CEO ARTICLE

คอคอดกระ

Published on January 19, 2021


Follow Us :

    

“ช่องแคบมะละกา” (Strait of Malacca) เป็นยุทธศาสตร์โลกมานานนับร้อยปี

การขนส่งสินค้าทางเรือระหว่างประเทศแถบญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีนกับสหรัฐ อังกฤษและประเทศต่าง ๆ ซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และมหาอำนาจนั้น เรือสินค้าต้องวิ่งอ้อมคาบสมุทรมลายู (Malayu Peninsula) ซึ่งเป็นทางแคบที่เรียกว่า “ช่องแคบมะละกา”
ช่องแคบนี้กั้นประเทศมาเลเซียกับอินโดนีเซียโดยมีท่าเรือสิงคโปร์เป็นปากทาง
น้ำมัน ปิโตเลียมเหลว ก๊าซธรรมชาติเหลวจากตะวันออกกลาง วัตถุดิบอื่น และการค้าของประเทศในแถบเอเซียจำเป็นต้องผ่านช่องแคบนี้
ด้วยเหตุนี้ในอดีต สิงคโปร์จึงกลายเป็นเมืองท่าสำคัญและมีเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว
หากเรือสินค้าไม่ต้องการวิ่งอ้อมช่องแคบมะละกาที่มีความยาว 800 กม. เสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย และทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น
“เรือสินค้าก็ต้องวิ่งผ่าแผ่นดิน ทะลุด้ามขวานทองของไทย”
นับร้อยปีที่ผ่านมา แนวคิดขุด “คลองไทย” ตรงจังหวัดชุมพร เชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวไทยตรงบริเวณ “คอคอดกระ” ที่มีความกว้างเพียง 50 กม. จึงเกิดขึ้นเรื่อยมา มีทั้งประเทศส่งเสริมและห้ามปราม ใครยึดคลองไทยนี้ได้ก็จะได้เปรียบสงครามและเศรษฐกิจโลก
หากขุดได้ คลองไทยจะกลายเป็นยุทธศาสตร์โลกแทนที่ช่องแคบมะละกาและสิงคโปร์

