CEO ARTICLE

สติคนไทย


Follow Us :

    

กต. เตือนคนไทยให้ออกจากจีน

ก่อนที่จะไม่มีเที่ยวบินให้กลับ

ไทยรัฐฉบับวันเสาร์ที่ 22 ก.พ. 63 หน้า 5 โดยคุณลมเปลี่ยนทิศให้หัวข้อข่าวข้างต้นพร้อมกับข้อมูลที่ว่า

“ล่าสุดวันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ มีสายการบินจากทั่วโลก 73 สายการบินที่ยกเลิกเที่ยวบินไปยังจีนทั้งประเภทยกเลิกทุกเที่ยวบินและยกเลิกบางเที่ยวบิน และยังมีการยกเลิกเที่ยวบินเพิ่มขึ้นอีกจากกำหนดเดิม”
ประเทศจีนเป็นต้นตอของไวรัสโคโรน่า หรือโควิด-19 และมีจำนวนผู้ติดเชื้อค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเกือบแสนรายจนสายการบินจากทั่วโลกต่างทะยอยยกเลิกเที่ยวบินเข้าประเทศจีนดังกล่าว

หลายปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า จีนเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ที่ส่งสินค้าทั้งอุปโภคบริโภคออกไปจำหน่ายเกือบทุกประเทศทั่วโลก

การยกเลิกเที่ยวบินมากมาย การปิดเมือง และการปิดที่ทำการบางแห่งนอกจากจะส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนจีนเองแล้ว การขนส่ง โลจิสติกส์ และการท่องเที่ยวทั่วโลกย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วย

ตัวเลขที่เป็นข่าวของญี่ปุ่นแจ้งว่า เฉพาะเดือน ม.ค. – มี.ค. 63 การท่องเที่ยวของญี่ปุ่นต้องสูญรายได้จากการท่องเที่ยวไปถึง 40,000 ล้านบาท

ขณะที่ประเทศไทย ท.ท.ช. (คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ) ได้แถลงตัวเลขที่ไทยจะสูญเสียจากการท่องเที่ยวช่วงครึ่งปีสูงถึง 3 แสนล้านบาท แต่หากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น การสูญเสียก็อาจน้อยลง (https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/864838)

ใคร ๆ ต่างก็รู้ว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยแม้จะมีเครื่องยนต์หลายตัวแต่ที่เป็นที่เชิดหน้าชูตาก็มีเพียง 2 ตัวเท่านั้นคือ “การส่งออก” และ “การท่องเที่ยว”

แล้ววันนี้ เครื่องยนต์การท่องเที่ยวครึ่งปีแรกหายไปถึง 3 แสนล้านบาท อะไรกำลังจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยต่อแต่นี้ไป ???

เงิน 3 แสนล้านในครึ่งปีแรก หากคำนวณเป็นเดือนก็ตกเดือนละประมาณ 50,000 ล้านบาท แน่นอนว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องลดลงมหาศาล

สิ่งที่ตามมาคือธุรกิจที่พัก โรงแรม ทัวร์ ท่องเที่ยว ร้านอาหาร ร้านค้า การขนส่ง โลจิสติกส์ การผลิต และอื่น ๆ ย่อมสูญเสียรายได้ไป 50,000 ล้านบาทต่อเดือน ไม่แต่เพียงเท่านั้น ธุรกิจที่ต่อเนื่องก็ย่อมสูญเสียรายได้ตามไปอีก

เมื่อคนมีรายได้ลดลง ลูกหลานก็มีเงินไปโรงเรียนน้อยลง กำลังซื้อในสถานศึกษาก็ย่อมลดลงนับเป็นวงกว้างกระจายไปทั่วประเทศ

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อธุรกิจขาดรายได้ บางแห่งอาจเกิดการเลิกจ้าง ลดจำนวนคน ลดรายจ่ายก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยมากยิ่งขึ้น

เมื่อเหลียวมาดูเครื่องยนต์อีกตัวคือ “การส่งออก” ก็เป็นที่ทราบว่าตัวเลขการส่งออกลดลงมาหลายเดือนแล้ว ยิ่งเมื่อการท่องเที่ยวที่ลดลง เผลอ ๆ การส่งออกอาจติดลบซึ่งเป็นการซ้ำเติมคนไทยให้หนักมากยิ่งขึ้น

อย่างนี้แล้วคนไทยจะทำอย่างไรดี ???

