CEO ARTICLE

ศึกชิงตู้สินค้า


Follow Us :

    

IMF เตือนเศรษฐกิจสหรัฐอาจมีความเสี่ยงหลัง Covid-19 มอง GDP ปีนี้ถดถอย -6.6%

https://brandinside.asia/ ให้หัวข้อข่าวข้างต้นเมื่อ 20 ก.ค. 2563 โดยคาดการณ์)ว่า สหรัฐนอกจากจะมีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลกแล้ว การบริโภคก็จะลดลงด้วย
วันนี้ ผู้ติดเชื้อ Covid-19 ทั่วโลกมีราว 55 ล้านคน เฉพาะในสหรัฐติดเชื้อมากที่สุดราว 11 ล้านคน และมีการติดเชื้อเพิ่มรายวันมากที่สุดนับแสนคนบวกลบตามที่คาดการณ์
ความต้องการสินค้าลดลง คนตกงานเพิ่มขึ้น ธุรกิจปิดตัวมากขึ้น เศรษฐกิจเลวร้ายลง และเป็นสาเหตุหนึ่งที่โดนัล ทรัมป์เสียคะแนนให้แก่โจ ไบเดน ในศึกชิงประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2563
ในยุคทรัมป์เป็นผู้นำ สหรัฐเปิดศึกชิงเจ้าเศรษฐกิจกับจีนอย่างเอาเป็นเอาตาย กระทบห่วงโซ่อุปทานไปทั่วโลกและการส่งออกของไทย
สหรัฐกำลังเปลี่ยนตัวผู้นำ ไม่รู้ว่าเศรษฐกิจจะไปทางไหน ขณะที่จีนผ่านพ้นช่วงเลวร้ายไปแล้ว กำลังเร่งการผลิต เร่งส่งออก เร่งขนเงินเข้าประเทศ เศรษฐกิจกำลังเติบโต
ส่วนไทยควบคุม Covid-19 เป็นที่ 1 กำลังวุ่นอยู่กับม็อบเยาวชน เศรษฐกิจจึงยังไม่ฟื้นตัว แต่กลับต้องรับกรรมจาก “ศึกชิงตู้สินค้า” ระหว่างสหรัฐกับจีนจากช่วง Covid-19 ที่ทำให้ค่าระวางขนส่ง (Freight) สูงขึ้นซ้ำเติมผู้นำเข้า ผู้ส่งออก และเศรษฐกิจอย่างไม่ทันตั้งตัว

