CEO ARTICLE

แพ้ทั้งประเทศ


Follow Us :

    

ห้างญี่ปุ่น “อิเซตัน” ห้างใหญ่ใจกลางราชประสงค์ ประกาศยุติกิจการในประเทศไทยหลังเปิดมานานกว่า 28 ปี

ท่ามกลางวิกฤติ Covid-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมาจนแพร่ระบาดทั่วโลก กลายเป็นโรคติดต่อร้ายแรงและเป็นภาวะฉุกเฉินโรคติดต่อระหว่างประเทศที่ส่งผลให้ร้านค้า ถนน สนามบิน ที่ชุมชน แหล่งท่องเที่ยวต้องร้างผู้คน สุดท้ายเศรษฐกิจของทุกประเทศถูกกระทบหนักแน่

สายการบินทุกสายต้องลดหรือยกเลิกเที่ยวบินส่งผลให้บุคลากรการบินว่างงาน

ธุรกิจทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบ เกิดการเลิกจ้าง ธุรกิจท่องเที่ยว การผลิต การค้าระหว่างประเทศ การซื้อ การขาย และโลจิสติกส์ทั้งระบบถูกระทบหนัก แล้วอยู่ ๆ ห้างอิเซตันก็ประกาศยุติกิจการโดยจะเปิดถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563

ในข่าวไม่ได้บอกเหตุว่าเกี่ยวกับ Covid-19 หรือไม่ แต่คนว่างงานจะมากขึ้นน(ขึ้น) คนจนจะยิ่งจนลง ความเป็นอยู่จะยิ่งแย่ลง ส่วนคนรวยย่อมถูกกระทบบ้างไม่มากก็น้อยแม้จะไม่เดือดร้อนเท่าคนจนในภาวะภัยพิบัติทั่วโลกที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนในครั้งนี้

นี่อาจเป็นนรกบนดิน เป็นความทุกข์ยากที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน

รัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกต่างเอาจริงเอาจัง ต่างประกาศมาตรฐานเข้ม ๆ การจัดการในเชิงรุก และการบริหารความเสี่ยงเพื่อป้องกันประเทศและประชาชนของตนให้ปลอดภัย

ข่าวการเมืองในต่างประเทศถูกลดบทบาทลง ข่าว Covid-19 ข่าวสังคม และข่าวเศรษฐกิจกลับขึ้นมาแซงหน้า รัฐบาลไม่ว่าเข้มแข็งหรืออ่อนแอต่างได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อต่อต้านภัยพิบัติ

ยามนี้ สิ่งที่รัฐบาลทุกประเทศต้องการคือ “คำแนะนำที่ดี ความร่วมมือ และความสามัคคี” จากทุกภาคส่วนของประเทศให้ร่วมมือในทิศทางเดียวกัน

เหลียวมองประเทศไทย ท่ามกลางการต่อสู่กับภัยพิบัติ Covid-19

ข่าวต่าง ๆ ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า รัฐบาลของไทยน่าจะอ่อนในเรื่องการบริหารจัดการเชิงรุกและการบริหารความเสี่ยงที่จำเป็นต้องมีท่ามกลางวิกฤติภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจริงหรือไม่ก็ได้

รัฐบาลไทยอาจกำหนดมาตรการต่าง ๆ ในการป้องกันอ่อนไป ช้าไป หรือไม่ถูกใจผู้ติดตาม แต่สิ่งที่รัฐบาลต้องการเหมือนรัฐบาลของทุกประเทศทั่วโลกไม่ต่างกันคือ

“คำแนะนำที่ดี ความร่วมมือ และความสามัคคี”

แต่จากข่าวสารที่ยังเห็นในวันนี้คือ การโจมตีของนักการเมือง การตีกินหาคะแนนเสียงให้ตนเองดูดี แต่รัฐบาลดูไม่ดีบนความเดือดร้อนของประชาชน

บางข่าวอยากต้องการให้นายกฯ ลาออก เปลี่ยนรัฐบาล และแก้ไขรัฐธรรมนูญของ “แฟลชม็อบ” ซึ่งเป็นเรื่องปกติ หากประเทศอยู่ในยามปกติที่มิใช่สงครามกับโรคร้ายเช่นกัน

ประเทศไทยจมอยู่กับความแตกแยกมานาน เมื่อมี “การเลือกตั้ง” ก็จะมี “การรัฐประหาร” ตามมา สลับกันไป สลับกันมา มันคือวงจรอุบาทว์ที่ตำราเรียนกล่าวถึง