สถานการณ์เช่นนี้ ทางรอดเดียวของคนไทยคือ สติของคนไทยเท่านั้น สติเป็นอาวุธเดียวที่คนไทยจะผ่านช่วงเวลาเช่นนี้ได้ สติทำให้คนไทยตื่นตัวแต่ไม่ตื่นตระหนก

สติทำให้เกิดความคิด เกิดความรู้ ความเข้าใจ และความร่วมมือ

สติยังทำให้คนส่วนใหญ่ได้คิดว่า อะไรคือฐานที่มั่นแห่งรายได้ของตน

คนที่มีงานทำดีอยู่แล้ว และมีสติจึงควรรักษาประสิทธิภาพงานให้เป็นฐานที่มั่นยิ่งขึ้น บางคนไม่เข้าใจนอกจากจะไม่รักษาฐานที่มั่นแล้ว กลับนำเวลางานไปทำงานอื่น หารายได้อื่นจนงานที่เป็นฐานที่มั่นเดิมขาดประสิทธิภาพ สั่นคลอน และอาจทำให้รายได้หลักหายไป

การรักษาฐานที่มั่นด้วยสติจึงเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในช่วงเวลาเช่นนี้

สติยังทำให้เกิดการพิจารณา ทำให้เห็นว่า อะไรถูก อะไรผิด อะไรควรซื้อควรจ่าย ก็ซื้อก็จ่ายออกไป และสติก็ยังทำให้รู้ว่าในแต่ละเดือนตนควรมี “เงินออม” เท่าไร

ในช่วงวิกฤติที่ต่างคนต่างก็อยากเอาตัวรอด การนำสินค้ามาลดราคาจึงมีให้เห็น หากขาดสติ บางคนเอาเงินออมออกมาซื้อขณะที่บางคนนอกจากไม่มีเงินออมแล้วก็ยังเพิ่มภาระหนี้สินด้วยการซื้อสินค้าลดราคาแบบผ่อนชำระเข้าไปอีก

สิ่งที่เห็นจากวิกฤติโควิด-19 คือ คนไทยมีวินัย คนไทยมีสติป้องกันได้ดีกว่าประเทศอื่นเป็นที่ชื่นชมจากประเทศต่าง ๆ จึงนับว่าสติคนไทยน่าจะพาคนไทยให้รอดจากวิกฤติเศรษฐกิจตามไปด้วย

แต่แล้วอยู่ ๆ วันที่ 21 ก.พ. 63 ศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคอีก 10 ปี จากนั้นสหรัฐและองค์กรต่างประเทศก็ออกแถลงการแสดงความไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยให้เป็นเชื้อ เป็นฟืน เป็นไฟให้เกิดความแตกแยกมากขึ้นอีก

สิ่งที่ตามมาอีกคือ คนไม่รู้กฎหมายวิจารย์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมเหมือนคนรู้กฎหมาย ส่วนคนรู้กฎหมายก็วิจารย์ทำเหมือนคนไม่รู้กฎหมาย

ทั้งคนไม่รู้และคนรู้กฎหมายต่างแสดงความคิดเห็นตอกย้ำความแตกแยกอย่างขาดสติยิ่งขึ้น

มันจึงดูเหมือนว่า สังคมไทยวันนี้ขาดสติจนแยกไม่ออก ใครรู้และใครไม่รู้กฎหมายจริง ๆ ต่างก็แยกความถูกผิดไม่ออก แยกการควรหรือไม่ควรไม่ออก ต่างถกเถียงกันอย่างขาดสติ ในที่สุดก็นำไปสู่การก่อม๊อบในค่ำวันต่อมาท่ามกลางการแพร่กระจายของโควิด-19

นี่มันอะไรกัน ไวรัสทำเศรษฐกิจถดถอย แต่การเมืองกลับซ้ำเติม

ระหว่างสู้กับโควิด-19 คนไทยมีสติร่วมมือกันดี มีวินัย แต่พอเป็นปัญหาการเมือง ไม่มีใครรู้ว่าการขาดสติจะทำให้ความแตกแยกแพร่กระจายจนคลุมไม่อยู่ยิ่งกว่าโควิด-19 หรือไม่ ???

