CEO ARTICLE

วิกฤติโคโรนา


Follow Us :

    

องค์การอนามัยโลกยกระดับ “ไวรัสโคโรนา” เป็น “ภาวะฉุกเฉินโลก”

วิกฤติโคโรนาที่เริ่มจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนก่อนเทศกาลตรุษจีน 2563 ที่ผ่านมาจนจีนต้องสั่งปิดเมือง ปิดท่าขนส่งทางบกและทางเรือหลายเมือง งดการฉลองเทศกาลตรุษจีน ล่าสุดก็ถูกยกระดับให้เป็น “ภาวะฉุกเฉินโลก” ตามการประกาศข้างต้น (http://businesstoday.co)

โลจิสติกส์โลกและเศรษฐกิจทั่วโลกในปี 2563 ถูกกระทบแน่ แล้วมีหรือไทยจะรอด ???

“Turning Crisis into Opportunity” หมายถึง การพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส คนไทยส่วนใหญ่ก็อยากให้รัฐบาลไทยพลิกวิกฤตินี้ให้เป็นโอกาสบ้าง

ช่วงเริ่มต้นของวิกฤติ รัฐบาลไทยถูก Fake News โจมตีในประเด็นการเข้าไปรับคนไทยที่ติดอยู่ในจีนล่าช้า แม้จะไม่จริงแต่ในเวลานั้น ใครไม่โดนกับตัวก็คงไม่รู้หรอกว่า ความล่าช้าเกิดขึ้นได้อย่างไร กระทั่งผมและทีมงาน SNP มาโดนโดยประสบการณ์ตรงด้วยตนเอง

สัปดาห์หลังตรุษจีน SNP บริษัทเอกชนของไทยด้าน International Logistics ที่ผมดูแลได้รับการติดต่อจากมูลนิธิ Guangxi Cassiey Charity Foundation ของจีนให้ช่วยเคลื่อนย้ายหน้ากากอนามัยจำนวนมากจากไทยไปจีนทางเครื่องบินอย่างเร่งด่วนที่สุด

นโยบายที่ SNP ทำมานานคือ หากเป็นเรื่องการกุศล ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ไม่ใช่การค้าอย่างครั้งนี้ ในส่วนของต้นทุนและการบริการของ SNP ทั้งหมดเราจะบริการให้ฟรี

ครั้งนี้ก็เช่นกัน แต่ด้วยข่าวสารข้อมูลที่ติดตามทำให้ทราบว่า เวลานั้นเครื่องบินยากที่ลงจอดได้ง่าย ๆ ไม่ว่าจะเป็นสนามบินไกล้เคียงเมืองอู่ฮั่นก็ตาม

ทีมงาน SNP ประสานกับตัวแทนของสายการบิน China Southern Airline เพื่อลงที่ Nan Ning Airport ด้วยคิดว่าเป็นสายการบินจีนที่ได้ตารางลงจอดชัดเจนแล้ว

แม้เวลาทำงานจำกัด และความกังวลด้านเอกสารเวชภัณฑ์เกี่ยวกับหน้ากากอนามัย แต่ทุกคนก็คาดว่าน่าจะได้รับความสะดวกในภาวะวิกฤติเช่นนี้

แต่เปล่า ผลกลับออกมาในทางตรงข้าม !!!

เอกสารที่จำเป็น เช่น ใบขึ้นทะเบียนโรงงาน ใบรับรองการเป็นเวชภัณฑ์ และใบรับรองผลการวิเคราะห์ (Manufacturing Lincense Agrement – MLA, Regustration Certificate for Medical Device, and Report for Detecting and Analyzing or Test Report) กลายเป็นประเด็นที่จำเป็นขึ้นมา

ทีมงาน SNP ได้รับแจ้งให้รอการยืนยันจนเวลาล่วงเลยความเร่งด่วนไป ในที่สุดตัวแทนมูลนิธิในจีนทนไม่ไหว ใช้เส้นสายที่เริ่มจากจีนเปลี่ยนสายการบินใหม่เป็น Guangxi Beibu Gulf Airline ที่มีตารางลงจอดในสนามบิน Guangxi Airport เริ่มประสานงานจากส่วนราชการที่จีนและตีกลับมาฝั่งไทย

ไม่น่าเชื่อว่า การประสานงานที่เริ่มจากจีนจะง่ายดายกว่าการเริ่มต้นจากฝั่งไทย

เพียงเวลาสั้น ๆ หน้ากากอนามัยชุดแรกถูกส่งไป แม้เครื่องบินจะลงจอดเวลา 03.00 น. แต่ก็สามารถนำออกไปมอบให้โรงพยาบาลที่ขาดแคลนได้ในเช้าตรู่วันนั้นอย่างเร่งด่วน

จากนั้น ด้วยการประสานที่เริ่มจากฝั่งจีนเหมือนเดิม ทีมงาน SNP ฝั่งไทยก็ดำเนินการเคลื่อนย้ายหน้ากากอนามัยต่อ ๆ ไปอีกหลายเที่ยวบิน

