CEO ARTICLE

ชั่วข้ามคืน

Published on February 23, 2021


Follow Us :

    

“แห่บริจาคช่วยไม่หยุด”
“แม่ลูกป้อนข้าวยิ้มออก ยอดทะลุเพิ่มเป็น 6.5 ล้านแล้ว”

Khaosod Online ขึ้นหัวข่าวข้างต้นเมื่อวันศุกร์ที่ 19 ก.พ. 64 เกี่ยวกับ 2 แม่ลูกสกุลเอี่ยมสะอาด
คุณแม่ในวัย 81 ปี และลูกชายในวัย 62 ปี มารอลงทะเบียนในโครงการ “เราชนะ” ถึง 3 ครั้งจนมีภาพและข่าวคุณแม่ป้อนอาหารลูกชายตอนเช้าตรู่ขณะกำลังรอธนาคารเปิดทำการ
จากข่าว 2 แม่ลูกวัยชราอาศัยด้วยกันในจังหวัดกำแพงเพชร ฐานะยากจนมาก ผู้สื่อข่าวเสาะหาหมายเลขบัญชีมาเผยแพร่ได้
คนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ร่ำรวย ยากจน แต่ให้ความสนใจ มีน้ำใจ คนละเล็กคนละน้อยร่วมกันบริจาคจนได้จำนวนเงินข้างต้นอย่างไม่น่าเชื่อเพียงชั่วข้ามคืน
“ชั่วข้ามคืน” ทำให้เห็นเนื้อแท้ของสังคมไทยและภาพต่าง ๆ อีกมากมาย

คนไทยส่วนใหญ่ได้อ่าน ได้ยินข่าวข้างต้นก็รู้สึกซาบซึ้งใจ มีความสุขโดยลืมไปว่า ตนเองก็เป็นคนไทยส่วนใหญ่ผู้หนึ่งที่มีฐานะยากจนไม่ต่างกัน
ความยากจนแม้จะเป็นปัญหาของสังคมไทย แต่ก็ก่อให้เกิดความมีน้ำใจ การให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และการสร้างความสุขจากการให้ตามที่เป็นข่าวซึ่งเป็นด้านดีงาม
ขณะเดียวกันความยากจนก็ก่อให้เกิดการแย่งชิง การเอารัดเอาเปรียบ การหลอกลวง การทุจริต การกู้นอกระบบ ดอกเบี้ยโหด และความทุกข์ซึ่งเป็นด้านเลวร้าย
สังคมไทยจึงมีทั้งด้านดีงามและด้านเลวร้าย และทั้ง 2 ด้านส่งผลต่อความสุขและความทุกข์ให้สะท้อนไปมา แต่นับร้อยปีที่ผ่านมา ความยากจนไม่ได้รับการแก้ไข ด้านดีงามและความสุขจึงค่อย ๆ ลดลง ด้านเลวร้ายและความทุกข์ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น
ทั้งหมดส่งผลสะท้อนกลับไปที่ความยากจนให้สะสมดักดานมากยิ่งขึ้น
การแก้ปัญหาความยากจนจึงต้องเริ่มจากการสร้างความสุข ส่งเสริมความมีน้ำใจ การให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในสังคมไทยที่เป็นด้านความดีงามให้ได้ก่อน
หากจะแก้ไขเรื่องในระดับประเทศก็ต้องเริ่มจากผู้นำทางสังคมทุกฝ่าย เช่น ดารา นักแสดง ผู้มีชื่อเสียง ผู้มีอิทธิพล และมีอำนาจโดยเฉพาะนักการเมืองทุกฝ่ายที่ใช้อำนาจทางนิติบัญญัติและบริหาร
ขณะเดียวกัน ผู้นำทางสังคมทุกฝ่ายก็ต้องหยุดตัวเองจากการแย่งชิง ยุติเล่ห์เหลี่ยม การเอาเปรียบ การหลอกลวง การสร้างข่าวเท็จข่าวลวง และการทุจริตซึ่งเป็นด้านเลวร้ายให้ได้
เมื่อไรที่ทุกฝ่ายโดยเฉพาะนักการเมืองเป็นแบบอย่างที่ดี ใช้อำนาจส่งเสริมด้านดีงาม และยุติด้านเลวร้ายได้ เมื่อนั้นการแย่งชิง ข่าวเท็จข่าวลวง ความขัดแย้ง การทุจริต และความวุ่นวายจะลดลง ความทุกข์ของประชาชนก็จะลดลง และความสุขจะเพิ่มขึ้นแทนที่
หากสภาพกาลเช่นนี้เกิดขึ้นได้ โครงการช่วยเหลือ การส่งเสริมอาชีพที่สุจริต และการปรับโครงสร้างประเทศต่าง ๆ ในระยะยาวก็จะสัมฤทธิ์ผลและส่งผลให้ความยากจนลดลง
ประเทศจีนเคยยากจนมากกว่าไทยมาก่อน นับร้อยปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งทางการเมืองก่อให้เกิดสงคราม การฆ่า การทุจริต และความยากจน
คนจีนนับล้านหนีร้อนมาพึ่งเย็นและระลึกบุญคุณของประเทศไทย
แต่กว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลจีนหยุดยั้งการแย่งชิงอำนาจ ความขัดแย้ง กำจัดข่าวเท็จข่าวลวง ประหารและยึดทรัพย์ข้าราชการและนักการเมืองที่ทุจริตอย่างจริงจัง ส่งเสริมความเป็นเอกลักษณ์ วัฒนธรรม และสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นจีน
ผลที่ตามมาคือ ความรักชาติเกิดขึ้น ความขัดแย้งลดลง ความสุขเกิดขึ้น โครงการรัฐบาลค่อย ๆ ได้ผลเรื่อย ๆ เศรษฐกิจเติบโต และวันนี้ความยากจนหมดไป
ความยากจนที่เป็นปัญหาสะสมมานานนับร้อยปีจึงไม่ใช่สิ่งที่จะแก้ไม่ได้
ความพยายามเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมไทย การเรียนแบบสังคมตะวันตกที่มีรากเหง้าต่างกัน การแย่งชิงอำนาจด้วยการโจมตีฝ่ายตรงข้าม การหลอกลวง การสร้างข่าว และการซื้อเสียงจึงไม่ใช่การแก้ปัญหาความยากจน
แต่เป็นการตอกย้ำความยากจนให้ยิ่งจมดิ่งและยิ่งดักดานลึกลงไป
เพียง “ชั่วข้ามคืน” ที่คนไทยร่วมบริจาคช่วยเหลือ 2 แม่ลูกด้วยเงิน 6.5 ล้านบาททำให้เห็นภาพดีงามและความสุข หากนักการเมืองเห็นภาพตามนี้ก็นับเป็นบุญคุณมหาศาลของคนยากจน
ความยากจนแก้ได้ หลายประเทศเคยแก้ได้ สิงคโปร์แก้ได้ จีนแก้ได้ ไทยก็ต้องแก้ให้ได้
ปัญหาจึงอยู่ที่บุคคลระดับผู้นำและนักการเมืองทุกฝ่ายจะเห็นภาพแบบนี้หรือไม่ จะสัมผัสวัฒนธรรมความเป็นไทย จะรู้สำนึก และจะแก้ไขตนเองให้เป็นไปตามภาพนี้ได้หรือไม่
หากไม่ได้ในชั่วข้ามคืนก็ขอให้เข้าใจภาพ และเป็นผู้นำส่งเสริมความดีงามตามภาพก็ยังดี

