SNP NEWS

ฉบับที่ 565

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

สลายหุ้น

“เริ่มที่แม่แล้วตามด้วยหลานสุดท้ายก็เมียคือ เคล็ดวิชาพรางกายสลายหุ้นของงักปุ๊กคุ้ง” เล่งฮู้ชงกล่าวขึ้นมาขณะร่ายกระบี่รอฟันอยู่ที่หน้า กกต.

ข้อความข้างต้นนำมาจากข่าวทางทีวี ในข่าวระบุว่านำมาจากเฟชบุ๊คของ Noppanan Arunvongse Na Ayudhaya อีกต่อหนึ่ง
ใครอ่านตอนแรกก็ต้องนึกว่าเป็นเรื่องราวจีนกำลังภายใน แต่พอลงท้ายด้วยคำว่า ‘หน้า กกต.’ ก็พอจะได้คำตอบว่าเป็นคำล้อเลียนทางการเมืองของไทย
การเมืองของไทยวุ่นวายมาหลายปีส่งผลกระทบต่อสังคมเศรษฐกิจมหาศาล
เกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ความวุ่นวายเกิดเป็นการจราจลกระทบต่อการนำเข้า การส่งออก ระบบ Logistics และเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาล
ประชาชนคนไทยทุกคนได้รับผลกระทบและถูกจัดให้เลือกข้างอย่างไม่รู้ตัว “ใครอยู่เฉย ๆ ใครไม่สนับสนุนก็คือพวกตรงข้าม”
นี่คือความแตกแยกในสังคมไทย
ในที่สุดประเทศไทยก็ได้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 ที่มีเจตนารมณ์ให้เกิดความปรองดอง
ภายหลังการเลือกตั้งใคร ๆ ก็คิดว่าความสงบน่าจะเกิดขึ้น แต่กลับไม่ใช่ ความวุ่นวาย ความขัดแย้งยังไม่หมดไป เรื่องบาดหมางเก่า ๆ แม้จะเบาลง แต่เรื่องบาดหมางใหม่ ๆ กลับมาแทนที่
ความบาดหมางที่ไม่หมดไปจนดูท่าจะขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
ประเด็นบาดหมางใหม่ที่เป็นปัญหาจนสร้างความรำคาญ สร้างความวุ่นวายในสังคมในวันนี้ก็คือ ‘หุ้นสื่อ’ จนนำไปสู่วาทกรรมการสลายหุ้นและคำล้อเลียนตามเฟชบุ๊คข้างต้น
สื่อเป็นผู้ทำข่าวและเป็นช่องทาง (Place) กระจายข่าวออกสู่ประชาชน
สื่อจึงมีอิทธิพลต่อการเมืองไทยสูง สื่อสามารถกระจายความเข้าใจ ความสามัคคี และความขัดแย้งในสังคมไทยออกสู่ประชาชนได้ตลอดเวลา
นักการเมืองคนไหนครอบงำสื่อได้ คนนั้นก็ได้เปรียบคู่แข่งขัน
รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบจึงไม่ต้องการให้สื่อถูกนักการเมืองครอบงำ
คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญในเวลานั้นเชื่อว่าคนไม่สะอาด คนมีเรื่องปกปิด คนมีเจตนาฉ้อฉล หากคนแบบนี้ได้เป็นนักการเมืองที่มีอำนาจ เขาก็อาจจะเป็นต้นเหตุนำพาประเทศกลับเข้าสู่วังวนของความขัดแย้งได้อีก
คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญจึงออกแบบอำนาจมอบให้ กกต. ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง หรือองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้องในการกรองนักการเมืองให้สะอาดก่อนเข้าสู่สภา
กกต. ศาลฯ หรือองค์กรที่ถูกกำหนดจึงมีอำนาจกรองคนไม่ว่าจะกรองก่อนวันรับสมัคร ระหว่างการหาเสียง ภายหลังการเลือกตั้ง หรือแม้แต่ภายหลังประกาศรับรองผลไปแล้วก็ตาม
การกรองก็เพื่อสกัด เพื่อหยุดคนด่าง ๆ เทา ๆ มิให้เข้ามาเป็นนักการเมือง
แล้วปัญหาหุ้นสื่อก็เกิดขึ้นจนได้ อาจด้วยถ้อยคำในกฎหมายที่ใช้เพียงคำง่าย ๆ ว่า ‘หุ้น’ หรืออาจด้วยเจตนารมณ์ของแต่ละหมวดไม่ชัดเจน คนที่เกี่ยวข้องจึงเข้าใจไปคนละทาง
การตีความจึงกลายเป็นความขัดแย้งและความวุ่นวายอย่างที่เห็น

