CEO ARTICLE

Follow Us :

    

Free Zone

“ใครมีหน้าที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้า ?”

รัฐบาลไทยหลายต่อหลายชุดมีความพยายามจะผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการค้ามานาน ในอดีตที่ผ่านมา การส่งเสริมจะมีหลายเรื่อง แต่วันนี้ก็ยังฟันธงชัด ๆ ไม่ได้ว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการค้าแล้วหรือยัง
แล้วใครมีหน้าที่โดยตรงที่จะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้า ?
ยิ่งไปกว่านั้น ความพยายามให้เป็นศูนย์กลางได้เพิ่มอีกหลายประเภท เช่น ศูนย์กลางการเงิน ศูนย์กลาง Logistics ศูนย์กลางอุตสาหกรรม และศูนย์กลางอื่น ๆ เข้าไปด้วย
ในภาพรวมแล้ว การจะเป็นศูนย์กลางทางการค้า Logistics และอุตสาหกรรมนั้น รัฐบาลเพียงเป็นผู้สร้างช่องทาง จากนั้นผู้ประกอบการเอกชนจะเป็นผู้ใช้ช่องทางนั้น หากได้ประโยชน์ดี ความเป็นศูนย์กลางของประเทศก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
ผู้ประกอบการทั่วไปต้องการอะไร ?
ประการที่ 1 การยกเว้นภาษีอากรให้แก่สินค้านำเข้าและส่งออก
ประการที่ 2 การนำชาวต่างชาติมีฝีมือของตนมาดำเนินการ
ประการที่ 3 การจัดการ Logistics ที่ครบวงจร
ประการที่ 4 การรับและการโอนเงินระหว่างประเทศ
ประการที่ 5 ความสะดวกจากระบบราชการในการขออนุญาตและพิธีการต่าง ๆ
ประการที่ 6 สิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่แตกต่างตามลักษณะของผู้ประกอบการ
ความต้องการเหล่านี้เป็นพื้นฐาน ไม่ว่าผู้ประกอบการชาวไทยหรือต่างชาติหากเห็นว่าประเทศใดให้ประโยชน์ดีกว่า การลงทุนก็จะเกิดขึ้นและนำพาประเทศนั้นเป็นศูนย์กลางทางการค้าได้

