CEO ARTICLE

เด็กอนุบาล


Follow Us :

    

ปัญหาเด็กอนุบาลอันเป็นที่รัก เป็นแก้วตาดวงใจของพ่อแม่ที่ถูกลืมทิ้งไว้ในรถรับส่งจนเกิดเหตุร้าย หรือโศกนาฏกรรมที่เป็นข่าวซ้ำซากในประเทศไทย
“คิดว่าจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ ?”
คนส่วนใหญ่ที่เจอคำถามแบบนี้จะตอบว่า “มี” เพราะในอดีต ข่าวลักษณะนี้เกิดขึ้นซ้ำซากเป็นระยะ พอข่าวซาลงเผลอแปลบเดียวก็วนกลับขึ้นมาอีก
ปัญหาที่กระทบความปลอดภัยต่อชีวิต และความรู้สึกของคนในชาติ ทำไมผู้บริหาร ผู้รับผิดชอบ หรือผู้นำองค์กรจึงใช้ “การบริหาร” และ “การจัดการ” ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ทุกองค์กรต้องมีอยู่แล้วมาแก้ไขไม่ได้ ???

พอมีคำว่าการบริหารและการจัดการ มันก็ต้องมีแนวคิด ทฤษฏี ข้อมูลข่าวสาร สถิติ การจัดโครงสร้าง การจัดคน เป้าหมาย และอื่น ๆ อีกมากเข้ามาเกี่ยวข้อง
หากมองให้แคบลงไป การดูแลเด็กอนุบาลให้ปลอดภัยก็น่าจะเกี่ยวพันกับ “แผนงาน” และ “ขั้นตอนการทำงาน” ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการจัดการ
ขั้นตอนการทำงานคือ วิธีการปฏิบัติงานที่ได้แก้ไขข้อผิดพลาดในอดีตไว้แล้ว
หากปฎิบัติตามขั้นตอนการทำงานได้อย่างจริงจัง ข้อผิดพลาดที่เคยเกิดก็จะไม่เกิดซ้ำอีก ผลงานที่ได้จะมีคุณภาพ เป็นมาตรฐาน และไม่ว่าผู้ใดปฎิบัติตามก็จะได้ผลงานมาตรฐานเดียวกัน
สมมุติฝ่ายบริหารโรงเรียนจัดทำขั้นตอนการรับส่งเด็กอนุบาลโดยรถโรงเรียน ดังนี้
1. คุณครูผู้คุมรถต้องลงนามรับใบกำกับรถที่มีรายชื่อเด็ก ชื่อเล่น จากฝ่ายควบคุมทุกวัน (ซึ่งอาจขอรับล่วงหน้าในตอนเย็น หรือในตอนเช้าก่อนออกเดินทางก็ได้)
2. เมื่อเด็กแต่ละคนขึ้นรถแล้ว ให้ถามชื่อ ขีดเครื่องหมายถูกตรงชื่อในช่องที่จัดไว้ ลงเวลาที่เด็กแต่ละคนขึ้นรถจนครบทุกคน
3. เมื่อรถถึงโรงเรียน ให้คุณครูผู้คุมรถลงเวลาที่รถถึงโรงเรียน ถามชื่อ และขีดเครื่องหมายถูกตรงชื่ออีกช่องขณะเด็กก้าวลงจากรถ
4. เมื่อเด็กลงจากรถหมดแล้ว ให้ขึ้นไปตรวจสอบสิ่งของต่าง ๆ ที่เด็กอาจลืมไว้ ตรวจดูความเรียบร้อย และลงชื่อรับรองในใบกำกับรถพร้อมคนขับรถเป็นพยาน
5. ส่งใบกำกับรถให้ฝ่ายควบคุมก่อนเข้าทำหน้าที่อื่นหรือสอน
ด้วย 5 ขั้นตอนการทำงานตามตัวอย่างข้างต้น โอกาสที่เด็กอนุบาลจะถูกลืมบนรถจนเกิดเหตุร้ายก็จะน้อยลง หากโรงเรียนมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีและการเงินจะใช้แอพลิเคชั่นแทนใบกำกับรถ หรือวิธีการอื่นก็ได้
ยิ่งฝ่ายบริหารสร้างระบบตรวจสอบการปฏิบัติตามขั้นตอนการทำงาน โอกาสที่คุณครูจะไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการทำงาน เกิดความเสี่ยง และข้อผิดพลาดก็ยิ่งเหลือ 0
การตั้งเป้าหมาย การเอาจริงเอาจังกับการปฎบัติ และระบบตรวจสอบจึงเป็นด้านพื้นฐานของการบริหาร เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ และเป็นความรับผิดชอบของผู้นำองค์กร
