CEO ARTICLE

พึ่งพาตนเอง


Follow Us :

    

ภายหลังการแพร่ระบาดของ Covid-19 เศรษฐกิจของไทยจะไปทางไหนดี ???
คำตอบคืออาชีพเกษตรกรรม อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมการแพทย์ สุขอนามัย และโลจิสติกส์จะเป็นทิศทางที่ไทยควรหันไปมากที่สุด
รัฐบาลจึงต้องเข้ามาควบคุมการบุกรุกป่า เพิ่มกำลังให้ป่าไม้ ส่งเสริมเกษตรกรรม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นทุกด้าน และให้ความรู้ความเข้าใจด้านการจัดการโลจิสติกส์ให้มากที่สุด
หากจะกล่าวอย่างง่าย ๆ ก็คือ ตั้งแต่บัดนี้ไป ประเทศไทยต้องเลิกพึ่งพาเศรษฐกิจจากต่างชาติ ต้องหันมาส่งเสริมการเกษตรเพื่อ “พึ่งพาตนเอง” ให้มากที่สุดนั่นเอง ทำไมหรือ ???

ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คำว่า “ภายหลังการแพร่ระบาดของ Covid-19” คำนี้จะไม่เกิดขึ้นแน่
ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ได้ยืนยันว่า เชื้อนี้อันตรายถึงชีวิต และจะอยู่บนโลกมนุษย์ไปอีกนานแม้จะมีวัคซีนแล้วก็ตาม
ในเมื่อเชื้อนี้อันตรายและไม่หมดไป การใส่หน้ากากออกจากบ้าน การล้างมือบ่อย ๆ การแยกตัวเองรับประทานอาหาร การรักษาสุขอนามัย และพฤติกรรม New Normal อื่นที่เป็น Social and Physical Distancing จะยังคงต้องทำต่อไป
สิ่งเหล่านี้ทำให้ชีวิตต้องเปลี่ยนไปเป็น New Normal อย่างที่ ศบค. กล่าวย้ำเรื่อยมา
ในด้านธุรกิจ รูปแบบ New Normal ยังทำให้ต้นทุนสินค้าและต้นทุนบริการสูงขึ้น ขณะที่พฤติกรรมการซื้อการขายแบบพบหน้าน้อยลง แต่ไปอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น
แน่นอน กำไรจากการค้าแบบ Old Normal ลดลง จำนวนผู้ค้าผู้ขายแบบ Old Normal ก็ลดตามลง ยกเว้นธุรกิจที่ปรับตัวเข้ากับ New Normal ได้ สร้างรูปแบบใหม่ ทำกำไรไม่มากในตอนต้น และค่อย ๆ ต่อยอดกำไรมากขึ้น
บางคนอาจมองว่า การเปิดประเทศจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น แน่นอนจีน สหรัฐ ยุโรป และอีกหลายประเทศก็มองอย่างนั้น
จีนเปิดเมืองและเปิดประเทศไปก่อนแล้วการแพร่ระบาดก็กลับมาจนต้องปิดรอบ 2 ขณะที่สหรัฐอยู่ในช่วงใกล้เลือกตั้ง คนอเมริกันกำลังอดตาย เรียกร้องให้เปิดเมืองเปิดประเทศเพื่อทำมาหากินซึ่งเป็นช่วงใกล้เลือกตั้งประธานาธิบดี
แบบนี้ไม่ช้าวันหนึ่ง สหรัฐต้องเปิดเมืองเปิดประเทศแน่ คนอเมริกันห่วงเรื่องเสรีภาพ ห่วงเรื่องปากท้องมากกว่าห่วงชีวิต ยิ่งมีเรื่องการเมือง การชิงอำนาจผสมเข้าไปด้วย สหรัฐต้องเปิดแน่และการแพร่ระบาดรอบ 2 ก็จะกลับมาแน่อีกเช่นกัน
วันนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อ Covid-19 ทั่วโลกวิ่งไปเข้าใกล้เลข 5 ล้านทุกนาทีแล้ว
สหรัฐประเทศเดียวมีผู้ติดเชื้อทะลุ 1.4 ล้านกว่า ๆ ยุโรปรวม ๆ กันแล้วก็ทะลุ 1 ล้านคนไปนานแล้ว โซนเอเซียแม้จะดีกว่าแต่ผู้ติดเชื้อก็มีเพิ่มขึ้นทุกวัน
ตัวเลขเหล่านี้บ่งชี้ว่า Covid-19 คงอยู่กับโลกนี้ไปอีกนานจริง ๆ และการแพร่ระบาดรอบ 2 รอบ 3 หรือหลาย ๆ รอบของประเทศที่เตรียมการณ์ไม่ดีแต่รีบเปิดประเทศจะเกิดขึ้นได้ง่าย
ทั้งหมดนี้จึงเป็นเครื่องยืนยันว่า ต่อให้รัฐบาลไทยเปิดเมืองเปิดประเทศ และยกเลิก พรก. ฉุกเฉินอย่างที่ฝ่ายการเมืองต้องการ คนไทยก็กลัวต่างชาติเข้ามาแพร่เชื้อเป็นระลอก ๆ อยู่ดี
ขณะเดียวกัน หากต่างชาติที่ผ่านมาตรการคัดกรองเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย แต่เมื่อมาเจอมาตรการการเว้นระยะห่าง และ New Normal ดังกล่าว มันก็ไม่สนุกเหมือนเดิม
การพึ่งพาเศรษฐกิจจากต่างชาติด้านการท่องเที่ยวจึงไม่ดีเหมือนเดิมอย่างแน่นอน

