CEO ARTICLE

มุมมอง 2564

Published on January 5, 2021


Follow Us :

    

“การทุจริตทำให้ประเทศไทยวุ่นวายและประชาชนยังจมอยู่ในความทุกข์ไม่สิ้นสุด”

วันนี้เป็นที่แน่ชัดว่า การแพร่ระบาดของ Covid-19 ระลอกใหม่เกิดขึ้นจากแรงงานลักลอบเข้าประเทศ และการลักลอบเปิดบ่อนการพนันโดยมี “การทุจริต” เป็นสื่อนำ
การทุจริตทำให้ “ความจริงจัง” ในการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐลดลง
ในปี 2540 IMF ก็เคยกล่าวหาไทยว่ามีการทุจริตมาก มีเงินใช้จ่ายเกินความจริงจนเงินบาทอ่อนค่า ลอยตัว เกิดโรค “ต้มยำกุ้ง” ที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาลในภูมิภาค
ความรุนแรงของ Covid-19 ในต้นปี 2564 เชื่อว่าจะคุมได้ยากกว่า หนักกว่า กระทบต่อสังคม และเศรษฐกิจในวงกว้างกว่าเก่า และในไม่ช้าก็จะมีผู้ติดเชื้อนับหมื่นคน
ตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลกทะลุ 85 ล้านคนแล้ว หลังปีใหม่เพิ่มราว 1 ล้านคนในทุก ๆ 2 วันโดยไม่รู้ว่าจะยุติได้เมื่อไร และตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงสูงถึง 100 ล้านคน
การแพร่ระบาดในต่างประเทศเกิดขึ้นหลายระลอก จากหลายสาเหตุ แต่ก็ไม่มีข่าวเชื่อมโยงกับการทุจริตที่ดูน่าอับอายอย่างประเทศไทย
ความรุนแรงของ Covid-19 ทำให้ทั่วโลกต่างทุ่มเทกับการผลิตวัคซีน แม้จะยอมรับได้ในวันนี้ แต่ก็ยังไม่มีการรับรองประสิทธิภาพและความปลอดภัยแบบ 100%
รัสเซียเป็นประเทศแรกที่เริ่มทะยอยฉีดวัคซีนในต้นเดือนธันวาคม 2563 จากนั้นก็อังกฤษ และหลายประเทศในสหภาพยุโรป สหรัฐ แคนาดา และอาร์เจนตินา
ส่วนประเทศไทยทั้งที่ขาดเงินแต่ก็คาดหวังว่าจะได้รับราวเดือนกุมภาพันธ์ 2564

