SNP NEWS

ฉบับที่ 567

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

จุดเสี่ยง ปชป.

‘ประชาธิปัตย์ : จุรินทร์ คว้าเก้าอี้หัวหน้าพรรคคนที่ 8’

บีบีซีไทยแลนด์ (https://www.bbc.com/thai/thailand-48277332) รายงานข่าวข้างต้นภายหลังการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค ปชป. (ประชาธิปัตย์) สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 62
ปชป. ถือว่าเป็นพรรคการเมืองที่มีระบบพรรคเป็นที่ยอมรับ ไม่มีใครสามารถเป็นเจ้าของได้อย่างชัดเจนซึ่งต่างจากพรรคการเมืองอื่นที่พอจะเข้าใจได้ว่า ใครบ้างเป็นเจ้าของ ใครบ้างชี้นำพรรคได้ ปชป. จึงเป็นพรรคการเมืองที่น่าศึกษาและจับตามองมากพรรคหนึ่ง
การต่อสู้ในการเมืองไทยเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะมีระบอบทักษิณตกเป็นจำเลยโดยมีพรรการเมืองที่ชอบและไม่ชอบอยู่ในวังวน
ระบอบทักษิณมีจริงหรือไม่ วิกิพีเดีย (https://th.wikipedia.org/wiki) ให้ข้อมูลไว้สืบค้น
ปชป. ก้าวเข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งกับระบอบทักษิณตั้งแต่ความวุ่นวายทางการเมืองปี 2552 ตั้งแต่นั้น คนไทยก็แบ่งเป็น 2 ส่วนอย่างชัดเจนโดย ปชป. เป็นส่วนหนึ่ง
ต่อมา การเลือกตั้งในปี 2554 ความขัดแย้งส่งผลให้ ปชป. ได้คะแนนทั่วประเทศ 11.4 ล้านเสียง ขณะที่พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นตัวแทนระบอบทักษิณได้ราว 15.7 ล้าน
จากนั้นพรรคเพื่อไทยก็ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
ปชป. จึงทำหน้าที่ฝ่ายค้านที่ต้องคอยตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล แต่วิธีการบริหารของพรรคเพื่อไทยในครั้งนั้นไม่เป็นที่ถูกใจของประชาชนกลุ่มต่อต้าน
เวลานั้น ประชาชนที่ไม่ชอบระบอบทักษิณเริ่มมองว่า ปชป. น่าจะต้านทานไม่ไหว
การต่อต้านลุมลามลงสู่ถนนและจบลงด้วยการรัฐประหาร
คณะรัฐประหารหรือ คสช. โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นมาบริหารประเทศ กระทั่งมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค. 62 ที่เปิดโอกาสให้ทักษิณมีโอกาสต่อสู้อีกครั้ง
แต่ครั้งนี้ ด้วยเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญใหม่ ระบอบทักษิณไม่สามารถแสดงออกในทางเปิดเผยได้ ในทางสาธารณะจึงดูเป็นการต่อสู้กันระหว่างพรรคการเมือง และดูคล้ายการเมืองถูกแบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย
ฝ่ายที่ 1 คือฝ่ายประชาชนและพรรคที่ส่งเสริม คสช. อยากให้บริหารประเทศต่อไป ฝ่ายนี้นำโดย พปชร. (พรรคพลังประชารัฐ)
ฝ่ายที่ 2 คือ ฝ่ายระบอบทักษิณที่ต้องการแย่งชิงอำนาจด้วยแนวทางแตกแบงค์พันเพื่อให้ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ 2560 ฝ่ายนี้นำโดยพรรคเพื่อไทยและพรรคอื่นที่มีแนวทางคล้ายกัน
ฝ่ายที่ 3 คือ ฝ่าย ปชป. ผู้ถูกผลักให้อยู่ตรงข้ามระบอบทักษิณตั้งแต่ป 2552 เป็นต้นมา ปชป. แสดงจุดยืนด้วยระบบรัฐสภา ประกาศตัวไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์
แล้วผลการเลือกตั้งก็ออกมาอย่างที่ทราบทั่วกัน
ปชป. แพ้ไม่เป็นท่า แถมตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายจนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จำต้องประกาศลาออกในค่ำวันเลือกตั้ง และมาได้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ เป็นหัวหน้าพรรคดังกล่าวแทน
ผลคะแนนรวม พรรคเพื่อไทยได้คะแนนทั่วประเทศตกลงจากที่เคยได้ 15.7 ล้าน เหลือ 7.9 ล้าน แต่เมื่อรวมพรรคอนาคตใหม่ 6.2 ล้าน และพรรคอื่นที่มีแนวทางและฐานเสียงเดียวกัน คะแนนเดิมในระบอบทักษิณก็ไม่หนีจากเดิมสักเท่าไร
ผลรวมคะแนนขนาดนี้ยืนยันว่าประชาชนยังนิยมระบอบทักษิณไม่เสื่อมคลาย
ส่วน พปชร. ได้คะแนนสูงสุด 8.4 ล้าน ขณะที่ ปชป. ได้คะแนน 3.9 ล้าน ซึ่งจะเห็นว่า คะแนนเดิมในปี 54 ของ ปชป. 11.4 ล้านเสียงหายไปมากราว 7.5 ล้านเลยทีเดียว
คะแนนที่หายไป 7.5 ล้านของ ปชป. สื่ออะไรให้กับ ปชป. ???