หากคนไทยต้องการเอาชนะปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง คนไทยต้องดึงสติกลับคืนมาให้ได้ ต้องคิดให้เป็น ต้องใช้สติในการคิดและพิจารณา

สติเท่านั้นที่จะพาให้เราผ่านพ้นไม่ว่าโควิด-19 หรือการเมือง วันนี้ ศึกของไทยไม่ใช่ศึกไกลแต่อย่างใดแต่เป็นศึกใกล้

ศึกใกล้ ๆ ที่อยู่ในใจคนไทยที่มีเพียงสติกั้นกลางเท่านั้นเอง

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - S.N.P. GROUP

Logistics

ฟิลิปปินส์ยืนหนึ่ง…นำเข้าข้าวสูงสุดของโลก

ฟิลิปปินส์ได้รับการคาดการณ์ว่าจะยังคงเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลกในปี 2563 แม้ว่าแนวโน้มการนำเข้าจะชะลอตัวลง เนื่องจากอุปทานในตลาดมีมากและผลผลิตภายในประเทศที่ดีขึ้น

รายงานของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ โดย Foreign Agriculture Services ได้คาดการณ์ว่า ในปีนี้แนวโน้มการค้าข้าวโลกจะชะลอตัวลงในหลายประเทศ เช่น อียิปต์ กินี เคนยา และฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ดี ฟิลิปปินส์ จะยังคงเป็นประเทศที่มีปริมาณการนำเข้าข้าวสูงสุดของโลกในปี 2563 โดยคาดการณ์ว่าจะนำเข้าข้าวปริมาณ 2.5 ล้านตัน ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 13.8 สำหรับประเทศจีนซึ่งมีประชากรกว่า 1.4 พันล้านคน คาดการณ์ว่าจะเป็น ผู้นำเข้าข้าวอันดับ 2 ของโลก โดยมีปริมาณนำเข้าข้าว 2.3 ล้านตัน ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์ได้กลายมาเป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลกแซงหน้าจีนในปีที่ผ่านมา โดยมีปริมาณนำเข้าข้าวอยู่ที่ 2.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4 เท่าของการนำเข้าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และคิดเป็นร้อยละ 7 ของการนำเข้าข้าวของโลก ซึ่งเป็นผลพวงจากการที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ปรับเปลี่ยนนโยบายยกเลิกการจำกัดโควตาการนำเข้าข้าวเปลี่ยนเป็นการเปิดเสรีนาเข้าข้าวเมื่อเดือนมีนาคมปี 2562

