CEO ARTICLE

แรงงานต่างแดน


Follow Us :

    

สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสเดินทางไปเกาหลีใต้เพื่อพักผ่อนกับครอบครัวโดยซื้อบริการของทัวร์ให้เป็นผู้นำเที่ยวเหมือนคนทั่ว ๆ ไป

พอผ่านด่าน ต.ม. ของเกาหลีใต้ออกมาทำให้ทราบว่า มีคนไม่สามารถผ่านได้จำนวนหนึ่งและได้รับการบอกเล่าว่า คณะทัวร์อื่น ๆ มักมีนักท่องเที่ยวไทยหนีทัวร์เพื่อลักลอบทำงานที่นั่นอยู่เนือง ๆ อย่างผิดกฎหมาย

สิ่งนี้แม้จะยืนยันไม่ได้ว่าเศรษฐกิจไทยดีหรือไม่ดี แต่คนไทยส่วนหนึ่งก็พยายามหางานในต่างประเทศทำทั้งที่ถูกและผิดกฎหมาย

ระหว่างท่องเที่ยว แน่นอนว่าคณะทัวร์ต้องพาไปเยี่ยมชมร้านค้าต่าง ๆ เพื่อซื้อสินค้า ผมยังพบแรงงานไทยในร้านค้าต่าง ๆ อีก 2-3 คน มีโอกาสพูดคุยกันทำให้ได้สัมผัสความรู้สึกแรงงานต่างแดนมากขึ้น

แรงงานที่พูดคุยด้วยเหล่านี้เข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมายภายใต้การจัดการของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน

แต่ละคนสามารถทำรายได้เฉลี่ยเดือนละ 1 แสนบาท อาจจะมากหรือน้อยกว่านี้ก็ได้ขึ้นอยู่กับลักษณะของงาน

สิ่งที่ได้รับฟังคือ แรงงานไทยส่วนใหญ่ตอนมาใหม่ ๆ มักถูกนายจ้างเอาเปรียบ เมื่ออดทนผ่านไประยะหนึ่งและทุกอย่างลงตัวก็จะมีเงินเหลือเก็บและส่งกลับประเทศไทย

หากแรงงานไทยกินอยู่อย่างประหยัด รายได้เกือบทั้งหมดจะเก็บเป็นส่วนใหญ่และส่งให้ครอบครัวในประเทศไทยยกเว้นคนที่ชอบดื่น กิน เที่ยว อาจเหลือเก็บน้อยกว่า

ผมคำนวณตัวเลขคร่าว ๆ สมมุติเฉลี่ยรายได้ของแรงงานไทยในเกาหลีใต้คนหนึ่งอยู่ที่ 1 แสนบาท หากมีแรงงาน 100,000 คนและส่งเงินกลับบ้านเดือนละ 2 หมื่นบาท เดือนหนึ่งก็จะมีเงินจากเกาหลีใต้เข้าประเทศถึง 2,000 ล้านบาท หรือปีหนึ่ง 24,000 ล้านบาท

นี่คือตัวเลขสมมุติแบบประมาณการณ์โดยยังไม่ได้ตรวจสอบ และหากรวมทุก ๆ ประเทศทั่วโลก เงินที่เข้ามาจุนเจือเศรษฐกิจของไทยจากแรงงานต่างแดนน่าจะมากกว่านี้หลายเท่า

ในช่วงเศรษฐกิจไทยไม่ชัดเจน บางคนว่าดีแล้ว บางคนว่าไม่ค่อยดีแบบนี้ งานในประเทศก็หายาก คนว่างงานมีอยู่มากและส่วนหนึ่งก็ยากไปทำงานต่างประเทศ บางคนก็ขวนขวายไปเองจนถูกหลอกไปทำงานผิดกฎหมายก็มาก

แน่นอนว่ากรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานมีการให้บริการช่วยหางานให้ แต่หากจะมีการประชาสัมพันธ์ให้มากกว่านี้ เชื่อว่าคงมีแรงงานไทยที่อยากไปทำงานช่วยเหลือครอบครัวและเศรษฐกิจของประเทศอีกมาก

แต่จากการตรวจสอบใน https://prachatai.com/journal/2018/05/76982 พบเพียงข้อมูลของกรมจัดหางานตั้งเป้าปี 63 นี้จะส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศราว 100,000 คน

ด้านหนึ่งเข้าใจว่าเป็นข่าวดีที่กรมการจัดหางานตั้งเป้าหมายไว้ มีระบบงานช่วยเหลือ แต่อีกด้านหนึ่งกลับเข้าใจว่า การประชาสัมพันธ์ในวงกว้างยังไม่มากพอ การรับรู้ยังไม่ทั่วถึง ในที่สุดก็เห็นข่าวแรงงานไทยที่ขวนขวายไปทำงานเองแล้วถูกหลอกจึงยังมีอยู่มาก