ความสำเร็จครั้งนี้ แม้ไม่ได้เริ่มจากฝั่งไทย แต่ประสบการณ์ตรงในครั้งนี้ทำให้ผมรู้ว่า จีนมีความเข้มงวดกับวิกฤติโคโรนาครั้งนี้มาก หากไม่มั่นใจก็จะไม่ยินยอมอะไรง่าย ๆ

สิ่งนี้ทำให้ผมพอจะเข้าใจว่า ทำไมการช่วยเหลือคนไทยที่ติดอยู่ทางฝั่งจีนจึงลำบาก ไม่ถูกใจคนไทยจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะคอการเมืองจนรัฐบาลต้องชี้แจงเป็นพัลวัน

แม้เรื่องการช่วยเหลือคนไทยของรัฐบาลไทยจะพออธิบายและเข้าใจได้ แต่วิกฤติโคโรนาที่เริ่มจากจีนในครั้งนี้กลับสร้างวิกฤติให้กับประเทศไทยและคนไทยอย่างเป็นห่วงโซ่

ใคร ๆ ก็ทราบว่า ในปี 2562 ค่าเงินบาทแข็งมากเกินไป การส่งออกประเทศไทยติดลบ และการท่องเที่ยวไม่ดีนัก

ก่อนหน้าวิกฤติโคโรนา นักท่องเที่ยวจีนไปเที่ยวญี่ปุ่นเป็นลำดับแรก ส่วนไทยก็พยายามง้อจีนให้มาเที่ยวมากขึ้น แต่พอเกิดไวรัส คนไทยกลุ่มหนึ่งก็แสดงท่าทีรังเกียจนักท่องเที่ยวจีน

การแสดงท่าทีรังเกียจเป็นการปกป้องตนเอง คนไทยกลัวโคโรนาไวรัสเป็นเรื่องพอเข้าใจได้ และวิกฤติครั้งนี้กระทบต่อการท่องเที่ยวก็พอมองออก แต่ขณะเดียกัน รัฐบาลก็ควรก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสร้างโอกาสในวิกฤตินี้ มิใช่ปล่อยให้ความรู้สึกถูกรังเกียจเกิดขึ้นต่อจีนด้านเดียว

ในอีกด้าน รัฐบาลไทยสามารถระดมคนมีชื่อเสียง จัดรายการทีวีปลอบขวัญชาวไทยและจีน พิธีกรพูดทั้ง 2 ภาษา เปิดสายรับบริจาคทั้งเงินและสิ่งของ จะทำรายการกี่วันก็พิจารณาได้

วันนี้ รัฐบาลจีนและชาวจีนแข็งแกร่งพอ ไม่ได้ต้องการเงิน แต่ต้องการหน้ากากอนามัย เวชภัณฑ์ และมิตรภาพที่แสดงออกทางน้ำใจให้เห็นความเป็น “บ้านพี่เมืองน้อง” อย่างจริงใจ

ด้านหนึ่ง ความรู้สึกของคนจีนนักท่องเที่ยวจีนก็น่าจะดีขึ้น อีกด้านหนึ่ง คนไทยกลุ่มที่แสดงท่าทีรังเกียจนักท่องเที่ยวจีนก็น่าจะเข้าใจมากขึ้นว่า ยามต้องการพี่จีน น้องไทยก็เรียกร้องพี่จีนให้มาเที่ยว แต่ยามรังเกียจก็แสดงได้อย่างออกหน้าออกตา

ด้วยท่าทีที่ชัดเจนของรัฐบาลไทยนี้ ดีกรีความรังเกียจก็น่าจะลดลงบ้าง

ญี่ปุ่นฉวยโอกาสในวิกฤติส่งหน้ากากอนามัย และเวชภัณฑ์ไปช่วยเหลือในเที่ยวบินแรกพร้อมรับคนญี่ปุ่นกลับบ้านแล้ว … แล้วไทยล่ะ ทำไมไม่สร้างโอกาสท่ามกลางวิกฤติบ้าง

สัปดาห์นี้ จีนค่อย ๆ เปิดสนามบิน อนุญาตให้เที่ยวบินพาณิชย์ไปลงจอดมากขึ้น ความช่วยเหลือจากองค์กรเอกชนก็ค่อย ๆ ทะยอยแสดงเจตจำนงค์เข้าช่วยเหลือมากขึ้น

มิตรภาพระหว่างไทยจีนไม่เสื่อมคลาย แต่รัฐบาลไทยยังแสดงท่าทีน้อยเกินไป ช้าเกินไป ในขณะที่บ้านพี่อย่างจีนมีปัญหา