หลังจากการเปิดเสรีนำเข้าข้าวพบว่า ราคาข้าวในตลาดสู่ผู้บริโภคลดลงต่ำสุดส่งผลดีต่อผู้บริโภค แต่ก็ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกมีแนวโน้มลดลงเช่นกัน
ทำให้เกษตรกรชาวนาได้รับผลกระทบจนถึงปัจจุบันซึ่งสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี รัฐบาลฟิลิปปินส์จะยังคงบังคับใช้กฎหมายเปิดเสรีนำเข้าข้าวต่อไป โดยกระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ได้พยายามทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากเพื่อปรับปรุงผลผลิตข้าวในประเทศ รวมถึงหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวนา ผ่านกองทุนเพื่อพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมข้าวภายในประเทศ (The Rice Competitiveness Enhancement Fund: RCEF) ที่ได้รับจัดสรรเงินที่ได้จากการจัดเก็บภาษีนำเข้าข้าวจำนวน 10 พันล้านเปโซต่อปี ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ได้รายงานแนวโน้มผลผลิตข้าวภายในประเทศปีนี้จะดีขึ้น แม้ว่าจะพบเกษตรกรจำนวนหนึ่งกำลังวางแผนที่จะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นที่มีผลตอบแทนสูงกว่าแทน โดยคาดการณ์ว่าผลผลิตข้าวจะเพิ่มเป็น 12 ล้านตัน ในขณะที่การบริโภคเพิ่มสูงขึ้นเช่นกันเป็น 14.4 ล้านตัน จาก 14.1 ล้านตันในปี 2562 รวมทั้งคาดว่าผลผลิตข้าวต่อเฮกตาร์จะดีขึ้นเช่นกัน เป็น 4.05 ตันต่อเฮกตาร์ จาก 3.93 ตันต่อเฮกตาร์ สำหรับปริมาณสต็อกข้าว ข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ (PSA) พบว่าปริมาณสต็อกข้าว ณ เดือนมกราคม 2563 อยู่ที่ 2.68 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากเดือนธันวาคม 2562 โดยฟิลิปปินส์มีปริมาณการบริโภคข้าวเฉลี่ย 32,000 ตันต่อวัน ซึ่งจะมีปริมาณ สต็อกข้าวเพียงพอ 84 วัน
ที่มา: หนังสือพิมพ์ The Philippine Star วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563

ผลกระทบ:
ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก แต่ไม่สามารถผลิตข้าวได้เพียงต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ เนื่องจากมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวจำกัดและมีจำนวนประชากรที่มีขนาดใหญ่กว่า 110 ล้านคนในปัจจุบัน ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับมีผลผลิตต่อไร่ที่ต่ำและต้นทุนการผลิตข้าวค่อนข้างสูงอยู่ที่ 11.13 เปโซต่อกิโลกรัม เมื่อเทียบกับประเทศผู้ผลิตหลักอื่นๆ เช่น เวียดนามมีต้นทุนอยู่ที่ 5.14 เปโซต่อกิโลกรัม ไทยมีต้นทุนอยู่ที่ 9.07 เปโซต่อกิโลกรัม และอินเดีย 9.27 เปโซต่อกิโลกรัม ทำให้ข้าวฟิลิปปินส์ไม่มีความสามารถในการแข่งขันกับข้าวจากประเทศผู้ส่งออกดังกล่าว ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลฟิลิปปินส์ได้กำหนดให้ข้าวเป็นสินค้าอ่อนไหว ต้องควบคุมการนำเข้าโดยจำกัดเชิงปริมาณ (Quantitative Restrictions: QR) และมอบหมายให้หน่วย National Food Authority (NFA) เป็นผู้บริหารการนำเข้าข้าวเพื่อความมั่นคงของประเทศเพียงหน่วยงานเดียว ต่อมาในเดือนมีนาคม 2562 รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ตัดสินใจยกเลิกระบบ QR และใช้กฎหมายการเปิดเสรีนำเข้าข้าวแทน เพื่อหวังกำจัดความผันผวนและลดภาวะเงินเฟ้อเพื่อให้ราคาข้าวซึ่งเป็นสินค้าบริโภคพื้นฐานหลักของประเทศมีราคาลดต่ำลง อย่างไรก็ดี การเปิดเสรีนำเข้าข้าวได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรชาวนาท้องถิ่น เนื่องจากมีปริมาณข้าวนำเข้าราคาถูกจำนวนมากเข้าสู่ตลาดฟิลิปปินส์ (โดยเฉพาะข้าวเวียดนาม) แต่รัฐบาลฟิลิปปินส์ยืนยันที่จะยังคงใช้กฎหมายเปิดเสรีนำเข้าข้าวต่อไป เนื่องจากเห็นว่าหากกลับไปใช้ระบบเก่าเกษตรกรชาวนาจะได้รับราคาข้าวเปลือกสูงในระยะสั้น แต่ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาที่แท้จริง สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือการสนับสนุนช่วยเหลือให้เกษตรกรชาวนาเพิ่มผลผลิต ให้สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตต่างประเทศได้ ทั้งนี้ ปริมาณการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมากหลังการเปิดเสรี รัฐบาลฟิลิปปินส์เห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบการค้าเสรี ผู้นำเข้าฟิลิปปินส์กำลังปรับตัวกับระบบใหม่ดังกล่าว แต่เชื่อว่าในระยะต่อไปจะเกิดความสมดุลและปริมาณการนำเข้าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น

