั้งใหญ่สุดในประเทศ! การท่าเรือฯ ทุ่มแสนล้านผุดซิตี้พอร์ท เล็งโละ “สลัมคลองเตย” ขึ้นตึก

 
โครงการพัฒนาที่ดินท่าเรือคลองเตยเพื่อทำซิตี้พอร์ท ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่ต้องให้การท่าเรือ สร้างรายได้เชิงพาณิชย์ให้มากขึ้นกว่าพันล้านบาท ทำให้ต้องย้ายชุมชนคลองเตยหรือที่รู้จักดีว่า สลัมคลองเตยกว่า 13,000 ครอบครัว นับเป็นการย้ายชุมชนครั้งใหญ่ที่สุดอีกครั้งหนึ่งของไทย
 
ความกังวลของชาวชุมชนคลองเตย ถูกสะท้อนออกมาผ่านเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอของภาคประชาชน ที่จัดโดยสภาองค์กรชุมชน โดยการท่าเรือแห่งประเทศหรือ กทท. ส่งตัวแทนร่วมรับฟังและตอบข้อซักถาม  ชาวชุมชนคลองเตยซึ่งสร้างบ้านอาศัยอยู่บนพื้นที่ของ กทท. มาตั้งแต่ปี 2510 บอกว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกของแนวคิดการย้ายชุมชนที่มักถูกเรียกว่าสลัม แต่ครั้งนี้กทท.เตรียมสร้าง Smart Community รองรับ โดยมีทางเลือก 3 ทาง คือ ยังอาศัยอยู่ต่อแต่ต้องอาศัยในคอนโดขนาด 33 ตารางเมตร หรือ ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในที่ดินแปลงใหม่ที่หนอกจอก ซึ่งกทท.จัดหาให้ครอบครัวละ 1 แปลง หรือทางเลือกสุดท้ายคือรับเงินค่ารื้อถอนและกลับภูมิลำเนา  
 
ประภา วิเศษฤทธิ์ ชาวชุมชนคลองเตย ที่เป็นแกนนำชาวบ้านในการต่อรองการมีส่วนร่วม ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิสภาองค์กรชุมชนคลองเตย บอกว่าไม่ได้ต้องการคัดค้านการพัฒนา แต่ต้องการมีส่วนร่วม ออกแบบที่อยู่อาศัยที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน ผู้ชาย 2 คนนี้ คือตัวแทนจากการท่าเรือฯ ทั้งคู่มีบทบาทในการตอบคำถามกับชาวบ้านที่นี่แบบคำต่อคำ // ดูเหมือนว่า ความชัดเจนเรื่องการย้ายชุมชนครั้งใหญ่สุดในประเทศจำนวน 13,000 ครอบครัวมีขึ้นล่าสุดเมืองเดือนมกราคม ทีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มีการเปิดตัวโครงสร้าง Smart Community และขั้นตอนหลังจากนี้จะเริ่มจากการสำรวจความต้องการของชาวบ้านใน 3 ทางเลือก ซึ่งการท่าเรือตั้งเป้า เสนอแผนย้ายชุมชนเข้าที่ประชุม ครม.ในปี 2563
ความจำเป็นในการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือคลองเตยมีขึ้นหลังจากที่ กระทรวงคมนาคมมีนโยบาย ให้กทท.เพิ่มรายได้เชิงพาณิชย์ปีละ 3,500 ล้าน จากปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำมากเพียง 1.21% ของรายได้ทั้งหมด คิดเป็น 700 ล้านบาทต่อปี ต่ำกว่าเกณฑ์ของหน่วยงานและองค์กรอื่นๆ ซึ่งอยู่ที่ 4%-5%
กทท. จึงต้องการนำโมเดลซิตี้พอร์ท ของเมืองปูซานประเทศเกาหลีใต้มาเป็นแบบอย่าง เพื่อยกระดับให้คลองเตยให้เป็นเมืองท่าเรือระดับโลก ทั้งการจัดทำผังเมืองใหม่ พื้นที่อยู่อาศัยชุมชน ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านค้าปลีก ศูนย์วันสตอปเซอร์วิส นอกจากนี้ยังมีแผนลงทุนเชื่อมต่อระบบขนส่งรถไฟฟ้ารางเดี่ยวสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินเข้าพื้นที่ท่าเรือคลองเตยด้วย โดยจะย้ายชุมชนคลองเตยไปอยู่ในคอนโดที่สร้างบนโรงงานฟอกหนังเดิม 58 ไร่ ซึ่งแผนแม่บทในการพัฒนาที่ดิน Smart Community ของการท่าเรือรวม 2,353 ไร่ ครั้งนี้ใช้งบประมาณกว่า 1 แสนล้านบาท