CEO ARTICLE

EEC ด้านที่ 2


Follow Us :

    

“นักการเมืองเหมือนกันหมดไม่ว่าที่ไหน พวกเขาสามารถให้สัญญาที่จะสร้างสะพานได้แม้ในสถานที่ที่ไม่มีแม่น้ำ”
(Politicians are the same all over. They promise to build a bridge even where there is no river. อ้างถึงการเมืองท้องถิ่น/2554 ดร. ปธาน สุวรรณมลคล)

เหรียญมี 2 ด้าน เรื่องราวต่าง ๆ ทั่วโลกก็มี 2 ด้าน บางเรื่องก็มีมากกว่า
นักการเมืองทั่วโลกจึงมักนำด้านใดที่ตนได้ประโยชน์มาเสนอ และจะปิดบังด้านที่ตนเสียเปรียบไว้ ตัวอย่างเช่น EEC ที่ถูกนำมาเป็นประเด็นในขณะนี้
โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) คือแผนพัฒนาต่อยอดจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Seaboard) ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2525
การต่อยอดมีเป้าหมายเพื่อให้มีการลงทุน สร้างงาน สร้างเศรษฐกิจ ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น ท่ามกลางสงครามการค้าโลกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

สำหรับคนที่สนับสนุน EEC ก็จะเห็นเป็นโอกาส (Opportunity) ที่ประเทศไทยจะพัฒนาขึ้นไปอีกหลายขั้น ส่วนกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยก็จะเห็นเป็นความเสี่ยง (Threat) หรือความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย
EEC กำลังเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ชาติไปเรื่อย ๆ โดยรัฐบาลประยุทธ์ 2
แต่เมื่อมีการเมืองเกิดขึ้น นักการเมืองก็คือนักการเมืองที่สามารถทำอะไรก็ได้แม้แต่การสัญญาจะสร้างสะพานในสถานที่ที่ไม่มีแม่น้ำดังกล่าว
นักการเมืองฝ่ายต่อต้านจึงมักนำด้านที่ 2 ของทุกเรื่องขึ้นมาโจมตี ซึ่งด้านที่ 2 นี้ก็คือความจริงอีกด้านหนึ่งคล้ายเหรียญที่ต้องมี 2 หน้า
ทุกสถานการณ์บนโลกนี้ก็ย่อมมีโอกาสและความเสี่ยงเป็นของคู่กัน
คนที่มีวิสัยทัศน์เพียงพอและมีความเข้าใจการเมืองที่ต้องโจมตีกันก็อาจมองการเมืองที่ไม่ต่างอะไรไปจากหนังหรือละครเรื่องหนึ่ง
แต่คนที่มีวิสัยทัศน์ไม่เพียงพอ กลุ่มคนที่มีความเข้าใจการเมืองไม่มากพอ หรือกลุ่มคนที่อยู่ในความเสี่ยงอีกด้านหนึ่งก็มักถูกการเมืองชี้นำ
คนกลุ่มนี้จะเข้ามาเป็นพื้นฐานให้นักการเมืองเหยียบและต่อยอดให้สูงขึ้นไป
EEC ด้านหนึ่งก่อให้เกิดการพัฒนามากมาย แต่อีกด้านหนึ่งก็ก่อให้เกิดผลเสียซึ่งเป็นสิ่งปกติของการพัฒนา
กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบทั้งทางบวกและลบจึงต้องมองอย่างมีวิสัยทัศน์ให้ได้ก่อน เมื่อมองออกอย่างคนมีวิสัยทัศน์แล้วจึงค่อยตัดสินใจว่า
“วันนี้ต้องการอะไร”
ทุกอย่างเมื่อมีได้ก็ต้องมีเสียเป็นของธรรมดาบนโลกนี้
ประเด็นด้านที่ 2 ที่ถูกนำขึ้นมาต่อต้าน EEC เช่น กลุ่มทุนขนาดใหญ่จะได้ประโยชน์แต่คนในพื้นที่เสียประโยชน์ หรือมีแต่กลุ่มทุนเท่านั้นที่จะใช้ท่าเรือน้ำลึกได้ นักลงทุนต่างชาติได้รับการยกเว้นภาษี เข้ามาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้ใช้
หากมองให้ออกทั้ง 2 ด้าน จะเห็นว่า การลงทุนขนาดใหญ่ก็ต้องใช้กลุ่มทุนเป็นธรรมดา ชาวบ้านหาเช้ากินค่ำที่ไหนจะลงทุนได้
หากไม่อยากให้มีการลงทุน ไม่มีการสร้างงาน ก็ไม่ต้องให้กลุ่มทุนเข้ามา ง่าย ๆ แค่นี้
กลุ่มคนที่ต้องการเศรษฐกิจ การกินดีอยู่ดี อยากให้มีการพัฒนาก็จะชอบ EEC ยอมรับการลงทุน การดึงดูด การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ และการยกเว้นภาษี