โอกาสและแนวทางในการปรับตัวของเอกชนไทย:
ฟิลิปปินส์เป็นตลาดข้าวที่มีศักยภาพของไทย ด้วยจำนวนประชากรขนาดใหญ่และจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าว อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาหลังจากฟิลิปปินส์เปิดเสรีนำเข้าข้าวไทยไม่สามารถช่วงชิงโอกาสในการขยายตลาดข้าวในฟิลิปปินส์ได้ เนื่องจากปัจจัยค่าเงินบาทที่แข็งค่าทำให้ข้าวไทยราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่งและถูกแย่งส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น (ปัจจุบันเวียดนามมีส่วนแบ่งตลาดข้าวในฟิลิปปินส์กว่าร้อยละ 70 ในขณะที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดลดลงเหลือเพียงร้อยละ 12-13) ทั้งนี้ ตลาดฟิลิปปินส์มีประชากรส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานเป็นชนชั้นกลาง-ต่ำ และข้าวที่บริโภคส่วนใหญ่เป็นข้าวขาวไม่ใช่ข้าวระดับพรีเมี่ยม โดยปัจจัยที่สำคัญในการตัดสินใจซื้อของกลุ่มบริโภคดังกล่าวคือ ราคา ประกอบกับประเทศคู่แข่งสาคัญอย่างเช่น เวียดนาม ได้ส่งออกข้าวขาวพื้นนิ่ม (Soft White Rice) เข้าสู่ฟิลิปปินส์มากขึ้น ทาให้ผู้บริโภคหันมานิยมรับประทานข้าวขาวพื้นนิ่มแทนข้าวขาวพื้นแข็งเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากทานง่าย อร่อยกว่าและราคาถูก แต่ข้าวขาวไทยที่ส่งออกส่วนใหญ่ยังคงเป็นข้าวขาวพื้นแข็งและมีราคาแพง ผู้นำเข้าจึงหันไปนำเข้าข้าวจากเวียดนามแทน ทั้งนี้ การทวงคืนส่วนแบ่งตลาดข้าวในฟิลิปปินส์ที่สูญเสียให้กับเวียดนาม ไทยจำเป็นต้องมีข้าวที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับเวียดนามและราคาอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ เข้ามาเสนอขายให้กับผู้นำเข้าฟิลิปปินส์ ซึ่งขณะนี้ไทยยังไม่มีข้าวขาว พื้นนิ่มที่สามารถผลิตได้ในเชิงพาณิชย์เพื่อตอบสนองต้องการของตลาดดังกล่าว ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมกันปรับแผนการผลิตข้าวไทยให้มีความหลากหลายสอดรับกับความต้องการของตลาดโลก ซึ่งในปี 2563 ฟิลิปปินส์ได้รับการคาดการณ์ว่าจะยังคงนาเข้าข้าวเป็นเบอร์ 1 ของโลกด้วยปริมาณกว่า 2.5 ล้านตัน ข้าวไทยจึงยังมีโอกาสที่จะทวงส่วนแบ่งตลาดกลับคืนมาไม่มากก็น้อย หากสามารถเร่งผลิตข้าวขาวพื้นนิ่มมาป้อนตลาดฟิลิปปินส์ได้และราคาอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้กับเวียดนาม
—————————–
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา 19 กุมภาพันธ์ 2563

ที่มา : https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/583702/583702.pdf&title=583702&cate=413&d=0

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.