ตำรายังกล่าวว่า ทหารมีหน้าที่ค้ำจุนเสถียรภาพของรัฐบาล และเมื่อทหารเห็นว่า รัฐบาลไร้ประสิทธิภาพ ล้มเหลวต่อการดูแลทุกข์สุขของประชาชน ทุจริตคอร์รัปชั่น เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชนถึงขั้นรุนแรง ทหารก็จะเข้ามารัฐประหารและเป็นรัฐบาลเอง

ในทำนองเดียวกัน เมื่อทหารเข้ามาเป็นรัฐบาล นักการเมืองทั้งหน้าฉากและหลังฉากก็จะนำเรื่องเดียวกันคือ ไร้ประสิทธิภาพ ล้มเหลวต่อการดูแลทุกข์สุขของประชาชน ทุจริตคอร์รัปชั่นมาโจมตี แล้วสุดท้ายก็ส่งไม้ต่อให้ประชาชนจนเกิดความแตกแยกและความรุนแรง

ประเทศไทยจมอยู่ในวรจรอุบาทว์เช่นนี้มาหลายสิบปีและไม่มีทีท่าจะหมดไปง่าย ๆ โดยมีตัวละครเพียง 2 กลุ่มคือ “นักการเมือง” และ “ทหาร”

สมมุตินายกรัฐมนตรีลาออก รัฐมนตรีทุกกระทรวงก็ต้องสิ้นสภาพล(ลง)ตามไปด้วย จากนั้นก็ต้องเปิดสภาเพื่อหานายกรัฐมนตรี ฟอร์มรัฐบาลใหม่นานนับเดือน ในระหว่างนั้นประสิทธิภาพของการต่อสู้กับภัยพิบัติ Covid-19 ก็ย่อมลดลงส่งผลให้คนติดเชื้อและเสียชีวิตยิ่งมากขึ้น

ไม่ว่าจะมีการยุบสภา หรือมีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ตามการเรียกร้องของ “แฟลชม็อบ” นักศึกษา รัฐธรรมนูญใหม่ที่ต้องอิงประชาชนให้มากที่สุดซึ่งก็ต้องร่างจาก ส.ส.ร. (สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ที่มาจากการเลือกตั้งให้เป็นตัวแทนประชาชนในแต่ละจังหวัด

พอมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. พรรคการเมืองก็ต้องแอบส่งตัวแทนของพรรคในแต่ละจังหวัดเพื่อให้มีโอกาสได้เป็น ส.ส.ร. และเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญมีหน้าตาออกมาแบบที่พรรคต้องการมากที่สุด

ส.ส.ร. ที่จะมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็หนีการเมืองอยู่ดี

“ชนชั้นใดร่างกฎหมาย กฎหมายก็จะเพื่อชนชั้นนั้น” เป็นคำกล่าวที่นักกฎหมายและตำรามากมายกล่าวไว้ การต่อสู้ การสร้างชั้นเชิงทางการเมืองย่อมเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน

การต่อสู้ด้วยชั้นเชิงทางการเมืองย่อมมีฝ่ายหนึ่งได้ชัยชนะ แต่กว่ากระบวนการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่จะสำเร็จและลงมือทำ Covid-19 ก็จะกลืนคนไทยแทบไม่เหลือ ห้างใหญ่แบบอิเซตันก็อาจปิดอีกมาก สังคมและเศรษฐกิจจะพังอีกมหาศาล

อย่างนี้ ไม่ว่าฝ่ายใดจะชนะก็จะเป็นชัยชนะบนความพ่ายแพ้ของประเทศที่มีต่อ Covid-19 ชัยชนะบนเศรษฐกิจที่พังพินาศ บนความเจ็บป่วยและล้มตายจาก Covid-19 ไม่ใช่ชัยชนะเหนือลุงตู่หรือคู่ต่อสู้ฝ่ายใดทั้งสิ้น

สังคม เศรษฐกิจ ประเทศไทย และคนไทยทั้งหมดย่อมเป็นฝ่ายพ่ายแพ้

แต่หากวันนี้ นักการเมืองลองลดบทบาททางการเมืองลงแล้วเล่นบทตรงข้ามดูบ้าง ไม่แน่ว่าผลลัพธ์ที่นักการเมืองต้องการก็อาจได้อย่างที่ต้องการก็ได้