หากพิจารณาความขัดแย้งในเวลานี้จะพบว่า ‘หุ้นสื่อ’ ที่เป็นปัญหาแบ่งออก 2 ประเภท
1. หุ้นในบริษัทที่ทำธุรกิจสื่อจริง ๆ ไม่ว่าหนังสือพิมพ์ ทีวี หรือสื่อประเภทใดก็ตาม หากเป็นธุรกิจสื่อ แบบนี้ก็ชัด ใครถือหุ้น ใครเป็นเจ้าของก็มีสิทธิ์ครอบงำสื่อ
หากเจ้าของสื่อทำอะไรผิด สื่อก็จะประชาสัมพันธ์ให้กลายเป็นถูก ใช้ข้อมูลด้านเดียวให้ประชาชนหลงเชื่อ สื่อจะถูกครอบงำ ถูกใช้ในทางมิชอบ รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบจึงห้ามไว้ หากในวันรับสมัครยังถือหุ้นสื่อประเภทนี้อยู่ คนเป็นเจ้าของสื่อแบบนี้ก็ต้องถูกห้ามสมัคร
2. หุ้นในบริษัทที่ไม่ได้ทำธุรกิจสื่อ แต่ในหนังสือรับรองบริษัทกลับปรากฎข้อความการทำสื่อซึ่งเป็นแบบฟอร์มสำเร็จของกรมพัฒนาธุรกิจจากการจดทะเบียน
หุ้นในข้อ 2 นี้ หากพิจารณาตามเจตนารมณ์ก็ไม่น่าจะใช่ แต่หากยึดถือตามตัวอักษรก็ใช่ กกต. ซึ่งทำหน้าที่กรองชั้นที่ 1 อาจยึดตัวอักษรเป็นหลักฐานส่งศาลท่านให้ตัดสิน
เมื่อ กกต. ซึ่งเป็นโจทย์ใช้ตัวอักษร ใช้หลักนิติศาสตร์ ไม่แสวงหาข้อเท็จจริง ไม่เข้าใจแบบฟอร์มการจดทะเบียน สุดท้ายก็ยื่นเป็นคดีความ
อย่างนี้ศาลฏีกาแผนกคดีเลือกตั้งจะตัดสินเป็นอื่นได้อย่างไร ในที่สุดคำตัดสินก็ออกมาตามตัวอักษรที่ กกต. เสนอ
นักการเมืองที่อ่านกฎหมายรู้ ดูกฎหมายเป็น มักกล่าวว่า กฎหมายจะดูที่ตัวอักษรอย่างเดียวไม่ได้ต้องดูเจตนารมณ์ประกอบด้วย
นักการเมืองจำนวนหนึ่งมีหุ้นอยู่ในบริษัททั่วไป ไม่ได้ทำสื่อ ไม่มีอำนาจครอบงำสื่อ แต่เพราะข้อความตามแบบฟอร์มที่จดทะเบียนบริษัทไว้จึงกลายเป็น ‘หุ้นสื่อ’ อย่างไม่ตั้งใจ
ทั้งที่วัตถุประสงค์ของบริษัทไม่ได้ทำสื่อ ทั้งที่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต้องการป้องกันการครอบงำสื่อ
ความพยายามในการสลายหุ้นจึงเกิดขึ้นในเวลานี้จนกลายเป็นความวุ่นวาย
ประชาชนที่ติดตามการเมืองก็สงสัย ประชาชนที่แบ่งข้างก็ส่งเสียงเชียร์ฝ่ายตน โลก โซเซียลก็ร้อนระอุส่วนประชาชนทั่วไปกลับรำคาญ บางท่านถึงต้องหันไปดูละคร หรือหนังซีรี่ส์แทนข่าว