ในเมื่อไทยเป็นเมืองเกษตรกรรม เป็นอู่ข้าว อู่น้ำ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ไทยทำหน้าที่เป็นครัวโลกมานาน ยิ่งสถานการณ์ Covid-19 ไทยก็พิสูจน์ว่าเป็นแหล่งอนามัยโลกได้ดีเยี่ยม
ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร คนไทยและคนทั่วโลกต้องกิน ต้องใช้ ต้องมีชีวิตประจำวัน ต้องมีสุขภาพดี นี่เป็นสิ่งยืนยันว่า ไทยควรหันไปทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรมอาหาร สุขอนามัยในอันดับต้น ๆ และถือโอกาสสร้างความเป็นอยู่ให้เกษตรกรดีขึ้น มีเงินพอใช้จ่ายชดเชยการถูกละเลยจากในอดีต หรือจะพัฒนาเกษตรกรรมควบคู่กับ EEC ก็ไม่เสียหายอะไร
ยิ่งไปกว่านั้น คนทั่วโลกต่างต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคจึงทำให้อุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ ยังเป็นที่ต้องการซึ่งจะนำไปสู่การส่งออกให้ตามมา
สุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นพืชผลทางการเกษตร อาหาร สินค้าอุปโภค บริโภค การนำเข้า การส่งออกทั้งวัตถุดิบ เครื่องจักร และสินค้า ของเหล่านี้ต่างก็ไม่มีแขน ไม่มีขาที่จะเดินไปหาผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้ขาย ผู้ซื้อ และผู้บริโภคได้เอง โลจิสติกส์จึงเป็นอาชีพที่ไม่ตกเทรนด้วยเหตุนี้
แต่ปัญหาโลจิสติกส์ของไทยกลับอยู่ที่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ต่างทุ่มเทพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยมองว่า นั่นคือการพัฒนาโลจิสติกส์ของไทยโดยลืมว่าการจัดการโลจิสติกส์ก็เป็นส่วนหลักที่จะใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้น
เราจึงได้เห็นโครงการขนาดใหญ่ที่โลจิสติกส์ไทยทำหน้าที่เพียงผู้รับช่วง (Sub Contract) ส่วนกำไรมหาศาลจากการบริหาร การจัดการ และการวางแผนกลับตกไปอยู่ในมือโลจิสติกส์ต่างชาติที่เข้าใจการจัดการโลจิสติกส์เรื่อยมา
ในเมื่อโลจิสติกส์ไม่มีทางตกเทรน หากประเทศไทยจะพึ่งพาตนเองด้านโลจิสติกส์ให้ได้ประโยชน์สูงสุด รัฐบาลต้องหันมาส่งเสริมการพัฒนาทักษะด้านการจัดการโลจิสติกส์ของคนไทย ควบคู่กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้วย
ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องยืนยันว่า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประเทศไทยโดยรัฐบาลควรถือโอกาสนี้ส่งเสริมการผลิตเอง ขายเอง ซื้อเอง กินเอง เที่ยวกันเอง ทุ่มเทการจัดการกันเอง มุ่งเศรษฐกิจแบบ “พึ่งพาตนเอง” ให้มากที่สุดจะดีกว่าการพึ่งพาต่างชาติ

