SNP NEWS

ฉบับที่ 564

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

การเลือก Incoterms


Incoterms ปัจจุบันเป็นชุดปี ค.ศ. 2010 โดยเริ่มใช้ในปี 2011
การปรับปรุงใหม่จะมีทุก 10 ปี หรือปี 2020 เพื่อใช้ในปี 2021

ก่อนหน้านั้น Incoterms ชุดปี ค.ศ. 2010 ก็น่าจะมีสิ่งไม่สะดวก หรือความเข้าใจไม่ตรงกันไม่มากก็น้อยจึงมีการแก้ไขและยกเลิกไปหลายเงื่อนไข ปัจจุบันจึงเหลือเพียง 11 เงื่อนไข
ใน 11 เงื่อนไขที่ใช้ในปัจจุบันแบ่งเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มอักษร E มี 1 เงื่อนไข กลุ่มอักษร F มี 3 เงื่อนไข กลุ่มอักษร C มี 4 เงื่อนไข และกลุ่มอักษร D มี 3 เงื่อนไข
สิ่งที่ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้ซื้อ ผู้ขายสินค้าระหว่างประเทศต้องคำนึงคือ เมื่อการค้ามีข้อยุติ สิ่งที่จะตามมาคือการรวบรวม การเคลื่อนย้าย การจัดเก็บ และการกระจายสินค้าจนกว่าสินค้าจะถึงปลายทางไม่ว่าจะเป็นสถานที่ของผู้ซื้อหรือถึงมือผู้บริโภค
สิ่งที่จะตามมาต่าง ๆ เหล่านี้คือกิจกรรมของ Logistics
ในส่วนที่เป็นกิจกรรม International Logistics แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 เป็นส่วนที่เกิดขึ้นภายในแผ่นดินประเทศผู้ขายต้นทางจนกระทั่งสินค้าถูกส่งขึ้นบนเรือ
ส่วนที่ 2 เป็นส่วนของการเดินทางระหว่างประเทศไม่ว่าจะเป็นทางเรือ เครื่องบิน รถไฟ รถบรรทุกข้ามประเทศ หรือใช้แรงงานแบกข้ามกระทั่งสินค้าถึงท่าเรือปลายทาง
ส่วนที่ 3 เป็นส่วนที่เกิดขึ้นภายในแผ่นดินประเทศจากท่าเรือปลายทางจนกระทั่งสินค้าส่งถึงผู้ซื้อหรือผู้บริโภค
กิจกรรมเหล่านี้เป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการ International Logistics ที่ต้องมีเครือข่าย มีผู้ประกอบการ และมีตัวแทนอยู่ทุกประเทศในการบริหาร การจัดการ และการประสานงาน
ผู้ให้บริการ International Logistics แต่ละราย แต่ละพื้นที่ย่อมมีความชำนาญในพื้นที่ มีเครื่องมือ มีวิธีบริหารจัดการที่แตกต่างกัน
ดังนั้น ประสิทธิภาพที่ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้ซื้อ ผู้ขายสินค้าระหว่างประเทศจะได้รับหรือคาดว่าจะได้รับก็ย่อมแตกต่างกัน และราคาค่าบริการก็ย่อมแตกต่างกันไปด้วย
ในเมื่อประสิทธิภาพและราคาของผู้ให้บริการ Logistics มีความแตกต่างกัน ประเด็นที่น่าคิดคือ ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้ซื้อ ผู้ขายสินค้าระหว่างประเทศต้องการความแตกต่างในด้านอะไรเป็นสำคัญ ???
แน่นอน ผู้ให้บริการ International Logistics ต้องเป็นผู้สนองความต้องการนั้น
ผู้ส่งออกของไทยอาจต้องการสร้างความประทับใจ หรือความสะดวกสบายแก่ผู้ซื้อสินค้าต่างประเทศจึงต้องเสาะหาผู้ให้บริการ Logistics ที่สามารถให้บริการส่งมอบถึงมือผู้ซื้อปลายทางต่างประเทศเพื่อนำค่าบริการรวมเป็นราคาสินค้าเสนอในเงื่อนไข DDP (Delivery Duty Paid)
ขณะเดียวกัน ผู้นำเข้าของไทยอาจต้องการความมั่นใจด้านพิธีการศุลกากร ด้านท่าเรือนำเข้าที่มีศุลกากรคุ้นเคยกับสินค้า ต้องการหลีกเลี่ยงการตีความผิด ๆ ที่เคยได้รับ อาจต้องการท่าเรือที่มีเครื่องมือทันสมัย หรืออาจต้องการควบคุมรายจ่ายตั้งแต่ต้นทาง ระหว่างทาง และปลายทางทั้ง 3 ส่วนก็ได้
ความต้องการแบบนี้ ผู้นำเข้าก็ต้องเสาะหาผู้ให้บริการ Logistics ที่มีเครือข่ายในการรับสินค้าจากต้นทางต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ความต้องการที่เกิดขึ้นแบบนี้ ย่อมทำให้ผู้ซื้อของไทยขอราคาสินค้าหน้าโรงงานแบบ EXW (Ex-Works) หรือราคาพร้อมขึ้นเรือที่ท่าเรือต่างประเทศแบบ FOB (Free on Board)
ทุก ๆ ความต้องการเหล่านี้หรืออาจจะมากกว่านี้ ในโลกการค้าระหว่างประเทศปัจจุบันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นง่าย ๆ เพียงผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้ซื้อ ผู้ขายสินค้าระหว่างประเทศมีผู้ให้บริการ International Logistics ที่น่าเชื่อถือทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกันเท่านั้น
ผู้ให้บริการหรือที่เรียกว่า International Logistics Service Provider – LSP จะเป็นผู้ช่วยผู้ประกอบการค้าระหว่างประเทศให้เลือก Incoterms ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
การเลือก Incoterms ให้เหมาะสมตามลักษณะสินค้า ตามลักษณะพื้นที่ ตามลักษณะความชำนาญ หรือตามลักษณะความต้องการในราคาเหมาะสมกับประสิทธิภาพจึงไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด

ผู้ใดเป็นผู้จ่ายเงินค่ากิจกรรม Logistics ไม่ว่าจะเป็นส่วนแผ่นดินต้นทาง ระหว่างการเดินทาง หรือในแผ่นดินปลายทาง ผู้นั้นย่อมมีสิทธิ์เลือกผู้ให้บริการ logistics ในส่วนนั้นให้สอดคล้องกับประสิทธิภาพและราคาที่ตนต้องการ
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ให้บริการ Logistics ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของ Business Partner และส่วนหนึ่งของ Supply Chain Management เพื่อความสำเร็จของผู้ประกอบการอีกด้วย

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

LOGISTICS

เขตเศรษฐกิจพิเศษสุวรรณภูมิ SEZ แห่งใหม่ของบริษัทไทยในกัมพูชา

เมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา กระทรวงสิ่งแวดล้อมกัมพูชา ได้อนุมัติให้โครงการก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษสุวรรณภูมิผ่านการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการฯ เป็นที่เรียบร้อย และสามารถดำเนินการก่อสร้างตามแผนต่อไปได้

โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษสุวรรณภูมิ เป็นการลงทุนของนักลงทุนจากไทยในกลุ่ม TCC เข้ามาจัดตั้งบริษัทสุววณภูมิขึ้นเมื่อปี 2008 โดยเริ่มจากก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังถ่านหิน 10 เมกะวัตต์ และตามมาด้วยพัฒนาที่ดินจำนวน 205 เฮกตาร์ ให้เป็นโครงการก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษฯ ดังกล่าว ในปี 2012 และได้รับการอนุมัติการขอส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกัมพูชา เมื่อปี 2013 และได้จัดทำการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และได้รับการอนุมัติการก่อสร้างโครงการจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมกัมพูชาในปีนี้

โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษสุวรรณภูมิ ตั้งอยู่ในจังหวัดกันดาล ห่างจากกรุงพนมเปญ 46 กิโลเมตร ห่างจากท่าเรือพนมเปญประมาณ 12 กิโลเมตร โดยในเขตเศรษฐกิจพิเศษฯ นี้ มีโรงงานที่ทันสมัยพร้อมใช้งาน รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน อาทิเช่น การออกใบอนุญาต การขอ licenses ต่างๆ การดำเนินการด้านพิธีศุลกากร รวมทั้งการรับสมัครคนงาน เป็นต้น การก่อสร้างเขตเศรษฐกิจนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นการดึงดูดให้นักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนในกัมพูชามากขึ้น แต่ยังเป็นการสร้างงานให้คนในท้องถิ่นอีกด้วย ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน กัมพูชามีเขตเศรษฐกิจพิเศษรวมทั้งหมด 19 แห่ง มีการจ้างงานรวม 94,000 คน ในปีที่ผ่านมา กัมพูชามีมูลค่าการส่งออกโดยรวมอยู่ที่ 12,120 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นสินค้าส่งออกที่ผลิตในเขตเศรษฐกิจฯ รวม 1,884 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

โอกาสทางการค้าและการลงทุนของไทย
เขตเศรษฐกิจพิเศษสุวรรณภูมิ มีทำเลที่ตั้งที่ดี อยู่ใกล้ศูนย์กลางธุรกิจของประเทศ ท่าเรือ และไม่ไกลจากชายแดนเวียดนาม ประกอบกับมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เหมาะสำหรับการย้าย หรือขยายฐานการผลิตจากประเทศไทย เพื่อมาใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการส่งออก เช่น GSP/ MFN จากประเทศกัมพูชา รวมถึงการได้รับการส่งเสริมการลงทุน

ที่มา : https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/550308/550308.pdf&title=550308&cate=413&d=0