เมืองน้องอย่างไทยก็ควรแสดงน้ำใจให้มากกว่านี้

นักวิชาการจำนวนมากต่างต่อว่ารัฐบาลที่อ่อนการตลาด อ่อนประชาสัมพันธ์ ถูก Fake News โจมตีไม่เว้นแต่ละวัน นั่นเป็นผลกรรมที่รัฐบาลควรรับจากความอ่อนในด้านดังกล่าว

แต่การที่รัฐบาลแสดงท่าทีน้อยเกินไป ช้าเกินไป อ่อนการตลาด อ่อนการสร้างมิตรภาพในยามวิกฤติจนน่าจะพาประเทศไทยให้ได้รับผลกระทบมากขึ้น กลับเป็นเรื่องไม่สมควร

วันนี้ รัฐบาลมีรัฐมนตรีจากภาคธุรกิจไม่น้อย มีนักบริหารมืออาชีพก็ไม่น้อย การบริหารเชิงรุกท่ามกลางวิกฤติโคโรนาก็มีทางเลือกมากมาย และก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็น รัฐบาลจึงควรเป็นผู้เริ่มต้นโดยเร็วโดยไม่ปล่อยตนเองให้เป็นฝ่ายตั้งรับอยู่เรื่อยไป

ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ผมจึงหวังว่า บทความนี้น่าจะถึงรัฐบาลบ้าง

โคโรนาคือวิกฤติแล้ว ทุกวิกฤติย่อมมีโอกาสซ่อนอยู่ รัฐบาลจึงควรทำอะไรบางอย่างในวิกฤตินี้เพื่อส่งเสริมมิตรภาพไทยจีนมิให้ถอยลง เพื่อให้อนาคตการท่องเที่ยวของไทยไม่ถอยตามไปมากกว่านี้

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - S.N.P. GROUP

Logistics

ฮ่องกงขาดแคลนหน้ากากอนามัยอย่างหนัก

นาย Cheung รองประธานของ Hong Kong General Chamber of Pharmacy Limited ได้กล่าวว่า ในขณะนี้หน้ากากอนามัยกำลังขาดแคลนอย่างหนัก ไม่เพียงพอกับความต้องการในการบริโภคของประชาชนในฮ่องกง โดยหน้ากากบางส่วนในตลาดที่มีตอนนี้มาจากประเทศไทย โดยทางหอการค้าคาดว่าหน้ากากอนามัยที่สั่งนำเข้าฮ่องกงชุดต่อไปน่าจะมาถึงฮ่องกงภายวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 63 นาย Cheung ได้ร่วมประชุมกับ นาย Edward Yau Tang-wah รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และการพัฒนาเศรษฐกิจฮ่องกง และพบว่าหลายประเทศได้ปรับข้อจำกัดในการส่งออกหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ใต้หวัน และสิงคโปร์ แต่ยังสามารถจัดซื้อได้จากประเทศไทย และเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลฮ่องกงได้ประสานงานกับนาย Cheung เพื่อจัดให้มีหน้ากากอนามัยใช้อย่างเพียงพอแก่ประชาชนในฮ่องกง รวมถึงเพียงพอต่อความต้องการจากทีมแพทย์ และพยาบาลในโรงพยาบาลรัฐบาลทั่วฮ่องกง

ข้อคิดเห็น/เสนอแนะ
1. ฮ่องกงได้ยืนยันการผู้ป่วยชาวจีนที่ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2 รายแรกในวันพุธที่ 22 ม.ค. 63 และหลังจากนาง Carrie Lam ผู้บริหารสูงสุดเขตปกครองพิเศษฮ่องกงและคณะรัฐบาลประกาศยกระดับโคโรน่าไวรัสเป็นสถานการณ์สูงสุดเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 63 ประชาชนตื่นตัว และได้หาซื้อหน้ากากอนามัยจำนวนมากเพื่อใช้สวมใส่ในที่สาธารณะป้องกันการติดต่อแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า ทำให้หน้ากากอนามัยขาดแคลนอย่างหนักทุกที่ในฮ่องกง
2. หน้ากากอนามัยที่มีขายในขณะนี้มาจากประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ และมีบางส่วนจากเวียดนาม โดยก่อนหน้านี้มีประชาชนจำนวนมากได้เข้าแถวเพื่อรอซื้อหน้ากากอนามัยจากร้าน AbouThai ซึ่งเป็นร้านขายของทุกชนิดจากไทย โดยมีสาขาทั้งหมดกว่า 16 สาขาในฮ่องกง และมีเจ้าของผู้ประกอบการเป็นคนไทย
3. ขณะนี้เป็นโอกาสอันดีที่ผู้ประกอบการด้านผลิตภัณฑ์หน้ากาก อุปกรณ์ฆ่าเชื้อ อุปกรณ์อนามัย จะเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อส่งออก และจัดจำหน่ายมายังฮ่องกง และจีน ซึ่งคาดว่าจะยังเป็นที่ต้องการอีกอย่างน้อยกว่า 3 เดือน

ที่มา : https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/583136/583136.pdf&title=583136&cate=413&d=0

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.