ตั้งแต่กลางปี 2563 เศรษฐกิจไทยค่อย ๆ ดีขึ้น เกิดแผนการท่องเที่ยวช่วงปลายปี และคาดการณ์กันว่า ปี 2564 เศรษฐกิจไทยน่าจะเป็นบวก แต่ทุกอย่างกลับพังทลายตั้งแต่ปลายปี
สิ่งที่ชัดเจนคือ ไตรมาสแรกของปี 64 ธุรกิจทุกอย่างคงแย่ลงยกเว้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการแพร่ระบาดซึ่งมีไม่มาก และกว่าจะดูดีได้ก็คงต้องเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ไปแล้ว
ธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวทั้งหมดน่าจะหนักที่สุด กว่าจะยืนกลับเหมือนเดิมได้ก็คงใช้เวลาอีก 2-3 ปี เว้นแต่วัคซีนทั่วโลกได้ผลดีและเศรษฐกิจโลกดีเกินคาด
คนหาเช้ากินค่ำจะประสบปัญหามากที่สุด และโครงการคนละครึ่งก็เป็นที่ถูกใจมากที่สุด
รัฐบาลจึงควรต่อยอด ขยายฐานประชาชนให้กว้างขึ้น และเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจภาพรวมให้มากขึ้น เงินที่ชาวบ้านได้รับครึ่งหนึ่ง แม้ดูไม่มาก แต่ก็ช่วยเหลือจริง ถึงมือจริง กระตุ้นการใช้จ่าย การซื้อ การขาย และการผลิตโดยตรงได้ทั่วประเทศจริง
มันดีกว่าการยัดเงิน 3,000 บาทใส่มือโดยไม่รู้ว่า ผู้รับเอาไปซื้อเหล้า เล่นหวย หรือทำอะไร
ที่สำคัญที่สุดคือ เงินโอนเข้าแอพของประชาชนและผู้ค้า ตัดช่องทางเงินหายออกไป ตรวจสอบการใช้จ่ายง่าย และทำให้ร้านค้าที่มีเจตนาทุจริตถูกตรวจจับได้ง่าย
ปัญหาของประเทศไทยในปี 2564 จึงเหลือเพียงหนึ่งเดียวที่จะทำให้สังคมและเศรษฐกิจดีขึ้นได้ หรือถดถอยลงอีกคือ “การเมือง” เพื่อการช่วงชิง “อำนาจ” และ “ผลประโยชน์”
ความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นมานาน ปะทุหนักหลายครั้ง หนักขึ้นในปี 2563 แล้วสงบลง ถูกสะสมไว้ และต่างก็เชื่อว่าจะปะทุขึ้นในปี 2564 อีกแน่นอน
ไม่ว่า Covid-19 จะควบคุมได้ดีหรือไม่ การก่อกวนทางการเมืองทั้งในโลกจริงและโลกโซเซียลจะสร้างความเสียหายให้แก่รัฐบาล ซ้ำเติมสังคมและเศรษฐกิจให้หนักยิ่งขึ้น
หากการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองและผลประโยชน์โดยไม่มีการทุจริต หรือทุจริตเชิงนโยบายแอบแฝง เป็นไปโดยสุจริต การเมืองจะเป็นเรื่องที่ใสสะอาดตามแนวทาง “ประชาธิปไตย” จริง ๆ
แต่เพราะการเมืองของไทยจะมากไปด้วยเล่ห์เหลี่ยม กลอุบาย การปล่อยข่าวเท็จ ข่าวลวง และเจตนาแอบแฝงเพื่อ “อำนาจ” เพื่อ “ผลประโยชน์” มันจึงดูใสสะอาดน้อยกว่าประเทศอื่น
ตราบใดที่การเมืองต้องใช้เงินมาก ๆ สิ่งที่ตามมาก็คือการลงทุน การใช้อำนาจโดยมิชอบ การก่อกวนไม่ว่าในหรือนอกสภา และวนกลับมาสู่วังวนของการทุจริต การปล่อยละเลยของข้าราชการ การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่จริงจัง และการถอนทุน
อำนาจเบ็ดเสร็จจากการรัฐประหารก่อให้เกิดผลประโยชน์และการทุจริต การเลือกตั้งที่ใช้เงินมาก ๆ ก็ก่อให้เกิดการสุมหัวของนักการเมือง ผลประโยชน์ และการทุจริตไม่ต่างกัน
สภาพภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของไทยที่ดีอยู่แล้ว แต่ Covid-19 รอบใหม่ก็เกิดและสาหัสจนได้ มันจึงเหลือเพียง “การบังคับใช้กฎหมาย” ให้จริงจังกับทุกเรื่องที่มิชอบเท่านั้น
ไม่ใช่จริงจังเฉพาะฝ่ายตรงข้าม แต่ฝ่ายของตนละเลย มันต้องจริงจังต่อทุกฝ่าย
หากทำได้ ความชอบธรรมในการขับไล่รัฐบาลก็จะลดลง การทุจริตก็จะลดลง สภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมืองก็จะดีขึ้น วัฒนธรรมอันดีงามจะลอยเด่นขึ้นส่งผลให้ความวุ่นวายและความทุกข์ที่สะสมของประชาชนคลายตัว
การบังคับใช้กฎหมาย “อย่างจริงจัง” จึงเป็นทางออกที่รัฐบาลจะพาประชาชนให้ผ่านพ้นความวุ่นวาย และความทุกข์ที่สะสมในปี 2564 นี้

