CEO ARTICLE

นำเข้าจากจีน


Follow Us :

    

“อยากนำของเข้าจากจีนแบบเหมาจ่ายรวมค่าขนส่งและค่าภาษีเป็นกิโลกรัม คุณพอรู้มั้ยว่าจะติดต่อที่ไหนได้ ?” คนที่ 1 ถาม
“อ้าว … ทำไมคุณจึงอยากให้เหมาจ่ายแบบนั้นล่ะ ?” คนที่ 2 สงสัย
“การนำเข้าอย่างถูกต้องมักมีปัญหาสารพัด เอาแค่เอกสารเพื่อขอยกเว้นภาษี FTA ทุกวันนี้ก็ได้ข่าวว่ามีปัญหาตอนนำเข้าตลอด โดนจับเสียภาษีก็มาก เสียค่าปรับก็มี ทำให้ต้นทุนสูงสู้คนนำเข้าอย่างผิดกฎหมายแบบเหมาจ่ายเป็นกิโลกรัมไม่ได้นะสิ” คนที่ 1 ให้ข้อมูล

บทสนทนาข้างต้นเป็นเรื่องสมมุติโดยไม่มีใครยืนยันได้ว่า “มีอยู่จริงหรือไม่” แต่หากมีอยู่จริง คนที่จะยืนยันได้ก็คงเป็นคนเคยผ่านการนำเข้าแบบนี้เท่านั้น
หากพิจารณาเรื่องสมมุติข้างต้นก็พอวิเคราะห์เป็นข้อ ๆ ได้ ดังนี้
การนำเข้าแบบเหมาจ่ายเป็นกิโลกรัม
คงน่าจะเป็นไปได้จากผู้รับขนส่งทางรถบรรทุกที่รับของจากจีน จากนั้นก็ขับเข้ามาทางด่านทางภาคเหนือของไทยโดยการหลบเลี่ยงภาษีอากร หรือลักลอบนำเข้า
เนื่องจากเป็นการลักลอบ ผู้รับขนส่งไม่มีความรู้ด้านภาษีอากรจึงคิดค่าขนส่งแบบเหมารวมภาษีเป็นกิโลกรัม ไม่มีการสำแดงที่ด่านศุลกากร หรือตบตาเจ้าหน้าที่โดยสำแดงเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อเสียภาษีในนามคนขับแบบถูก ๆ เพราะสะดวกต่อคนขับจากนั้นก็ขับเข้ามาส่งมอบ
วิธีการนี้อาจเป็นไปได้ แต่ข้อเสียคือ เจ้าของสินค้าที่แท้จริงไม่มีหลักฐานการนำเข้า หากนำของใช้ส่วนตัวเข้ามาใช้เองก็พอเป็นไปได้ แต่หากนำเข้ามาเพื่อขายก็ไม่สามาถลงรายการทางบัญชีได้เพราะไม่มีหลักฐานการนำเข้า เมื่อใดที่ถูกตรวจพบก็จะกลายเป็นสินค้าหนีภาษีทันที
พ่อค้าที่ทำแบบนี้อาจจะมี ขณะที่หน่วยงานของรัฐก็ต้องคอยตรวจจับทั้งที่ด่าน ระหว่างการเดินทางทุกแห่ง หรือที่จุดจำหน่ายไม่ว่าหน้าร้านหรือออนไลน์ ทั้งหมดคือความเสี่ยง
คำแนะนำเริ่มจากผู้ผลิตของจีน
ผู้ผลิตสินค้าของจีนส่วนใหญ่จะผลิตอย่างเดียว ไม่ค่อยมีความรู้ด้านการส่งออก หากจะส่งออกอย่างถูกต้องก็ต้องใช้บริการ “ตัวแทนส่งออก” ผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ส่งออกของจีน
ผู้ผลิตของจีนส่วนใหญ่ไม่อยากวุ่นวายก็มักแนะนำผู้ขนทางรถยนต์ส่งแบบจ่ายเป็นกิโลรวมภาษีให้ผู้ซื้อของไทยไปติดต่อ นี่อาจเป็นต้นทางของความคิดการขนส่งแบบเหมาจ่ายก็ได้
ปัญหาการนำเข้าทางเรืออย่างถูกต้อง
กรณีส่งออกอย่างถูกต้อง “ตัวแทนส่งออก” ของจีนผู้ซึ่งมีใบอนุญาส่งออก มีความรู้ด้านเอกสาร และส่วนใหญ่จะติดต่อตู้สินค้าที่มีค่าระวางถูก ๆ ไว้แล้ว นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า เมื่อผู้ซื้อของไทยจะนำเข้าทางเรืออย่างถูกต้อง ผู้ซื้อมักถูกบังคับให้ซื้อในราคา CIF เป็นส่วนใหญ่
CIF (Cost Insurance and Freight) ราคาสินค้าที่รวมถึงค่าระวางเรือและค่าประกันภัยแล้ว
CIF ของ “ตัวแทนส่งออก” ของจีนส่วนใหญ่จึงมักจัดเรือที่มีค่าระวางเรือราคาถูกมาเทียบท่าที่ไทย ไม่เลือกคุณภาพเรือ ไม่สนใจท่าเรือนำเข้าจะเป็นท่าไหนและมีเครื่องมือที่ท่าเรือนำเข้าดีพอหรือไม่ ไม่สนใจพิธีการศุลกากร เงื่อนไขประกันภัย และปัญหานำเข้าอื่นที่ผู้นำเข้าไทยจะได้รับ
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อกำไรที่มากกว่าของ “ตัวแทนส่งออก” ของจีนในด้านการจัดระวางเรือและประกันภัยเท่านั้นซึ่งกำไรนี้ก็ไม่น่าจะเกี่ยวกับผู้ผลิตแต่อย่างใด เพียงแต่ผู้ผลิตของจีนได้รับความสะดวกในการติดต่อสื่อสารกับคนท้องถิ่นเท่านั้น
ปัญหาเอกสารการนำเข้า
“ตัวแทนส่งออก” ของจีนเป็นผู้ทำเอกสารและใบรับรองเมืองกำเนิด หรือ C/O ประเภท Form E เพื่อการนำเข้าและการขอยกเว้นอากรตามสิทธิ์ FTA (Free Trade Agreement) ในประเทศไทย
เอกสารและ C/O Form E ที่ “ตัวแทนส่งออก” ของจีนทำก็มักเป็นแบบที่ตนคิดว่าถูกต้อง ใช้ได้ โดยไม่ใส่ใจความถูกต้องกับศุลกากรไทย
ปัญหาจึงมักเกิดขึ้นกับผู้ซื้อของไทยขณะนำเข้าตามหัวข้อที่สมมุติข้างต้น