“ตู้สินค้า” หรือ Container เป็นภาชนะขนาดใหญ่ ใช้บรรจุสินค้าเพื่อการนำเข้าและส่งออก นับเป็นวิวัฒนาการด้านโลจิสติกส์ สร้างความปลอดภัยให้สินค้าที่อยู่ภายใน การจัดเรียง การเก็บรักษา และการเคลื่อนย้าย หลายสิบปีที่ผ่านมาจึงเป็นที่นิยมมาก
จีนเป็นผู้ผลิตตู้สินค้ารายใหญ่ อาจถึง 90% ของโลก เป็นประเทศผู้ขาย ส่วนสหรัฐเป็นผู้บริโภคมาก เป็นผู้ซื้อ สองประเทศนี้จึงใช้ตู้สินค้าเพื่อการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศมากกว่าใครในโลก
พอสหรัฐติดเชื้อ Covid-19 มากที่สุด เกิดการหยุดงาน การบริโภคชะลอตัว ตู้สินค้าที่นำเข้าจึงถูกกองสุมในเขตท่าเรือต่าง ๆ จำนวนมาก สินค้าที่บรรจุภายในตู้สินค้าขนถ่ายออกไม่ได้
ผลก็คือ ตู้สินค้าที่ผู้ขนส่งทางเรือ (Shipping Agent) จำเป็นต้องใช้ทั่วโลกเกิดการขาดแคลน
บางข่าวแจ้งว่า สหรัฐรู้ว่าจีนต้องการตู้สินค้ามาก เมื่อมีเหตุ Covid-19 จึงดึงตู้สินค้าไว้ ไม่ปล่อยออกไปเพื่อให้มีผลกระทบต่อจีน ข่าวนี้แม้ไม่มีหลักฐานพิสูจน์ แต่ผลที่สหรัฐปล่อยตู้สินค้าออกมาไม่ได้ก็มีผลกระทบต่อจีนจริง ๆ
เมื่อตู้สินค้าส่วนใหญ่ถูกกองอยู่ในสหรัฐ ทั่วโลกเกิดการขาดแคลน ผู้ขนส่งทางเรือจึงวุ่นวายกับการไปรับตู้สินค้าจากประเทศต่าง ๆ เท่าที่ทำได้เพื่อนำมาใช้ แต่ก็ทำได้ไม่มาก
ในที่สุด ตู้สินค้าก็เกิดการขาดแคลนในจีน ค่าความวุ่นวายในการจัดการหาตู้สินค้าจึงถูกรวมลงไปในค่าระวางขนส่ง (Freight) ให้เป็นภาระแก่ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกทั่วโลก
ประเทศไทยมีการนำเข้าและส่งออกทั้งกับสหรัฐ ยุโรป เอเชีย และจีน แต่หากมองลึกลงไป ไทยซื้อสินค้าจากจีนมากที่สุด เมื่อตู้สินค้าเกิดขาดแคลน ค่าระวางขนส่งจากจีนจึงพุ่งสูงขึ้น ผู้นำเข้าของไทยจึงต้องรับกรรมต่อที่ 1 จากศึกชิงตู้สินค้าระหว่างสหรัฐกับจีน
เมื่อตู้สินค้าเข้าไทยน้อยลง ผู้ส่งออกของไทยก็ต้องแย่งชิงตู้สินค้าเพื่อการส่งออก ต้องจ่ายค่าระวางขนส่งสูงขึ้น ไทยจึงรับกรรมเป็นต่อที่ 2 จากตู้สินค้าในศึกชิงตู้สินค้าในครั้งนี้
ค่าระวางขนส่งที่เพิ่มขึ้นครั้งนี้ไม่ใช่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่เพิ่มขี้นเป็นเท่าตัว บางกรณีเพิ่มกว่า 10 เท่าก็มี ผู้ประกอบการบางรายจึงใช้การวางแผนล่วงหน้าร่วมกับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ
บางรายยินยอมให้วางมัดจำค่าระวางก็มี แต่สุดท้ายค่าระวางขนส่งก็ยังขึ้นอย่างมัดมือชก แถมกำหนดการเดินเรือก็เกิดความไม่แน่นอนง่าย ๆ
IMF เตือนสหรัฐว่า อาจมีความเสี่ยงหลัง Covid-19 แต่ไม่ได้เตือนเรื่องตู้สินค้าและโลจิสติกส์
ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลนครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นแผนเอาคืนของสหรัฐจริงหรือไม่ จีนจะแก้เกมด้วยการสร้างตู้สินค้ามาใช้งานเพิ่มขี้นได้เร็วแค่ไหน สุดท้ายก็ต้องรอเป็นเดือน หรืออาจมากกว่า 6 เดือนเพราะ Covid-19 ในสหรัฐยังคงไม่จบลงในเร็ววัน
เหลียวมองประเทศไทย ภาพที่เห็นจนชินตาคือตู้สินค้าเปล่าตามสถานที่เก็บกระจายไปทั่ว ทั้งหมดเป็นของเอกชน และผู้ขนส่งทางเรือ (Freight Agent) ส่วนใหญ่เป็นของต่างชาติ จะมีเพียง 1 หรือ 2 รายที่เป็นของไทย
ส่วนสมาคมและสมาพันธ์ที่เกี่ยวกับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โลจิสติกส์ การนำเข้า ส่งออก ท่าเรือ ลานบรรจุสินค้าเข้าตู้ และตู้สินค้าก็มีมาก ไม่รู้ตู้เป็นของใคร ต่างคนต่างอยู่
แบบนี้ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกก็ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร ได้แต่ก้มหน้ารับกรรม
ในเมื่อเป็นปัญหาระดับโลก สมาคมและสมาพันธ์ต่าง ๆ ก็ควรขึ้นมารับเป็นเจ้าภาพ หาข้อมูล หามาตรการเสนอรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ขนส่ง (Freight Agent) ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก และผู้ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนตู้สินค้าโดยเร็ว เช่น การนำตู้สินค้าที่เก็บไว้มากมายตามลานต่าง ๆ มาเสนอผู้ขนส่งให้สร้างแผนการใช้ประโยชน์ หรือให้จีนเช่าไปใช้ เป็นต้น
ศึกชิงตู้สินค้าครั้งนี้หนักหนา การต่อสู้ และการช่วยเหลือจึงต้องร่วมมือกันทั้งภายในและพันธมิตรระหว่างประเทศ มันจึงต้องมีรัฐบาลเป็นหัวหอก มิฉะนั้นผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจจะหนักขึ้น และสุดท้ายก็อาจวนกลับมาให้รัฐบาลเยียวยาอยู่ดี