หากนักการเมืองหันมาเล่นบทการเป็นผู้นำด้านการให้คำแนะนำ ความร่วมมือ และความสามัคคี เป็นผู้นำรณรงค์ประชาชนให้ป้องกันตัวเอง หลีกเลี่ยงงานเลี้ยง ไม่พบปะสังสรรค์ เก็บตัวอยู่กับบ้าน กินร้อน ช้อนกลาง เป็นผู้นำให้แฟลชม็อบมีความเข้าใจเพื่อยุติบทบาทลงชั่วคราว โจมตีข่าวปลอม และผู้นำการส่งเสริมรัฐบาลให้ต่อสู้กับ Covid-19 เพื่อชัยชนะของประเทศ

การลดบทการเมืองเพื่อเล่นบทผู้นำเช่นนี้ การควบคุม Covid-19 ย่อมมีประสิทธิภาพมากขึ้น โอกาสที่ประเทศไทยจะชนะ Covid-19 ย่อมมีมากขึ้น และนักการเมืองที่ยอมลดบทการเมืองลงก็ย่อมได้ใจประชาชนทั้งที่ชอบและไม่ชอบตนมากขึ้นตามไปด้วย

การทำตัวเป็นผู้นำประชาชนในยามวิกฤติ Covid-19 ย่อมได้รับศรัทธา

สงคราม Covid-19 ไม่ว่าอย่างไร ไม่ว่านานแค่ไหนก็ต้องจบลง หลังจบลงแล้วนักการเมืองค่อยกลับมาโจมตีรัฐบาลกันใหม่ แฟลชม็อบจุดกันใหม่ เริ่มถกเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ และทำเรื่องการเมืองที่อยากอื่น ๆ กันใหม่ นอกจากจะมีประโยชน์ต่อประเทศแล้ว นักการเมืองนั้นก็ยังได้ใจประชาชนที่ไม่ชอบไม่มากก็น้อยอีกด้วย

การหันเล่นบทผู้นำประชาชนในด้านต่าง ๆ ยามที่ต้องสู้กับ Covid-19 ไม่ใช่เรื่องยากเย็น ตัวอย่างก็มีให้เห็น และส่งผลให้การต่อสู้ในครั้งนี้ไม่มีทางแพ้ทั้งประเทศอย่างแน่นอน

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - S.N.P. GROUP

Logistics

เจาะตลาดผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพในจีน

ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพในจีนถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์อาหารชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะและคุณสมบัติของอาหารทั่วไป สามารถช่วยปรับการทำงานของร่างกายมนุษย์ ใช้ในการบริโภคของกลุ่มคนเฉพาะแต่ไม่ใช่เพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษาโรค แต่อย่างไรก็ดี บทบาทในการดูแลสุขภาพของผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพกำลังได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งเป็นที่สังเกตได้อย่างชัดเจนว่า ในช่วงหลายปีมานี้ ผู้บริโภคชาวจีนหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขภาพกันมากขึ้น ทำให้ตลาดผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2016 ตลาดธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพในจีนมีมูลค่า 261,330 ล้านหยวน และในปี 2017 มีมูลค่า 293,890 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.46 และมีแนวโน้มว่าตลาดผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพจะสามารถเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเศรษฐกิจและแนวโน้มการพัฒนาของธุรกิจ ทำให้มีการคาดการณ์ว่าในปี 2020 ตลาดผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพจะมีมูลค่าสูงถึง 450,000 ล้านหยวน โดยผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารคาดการณ์ว่า ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพของจีนในอนาคตจะสามารถเติบโตและมีการพัฒนาที่ดีขึ้นอยู่กับองค์ประกอบที่สำคัญ ดังนี้

1. ประชากรผู้สูงอายุและความต้องการที่เพิ่มขึ้นของการบริโภค ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน เปิดเผยว่า จีนมีประชากรผู้สูงอายุในวัย 60 หรือมากกว่า 60 ปี มากถึง 250 ล้านคน และในช่วงเวลา 3 – 4 ปีที่ผ่านมานี้ การบริโภคของผู้สูงอายุขยายตัวเพิ่มขึ้น และคาดการณ์ว่าในปี 2025 การบริโภคของผู้สูงอายุจะมีมูลค่าถึง 61.26 ล้านล้านหยวน ซึ่งเมื่ออายุยืนขึ้นผู้บริโภคก็สามารถยืดเวลาในการบริโภคได้นานขึ้น และยังช่วยเพิ่มความถี่ในการบริโภคบ่อยขึ้น ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพในสังคมเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของสังคมผู้สูงอายุจะทำให้ในอนาคตประชากรจีนจะมีความต้องการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด

2. ผู้บริโภคที่เกิดระหว่างปี 1980 – 1989 (พ.ศ. 2523 – 2532) และผู้บริโภคที่เกิดระหว่างปี 1990 – 1999 (พ.ศ. 2533 – 2542) จะช่วยให้อาหารเพื่อสุขภาพและการดูแลสุขภาพเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการบริโภคของผู้บริโภคยุค 90 เริ่มเข้าสู่แถวหน้าและเป็นกลุ่มที่มีการบริโภคสูง ประกอบกับสภาพสังคมในปัจจุบันมีความเร่งรีบ คนกลุ่มภาวะ Sub – Healthy หรือภาวะร่างกายเสียสมดุล และมีภาวะที่การทำงานของนาฬิกาชีวิตเริ่มผิดปกติ แต่ไม่มีอาการเจ็บป่วยภายนอกที่เด่นชัดเริ่มมีจำนวนมากขึ้น และมีแนวโน้มขยายเพิ่มขึ้น ทำให้กลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่เหล่านี้เริ่มมีแนวคิดการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และใส่ใจสุขภาพของตนเองมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการโดยรวมของตลาดผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงคาดว่าผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพของจีนจะมีความสามารถในการเจาะตลาดผู้บริโภควัยทำงานเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

3. ช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพมีความหลากหลายมากขึ้น ในแต่ละพื้นที่ และในแต่ละประเทศต่างมีช่องทางการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพต่างกัน ประกอบกับการมีกลยุทธ์ในการเจาะตลาด และพฤติกรรมการบริโภคต่อหัวของผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้น ทำให้ช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพจึงมีแนวโน้มที่จะขยายไปยังร้านขายยา ซุปเปอร์มาเก็ต และร้านค้าเฉพาะทางมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริโภค และลักษณะนิสัยหรือพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ช่องทางอีคอมเมิร์ซซึ่งเป็นช่องทางการซื้อขายของคนยุคใหม่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และคาดการณ์ว่าในอนาคต ช่องทางการจำหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพจะมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น

4. นโยบายด้านสุขภาพจะช่วยให้อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพมีการพัฒนาที่ดี ได้มาตรฐาน และมีคุณภาพสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการมีสุขภาพที่ดีได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการเติบโตของตลาดผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพให้สามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพได้รับแรงหนุนจากนโยบาย Healthy China 2030 ที่เน้นสนับสนุนการสร้างและส่งเสริมให้ประชาชนจีนมีสุขภาพแข็งแรง ซึ่งการเน้นการป้องกันเป็นหลัก ก่อให้เกิดการวินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็ว และทำให้ประชาชนได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว จึงเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ จะได้รับการสนับสนุนและพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

5. การกำกับดูแลตลาดผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพจะเข้มงวดมากขึ้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เกิดความสับสนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพบ่อยครั้ง ทำให้เป็นที่ดึงดูดความสนใจของหน่วยงานกำกับดูแล คาดการณ์ว่าในอนาคต การกำกับดูแลตลาดจะเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น ธุรกิจจะมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ธุรกิจต้องผลักดันให้ตัวเองอยู่รอด วิสาหกิจที่มีคุณภาพจะได้รับโอกาสในการพัฒนาได้ดีกว่า และวิสาหกิจที่ไม่ได้คุณภาพก็จะถูกกำจัดออกจากตลาดไป

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย
ความนิยมและแนวโน้มการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพที่เติบโตและขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในตลาดจีน จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารได้อย่างหลากหลาย และสามารถปรับปรุงพัฒนาสินค้าเกษตรและสมุนไพรให้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงถือเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทยที่จะวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพให้มีคุณสมบัติสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคชาวจีน ซึ่งภาครัฐสามารถสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาดังกล่าวให้แก่ภาคเอกชนได้ โดยความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาต่างๆ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังคงต้องเฝ้าติดตามพฤติกรรมการบริโภคและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพในตลาดจีนอย่างใกล้ชิด เพื่อจะสามารถใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตอาหารชั้นสูงมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานของสากล ซึ่งจะนำมาซึ่งความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และสร้างโอกาสในการขยายตลาดผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพของไทยเข้าสู่ตลาดจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างแน่นอน

ที่มา: https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/597233/597233.pdf&title=597233&cate=413&d=0

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.