นักวิจารณ์การเมืองทั้งที่ชอบและไม่ชอบ ปชป. ต่างออกมาให้ความเห็นที่ดูเหมือนว่าจะเป็นไปในเกือบในทิศทางเดียวกันว่าเป็นจุดเสี่ยงอย่างมาก ดังนี้
1. การต่อสู้ทางการเมืองโดยมีระบอบทักษิณเป็นจำเลยแม้รัฐธรรมนูญ 2560 จะป้องกันพรรคการเมืองจากการถูกครอบงำไว้ แต่ผลการเลือกตั้งก็อย่างที่เห็น ระบอบทักษิณยังมีอยู่
2. กลุ่มประชาชนที่ไม่ชอบระบอบทักษิณมองผ่านเหตุการณ์ปี 2552 แล้วพบว่า ปชป. ที่ยึดมั่นระบบรัฐสภาต้านทานไม่อยู่ แต่มองว่า ที่ผ่านมา คสช. เอาอยู่
ดังนั้น แม้จะเคยเลือก ปชป. ในปี 2554 แต่เพราะกลัวการกลับมาของระบอบทักษิณ ในครั้งนี้จึงตัดสินใจเลือก พปชร. ที่สนับสนุน คสช. ให้มาเป็นตัวแทนต่อสู้อย่างไม่ลังเลใจ
คะแนน ปชป. หายไปจากจุดนี้แม้จะไม่ถึง 7.5 ล้าน แต่ก็หายไปเป็นหลายล้านทีเดียว
3. ประชาชนที่ยังยึดมั่น ปชป. ยังมีอยู่ 3.9 ล้าน บางส่วนอาจเห็นด้วยและบางส่วนอาจไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่ยังเชื่อมั่นและเลือก ปชป. ในครั้งนี้
ภายหลังการเลือกตั้งและระหว่างการจัดตั้งรัฐบาล หาก ปชป. ร่วมมือพรรคเพื่อไทยเพื่อสกัดกั้นการสืบทอดอำนาจของ คสช. อะไรจะเกิดขึ้นกับคะแนน 3.9 ล้านที่ไม่ชอบระบอบทักษิณและยึดมั่นต่อ ปชป. และคะแนนอีก 7.5 ล้านที่หายไปสนับสนุนพรรคอื่น
การร่วมมือกับพรรคเพื่อไทยจึงเป็นความเสี่ยงต่อคะแนนนิยมของ ปชป. มากทางหนึ่ง
หาก ปชป. เข้าร่วมกับ คสช. เพื่อเอาใจคะแนน 7.5 ล้านที่หายไป แต่ใครกล้ายืนยันว่า คะแนน 7.5 ล้านที่หายไปจะกลับมา หรือหายไปแล้วก็หายไปลับตลอดไป
นี่ก็เป็นความเสี่ยงอีกทางหนึ่ง
หาก ปชป. ยืนยันไม่สนับสนุน คสช. ตามที่ประกาศไว้แต่สิ่งที่ชัดเจนคือคะแนน 3.9 ล้านที่ได้มาไม่เอาระบอบทักษิณแน่ แต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่า 3.9 ล้านที่เลือก ปชป. นี้ ต้องการ หรือไม่ต้องการให้ร่วมกับ คสช. เพื่อต่อต้านระบอบทักษิณ
นี่ก็เป็นความเสี่ยงอีกทางเช่นกัน
แต่หาก ปชป. ยืนยันเป็นฝ่ายค้านอิสระ คะแนน 7.5 ล้านที่หายไปก็อาจหายลับตลอดไป ส่วนคะแนน 3.9 ล้านที่มีอยู่ ใครจะกล้ายืนยันว่าคนกลุ่มนี้ชอบแนวทางนี้ และจะอยู่กับ ปชป. ต่อไป