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - S.N.P. GROUP

Logistics

พบกับ “Kite” ไอเดียแท็กซี่ไฟฟ้าบินได้ ขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติ

จากสถิติอัตราการเติบโตของประชากรโลกที่ดูท่าว่าจะพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ ต่อไปการจราจรบนท้องถนนอาจจะไม่พอเสียแล้ว ดังนั้นการจราจรทางอากาศอาจจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจก็เป็นได้

ถึงคราวของการท่องเที่ยวบนน่านฟ้าแบบส่วนตัวด้วย “flying taxis” โดยดีไซน์เนอร์ชาวอิตาเลียน “Andrea Ponti” ได้ออกแบบคอนเซ็ปต์ของแท็กซี่ไฟฟ้าบินได้ที่จะสามารถขับเคลื่อนเองได้แบบอัตโนมัติ ทั้งเป็นส่วนตัวแถมยังไม่ต้องกลัวการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีกด้วย

โดยการออกแบบนี้เป็นความมุ่งหมายที่จะสร้างการเดินทางทางอากาศที่ปลอดภัยสำหรับแถบพื้นที่อ่าวของประเทศจีน ด้วยการเริ่มต้นรูปแบบการเดินทางใหม่ ๆ อันเนื่องมาจากช่วงการระบาดของไวรัสที่ทำให้การเดินทางและการท่องเที่ยวต่าง ๆ แทบจะไม่มีที่ยืน ดังนั้นการออกแบบนี้ก็อาจจะช่วยในเรื่องของการคมนาคมภายในประเทศ ที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าปลอดภัยจากการติดต่อและแพร่ระบาดโรคได้อย่างแน่นอน

ตัวแท็กซี่บินได้นี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากนกล่าเหยื่อยอดนิยมในฮ่องกงคือเหยี่ยวดำ (black Kite) แอนเดรีย ผู้ออกแบบ จึงได้ตั้งชื่อคอนเซ็ปต์นี้ว่า “Kite” เช่นกัน ตัวแท็กซี่จะมีระบบขับเคลื่อนแบบสี่เครื่องใบพัดคล้ายกับที่โดรนใช้ และมีประตูเข้าออกหนึ่งประตู

ภายในยังออกแบบมาให้สามารถบรรทุกคนได้สูงสุดถึง 4 ที่นั่ง และมีการตกแต่งอย่างหรูหราด้วยบรรยากาศแบบเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว และยังมีระบบอำนวยความสะดวกและความบันเทิงต่าง ๆ เช่น พยากรณ์อากาศ, บอกระยะทางก่อนถึงจุดหมาย และความบันเทิงส่วนตัวจากภาพยนต์ที่คุณชื่นชอบ

ใต้ที่นั่งยังมีช่องสำหรับเก็บของหรือสัมภาระส่วนตัว และสำหรับใครที่ต้องทำงานไปด้วยก็มีถาดรองพับเก็บได้ที่จะสามารถดึงออกมารองคอมพิวเตอร์ทำงานหรือจะใช้รองถาดของว่างกินเพลิน ๆ กว่าจะถึงจุดหมายได้เช่นกัน

เมื่อถึงจุดลงจอด Kite จะสามารถชาร์จพลังงานจาก charging ports เพื่อเตรียมเดินทางในรอบถัดไปได้ และเพื่อให้การลงจอดเป็นไปด้วยความนุ่มนวลมากที่สุด ก็จะมีตัวป้องกันการลื่นไถลที่สามารถประกอบได้เพื่อช่วยในการลงจอดมากขึ้น และยังมีการออกแบบให้ตัวแท็กซี่บินได้นี้มีความโค้งมนและสามารถประหยัดพลังงานสำหรับเที่ยวบินระยะยาวได้

ที่มา : https://www.tnnthailand.com/content/61438

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.