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : February 23, 2021

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

สเปนนำร่องรถเมล์ไฟฟ้าไร้คนขับเป็นแห่งแรกของยุโรป

สเปนเริ่มใช้รถเมล์ไฟฟ้าไร้คนขับเป็นประเทศแรกในยุโรป โดยนำร่องในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่เมืองมาลากา ในแคว้นอันตาลูเซียทางตอนใต้ของประเทศ ทั้งนี้ เป็นหนึ่งในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสู่ระบบคมนาคมที่ยั่งยืน ซึ่งมุ่งเน้นการลดการปล่อยมลพิษ และการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน

โครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินการภายใต้โครงการความร่วมมือ AutoMOST R+D+I ระหว่างสภาเมืองมาลากา บริษัทให้บริการรถสาธารณะ Avanza และหน่วยงานพันธมิตร 11 แห่ง อาทิ บริษัท Irizar Group (Irizar e-mobility) และสถาบันการศึกษา อาทิ Polytechnic University of Madrid และ University of Vigo ทั้งนี้ AutoMOST ได้รับรางวัล Industrial Design Award in ITS จาก Spanish chapter of the Intelligent Transport Systems Society (ITSS)

เทคโนโลยีขับเคลื่อนไร้คนขับดังกล่าว ควบคุมผ่านศูนย์ควบคุมและสั่งการ โดยใช้ระบบกำหนดตำแหน่ง และระบบนำทางที่มีความแม่นยำสูง รวมถึงระบบติดตามผลเพื่อให้การเดินทางถึงที่หมายตรงตามเวลา โดยใช้ร่วมกับระบบปฏิบัติการสัญญาณไฟจราจรอัจฉริยะ (Smart Traffic Light) ซึ่งสภาเมืองมาลากา ใช้งบประมาณกว่า 1.8 แสนยูโร ในการพัฒนาระบบไฟสัญญาณจราจรอัจฉริยะเพื่อรองรับการทำงานของรถไร้คนขับ

ก่อนหน้านี้ มีการทดลองใช้ระบบดังกล่าวในรถขนาดเล็ก ขณะที่ครั้งนี้ เป็นการใช้งานจริงกับรถเมล์ขนาดความยาว 12 เมตร ซึ่งเป็นขนาดมาตรฐานของรถเมล์ที่ใช้ทั่วโลก จึงกล่าวได้ว่า เป็นโครงการนำร่องเพื่อการใช้งานอย่างแพร่หลายต่อไป ทั้งนี้ เมืองมาลากาส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบขนส่งมวลชนมาโดยตลอด โดยที่ผ่านมา นำระบบ contactless มาใช้ในการชำระค่ารโดยสารเป็นแห่งแรกในประเทศ

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นระบบขับเคลื่อนไร้คนขับ หากแต่ยังต้องมีพนักงานขับรถร่วมโดยสารไปด้วย เนื่องจากยังไม่มีกฏหมายรองรับ
ในชั้นนี้ จะทดลองให้บริการเป็นเวลา 3 สัปดาห์ ในระยะทางสั้นๆ ระหว่างท่าเรือ กับใจกลางเมือง และเมืองใกล้เคียง

ความเห็น สคต.
สเปนเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตยานยนต์หลักของยุโรป โดยอุตสาหกรรมดังกล่าวอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การผลิต ยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ทั้งรถส่วนบุคคล รถบรรทุก รวมถึงรถสาธารณะ จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย ที่จะขยายช่องทางการส่งออกสินค้าอุปกรณ์ และชิ้นส่วนยานยนต์ ที่ใช้ในยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงเทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องต่างๆ

ที่มา : https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/721812/721812.pdf&title=721812&cate=413&d=0

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.