ปัจจุบัน หน่วยราชการและโรงเรียนต่าง ๆ ประกาศแนวทางการบริหารด้วยคำว่า PDCA เพื่อแสดงพื้นฐานการบริหารและการปฎิบัติระดับมืออาชีพ
P คือ Plan หมายถึง การวางแผน การกำหนดเป้าหมาย หรือวัตถุประสงค์
D คือ Do หมายถึง การลงมือปฏิบัติตามแผนงานที่กำหนด
C คือ Check หมายถึง การตรวจสอบเพื่อปรับปรุงแผนงานให้เหมาะสม
A คือ Action หมายถึง การพิจารณา “ผล” เพื่อสร้างมาตรฐาน เช่น “ขั้นตอนการทำงาน”
พื้นฐานการบริหารแบบนี้ใช้เป็นการทั่วไปไม่ว่าจะเป็นการบริหารราชการ องค์กร เอกชน หรือแม้แต่การบริหารม็อบที่เกิดจากความขัดแย้งซ้ำซากในเวลานี้
ม็อบก็ต้องมีเป้าหมาย มีใช้การบริหารและการจัดการ และมีการเล็งเห็นผลล่วงหน้าไว้แล้ว
ในเมื่อทุกอย่างเป็นพื้นฐานก็เชื่อได้ว่า ผู้นำในเวลานี้ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายทหาร รัฐบาล ม็อบ ผู้อยู่เบื้องหน้า หรือเบื้องหลังย่อมประเมินสถานการณ์ กำหนดเป้าหมาย และเล็งเห็นผลล่วงหน้าไว้แล้วเช่นกัน
แผนและยุทธวิธีต่าง ๆ จึงถูกกำหนดขึ้นอย่างที่เป็นข่าว
ในเมื่อผลถูกเล็งเห็นไว้แล้ว การโน้มน้าว การปลุกสัญชาติญาณดิบ การสร้างเนื้อหาใหม่ที่เร้าใจขึ้นมาโจมตี การยุยงให้บูลลี่ระหว่างกันจนคุมไม่อยู่ การเตรียมทางหนีทีไล่ให้แก่ผู้นำ การปิดบังเป้าหมายที่แท้จริง หรือซ่อนผลที่เล็งเห็นไว้ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของแผนเช่นกัน
ม็อบไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย บทเรียนมากมายต่างฝ่ายต่างก็มี ยุทธวิธีและผลจึงเล็งเห็นได้ไม่ยาก
เด็กอนุบาลถูกลืมครั้งแล้วครั้งเล่า ประชาชนก็ถูกชักนำและถูกลืมจากฝ่ายการเมืองให้เข้าร่วมในความขัดแย้งครั้งแล้วครั้งเล่าไม่ต่างกันทั้ง ๆ ที่ผลประโยชน์ทางการเมืองต้องเป็นของนักการเมืองมากกว่า
ประชาชนทั้ง 2 ฝ่ายที่ถูกปลุกปั่นให้ขัดแย้งกันจึงเป็นเพียงเหยื่อที่ถูกนำมากล่าวอ้าง
เด็กอนุบาลต้องรับชะตากรรมและครอบครัวเด็กต้องเสียใจ ประชาชนก็ต้องรับชะตากรรมและครอบครัวก็ต้องเสียใจเช่นกันไม่ว่าผลจากความขัดแย้งจะลงเอยอย่างไร
มันจึงอยู่ที่ประชาชนจะรู้เท่าทันผลประโยชน์ หรือทำตัวเป็นเด็กอนุบาลให้เขาจูงขึ้นรถโดยไม่รู้ขั้นตอนการทำงาน ไม่รู้ระบบตรวจสอบแล้วถูกลืมทิ้งในภายหลังหรือไม่เท่านั้น
ประชาชนส่วนใหญ่รู้อย่างไร เข้าใจอย่างไร และเลือกอย่างไร มันก็ได้อย่างนั้นกลับคืน

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - S.N.P. GROUP

Logistics

การขนส่งรูปแบบ Sea-Air : โอกาสของการรักษาความเป็นศูนย์กลางการขนส่งของสิงคโปร์

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้อุตสาหกรรมการบินและการเดินเรือของสิงคโปร์ต่างมุ่งพัฒนาความสามารถในการขนส่งแบบ Sea-Air เพื่อใช้ประโยชน์จากโอกาสด้านธุรกิจที่เกิดขึ้น อีกทั้ง การพัฒนาดังกล่าวจะเป็นโอกาสที่ดีของสิงคโปร์ในการรักษาสถานะการเป็นศูนย์กลางการขนส่งซึ่งได้รับผลกระทบจากการปิดพรมแดนระหว่างประเทศในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19