“คอคอดกระ” เป็นโครงการที่มีผลต่อสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองระหว่างประเทศ และภายในประเทศของไทยมานานนับร้อยปี
ช่วงสงครามในอดีต อังกฤษก็เคยข่มขู่ไทยไม่ได้ให้ขุดคอคอดกระเพราะกลัวจะกระทบเศรษฐกิจของสิงคโปร์ที่เป็นเมืองขึ้น ขณะที่จีนซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสิงคโปร์ก็เคยขอไม่ให้ขุดเช่นกัน
แต่สถานการณ์วันนี้เปลี่ยนไป ประเทศมหาอำนาจเหล่านี้ก็มีท่าทีเปลี่ยนไป
วันนี้ เรือสินค้าที่วิ่งผ่านช่องแคบมะละกามีมากกว่า 84,000 ลำต่อปี ซึ่งนับเป็น 30% ของสินค้าโลก ขณะที่ธนาคารโลกคาดว่าจะมากกว่า 122,000 ลำในไม่ช้าซึ่งเกินความสามารถที่ทำให้มะละกาอาจเกิดการจราจรติดขัดจากสภาพช่องแคบลักษณะคอขวด
จีนมีการส่งออกมากขึ้น มองเศรษฐกิจตนเอง มองสงครามทุกด้านที่อาจเกิดขึ้น จึงสนใจการขุดคอคอดกระ หรือคลองอื่นโดยเสนอเป็นผู้ลงทุน ให้เงินกู้ ให้เทคโนโลยี หรือมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ
เมื่อจีนขยับ สหรัฐ อังกฤษ ออสเตรเลีย อินเดีย และอีกหลายชาติก็เริ่มให้ความสนใจ ใครชิงคอคอดกระได้ก็น่าจะยึดครองเศรษฐกิจและสงครามในย่านนี้ได้
คอคอดกระและคลองอื่นกำลังจะกลายเป็นชิ้นปลามันในเวทีโลก แต่เผอิญเกิด Covid-19
ภายหลัง Covid-19 และสถานการณ์กลับสู่ปกติ การเจรจาก็น่าจะเกิดขึ้นอีก หากไทยจะขุดไม่ว่าตรงไหน ไทยต้องหวังพึ่งเงินทุนและเทคโนโลยีจากประเทศใดประเทศหนึ่ง ทุกอย่างก็อาจวนเข้าสู่การเมืองระหว่างประเทศอีกครั้ง
แต่ปัญหาคือ การเมืองภายในของไทย และประโยชน์ในวันนี้ที่ไทยจะได้รับ ??
ในด้านผลดี ไทยได้ท่าเรือแห่งใหม่ เป็นเมืองท่าสำคัญแทนที่สิงคโปร์ ได้เป็นศูนย์กลางในภูมิภาคนี้ ได้การท่องเที่ยว และได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ คนไทยที่นิยมด้านนี้ต้องชอบ
ในด้านผลเสีย น้ำจะสกปรกจากการเดินเรือ ระบบนิเวศน์ถูกกระทบแน่ มหาอำนาจอยากร่วมครอบครอง การโน้มแนวและการเสนอต้องเกิดขึ้นจนเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของไทย
ในเมื่อแนวคิดนี้มีมานับร้อยปี จีนก็มีเส้นทางบกอื่นเชื่อมประเทศต่าง ๆ มากแล้ว สิงคโปร์ที่เศรษฐกิจโตไปมากก็คงเตรียมการณ์สร้างเศรษฐกิจแนวอื่น ส่วนเรือขนส่งที่ต้องแวะอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ก็คงไม่เข้ามาคลองไทย
หากรวมเวลาขุดอีกนับ 10 ปี ความคุ้มค่าก็อาจไม่มาก
การที่ไทยไม่ยอมขุดคอคอดกระมาเป็นร้อยปีก็อาจด้วยเหตุนี้ หรืออาจใช้คลองไทยนี้เป็นเพียงเครื่องมือต่อรองการเมืองระหว่างประเทศโดยไม่มีใครรู้ก็ได้อีก
การเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์ หากแนวคิดขุดคลองไทยกลับมาก็จะเป็นประเด็นการเมืองภายในประเทศซ้ำเติมความแตกแยก เกิดการแทรกแซง)ที่กระทบต่อความมั่นคง และอาจทำให้ไทยถูกแบ่งแยกดินแดนตั้งแต่ใต้คอคอดกระออกไปง่าย ๆ
ผลได้และผลเสียต่อสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองทั้งต่อไทยและนานาชาติยังมีอีกมาก
Covid-19 และการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐทำให้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนสงบลง แต่เป็นเพียงชั่วคราว การบริโภคของคนทั่วโลกมีแต่มากขึ้น การผลิต การซื้อ การขาย การขนส่ง และโลจิสติกส์ก็จะมากขึ้นส่งผลให้คอคอดกระและการเจรจาในทางลับอาจกลับมาอีก
หนทางที่จะไม่ผิดพลาดและไม่สร้างความขัดแย้งก็คือ ตัวรัฐบาลต้องได้รับการยอมรับจากประชาชนก่อน ต้องมีวิสัยทัศน์ที่ดี ข่าวสารข้อมูลทุกด้านทุกมุมต้องเปิดเผยในวงกว้าง
การตัดสินใจที่ดีจึงจะเกิดขึ้นได้
หากปราศจากเงื่อนไขเหล่านี้ก็คงมีแต่ศึกษาแล้วศึกษาอีก เสียค่าใช้จ่ายแล้วก็เสียอีก ไม่มีการตัดสินใจเหมือนอดีตนับร้อยปี เว้นแต่ไทยจะได้ประโยชน์จากการใช้คอคอดกระเป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมืองระหว่างประเทศเท่านั้น