ไม่มีใครตอบ ปชป. ได้จริง ๆ ว่า เสียงที่หายไป 7.5 ล้านและเสียงที่เหลืออยู่ 3.9 ล้านนี้ไม่ชอบ คสช. ไม่ชอบการรัฐประหารโดยไม่เกลียดกลัวระบอบทักษิณ หรือเสียงส่วนนี้เกลียดกลัวระบอบทักษิณจนไม่รังเกียจการรัฐประหารก็ได้
แต่เมื่อเหลียวดูระบอบทักษิณ
คะแนนที่ได้รับในปี 2554 ราว 15.7 ล้าน มาถึงปี 2562 ยังเกาะกันเหนียวแน่น อาจมีลดบ้าง อาจกระจายอยู่หลายพรรค แต่ก็เป็นพรรคในแนวทางเดียวกันและยังเหนียวแน่นอยู่ในระดับเดิม
ไม่มีใครรู้ต่อไปว่า พปชร. ที่เป็นพรรคตั้งขึ้นเพื่อประนีประนอมระหว่างอำนาจเผด็จการกับประชาธิปไตยจะทำหน้าที่ได้ยืนยาวแค่ไหน หากมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ คะแนน 8.4 ล้านที่ได้ในครั้งนี้ จะผลันแปรไปอย่างไร และต่อไประบอบทักษิณจะมีทิศทางอย่างไร ???
ทั้งหมดไม่มีความชัดเจน อะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้
สิ่งที่ชัดเจนในวันนี้คือ ปชป. ภายใต้การนำของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคคนใหม่ ไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไรก็ดูเหมือนเป็นความเสี่ยงต่ออนาคตไปเสียทุกทาง
นักวิจารย์การเมืองต่างเชื่อว่า ครั้งนี้ไม่ว่าจะตัดสินใจร่วมรัฐบาล หรือถอยมาเป็นฝ่ายค้านอิสระ ปชป. ก็อยู่ในจุดเสี่ยงทุกทาง
เว้นแต่ ปชป. จะยังรวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ฟังเสียงประชาชนที่เป็นเจ้าของพรรคที่แท้จริงเพื่อการตัดสินใจ หลังจากนั้นจะสามารถสร้างผลงานให้เป็นที่ถูกใจประชาชนทั้ง 7.5 ล้านที่หายไป และ 3.9 ล้านที่เหลืออยู่เท่านั้น
มีแต่ทางนี้ จุดเสี่ยงก็จะค่อย ๆ กลายเป็นจุดเปลี่ยนของพรรคในทางที่ดี และนำคะแนนนิยมให้กลับคืนมาโดยเร็ว
ตรงกันข้าม หากครั้งนี้ความสามัคคีกลับแตกกระจาย ต่างคนต่างใช้ความคิดส่วนตนเป็นใหญ่โดยไม่ยึดโยงประชาชนอย่างแท้จริง จุดเสี่ยงที่แฝงอยู่ทุกทางที่เลือกจะกลายเป็นดาบพิฆาต ปชป. ในคราวนี้เช่นกัน