หากกรมการจัดหางานจะมีแผนงานเชิงรุกส่งเสริมแรงงานไทยให้มีงานทำในต่างประเทศ เชื่อว่าปัญหาการว่างงานและเศรษฐกิจคงขยับขึ้นบ้าง

ยิ่งเมื่อตรวจสอบใน https://prachatai.com/journal/2018/05/76982 ก็พบตัวเลขในปี 2561 มีแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศรวม 4 แสนคน และมีเงินเข้าประเทศกว่า 1.2 แสนล้านบาท

เงินเข้าประเทศไทยปีละ 1.2 แสนล้านบาท มากมายมหาศาล กระทรวงแรงงานโดยกรมการจัดหางาน และกรมคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศจึงน่าจะมีบทบาทให้มากกว่านี้

อย่างน้อย การประชาสัมพันธ์ควรมากกว่านี้ทั้งภายในสถาบันศึกษาและสื่อในโซเซียลต่าง ๆ ให้แพร่หลายให้มากกว่านี้ด้วยแผนงานเชิงรุกที่ยึดแรงงานให้เป็นศูนย์กลาง

กรมการจัดหางานและกรมคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ ควรร่วมกันแบบบูรณาการตั้งแต่เยี่ยมชมธุรกิจที่ต้องการจ้างแรงงานไทยล่วงหน้า เข้าไปดูแลความเป็นอยู่แรงงานไทยด้วยแผนเชิงรุกให้ชัดเจน

ยิ่งไปกว่านั้น การเชื่อมต่อสื่อสารกับแรงงานไทยทางโซเซียลควรมีรูปแบบที่กว้างขึ้น มากขึ้น ให้เหมือนกับว่า แรงงานไทยในต่างแดนอยู่ใกล้กรมคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศจริง ๆ

หากทำอย่างนี้ได้ ความอบอุ่นในต่างแดนก็น่าจะดีขึ้น การหลอกลวงแรงงานก็น่าจะลดลง การว่างงานในประเทศก็น่าจะลดลง เงินที่ไหลเข้าประเทศก็น่าจะมากขึ้น และเศรษฐกิจภายในประเทศก็น่าผ่อนคลายขึ้นได้พอสมควร

แรงงานไทยในต่างแดนจึงมีความสำคัญต่อครอบครัวของเขาและต่อประเทศไทยอย่างจริง ๆ

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - S.N.P. GROUP

Logistics

กระแส “ฉลองตรุษจีนนอกภูมิลำเนา” ดันคุนหมิง ขึ้นแถวหน้าเมืองจุดหมายปลายทางและเมืองต้นทางในช่วงตรุษจีน

สถิติการสำรวจพฤติกรรมการเดินทางช่วงเทศกาลตรุษจีนของชาวจีนโดย Ctrip.com และ Qunar.com รายงานว่า “การเดินทางช่วงตรุษจีนแบบกลับด้าน” โดยให้พ่อแม่หรือบุตรเดินทางจากภูมิลำเนาเดิมมาร่วมฉลองเทศกาลตรุษจีนในเมืองที่ตนเองทำงาน แทนที่ตนเองจะเดินทางกลับไปฉลองเทศกาลตรุษจีนที่ภูมิลำเนาเดิม และ “การฉลองตรุษจีนนอกภูมิลำเนา” โดยพาสมาชิกในครอบครัวไปฉลองเทศกาลตรุษจีนในแหล่งท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ แทนการฉลองเทศกาลตรุษจีนที่ภูมิลำเนาเดิม กำลังเป็นกระแสนิยมในหมู่คนจีนรุ่นใหม่ในปี 2563 ในฐานะที่นครคุนหมิงเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลตรุษจีนมาแต่เดิมอยู่แล้ว จึงยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่องในปี 2563 นอกจากนี้ นครคุนหมิงยังติด 10 อันดับแรกของเมืองต้นทางการเดินทางในช่วงเทศกาลตรุษจีนอีกด้วย