นาย Ong Ye Kung รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (Minister of Transport) กล่าวเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมาว่า สิงคโปร์ไม่ควรชะล่าใจว่า สิงคโปร์จะยังคงสถานะการเป็นศูนย์กลางการบิน หลังจากการแพร่ระบาดไวรัสของโควิด19 สิ้นสุดลง

การปิดพรมแดนระหว่างประเทศ ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารที่สนามบินชางงี (Changi Airport) ลดลงอย่างมาก โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จำนวนผู้โดยสารลดลง 32.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ในขณะที่เดือนเมษายนและกรกฎาคม 2563 จำนวนผู้โดยสารลดลงถึง 99.5% และ 98.5% ตามลำดับเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2562 นอกจากนี้ การขนส่งทางอากาศก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 จำนวนการขนส่งทางอากาศลดลงกว่า 30.1% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2562

ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 ครึ่งหนึ่งของการขนส่งทางอากาศของโลกเป็นการขนส่งผ่านเครื่องบินผู้โดยสาร และเมื่อจำนวนเที่ยวบินผู้โดยสารน้อยลง ส่งผลให้ความสามารถในการจัดส่งปริมาณสินค้าได้น้อยลง โดยจากข้อจำกัดด้านการขนส่งทางอากาศดังกล่าว ส่งผลให้สินค้าที่มีความสำคัญและจำเป็นจะได้รับการจัดส่งก่อนสินค้าทั่วไป

นาย Alex Hungate ประธานและประธานบริหารบริษัท SATS ผู้ให้บริการภาคพื้นและการบริการบนเครื่องบินของสิงคโปร์ กล่าวว่า ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ช่องว่างระหว่างอัตราการขนส่งทางอากาศและทางทะเลขยายกว้างขึ้น ก่อให้เกิดโอกาสของการขนส่งแบบ Sea-Air มากขึ้น โดยในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2563 ด้วยข้อจำกัดของจำนวนเที่ยวบิน ส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งทางอากาศสูงขึ้น 10 เท่าจากอัตราปกติ และช่องว่างระหว่างค่าขนส่งทางอากาศกับค่าระวางเรืออาจจะเท่ากับ 20:1 ดังนั้น จึงเป็นโอกาสมหาศาลของผู้ขนส่งจากความต่าง 20 เท่าของราคา โดยผสมผสานการขนส่งระหว่างอากาศและทะเล

อย่างไรก็ดี การเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างการขนส่งทางทะเลและทางอากาศนั้นยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เพราะแต่ละหน่วยงานมีวิธีการทำงาน กำหนดราคา หรือการเรียกเก็บเงินที่แตกต่างกัน ซึ่งในขณะนี้ SATS ได้ร่วมมือกับท่าเรือสิงคโปร์ (Port of Singapore Authority : PSA) โดยการทำ Digital Solutions และสร้างระบบ Interface ที่ช่วยให้ผู้ส่งสินค้า (Shipper) สามารถติดตามข้อมูลในการขนส่งสินค้าตั้งแต่สินค้าผ่านสนามบินจนถึงรถหัวลากที่บรรทุกสินค้าจากสนามบินชางงีไปยังท่าเรือสิงคโปร์จนสินค้าโหลดลงเรือ เทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยปรับปรุงการเคลื่อนย้ายสินค้าในห่วงโซ่อุปทานให้มีประสิทธิภาพในการขนส่งมากขึ้น อย่างไรก็ดี การขนส่งแบบ Sea-Air จะใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพนั้น การเชื่อมต่อทางอากาศต้องกลับสู่ภาวะปกติ

Ms. Ngai Simin จากบริษัท Cirium Dashboard บริษัทข้อมูลและวิเคราะห์การเดินทาง กล่าวว่า สิงคโปร์มีชื่อเสียงด้านการเดินเรือ และเป็นศูนย์กลางการเปลี่ยนถ่ายสินค้าทางเรือ (Transhipment Hub) ที่มีประสิทธิภาพระดับโลก ท่าเรือสิงคโปร์เป็นท่าเรือขนาดใหญ่ที่ได้รับการพัฒนาอย่างดีและสามารถจัดการขนถ่ายสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้ง สิงคโปร์เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและมีโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมทางบกที่ดีมาก จึงเป็นปัจจัยทำให้สิงคโปร์เหมาะกับการขนส่งสินค้าแบบ Sea-Air