ต่าง ๆ นานาข้างต้นนี้คือข้อสมมุติส่วนหนึ่ง และข้อเท็จจริงอีกส่วนหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นจริงของการนำเข้าจากจีน
ปัญหาทุกปัญหาย่อมมีทางออกเสมอ
ผู้นำเข้าของไทยที่มีประสบการณ์เรื่องเหล่านี้สามารถหลีกเลี่ยงได้ และสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้การนำเข้าเป็นไปอย่างถูกกฎหมายในราคาที่เหมาะสม
วิธีการที่ 1 คือ ผู้นำเข้าขอซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในราคา F.O.B. (Free On Board) ซึ่งเป็นราคาสินค้าที่ผู้ผลิตของจีนต้องหาใบอนุญาตส่งออก และขนย้ายภายในประเทศมาขึ้นเรือสินค้าที่ท่าเรือต้นทางเอง
วิธีการนี้ ผู้นำเข้าของไทยก็สามารถเลือกคุณภาพเรือบรรทุกสินค้าและตัวแทนประกันภัยเอง เลือกท่าเรือนำเข้า และเลือกความสะดวกสบาย ณ ท่าเรือนำเข้าได้เอง
ด้วยวิธีการนี้ ผู้นำเข้าย่อมต้องมีประสบการณ์ มีความรู้ในการจัดเรือ มีความสามารถในการตรวจสอบเอกสารและใบ C/O Form E ให้ถูกต้องกับศุลกากรไทย
แต่หากผู้นำเข้ายังใหม่อยู่ หรือขาดความรู้ ผู้นำเข้าก็สามารถเลือกใช้วิธีการที่ 2 แทน
วิธีการที่ 2 คือ ผู้นำเข้าขอซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในราคา EXW (Ex-Works) หรือราคาหน้าโรงงาน แล้วมอบหมายให้ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศที่ผู้นำเข้าเชื่อถือและมีสำนักงานอยู่ในประเทศไทยเป็นผู้จัดการรับสินค้าและเคลื่อนย้ายมายังมือผู้นำเข้าในประเทศไทย
ด้วยวิธีการนี้ ผู้นำเข้าตัดปัญหาที่ผู้ผลิตไม่มีใบอนุญาติและไม่มีความรู้ด้านส่งออก ตัดปัญหาด้านการจัดระวางเรือสินค้า ตัดปัญหาด้านการตรวจเอกสารและใบ C/O Form E ให้ถูกต้องกับศุลกากรไทย และตัดปัญหาต้นทุุนที่ควบคุมไม่ได้ออกไป
ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศที่ผู้นำเข้าเชื่อถือจะจัดการรวบรวบ จัดเก็บ เคลื่อนย้าย และกระจายสินค้า (Logistics Activities) ตั้งแต่ต้นทางมาถึงมือผู้นำเข้าในประเทศไทย
ผู้นำเข้าได้ความสะดวก ได้ต้นทุนที่ควบคุมได้ และได้การนำเข้าอย่างถูกกฎหมาย
การนำเข้าจากจีนอาจมีปัญหาตามข้อสนทนาข้างต้นก็อาจจะใช่ แต่ก็ไม่เสมอไป
การนำเข้าจากจีนทางรถยนต์แบบเหมาจ่ายค่าขนส่งรวมภาษีเป็นกิโลกรัมอาจมีอยู่จริง แต่ผิดกฎหมาย
ปัญหาทั้งหมดนี้สามารถหลีกเลี่ยงเพื่อการนำเข้าจากจีนให้สะดวกและเป็นไปอย่างถูกกฎหมายได้ตามข้อแนะนำ 2 ประการข้างต้น มันขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้นำเข้าเท่านั้น

