CEO ARTICLE

ความไม่รู้

Published on May 11, 2021


Follow Us :

    

‘ส.ส.’ … ไปต่อไม่ได้ ยอมขอโทษ ‘กลุ่มซีพี’
หลังโพสต์มั่วโยง ‘CPTPP’

แนวหน้าออนไลน์ขึ้นหัวข่าวข้างต้นเมื่อวันเสาร์ที่ 8 พ.ค. 64 ภายหลังกลุ่มซีพีแถลงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับ CPTPP และเตรียมจะดำเนินคดีกับคนบิดเบือน
เพียงคำ ‘CP’ ที่อยู่หน้า ‘CPTPP’ ทำให้กลุ่มซีพีถูกกล่าวหาอย่างบิดเบือนว่าอยู่เบื้องหลังเพื่อหวังจะกินรวบประเทศไทยจากการที่ไทยจะเข้าร่วมกับข้อตกลง CPTPP
ไม่มีใครอยากให้ใครกินรวบประเทศไทย แต่การใช้ข้อมูลแบบนี้มันขาดความน่าเชื่อถือ
CPTPP เป็นเรื่องระดับโลก ส่วนกลุ่มซีพีเป็นธุรกิจค้าขายเพื่อกำไรในประเทศไทย หากจะว่า CPTPP เกี่ยวกับกลุ่มซีพีทางอ้อมในฐานะคนไทยก็อาจจะใช่ แต่หากจะว่ากลุ่มซีพีอยู่เบื้องหลังและได้ประโยชน์ทางตรง “อันนี้ไม่ใช่แน่”
CPTPP มาจากคำว่า Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก นับเป็นข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ประเภทหนึ่งที่เริ่มคุยกันในปี 2549
CPTPP มีเจตนาโยงประเทศที่เชื่อมถึงกันผ่านทะเลแปซิฟิก (Pacific Ocean) ให้รวมเป็นเขตเศรษฐกิจเดียวกัน ส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกค้าขายระหว่างกัน
ทะเลแปซิฟิกกว้างใหญ่ไพศาล ประเทศที่เกี่ยวข้องจึงมีมากที่รวมทั้งอเมริกาใต้และเอเซียคนละซีกโลกเข้าไปด้วย ส่วนประเทศใดจะเข้าร่วมหรือไม่ก็เป็นสิทธิ์
สหรัฐเคยเข้าร่วม แต่ในปี 2560 อดีตประธานาธิบดีทรัมป์คงเห็นข้อเสียจึงประกาศถอนตัว ตอนนั้นเหลือ 11 ประเทศเดินหน้าต่อคือ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ซีลิ มาเลเซีย ญี่ปุ่น เม็กซิโก นิวซิแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม
ทุกอย่างมีได้ก็ต้องมีเสีย ประเทศไทยกังวลเรื่องการห้ามเกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครองไว้ปลูกในฤดูกาลถัดไป เรื่องสิทธิบัตรยา และข้อเสียอื่นจึงยังไม่เข้าร่วม
เดือน มิ.ย. 2563 เศรษฐกิจเริ่มตกจาก Covid-19 สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท. ออกมาประกาศสนับสนุนให้ไทยเข้าร่วมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และยังรวมไปถึงการเข้าร่วมกับข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) อื่น ๆ อีกด้วย
กระทรวงพาณิชย์ขยับ สรท. สนับสนุน แต่ CPTPP ก็มีข้อดีและข้อเสียอย่างว่า ผู้สนับสนุนและผู้ต่อต้านจึงออกมาแสดงพลังโดยเฉพาะข้อเสียที่เกษตรกรอาจได้รับ
แบบนี้ใครจะเป็นผู้ตัดสินใจแทนประชาชนผู้มีส่วนได้และส่วนเสีย มันจึงหนีไม่พ้นนักการเมืองที่ประชาชนเลือกมาทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารที่ต้องร่วมมือกันพิจารณาข้อดี ข้อเสีย และตัดสินใจแทนคนไทยทั้งประเทศ
มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนามคู่แข่งสำคัญของไทยเข้าร่วม CPTPP ไปแล้ว สหรัฐในยุคไบเดนอาจเข้าร่วมใหม่ และยังไม่รู้ว่าจะมีประเทศไหนเข้าร่วมอีก
ส่วนประเทศไทยยังวนเวียนอยู่กับความขัดแย้งทางการเมือง และความไม่รู้ของประชาชนอีกมาก ยังกังวลข้อเสีย ไม่รู้จะไปทางไหน แล้วจู่ ๆ กลุ่มซีพีก็ถูกดึงเข้ามา
โชคดีที่นักการเมืองคนปล่อยข่าวมีความสุภาพพอ รู้ตัว อาจกล่าวเพียงล้อเล่น แดกดัน จึงยินยอมขอโทษเพื่อขอยุติเรื่องแทนการดันทุรังอย่างที่เคยเห็นจนทำให้บ้านเมืองไม่สงบ มีแต่เรื่องกระทบกัน เอาชนะกัน ขึ้นโรงขึ้นศาลไม่รู้จบ

นักการเมืองไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง แต่ก่อนที่คิดจะทำหรือเล่นเรื่องอะไร นักการเมืองต้องศึกษาเรื่องนั้นให้รู้ข้อดีและข้อเสียที่แท้จริงเพื่อบอกประชาชนก่อนให้สมกับที่ได้รับเลือกมา
ในอดีต นักการเมืองที่หาคะแนนนิยมจากความไม่รู้ของประชาชนมีมาก แต่ปัจจุบัน โลกเปลี่ยนเร็ว ข่าวสารข้อมูลมาเร็ว ประชาชนรู้มากขึ้นและเร็วขึ้น นักการเมืองรุ่นใหม่ก็เกิดมากขึ้น แต่กลับมีนักการเมืองบางคนยังคงหากินกับความไม่รู้ของประชาชน
นักการเมืองกลุ่มนี้มองว่า ประชาชนที่ชอบพระเอก เกลียดผู้ร้าย หลงไหลการเมืองแบบไม่ฟังเหตุผลมีมากจึงพยายามผลักคู่แข่งให้เป็นผู้ร้ายด้วยข้อมูลด้านเสียด้านเดียว
ประชาชนที่ฟังเหตุผลมี 1 เสียง ประชาชนที่ไม่ฟังเหตุผลก็มี 1 เสียงเท่ากัน
แต่ประชาชนที่เกลียดผู้ร้าย ไม่ฟังเหตุผลมีมากกว่า แบบนี้การสร้างคะแนนนิยมจากความไม่รู้ก็ง่ายกว่าและได้มากกว่า ข้อมูลด้านเสียด้านเดียวจึงถูกปล่อยในโลกโซเซียลทุกวัน
เช่น การด้อยค่าวัคซีนที่ไม่ชอบโดยไม่ฟังหมอ การโจมตีโรงพยาบาลสนามที่ไม่ขออนุญาตในภาวะฉุกเฉิน เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกแต่โจมตีเฉพาะไทย ประเทศอื่นดีกว่าไทยจนสร้างกระแสขอย้ายประเทศ เป็นต้น
ทั้งหมดเพื่อสร้างความเกลียดชังผู้ร้าย สาดด้านเสียแก่กัน ไม่ร่วมมือกันในภาวะฉุกเฉินทั้งที่ทุกประเทศร่วมมือกันจนประเทศไทยดูประหลาดกว่าชาติอื่นในเวลานี้
ความไม่รู้ไม่ใช่สิ่งผิด แต่การไม่ฟังหมอ อวดเก่งกว่าผู้รู้ และเล่นการเมืองด้วยข้อมูลด้านเสียด้านเดียวนี่เองที่ทำให้ประเทศไทยยังคงวนเวียนได้แค่ความเหลื่อมล้ำและวาทกรรมไม่รู้จบ

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : May 11, 2021

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

MSC เปิดตัวบริการใบตราส่งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับลูกค้าทั่วโลก

MSC Mediterranean Shipping Company (MSC) สายการเดินเรือชั้นนำระดับโลก เปิดตัวบริการใบตราส่งสินค้ารูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ eBL สำหรับผู้ใช้บริการทั่วโลก ผ่านแพลตฟอร์มเครือข่ายบล็อกเชนอิสระของ WAVE BL โดยบริการ eBL ใหม่ของ MSC จะช่วยให้ผู้ส่งสินค้าและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในซัพพลายเชนสามารถรับและส่งใบตราส่งสินค้าในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจประจำวัน และไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ผู้นำเข้า-ส่งออกสินค้า และผู้ประกอบการพาณิชย์ สามารถใช้บริการแพลตฟอร์ม WAVE BL ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตลอดปี 2021 โดยมีเพียงค่าใช้จ่ายในขั้นตอนการออกเอกสารต้นฉบับเท่านั้น อีกทั้งยังไม่จำเป็นต้องลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานใดๆ ในการใช้บริการออนไลน์ใหม่นี้

MSC เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงกระบวนการดำเนินธุรกิจสู่รูปแบบดิจิทัล โดยที่ผ่านมา ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งสมาคม Digital Container Shipping Association (DCSA) สายการเดินเรือฯ ได้เข้าร่วมโครงการนำร่องที่มุ่งเน้นการผลักดันการสร้างมาตรฐาน การเปลี่ยนผ่านกระบวนการดำเนินธุรกิจสู่รูปแบบดิจิทัล และสร้างความสอดประสาน ภายในอุตสาหกรรมขนส่งตู้สินค้าหลายโครงการ

โดยงานวิจัยของ DCSA ระบุว่า หากมีการดำเนินกระบวนการเอกสารผ่านบริการ eBL เพียงแค่ครึ่งหนึ่งของกระบวนการทั้งหมดภายในปี 2030 อุตสาหกรรมการขนส่งตู้สินค้าจะสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้มากถึง 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี พร้อมกันนั้น บริการ eBL ของ MSC ยังมาพร้อมกับสิทธิประโยชน์มากมาย เช่น ช่วยลดขั้นตอนการขนส่งเอกสารกระดาษภายในกระบวนการซัพพลายเชน โดยผู้ประกอบการขนส่งสินค้าจะสามารถแลกเปลี่ยนเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ข้ามประเทศได้ในทันที ซึ่งเป็นการกระชับระยะเวลาการถ่ายโอนเอกสาร รวมไปถึงรอบการชำระเงินที่สั้นลงด้วย นอกจากนี้ การใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการปลอมแปลง การสูญหาย และความผิดพลาดที่เกิดจากการทำงานของมนุษย์อีกด้วย

ที่มา : https://www.logistics-manager.com/th/msc-introduces-ebl-service-for-customers-worldwide/

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.