ประเด็นที่พอจะเห็นง่าย ๆ ก็มีเพียงคำว่า ‘หุ้นสื่อ’ จะยึดถือตาม ‘แบบฟอร์ม’ การจดทะเบียน หรือจะยึดถือตาม ‘เจตนารมณ์’ ของรัฐธรรมนูญ
หากจะยึดถือตามเจตนารมณ์ก็ต้องแสวงหาข้อเท็จจริง หากเป็นหุ้นสื่อตามแบบฟอร์มจริงก็ควรเชิญผู้สมัครฯ มาทำบันทึกข้อตกลง เช่น
1. ผู้สมัครฯ รับรองตนเองว่า อดีตที่ผ่านมา บริษัทที่ถือหุ้นนี้มิได้ทำสื่อจริงโดยนำหลักฐานการทางธุรกิจ หลักฐานการเสียภาษีประเภทธุรกิจ และหลักฐานอื่นประกอบ เช่น สสช.1
2. ทำทัณฑ์บนว่า หากในอนาคตบริษัทนี้ทำสื่อ หรือตนเองเข้าไปครอบงำสื่อไม่ว่าจะเป็นสื่อไหนก็ตาม ตนเองจะต้องถูกลงโทษอย่างไรบ้าง
ทั้งหมดนี้เป็นการยึดเจตนารมณ์ และสามารถกระทำได้ภายใต้อำนาจของ กกต. ในการกรองนักการเมืองเบื้องต้นโดยไม่ต้องส่งศาล
นี่คือการยุติความขัดแย้งเบื้องต้นภายใต้อำนาจที่รัฐธรรมนูญมอบให้ มิฉะนั้นแล้วความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมจะเสื่อมลงและกลายเป็นจำเลยของสังคมอย่างที่เห็น
การจะปกป้องรัฐธรรมในเรื่องหุ้นสื่อยังมีอีกทางที่นักวิชาการบางท่านเสนอคือ องค์กรที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น กกต. ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง หรือองค์กรต่าง ๆ ควรรีบหาช่องทางจัดประชุมร่วมกันในประเด็นที่ชี้ชัดไม่ได้จริง ๆ โดยไม่ปล่อยให้เป็นความขัดแย้งที่อาจบานปลาย
อย่างน้อย การประชุมร่วมกันก็เป็นการนำ ‘ตัวอักษร’ ที่บัญญัติไว้และ ‘เจตนารมณ์’ ขึ้นมาทำความเข้าใจ มิใช่ปล่อยให้แต่ละหน่วยงานหรือบุคคลตีความไปตามประโยชน์ที่ตนจะได้
หุ้นสื่อสร้างความแตกแยกมาระยะหนึ่ง การตีความกฎหมายตามตัวอักษรอย่างเดียวในวันนี้ไม่พอ การตีความต้องนำเจตนารมณ์เข้าร่วมด้วย
การสลายหุ้นสร้างความวุ่นวาย และกำลังเป็นพฤติกรรมที่สร้างความแตกแยกที่มีทีท่าจะบานปลาย จึงเป็นสิ่งที่ควรยุติลงโดยเร็วเพื่อการเดินหน้าประเทศไทย