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - S.N.P. GROUP

Logistics

อิหร่านกำหนดเงื่อนไขการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศ

รัฐบาลอิหร่านได้ประกาศเงื่อนไขการนำเข้าสับปะรด กล้วย และมะม่วง ซึ่งเป็นผลไม้นำเข้าจากต่างประเทศ 3 ใน 4 รายการที่มีการอนุญาตให้นำเข้าได้ เนื่องจากไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ (อีก 1 รายการ คือ มะพร้าว) โดยเงื่อนไขการนำเข้าใหม่นี้กำหนดให้ผู้นำเข้าอิหร่านสามารถนำเข้าได้ในสัดส่วนเดียวกับการส่งออกแอปเปิ้ลของอิหร่านไปยังตลาดนำเข้านั้นๆ หรืออีกนัยหนึ่งคือ ผู้นำเข้าจะนำเข้าผลไม้ข้างต้นได้ก็ต่อเมื่อมีการแลกเปลี่ยนการส่งออกแอปเปิ้ลอิหร่านไปยังประเทศนำเข้าในปริมาณที่เท่าเทียมกัน โดยกฎระเบียบดังกล่าวจะมีผลบังคับทันทีและสิ้นสุดลงในวันสิ้นปีงบประมาณปัจจุบัน (20 มีนาคม 2563)