ประเทศไทยน่าจะเริ่มมีความพยายามเป็นศูนย์กลางทางการค้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2469 ด้วย พระราชบัญญัติศุลกากรซึ่งเป็นกฎหมายศุลกากรฉบับแรกที่บรรจุบทบัญญัติไว้หลายส่วน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2482 ก็มี พรบ. ศุลกากรอีกฉบับให้วัตถุดิบที่นำเข้ามาเพื่อผลิต ผสม หรือประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูปให้ชำระอากรขาเข้าไว้ก่อน
เมื่อส่งออกก็มาขอคืนในภายหลัง
วิธีการชำระอากรขาเข้าก็พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ สามารถชำระด้วยเงินสด ธนาคารค้ำประกัน ระบบบัญชีค้ำประกัน ฯลฯ ตอนนำเข้าชำระอย่างไร ตอนส่งออกก็ได้คืนอย่างนั้น
มาตรการนี้เรียกว่ามาตรา 19 ทวิ ต่อมา พ.ศ. 2560 ได้มีการนำ พรบ. ศุลกากรมากกว่า 20 ฉบับมารวมเป็นฉบับเดียว
มาตรการนี้ก็ยังมีอยู่แต่ย้ายมาอยู่มาตรา 29 ใน พรบ. ปี พ.ศ. 2560 แทน
หากจะว่าไปแล้ว มาตรา 19 ทวิ หรือปัจจุบันคือ มาตรา 29 อากรขาเข้าที่จะได้รับยกเว้นก็มีเพียงวัตถุดิบอย่างเดียว ส่วนการชำระอากรไปก่อนและมาขอคืนในภายหลังแม้ดูมีหลักการดี แต่ก็สร้างภาระด้านการเงินและการบัญชีให้ผู้ประกอบการ
จากนั้นก็นำมาตรา 8 หมวดคลังสินค้าทัณฑ์บน ใน พรบ. ปี พ.ศ. 2469 มาขยายความเพื่อสร้างความสะดวกในรูปการนำเข้าเพื่อการผลิตและส่งออก ซึ่งก็คือคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตที่ให้สิทธิประโยชน์เฉพาะตัวผู้ประกอบการ
คลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตจะมีการวางค้ำประกันครั้งแรกตอนจัดตั้ง เมื่อการมีนำเข้ามาผลิต ผสม หรือประกอบแบบมาตรา 19 ทวิ ก็ไม่ต้องชำระก่อนและมาขอคืนภายหลังซึ่งดูจะให้ความสะดวกมากกว่า
แต่ข้อเสียก็คือ ภาระที่วางค้ำประกันครั้งแรก การที่ต้องมีสำนักงานศุลกากรประจำอยู่ที่โรงงาน การขออนุญาต ระบบบัญชี และพิธีการราชการต่าง ๆ ที่ถูกควบคุม
การให้ความสะดวกเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการค้าก็พัฒนาอีกขั้นในปี 2520 ด้วย พรบ. ส่งเสริมการลงทุน หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า B.O.I.
B.O.I. ย่อมาจากคำว่า Board of Investment หรือคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนซึ่งขึ้นอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรีที่ใหญ่กว่ากรมศุลกากร
สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจาก B.O.I ก็มากกว่าการขอคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ และคลังสินค้าทัณฑ์บน นอกจากวัตถุดิบเพื่อการผลิตจะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าแล้ว เครื่องจักร แรงงานฝีมือ ภาษีธุรกิจ และอื่น ๆ ก็ได้รับยกเว้นไปด้วย
ผู้ประกอบการอาจจะยื่นขอ B.O.I. ที่ไหนก็ได้ในพื้นที่มีการประกาศให้การส่งเสริม หากอยู่นอกเขตก็ยื่นขอไม่ได้ ง่าย ๆ แค่นั้น
ส่วนข้อเสียก็คือการขออนุญาตและการถูกควบคุมด้วยระเบียบราชการเหมือนเดิม
การส่งเสริมให้เป็นศูนย์กลางทางการค้าด้านการผลิตเพื่อการส่งออกของไทยก็ยิ่งพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการทางการค้ามากขึ้น เช่น เขตอุตสาหกรรมส่งออก (E.P.Z. – Export Processing Zone) เขตปลอดอากร (Free Zone) เขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Development Zones – SEZs) เขตเศรษฐกิจพิเศษการค้าชายแดน และโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor หรือ EEC) ซึ่งเป็นโครงการต่อยอดมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ Eastern Seaboard
การส่งเสริมในหลายรูปแบบที่มากขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งที่คล้ายกันคือ การยกเว้นภาษีอากร การใช้แรงงานต่างชาติ ช่างฝีมือ ความสะดวกสะบายที่ผู้ประกอบการจะได้รับ หน่วยงานรับผิดชอบของไทย และเอกชนผู้ดำเนินการ
ทั้งการคืนอากร 19 ทวิ คลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิต B.O.I., E.P.Z., Free Zone, SEZs และ EEC ต่างก็มีข้อดีและข้อเสียต่างกันออกไป แต่ก็มีลักษณะคล้ายกันประการหนึ่งคือ ความปลอดจากภาษีอากร (Duty and Tax Exemption) แบบเฉพาะตัวหรือแบบพื้นที่ที่เรียกรวมกันว่า Free Zone หรือ “เขตปลอดอากร”
การยกเว้นภาษีอากรในรูปของเขต หรือ “เขตปลอดอากร” ที่รวมผู้ประกอบการจำนวนมากเข้ามาอยู่ร่วมกัน และรวมถึงการยกเว้นภาษีอุปกรณ์สำนักงาน วัสดุในการก่อสร้าง และอื่น ๆ ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศจึงกลายเป็นความสะดวกสบายด้านการเงิน การประสานงาน และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Logistics
วันนี้ “เขตปลอดอากร” หรือ Free Zone กำลังทำหน้าที่เป็นตัวเอกผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการค้า และผลักดันให้ระบบราชการเกิดการวิวัฒนาการให้ทันสมัยตามไปด้วย
Free Zone มาในหลายรูปแบบ สิทธิประโยชน์ก็แตกต่าง ผู้ประกอบการเอกชนจึงมีตัวเลือกที่เหมาะสมกับตนเองมากขึ้น และมีส่วนร่วมผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการค้า
แต่ไม่ใช่ประเทศไทยเท่านั้นที่มีการผลักดันในลักษณะ Free Zone ประเทศเพื่อนบ้านที่รายล้อมหลายแห่งก็มีจนเป็นคู่แข่งในภูมิภาคที่วิ่งคู่คี่กับไทยแค่ปลายจมูก
ผู้ประกอบการต่างชาติพอใจสิทธิประโยชน์จากประเทศไหนก็จะไปประเทศนั้น แม้แต่ผู้ประกอบการไทยหลายรายก็ไปใช้ Free Zone ในประเทศเพื่อนบ้านก็มีให้เห็น
การส่งเสริมจากภาครัฐ การพัฒนารูปแบบ Free Zone และการเข้าร่วมของผู้ประกอบการต่างชาติมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ผู้ประกอบการไทยที่ถูกพิษภัยและความไม่แน่นอนทางการเมือง เมื่อได้รับผลกระทบก็เริ่มหันไปใช้ Free Zone ประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น
ความเป็นศูนย์กลางทางการค้ากับ Free Zone ของไทยวันนี้จึงดูมันเชื่อมโยงหลายด้าน
คำถามที่ว่า “ใครมีหน้าที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้า ?”
คำตอบที่ดีที่สุดจึงอยู่ที่ภาครัฐ เมื่อรัฐมีความชัดเจนแล้ว เอกชนที่เป็นผู้ประกอบการตัวจริงต้องเข้าใจ ต้องร่วมมือ และต้องหันไปใช้ “เขตปลอดอากร” ภายในประเทศไทยให้มากยิ่งขึ้นนั่นเอง