ส่วนกลุ่มคนที่ต้องการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมไว้ ไม่ต้องการเศรษฐกิจก็ย่อมไม่ชอบ EEC
เหรียญมี 2 ด้าน ไม่มีใครถูก ไม่มีใครผิด ใครมองด้านไหนก็เห็นด้านนั้น
ประชาชนในพื้นที่ต้องมองอย่างวิสัยทัศน์ ต้องมองให้ออกทั้ง 2 ด้านหรือมากกว่า และตกลงกันเองให้ได้ก่อนว่า “ต้องการอะไร”
เศรษฐกิจไม่ดี โทษรัฐบาลก็ถูก
รัฐบาลจะพัฒนาเศรษฐกิจที่มีการทำลายสิ่งแวดล้อมก็โทษรัฐบาล ก็ถูกอีก มันเหมือนไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน
ประเด็นการต่อต้านยังมีอีกมาก เช่น พื้นที่การประมงและพื้นที่อนุบาลสัตว์น้ำถูกทำลาย สัตว์น้ำหายไป ชาวประมงจะเดือดร้อนโดยไม่มองวิวัฒนาการของอาชีพการประมงที่จะตามมา
ข้อพิพาทเรื่องที่ดินระหว่างภาคอุตสาหกรรมและประชาชนในพื้นที่ EEC จะเกิดขึ้นโดยไม่มองการพัฒนาของกระบวนการยุติธรรม หรือจะเกิดความเหลื่อมล้ำในหมู่ประชาชน คนรวยจะยิ่งรวยขึ้น คนจนยิ่งจนลง กลุ่มทุนเอาไปหมด วิถีชาวบ้านได้รับผลกระทบ ฯลฯ เป็นต้น
ต่าง ๆ นานาข้อต่อต้านเหล่านี้เป็นเรื่องจริงเป็น EEC ด้านที่ 2 ที่ใครนำขึ้นมากล่าวก็จะถูกหมด คนในพื้นที่หรือคนติดตามข่าวจึงต้องมองให้ออกทั้ง 2 ด้านโดยไม่ตกเป็นเครื่องมือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
สุดท้ายก็มาจบที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
การเมืองก็คือการเมือง นักการเมืองย่อมหนีไม่พ้นคำว่ากฎหมายและรัฐธรรมนูญ ชนชั้นใดเป็นผู้ออกกฎหมาย กฎหมายก็มักจะเป็นประโยชน์ของชนชั้นนั้น
เมื่อนักการเมืองฝ่ายที่ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ 2560 น้อยกว่าก็ย่อมพยายามยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นธรรมดาโดยนำความเดือดร้อนของประชาชนมาอ้าง
การนำประเด็น EEC ด้านที่ 2 ขึ้นมาต่อต้านเป็นความจริงด้านหนึ่ง การนำรัฐธรรมนูญด้านที่ 2 มาชี้ให้ประชาชนช่วยแก้ไขก็เป็นความจริงอีกด้านหนึ่ง
ต่าง ๆ นานาเหล่านี้เป็นความจริงของแต่ละด้าน
ประชาชนจึงควรมองความจริงให้ออก ต้องมองความจริงทุกด้านให้เห็นว่า “สถานที่แห่งนี้ไม่มีแม่น้ำ” คำสัญญาของนักการเมืองที่จะสร้างแม่น้ำจึงไม่มีประโยชน์อะไร

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - S.N.P. GROUP

Logistics

CMA CGM เดินหน้าลงทุนในไทย เปิดให้บริการ ‘JAX’ เชื่อมต่อชายฝั่งตะวันตกอเมริกา-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หลังจากที่สายการเดินเรือ CMA CGM เริ่มให้บริการขนส่งสินค้าเชื่อมต่อระหว่างชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกากับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีแนวโน้มพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สายการเดินเรือจึงตัดสันใจผลักดันการลงทุนด้วยการเปิดให้บริการ ‘JAX’ ซึ่งเป็นบริการขนส่งสินค้าเส้นทางตรงระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาที่รวดเร็วที่สุดในตลาด และยังเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือหลักหลายแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ ท่าเรือ SINGAPORE, PORT KLANG, JAKARTA, CAI MEP และท่าเรือแหลมฉบัง อีกทั้งยังเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือในพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