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

ป.ล. จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ระบอบทักษิณ (อังกฤษ: Thaksinocracy) เป็นคำที่นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์และรัฐศาสตร์บางส่วนนิยามการปกครองประเทศไทยในสมัยที่ ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีพื้นฐานเป็นประชานิยม มีคนยากจนจำนวนมากได้ประโยชน์จากนโยบายต่าง ๆ นำไปสู่ความนิยมจนเป็นฐานเสียงในการเลือกตั้ง ทำให้ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งทุกครั้ง จนสามารถบริหารประเทศได้ด้วยเสียงของพรรคเดียว บ้างก็เรียกแบบการปกครองนี้ว่า “ทักษิณาธิปไตย” “ระบบเผด็จการโดยเสียงข้างมาก” และ “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์จากการเลือกตั้ง” ซึ่งบางส่วนมาจากคำจำกัดความของระบอบทักษิณ[1]ซึ่งได้เป็นการเพิ่มความชอบธรรมให้กับการขับไล่ทักษิณ ชินวัตรให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2548-2549

LOGISTICS

สาธารณรัฐเช็กประเทศที่ค่าขนส่งถูกที่สุดในยุโรป

สาธารณรัฐเช็กตั้งอยู่ที่ใจกลางของทวีปยุโรป จึงเหมาะในการใช้เป็นทางผ่านไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรป ส่งผลให้รถบรรทุกสินค้าเลือกสาธารณรัฐเช็กเป็นทางผ่านในการขนส่งสินค้าไปยังประเทศอื่นๆ แต่นอกจากเหตุผลที่กล่าวมานั้น สาธารณรัฐเช็กยังมีต้นทุนที่ไม่สูงสำหรับค่าทางด่วนและค่านำ้มันเชื้อเพลิง และยังถูกกว่าประเทศอื่นๆในยุโรปอีกด้วย

้ข้อมูลจาก Centre for Economic and Market Analyses (CETA) เปิดเผยว่า รถบรรทุกสินค้ามีค่าใช้จ่าย ประมาณ 46.50 ยูโรต่อ 100 กิโลเมตร ในการขนส่งบนถนนของสาธารณรัฐเช็กโดยถูกกว่าประเทศเพื่อนบ้านทุกประเทศเมื่อเทียบจากค่าทางด่วนและค่าน้้ามันเชื้อเพลิง

ในขณะที่ถนนของเยอรมนีรถบรรทุกใช้ต้นทุนประมาณ 58.21 ยูโรต่อ 100 กิโลเมตร สโลวาเกีย 55.19 ยูโร ต่อ 100 กิโลเมตร และประเทศที่แพงที่สุดในยุโรป ได้แก่ อิตาลีซึ่งมีต้นทุนประมาณ 70 ยูโรต่อ 100 กิโลเมตร

ค่าทางด่วนของสาธารณรัฐเช็กมีต้นทุนประมาณ 8.54 ยูโรต่อ 100 กิโลเมตร แต่ในประเทศโครเอเชียกลับมีต้นทุนสูงถึง 28 ยูโรต่อ 100 กิโลเมตร และเมื่อเอ่ยถึงราคาน้้ามันของสาธารณรัฐเช็กราคายังคงอยู่ในระดับค่าเฉลี่ยของยุโรป

จากข้อมูลของ CETA สาธารณรัฐเช็กมีรายได้จากการเก็บภาษีน้้ามันถึง 3,600 ล้านยูโรในปี 2018 ซึ่งเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.48 จากปีที่ผ่านมา และมีรายได้จากค่าทางด่วนเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 4 หรือประมาณ 420 ล้านยูโร

ตั้งแต่เริ่มเปิดใช้งานระบบจัดการขนส่งของรถบรรทุกกว่า 12 ปีนั้นทำรายได้ให้กับประเทศกว่า 3,850 ยูโร แล้ว เนื่องจากปริมาณรถบรรทุกที่มีจำนวนมากติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี และอีกหนึ่งเหตุผลอาจเป็นเพราะการเติบโตของอุตสาหกรรม และ GDP ของสาธารณรัฐเช็กที่ทำให้เกิดการขนส่งมากขึ้น

ที่มา: https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/557883/557883.pdf&title=557883&cate=413&d=0