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : January 19, 2021

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

จีนเปิดเส้นทางเดินเรือใหม่ เซี่ยเหมิน – สงขลา

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 เรือ LILA BHUM (เรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์, Container Capacity = 889 TEU) ของ Regional Container Lines Group (RCL) ได้เทียบท่าเรือเซี่ยเหมิน (เรือลำนี้ได้เดินทางมาจากท่าเรือสงขลา) เพื่อรับตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 300 TEU ซึ่งบรรจุสินค้า เช่น เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า รองเท้า เป็นต้น ก่อนเดินทางไปยังท่าเรือต่างๆในเส้นทางสายไหมทางทะเล เช่น Taichung (ไต้หวัน), Hong Kong, KampongSaom (กัมพูชา), Haipong (เวียดนาม), ท่าเรือสงขลา เป็นต้น และ 3 สัปดาห์ต่อมา เรือลำนี้จะมาเทียบท่าเรือเซี่ยเหมินอีกคร้ัง เพื่อขนส่งสินค้าจากอาเซียนเข้าสู่ตลาดจีน โดยเหตุผลที่ RCL ได้เพิ่มเส้นทางเดินเรือนี้ เนื่องจากท่าเรือเซี่ยเหมิน ตั้งอยู่ในตำแหน่งยุทธศาสตร์ที่สำคัญและมีระบบโลจิสติกส์ที่ดีสามารถเชื่อมโยงเมืองต่างๆในจีน และมีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจแบบระดับโลก

ทั้งนี้เส้นทางเดินเรือเซี่ยเหมิน- สงขลา เป็นเส้นทางเดินเรือที่ 32 ซึ่งได้เชื่อมโยงท่าเรือเซี่ยเหมิน กับ ประเทศในกลุ่มอาเซียน ตามนโยบาย Belt and Road Initiative (BI)

สำหรับท่าเรือเซี่ยเหมิน แม้ว่าในปี 2563 ที่ผ่านมา ได้เกิดการระบาดของโควิด-19 แต่ท่าเรือเซี่ยเหมินได้พยายามทุกวิถีทางเพื่อรักษาการค้าระหว่างประเทศพัฒนาอย่างมีเสถียรภาพ และสร้างความมั่นคงให้กับห่วงโซ่อุตสาหกรรมเพื่อดึงดูดเรือและสินค้าให้มาเทียบท่าเรือเซี่ยเหมิน โดยระหว่างเดือน มกราคม – ตุลาคม 2563 มีตู้คอนเทนเนอร์ (Throughput) ผ่านท่าเรือ รวมทั้งสิ้น 9.4 ล้าน TEU (เพิ่มขึ้น 1.38%)

ข้อมูลเพิ่มเติม: เมื่อปี 2562 ท่าเรือเซี่ยเหมิน (Xiamen port) มณฑลฝูเจี้ยน มีตู้คอนเทนเนอร์ผ่านท่าเรือ ทั้งสิ้น 11.1222 ล้านTEU (เพิ่มขึ้น 3.92 %) คิดเป็นปริมาณมากที่สุดอันดับที่ 7ของท่าเรือในจีน และปริมาณมากที่สุดอันดับที่ 14 ของโลก อนึ่ง ท่าเรือแหลมฉบัง ประเทศไทย มีตู้คอนเทนเนอร์ผ่านท่าเรือ ทั้งสิ้น 8.07ล้านTEU คิดเป็นอันดับที่ 21 ของโลก

ความเห็นของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน : การที่มีเส้นทางการเดินเรือใหม่ เส้นทางเซี่ยเหมิน-สงขลา จะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้การค้าระหว่างไทย-จีน ให้เป็นไปอย่างสะดวกมากขึ้น

ที่มา : https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/690808/690808.pdf&title=690808&cate=413&d=0

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.