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

LOGISTICS

สนามบิน Vaclav Havel มุ่งมั่นก้าวสู่การเป็นสนามบินที่ดีที่สุดในยุโรปกลาง

สนามบิน Vaclav Havel ตั้งอยู่ในกรุงปรากและเป็นสนามบินที่ใหญ่ที่สุดของสาธารณรัฐเช็ก จากสถิติพบว่าผู้ใช้บริการสนามบินมีจำนวนเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2013 ส่งผลให้เกิดแผนในการปรับปรุงสนามบินขึ้นหลายโครงการ รวมถึงโครงการพัฒนาเชิงพาณิชย์และพัฒนาด้านการบริการ เพื่อให้สนามบินแห่งนี้มีศักยภาพในการแข่งขันกับสนามบินอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันได้

สนามบิน Vaclav Havel เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 1937 และจากข้อมูลของปีที่ผ่านมานั้นสนามบินแห่งนี้ มีการใช้งานเพียง 2 runway ในการรองรับผู้โดยสารกว่า 16 ล้าน 8 แสนคน หรือ 155,000 เที่ยวบิน บทสัมภาษณ์ของ นาย Roman Pacvon โฆษกสนามบินกล่าวว่า เราต้องการเป็นหนึ่งในสนามบินที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดในยุโรปกลาง เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งของเรา ซึ่งหมายถึงสนามบิน เช่น สนามบินวอร์ซอ บูดาเปสต์ และเวียนนา และในความท้าทายนี้ถือเป็นความโชคดีที่ปรากมีคู่แข่งที่มีสถานะใกล้เคียงกัน อย่างวอร์ซอ และบูดาเปสต์ ซึ่งเคยปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์มาก่อน

มีการจัดอันดับ 100 สนามบินแรกทั่วโลกของ Skyranx’s โดยใช้ตัวชี้วัดที่ค่อนข้างครอบคลุมตั้งแต่ความสะดวกในการเปลี่ยนเครื่อง ไปจนถึงความเอาใจใส่ของพนักงานในสนามบิน ซึ่งสนามบิน Vaclav Havel ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 92 แซงสนามบินวอร์ซอไปสามอันดับ แต่รองจากสนามบินบูดาเปสต์ไป 2 อันดับ

อย่างไรก็ตามคงต้องอาศัยระยะเวลาและความพยายามอีกมากที่จะไปให้ถึงจุดที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียนนายืนอยู่ ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จที่สุดในภูมิภาคนี้ โดย Skyranx’s จัดให้สนามบินเวียนนาเป็น 1 ใน 20 อันดับแรกของสนามบินที่ดีที่สุด และมีผู้โดยสารใช้บริการมากกว่าปรากกว่า 1.5 เท่า จากสถิติผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นและมีแนวโน้วว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้สนามบินปรากวางแผนในการพัฒนาสนามบินขึ้น ซึ่งเป็นแผนพัฒนาระยะยาวและเน้น 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ การสร้าง runway ใหม่ภายในปี 2026 นอกจากนี้แล้วยังมีแผนในการขยาย Terminal 2 ซึ่งใช้เป็น Terminal สำหรับผู้โดยสารที่เดินทางระหว่างประเทศ คาดว่าจะเริ่มโครงการในปี 2024 และแล้วเสร็จในปี 2027 และยังมีโครงการ “Airport City” โดยจะมีการเพิ่มบริการครบวงจรภายในบริเวณสนามบิน เช่น โรงแรม สถาบันการศึกษา หรือศูนย์พัฒนาต่างๆ เป็นต้น

แม้โครงการพัฒนาดังกล่าวจะมีความน่าสนใจ แต่ยังมีอุปสรรคที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ควรได้รับการแก้ไขเร่งด่วน คือเรื่องในการเดินทางไปสนามบิน เนื่องจากในปัจจุบันการเดินทางไปยังสนามบินต้องอาศัยแท็กซี่ รถประจำทาง หรือรถยนต์ส่วนตัว ซึ่งสร้างความลำบากต่อผู้เดินทางทั้งในเรื่องราคา เวลาในการเดินทาง และการขนกระเป๋าเดินทาง แม้จะมีการประชุมเพื่อหาทางออกในการเชื่อมรถไฟใต้ดิน(Metro) กับสนามบิน แต่ยังคงไม่มีข้อสรุป และคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการสร้างอย่างน้อย 11 ปี และนาย Pacvon กล่าวเสริมว่าขณะนี้มีแผนในการสร้างทางรถไฟจากสถานีที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงปรากมายังสนามบิน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2029