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - S.N.P. GROUP

Logistics

หูหนานพลิกวิกฤตปรับเครื่องบินโดยสารเป็นเครื่องบินคาร์โก้สู้พิษโควิด-19

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563 เวลา 13.00 น. เครื่องบินของสายการบินไห่หนาน (Hainan Airlines) ที่บรรทุกหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ป้องกันโรคระบาดน้ำหนักรวม 22 ตันซึ่งเดินทางออกจากท่าอากาศยานนานาชาติหวงฮัว นครฉางซา ได้เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติฮีทโธรว์ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักรหลังใช้เวลาบินเกือบ 11 ชั่วโมง โดยเที่ยวบินนี้นับเป็นเที่ยวบินขาออกจากมณฑลหูหนานลำดับที่ 34 ในปี 2563 ที่ได้ปรับเปลี่ยนเครื่องบินโดยสารให้เป็นเครื่องบินขนส่งสินค้าชั่วคราว

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในหลายประเทศส่งผลให้สายการบินทั่วโลกต่างทยอยลดเที่ยวบินหรือหยุดทำการบิน สำหรับมณฑลหูหนาน ท่าอากาศยานนานาชาติฉางซาได้ระงับเที่ยวบินขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศเป็นการชั่วคราวตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาเพื่อป้องกันการนำเข้าโรคระบาดจากต่างประเทศ ทั้งนี้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งชาติจีนได้เปิดเผยสถิติว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 สายการบินของจีนได้ยกเลิกเที่ยวบินโดยสารมากกว่าร้อยละ 70 ส่งผลให้การดำเนินงานมีผลขาดทุนสะสมรวมกว่า 33,620 ล้านหยวน

แม้จำนวนผู้โดยสารจะลดลงแต่ความต้องการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางอากาศกลับเพิ่มสูงขึ้น สายการบินหลายแห่งในมณฑลหูหนานจึงทยอยปรับเปลี่ยนเครื่องบินโดยสารเพื่อใช้สำหรับการขนส่งสินค้าชั่วคราวเพื่อรองรับความต้องการตามอุปสงค์ข้างต้น โดยการดำเนินการเช่นนี้ของสายการบินยังสอดคล้องกับมติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจีนเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ที่สนับสนุนให้มีการปรับปรุงความสามารถด้านการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางอากาศเพื่อรักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 สายการบิน China Southern Airlines ก็เป็นสายการบินจีนรายแรกที่ได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนเครื่องบินโดยสารเพื่อขนส่งสินค้าจากนครฉางซาไปยังกรุงไนโรบี ประเทศเคนยา และก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 มณฑลหูหนานยังได้รับการติดต่อจากสายการบิน Airphil Express ของฟิลิปปินส์ที่ขอปรับเครื่องบินโดยสารเพื่อขนส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับใช้ในการป้องกันโรคระบาดจำนวน 5,220 กิโลกรัมจากนครฉางซาไปยังกรุงมะนิลาในวันที่ 12 เมษายน 2563 นับเป็นสายการบินต่างชาติรายแรกที่ยื่นขออนุมัติมณฑลหูหนานเพื่อดำเนินการในลักษณะนี้

สำหรับวิธีการปรับเปลี่ยนเครื่องบินโดยสารเพื่อขนส่งสินค้าชั่วคราวนั้น ฝ่ายการขนส่งสินค้าทางอากาศของบริษัท Hunan Airport Industrial ภายใต้กลุ่มบริษัทบริหารท่าอากาศยานมณฑลหูหนานให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จะไม่มีการรื้อถอนที่นั่งผู้โดยสารออก โดยจะดำเนินการบรรจุสินค้าในบรรจุภัณฑ์ให้เรียบร้อยและจัดเรียงให้พอดีกับขนาดความกว้างและความยาวของที่นั่งบนเครื่องบินแต่ละแบบ

ในภาพรวม การส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนเครื่องบินโดยสารเพื่อขนส่งสินค้าของมณฑลหูหนานส่งผลให้ในเดือนเมษายน 2563 ท่าอากาศยานนานาชาติหวงฮัว นครฉางซา มีปริมาณการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.4 และจนถึงวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 ท่าอากาศยานนานาชาติฉางซามีเที่ยวบินขนส่งสินค้าที่ปรับเปลี่ยนมาจากเครื่องบินโดยสารแล้วจำนวน 36 เที่ยว โดยมีจุดหมายปลายทางในเมืองสำคัญของหลายประเทศ เช่น นครลอสแอนเจลิส กรุงไนโรบี กรุงลอนดอน กรุงโตเกียว กรุงกัวลาลัมเปอร์ กรุงมอสโก กรุงมะนิลา เมืองญาจาง กรุงกาฐมาณฑุ และเมืองโอซากา

แหล่งข่าว : https://baijiahao.baidu.com/s?id=1665950483511571924&wfr=spider&for=pc
http://www.caacnews.com.cn/1/5/202005/t20200507_1300795.html

ที่มา : https://thaibizchina.com/

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.