เนื่องจากบัตรโดยสารเครื่องบินเพื่อกลับภูมิลำเนาเดิมในช่วงเทศกาลตรุษจีนมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ คนจีนรุ่นใหม่จึงเลือกที่จะให้พ่อแม่หรือบุตรเดินทางจากภูมิลำเนาเดิมมาร่วมฉลองเทศกาลตรุษจีนในเมืองที่ตนเองทำงาน โดย Ctrip.com ประเมินว่า ในปี 2563 กระแส “การเดินทางช่วงตรุษจีนแบบกลับด้าน” ยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่องจากปี 2562 เพราะเป็นทางเลือกใหม่ของกลุ่มคนจีนที่อยู่ในวัยทำงานในช่วงอายุ 29-39 ปีในการฉลองเทศกาลตรุษจีนร่วมกับครอบครัว โดยเซี่ยงไฮ้ กว่างโจว ปักกิ่ง เซินเจิ้น คุนหมิง เฉิงตู หางโจว ซีอาน ฉงชิ่ง และหนานจิง เป็นจุดหมายปลายทาง 10 อันดับแรกของ “การเดินทางช่วงตรุษจีนแบบกลับด้าน” โดยเฉพาะเซี่ยงไฮ้
คุนหมิง หางโจว ซีอาน และหนานจิง ที่มีปริมาณการสำรองบัตรโดยสารเครื่องบินเพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่า 1 เท่าตัว

นอกจากนี้ สถิติของ Qunar.com ยังพบว่า ผู้โดยสารร้อยละ 40 เลือกที่จะไปฉลองเทศกาลตรุษจีนในต่างพื้นที่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 10 ทั้งนี้ ด้วยกระแสความนิยม “การฉลองตรุษจีนนอกภูมิลำเนา” ที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีผู้สูงอายุและเด็กเดินทางเพิ่มขึ้นมาก โดยในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2563 มีผู้โดยสารที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 19 ในจำนวนนี้ ผู้โดยสารสูงอายุที่เดินทางโดยลำพังมีจำนวนเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 10 ขณะเดียวกัน ผู้โดยสารที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปีมีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 27

นครคุนหมิงเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลตรุษจีนมาแต่เดิมอยู่แล้ว และยังคงได้รับความนิยมอยู่ใน 10 อันดับแรกของจุดหมายปลายทางในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2563 โดยเฉพาะในกลุ่มเมืองที่เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของผู้โดยสารที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป พบว่า นครคุนหมิงอยู่ในอันดับ 5 รองจากเซี่ยงไฮ้ ซานย่า ไหโข่ว และกว่างโจว ทำให้นครคุนหมิงเป็นเมืองจุดหมายปลายทางในภาคกลางและภาคตะวันตกที่ได้รับความนิยมมากที่สุด

ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว และเซินเจิ้น เป็นกลุ่มเมืองขนาดใหญ่ที่มีประชากรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเมืองต้นทางการเดินทางในช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยคาดว่า ผู้โดยสารที่มีต้นทางจากเซี่ยงไฮ้จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเกือบร้อยละ 60 โดยมีจุดหมายปลายทางที่คุนหมิง ฮาร์บิน และกว่างโจว ขณะที่ผู้โดยสารที่มีต้นทางจากปักกิ่งและเซินเจิ้น มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่มณฑลยูนนาน กวางตุ้ง และไหหลำ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน เมืองในภาคตะวันตกของจีนหลายเมืองก็ได้กลายเป็นเมืองต้นทางการเดินทางในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2562 โดยนครคุนหมิงอยู่ในอันดับ 6

จากสถิติข้างต้น พบว่า คนจีนรุ่นใหม่ที่อยู่ในวัยทำงานในช่วงอายุ 29-39 ปี ได้เดินทางออกไปทำงานนอกภูมิลำเนาเดิมเป็นจำนวนมาก และเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ เมื่อถึงเทศกาลตรุษจีน ก็เลือกที่จะให้พ่อแม่หรือบุตรเดินทางจากภูมิลำเนาเดิมมาร่วมฉลองเทศกาลตรุษจีนในเมืองที่ตนเองทำงาน แทนที่ตนเองจะเดินทางกลับไปฉลองเทศกาลตรุษจีนที่ภูมิลำเนาเดิม หรือเลือกที่จะพาสมาชิกในครอบครัวไปฉลองเทศกาลตรุษจีนในเมืองอื่นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ แทนการฉลองเทศกาลตรุษจีนที่ภูมิลำเนาเดิม สะท้อนว่า คนจีนยังให้ความสำคัญกับเทศกาลตรุษจีน แต่มีรูปแบบการฉลองที่เปลี่ยนไป โดยนิยมให้พ่อแม่เดินทางมาเที่ยวเปิดหูเปิดตาหรือนิยมเดินทางออกไปท่องเที่ยวต่างเมืองทั้งครอบครัว อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว บวกกับเงินหยวนมีทิศทางอ่อนค่า อาจส่งผลให้ชาวจีน ส่วนหนึ่งเลือกเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ แทนการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นจากปัจจัยเงินหยวนอ่อนค่า

ที่มา : https://thaibizchina.com/#section-1

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.