สำหรับการปรับปรุงด้านการบริการภายในสนามบิน ขณะนี้ได้เริ่มจัดหุ่นยนต์ชื่อ MR. Pepper เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้ข้อมูลต่างๆ ของสนามบินแก่นักท่องเที่ยว โดย MR. Pepper ยังสามารถเปล่งแสงและเต้น เพื่อสร้างความบันเทิงแก่เด็กๆ ระหว่างรอขึ้นเครื่อง ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจึงทำให้สนามบินมีแผนจะเพิ่มสมาชิกใหม่ Mr. Pacvon เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารมากขึ้นในเร็วๆนี้

นอกจากนี้ ทางสนามบินยังมีการเพิ่มช่องทางพิเศษสำหรับครอบครัวที่เดินทางพร้อมเด็กอ่อน ให้สามารถใช้ช่องพิเศษในขั้นตอนการตรวจความปลอดภัยก่อนขึ้นเครื่องเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ครอบครัว เป็นต้น จากการปรับปรุงด้านนี้ทำให้ทางสนามบินได้รับรางวัล Best Airport Awards สำหรับสนามบินที่มีผู้โดยสาร 10-25 ล้านคน จาก ACI EUROPE ในปี 2018 ทางสนามบินพยายามปรับปรุงการบริการในหลายๆ ด้าน เพื่อให้ผ่านการประเมินจาก ACI และเพื่อให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบายสูงสุด เช่น การเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ที่สามารถสื่อสารและให้ข้อมูลในภาษาจีน หรือแม้แต่จัดผู้ช่วยในการดูแลผู้โดยสารที่หลงทางในสนามบิน นอกจากการบริการลูกค้าแล้ว ทางคณะกรรมการของ ACI ยังตรวจประเมินถึงการเอาใจใส่ลูกค้าของร้านค้าในสนามบิน และด้านความปลอดภัยของสนามบินอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม สนามบินกรุงปรากยังต้องปรับปรุงและเพิ่มนวัตกรรมต่างๆ เพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะช่วง 2 ปีหลังนี้ และคาดว่าปีนี้จำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มเป็น 17 ล้านคน และอาจมีการเปิดเส้นทางการบินใหม่ไปยังเมืองฟลอเรนซ์ ในประเทสอิตาลี หรือเมืองซาดาร์ ในโครเอเชีย และยังมีเส้นทางกรุงปราก – กรุงเทพฯ ซึ่งนาย Andrej Babis นายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐเช็ก เคยกล่าวถึงหลังการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เนื่องจากกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางทางการบินที่สำคัญที่จะช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวจากเอเชียมายังกรุงปราก โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าอาจจะเริ่มเที่ยวบินแรกในช่วงคริสต์มาสปีนี้ แต่นาย Pacvon ไม่ได้ลงรายละเอียดในเรื่องนี้โดยกล่าวเพียงว่า ยังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจาและสุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของสายการบินเอง ไม่ว่าเส้นทางปราก – กรุงเทพ จะเชื่อมโยงกับเอเชียอย่างที่นาย Andrej Babis คาดการณ์ไว้หรือไม่ แต่มีสิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือสนามบิน Vaclav Havel จะเติบโตและสร้างสรรค์ต่อไปเพื่อเป็นสนามบินอันดับหนึ่งในยุโรปกลาง

ที่มา : https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/555180/555180.pdf&title=555180&cate=413&d=0