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : January 5, 2021

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - S.N.P. GROUP

Logistics

ขนส่งฯ เข้ม 5 มาตรการขนส่งสัตว์สิ่งของเข้า-ออกพื้นที่เสี่ยงสูง หวังสกัดโควิดระลอกใหม่

กรมขนส่งฯ ออกประกาศ 5 มาตรการคุมการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่สำหรับผู้ประกอบการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่มีการเข้า-ออกพื้นที่ควบคุมสูงสุด
แนะผู้ประกอบการให้ติดตามข้อมูลจากภาครัฐอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า เพื่อให้การดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นไปด้วยความเหมาะสม สอดคล้องกับการแบ่งพื้นที่ตามสถานการณ์ที่มีความเสี่ยง กรมฯจึงออกประกาศกำหนดมาตรการปฏิบัติเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของที่มีการเข้า-ออกพื้นที่ควบคุมสูงสุดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ผู้ประกอบการขนส่งต้องทำความสะอาดยานพาหนะด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทั้งภายในและภายนอกตัวยานพาหนะก่อนบรรทุกสินค้าทุกครั้ง กรณีบรรทุกขนส่งสินค้าประเภทอาหารสดจะต้องมีเอกสารรับรองว่าสินค้าผ่านมาตรการตรวจสอบความปลอดภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดไว้ประจำรถด้วย เช่น อาหารทะเล ต้องมีเอกสารรับรองจากกรมประมง เป็นต้น

ข้อ 2 ผู้ประกอบการขนส่งต้องกำชับให้พนักงานขับรถควรอยู่แต่ในรถไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้องระหว่างการขนถ่ายสินค้าและสัมผัสกับตัวสินค้าตลอดการขนส่ง โดยจะต้องดูแลเรื่องความสะอาดของตนเอง สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา และมีแอลกอฮอล์เจลติดตัวไว้ทำความสะอาดมืออย่างสม่ำเสมอ หากมีความจำเป็นที่พนักงานขับรถจะต้องสัมผัสกับตัวสินค้า พนักงานขับรถต้องสวมถุงมือยางและสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาจนกว่าจะทำการขนส่งสินค้าเสร็จ

ข้อ 3 ผู้ประกอบการขนส่งต้องกำชับให้เจ้าหน้าที่สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะปฏิบัติงานและให้มีการตรวจสอบสภาพร่างกายเจ้าหน้าที่และพนักงานขับรถ โดยจัดให้มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายเพื่อคัดกรองรายวันก่อนปฏิบัติงานทุกวัน หากพบเจ้าหน้าที่หรือพนักงานขับรถคนใดที่มีอุณหภูมิสูงเกินกว่า 37.5 องศาเซลเซียส หรือมีอาการไอ เจ็บคอ หอบ เหนื่อย จะต้องไม่อนุญาตให้ทำงานหรือเข้ามาภายในสถานประกอบการจนกว่าจะได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ข้อ 4 ผู้ประกอบการขนส่งจะต้องดูแลและทำความสะอาดภายในบริเวณสถานประกอบการและบริเวณสถานที่ขนถ่ายสินค้าด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคเพื่อให้มั่นใจว่ามีความสะอาดเพียงพอและปลอดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19)

ข้อ 5 ผู้ประกอบการขนส่งต้องปฏิบัติตามมาตรการและแนวทางการดำเนินการเพื่อเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) ที่กำหนดโดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอย่างเคร่งครัด

อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการขนส่งทางบกได้ออกประกาศฉบับดังกล่าวเพื่อกำหนดมาตรการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดไว้ ซึ่งการดำเนินการต้องมีความเข้มงวดทุกมาตรการ โดยผู้ประกอบการขนส่งสามารถพิจารณาปรับมาตรการต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของพื้นที่ โดยในช่วงนี้ขอให้ติดตามข้อมูลจากทางภาครัฐอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ที่มา : http://www.logisticstime.net/archives/21382

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.