ปัจจุบันอิหร่านสามารถผลิตแอปเปิ้ลได้ปริมาณ 4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 36 เมื่อเทียบกับผลผลิตในปีที่ผ่านมา จึงส่งผลให้มีปริมาณผลผลิตแอปเปิ้ลเกินความต้องการของตลาดภายในประเทศ ดังนั้นรัฐบาลอิหร่านจึงได้ออกกฎระเบียบดังกล่าวเพื่อคุ้มครองเกษตรกร และรักษาสมดุลของผลผลิตทางการเกษตรภายในประเทศ รวมถึงเป็นความพยายามในการระบายแอบเปิ้ลที่ล้นตลาด ซึ่งมีปริมาณกว่า 1.5 ล้านตันไปยังต่างประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหารายได้เพื่อชดเชยการสูญเสียรายได้จากการส่งออกน้ำมันดิบ

ทั้งนี้ ผลไม้ประเภทสับปะรด กล้วย และมะม่วง ถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยในอิหร่าน (LUXURY) เนื่องจากในวัฒนธรรมของชาวอิหร่าน (วัฒนธรรมสมัยใหม่ที่ปลูกฝังโดยคณะผู้ปกครองหลังการปฎิวัติอิสลามในปี 1979 เป็นต้นมา) สินค้าใดๆก็ตามที่ไม่สามารถผลิตเองได้ในประเทศจนถึงขั้นต้องนำเข้าจากต่างประเทศถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยทั้งสิ้น และไม่มีความจำเป็นพื้นฐานแต่ประการใด ถึงแม้สินค้านั้นๆ จะเป็นที่นิยมของผู้บริโภคและมีราคาไม่แพงก็ตาม

นอกเหนือจากผลไม้ประเภทสับปะรด กล้วย มะพร้าว มะม่วง ที่มีการอนุญาตนำเข้าและวางขายในตลาดอิหร่านแล้ว ผลไม้ชนิดอื่นๆ ที่มีศักยภาพในการส่งออกของไทย เช่น มังคุด เงาะ ลำไย ถือเป็นผลไม้ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในกลุ่มผู้บริโภคชาวอิหร่านเท่าใดนัก ยกเว้นนักท่องเที่ยวที่เคยเดินทางออกนอกประเทศและเดินทางมาเที่ยวประเทศ ไทยเท่านั้น อย่างไรก็ตามจากการสำรวจตลาดห้างสรรพสินค้าระดับไฮเอนด์พบว่ามีการลักลอบนำเข้าผลไม้ของไทยประเภทดังกล่าวบ้างแล้ว ซึ่งมีราคาแพงและหาซื้อได้ในร้านค้าที่เป็นถิ่นพำนักอาศัยของคนรวยเท่านั้น

จากสถิติพบว่า อิหร่านนำเข้าผลไม้สดจากประเทศฟิลิปปินส์ อินเดีย ปากีสถาน และเอกวาดอร์ เป็นหลัก โดยมีการนำเข้าผลไม้สดจากไทยบ้าง แต่ในปริมาณที่ค่อนข้างน้อย ทั้งนี้ ผลไม้ที่อิหร่านนำเข้าจากไทยส่วนใหญ่จะเป็นผลไม้ที่อยู่ในรูปผลิตภัณฑ์แปร รูป เช่น มะม่วงอบแห้ง สับปะรดอบแห้ง สับปะรดกระป๋อง สับปะรดแช่แข็ง มะละกอแห้ง มะพร้าวแห้ง หรืออยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม เช่น น้ำมะม่วงกระป๋อง น้ำสับปะรดกระป๋อง น้ำผลไม้เข้มข้น สารเติมแต่งรสผลไม้เมืองร้อน เป็นต้น ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปดังกล่าวของไทยค่อนได้รับความนิยมและได้เปรียบคู่แข่งในด้านคุณภาพ ซึ่งอาจเป็นเพราะไทยมีความเชี่ยวชาญในการผลิต มีบรรจุภัณฑ์ที่มีรูปร่างแปลกตา สีสันสดใส รวมทั้งความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และคุณภาพที่เป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภค ทำให้ไทยสามารถผูกขาดตลาดสินค้าผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปในอิหร่านได้หลากหลายรายการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสับปะรดกระป๋องและน้ำมะม่วงกระป๋อง

ที่มา : https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/577732/577732.pdf&title=577732&cate=413&d=0

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.