DR. SITTHICHAI  CHAWARANGGOON
DR. SITTHICHAI CHAWARANGGOONChief Executive Officer (CEO) - S.N.P. GROUP

Logistics

ออสเตรเลียเฝ้าระวังการแพร่พันธุ์ของปลากัดไทยในประเทศ

ปลากัดไทย ( Siamese Fighting Fish หรือ Betta) เป็นปลาสวยงามที่เลี้ยงง่าย ซึ่งชาวออสเตรเลียนิยมเลี้ยงไว้ดูเล่นในบ้าน แต่รายงานล่าสุดพบปลากัดไทยขยายพันธุ์กว่าพันตัวในบริเวณแม่น้้า Adelaide และเขตพื้นที่น้ำท่วมใกล้เขตเมือง Darwin เขตปกครอง Northern Territory โดยปลากัดที่พบในบริเวณดังกล่าวจะไม่มีครีบยาวและสีสันสวยงามอีกต่อไป แต่กลับมีสีน้ำตาลเข้มเพื่อการพรางตัวตามสภาพแวดล้อม
นักวิจัยยังไม่สามารถระบุชัดเจนถึงระยะเวลาในการขยายพันธุ์และผลกระทบต่อระบบนิเวศในบริเวณดังกล่าวได้ แต่จากปริมาณการขยายพันธุ์ที่เพิ่มขึ้นการกำจัดให้หมดไปจึงทำได้ยาก เนื่องจากปลากัดไทยเป็นพันธุ์ที่ชื่นชอบการต่อสู้และสามารถปรับตัวให้อยู่ในธรรมชาติที่มีน้ำน้อยได้เป็นอย่างดี เมื่ออาศัยอยู่ตามธรรมชาติจะมีความแข็งแกร่งและก้าวร้าว ดังนั้นการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ การปรับตัว การอาศัยอยู่และการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติของปลากัดจะเป็นแนวทางเพื่อหาวิธีควบคุมจำนวนปลากัด (เช่น การนำมาเป็นอาหารสำหรับปลาใหญ่) และผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยา
การแพร่ขยายพันธุ์ของปลากัดในแหล่งน้ำธรรมชาติเขตพื้นที่ตอนเหนือของออสเตรเลียจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกปลากัดสวยงามจากไทย เนื่องจากชาวออสเตรเลียให้ความสำคัญต่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2558 ออสเตรเลียนำเข้าปลากัดสวยงามจากไทยมากที่สุด ขยายตัวร้อยละ 43.86 และ ในช่วง 5 เดือนแรกปี 2562 การนำเข้าปลากัดสวยงามจากไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.52 มีมูลค่า 131,021 เหรียญสหรัฐ
โดยร้านจำหน่ายปลากัดได้รณรงค์ให้ความรู้ วิธีการดูแลปลากัดแก่ผู้ซื้อ และหากเจ้าของปลากัดไม่ต้องการเลี้ยงต่อแล้ว ให้นำปลากัดที่ไม่ต้องการส่งคืนให้กับร้านค้าเพื่อดูแลและหาบ้านใหม่ในลำดับต่อไปแทนการปล่อยปลากัดลงแม่น้ำ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุและช่วยลดปริมาณปลากัดในธรรมชาติที่จะกลายเป็นสัตว์รบกวน หลีกเลี่ยงและป้องกันการแพร่กระจายของโรคระบาดสัตว์ในระบบนิเวศและลดผลกระทบที่อาจมีต่อภาคอุตสาหกรรมพื้นฐานในประเทศ

ที่มา: www.ditp.go.th