Ms. Fabienne Lerda กรรมการผู้จัดการ สายการเดินเรือ CMA CGM (Thailand) กล่าวว่า “ในฐานะหนึ่งในพันธมิตรกลุ่มสายการเดินเรือ Ocean Alliance นี่คือหนึ่งในบริการขนส่งสินค้าทางเรือที่ใช้ระยะเวลาการขนส่งสินค้าที่รวดเร็วที่สุดในตลาด ด้วยระยะเวลาการขนส่งสินค้าไปยังชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกาเพียง 19 วัน เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะเปิดตัวเรือ M.V. CMA CGM LIBRA เพื่อให้บริการแก่ตลาดการขนส่งสินค้าในประเทศไทย”

Ms. Lerda ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เรือ M.V. CMA CGM LIBRA ได้เข้าเทียบท่าที่ท่าเทียบ LCIT C3 ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 มีนาคม ปี 2019 โดยถือเป็นการยกระดับบริการในเส้นทางดังกล่าวด้วย เนื่องจากการเปลี่ยนเรือขนาดพื้นที่ระวางประมาณ 8,500 – 9,500 ทีอียู เป็นเรือ M.V. CMA CGM LIBRA ขนาดพื้นที่ระวางสินค้า 11,400 ทีอียู ซึ่งถือเป็นเรือขนาดใหญ่ที่สุดของ CMA CGM ที่เคยเข้าเทียบท่าเรือในประเทศไทย ดังนั้น เมื่อรวมขนาดพื้นที่ระวางของเรือขนส่งสินค้าขนาดใกล้เคียงกันจากลำอื่นๆ กับเรือลำใหม่ในบริการ JAX การยกระดับบริการในครั้งนี้จึงเป็นการเพิ่มปริมาณพื้นที่รองรับสินค้าและการขยายโอกาสทางการค้าที่มากขึ้นให้แก่ผู้ส่งออก

พร้อมกันนี้ สายการเดินเรือ CMA CGM ยังได้ต่อยอดการลงทุนสำหรับบริการขนส่งภาคพื้นเพิ่มขึ้นในประเทศไทยเพื่อให้ทัดเทียมศักยภาพการขนส่งทางทะเลที่บริษัทฯ มีอยู่ในปัจจุบัน โดย Ms. Lerda กล่าวเสริมว่า “แม้ว่าการพัฒนาบริการที่มีอยู่เดิมและการเพิ่มบริการใหม่ๆ เข้ามาจะถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่เราจะยังคงเดินหน้าให้บริการที่ดีที่สุดแก่ลูกค้าด้วยกลยุทธ์ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (customer-centric) ซึ่งสิ่งที่เรากำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันคือการขยายบริการไปยังพื้นที่ห่างไกลในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย โดยเราจะมุ่งมั่นพัฒนาบริการขนส่งสินค้าด้วยเรือบาร์จ บริการขนส่งสินค้าแบบต่อเนื่องหลายรูปแบบ บริการขนส่งข้ามพรมแดน และลานวางพักตู้สินค้าให้ทั่วถึงทุกภูมิภาคในประเทศไทย บริษัทฯ ของเรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมงานกับทุกบริษัทในตลาดและพร้อมให้บริการที่ลูกค้าสามารถไว้วางใจได้”

ขณะที่ปัจจุบันบริการต่างๆ กำลังขยายตัวไปได้ด้วยดี Ms. Lerda ได้เผยถึงแผนการลงทุนภายในองค์กรเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการของบุคลากรโดยเฉพาะว่า “ตอนนี้เราใช้วิธีแบ่งลูกค้าจากทั่วโลกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกคือ ‘non-voice’ เป็นลูกค้าที่เราเน้นให้บริการด้านการลงทะเบียนและการจองพื้นที่ระวางผ่านระบบของบริษัทฯ เป็นหลัก กลุ่มที่สองคือ ‘voice’ ซึ่งจะเน้นไปที่การตอบรับและตอบสนองความต้องการของลูกค้า ซึ่งที่ผ่านมาเราได้เห็นผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมจากการปรับใช้รูปแบบการทำงานใหม่นี้ และเราคาดว่าการดำเนินการในลักษณะนี้จะช่วยให้เราสามารถพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง และเป็นสายการเดินเรือฯ ที่มีความเป็นเลิศด้านการให้บริการ”

ที่มา: http://thai.logistics-manager.com/2019/04/25/cma-cgm-jax-service/

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.