Ms. Tan Beng Tee ผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายพัฒนาของการท่าเรือสิงคโปร์ (Maritime and Port Authority of Singapore : MPA) กล่าวว่า รูปแบบการขนส่งผสมผสานแบบ Sea-Air นั้นจะช่วยย่นระยะเวลาในการขนส่งสินค้า ทำให้สินค้าไปถึงที่หมายปลายทางได้ตามกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์แช่แข็งต่างๆ อีกทั้งหน่วยงานภาครัฐต่างๆ กำลังทำงานกันอย่างใกล้ชิดเพื่อพัฒนาการขนส่งถ่ายลำแบบ Sea-Air ทั้งนี้ สายเดินเรือกว่า 200 สายได้เชื่อมต่อการเดินทางไปยังท่าเรือต่างๆ 600 แห่งทั่วโลกจากท่าเรือสิงคโปร์ ดังนั้น ท่าเรือสิงคโปร์จัดว่าเป็นเครือข่ายการเชื่อมต่อที่ใหญ่มาก และหากมีการเชื่อมต่อกับทางอากาศ เครือข่ายการเชื่อมต่อของท่าเรือสิงคโปร์จะครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

ในขณะที่ โฆษกของ หน่วยงาน Enterprise Singapore กล่าวว่า จากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลก ส่งผลให้เกิดความต้องการการขนส่งหลายรูปแบบเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์จำนวนมากมีการเปลี่ยนแปลงมีวิธีการขนส่งให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยใช้ประโยชน์จากการขนส่งสินค้าต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodel Transhipments) เช่น ทางอากาศต่อทางเรือ (Air-Sea) หรือทางเรือต่อทางอากาศ (Sea-Air) หรือทางเลือกเส้นทางการค้าใหม่ๆ เพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้า (Flow of goods) ทั้งนี้ ธุรกิจที่กำลังขยายโตรวดเร็วอย่าง E-Commerce ผู้บริโภคต่างมีความต้องการและความคาดหวังที่สูงขึ้นว่าจะได้รับการจัดส่งสินค้าที่ตรงเวลา มีประสิทธิภาพ และราคาถูก บริษัทโลจิสติกส์ที่สามารถให้บริการแบบครบวงจร (End-to-end Solutions) ต่างเตรียมความพร้อมสำหรับโอกาสนี้ เช่น บริษัท ALEX Fulfilment เป็นต้น

นาย Rodney Ee กรรมการผู้จัดการบริษัทโลจิสติกส์และขนส่งสินค้า ALEX Fulfilment กล่าวว่า อุปสงค์ด้านคลังสินค้าและบริการการจัดส่งสินค้าของกลุ่มธุรกิจ E-Commerce ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 60% ตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลายๆ บริษัทที่โดยปกติไม่เน้นการขายสินค้าทางออนไลน์ได้ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงรูปแบบเว็บไซต์ ตลาดขายของออนไลน์ (marketplace) ของตัวเอง หรือตลาดขายของออนไลน์แบบดั้งเดิมอย่าง Lazada RedMart โดยมีความต้องการทางด้านโลจิสติกส์มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นบริการคลังสินค้าและบริการขนส่งสินค้า

การขนส่งแบบ Sea-Air ไม่ได้เป็นทางเลือกโดยทั่วไป เนื่องจากทั้งสองวิธีมีข้อดีแตกต่างกัน การขนส่งทางอากาศนั้นเร็วและเป็นการเดินทางแบบเที่ยวบินตรง ดังนั้น สินค้าที่มีมูลค่าสูงมักจะดำเนินการขนส่งทางอากาศ และจากสถิติของ IATA พบว่า ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด19 การขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Cargo) นั้น มีอัตราส่วนเพียง 1% จากปริมาณขนส่งการค้าโลก และ 35% ในเชิงมูลค่าทางการค้าโลก ในขณะที่ รายงานของสภาหอการค้าขนส่งทางเรือ (International Chamber of Shipping : ICS) พบว่า การขนส่งทางทะเล (Sea Freight) มีอัตราส่วนถึง 90% ของปริมาณขนส่งการค้าโลก ในขณะที่การขนส่งทางบกมีอัตราส่วน 9% เนื่องจากค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับการขนส่งวิธีอื่นๆ

ที่มา : https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/650638/650638.pdf&title=650638&cate=413&d=0

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.