CEO ARTICLE

นอกอารักขา

Published on September 14, 2021


Follow Us :

    

“ทำไมไม่ขอคืนอากรขาเข้าตอนส่งสินค้ากลับออกไปขายต่างประเทศล่ะค่ะ ?”
“มันวุ่นวาย ดูเสี่ยงที่ต้องมีศุลกากรมาตรวจในคลังสินค้าของเรา … ได้ไม่คุ้มเสียนะซิครับ”

บทสนทนาข้างต้นเป็นเรื่องจริง ผู้ประกอบการบางรายนำสินค้าเข้ามาจากต่างประเทศ ชำระอากรขาเข้า สามารถส่งสินค้านั้นกลับออกไปจำหน่ายยังประเทศอื่น และทำกำไรได้
แต่กลับไม่ขอคืนอากรขาเข้าด้วยความเข้าใจแบบผิด ๆ ข้างต้น
ตัวอย่างการส่งกลับออกไป (Re-Export) เช่น นำเข้าจากจีน ชำระอากรขาเข้า และส่งออกไปจำหน่ายยังสหรัฐ ส่งออกไปคืนผู้ขายเดิม ส่งออกไปบริจาค ส่งออกไปใช้ประโยชน์ในสาขาต่างประเทศของตนเอง หรือส่งออกไปใช้สิ้นเปลืองในเรือหรือเครื่องบิน เป็นต้น
ในทางวิชาชีพเรียกว่า ‘การส่งออกนอกอารักขา’ ซึ่งหมายถึง สินค้านำเข้า ชำระอากรขาเข้าแล้ว นำออกจาก ‘อารักขา’ ของศุลกากรแล้ว และภายหลังถูกส่งกลับออกไปยังต่างประเทศ
คำว่า ‘อากรขาเข้า’ (Import Duty) ที่ต้องชำระ เป็นเจตนารมณ์ให้สินค้านำเข้ามีต้นทุนสูงกว่าสินค้าภายในประเทศ ทำให้มีราคาขายสูงกว่า ส่งเสริมผู้บริโภคให้ซื้อสินค้าจากภายในประเทศ ส่งเสริมการผลิต ทำให้เกิดการจ้างงาน และส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
ในเมื่อสินค้านำเข้าถูกส่งกลับออกไป ไม่ได้บริโภคภายในประเทศ อากรขาเข้าที่ชำระไปแล้วก็ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ดังกล่าวจึงต้องคืนให้
นี่คือ “หลักเจตนารมณ์” ของอากรขาเข้าและการส่งคืน
หากการส่งกลับออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศทำให้ได้เงินตราต่างประเทศ ได้กำไร ก็ยิ่งทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางค้ามากขึ้น ได้ประโยชน์ต่อประเทศ รัฐจึงส่งเสริม
นี่คือ “หลักการส่งเสริม” ของการสร้างไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการค้า
ยิ่งไปกว่านั้น มาตรา 28 แห่ง พรบ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 บัญญัติให้สินค้านำเข้าที่ชำระอากรขาเข้าไว้แล้ว หากส่งกลับออกไปและพิสูจน์ได้ว่าเป็นสินค้ารายเดียวกับที่นำเข้าก็ให้คืนอากรขาเข้า แต่ให้หักส่วนหนึ่งไว้เพียงไม่เกิน 1,000 บาท
นี่คือ “หลักกฎหมาย” ของการคืนอากรที่ชัดเจนด้วยเงื่อนไขง่าย ๆ เพียง 3 ข้อ ดังนี้
(1) “ไม่ใช้ประโยชน์ภายในประเทศไทย”
หมายถึง การเก็บรักษาไว้เฉย ๆ อาจเก็บเพื่อขาย แต่ไม่ได้ขาย และไม่ได้ใช้งานใด ๆ
ส่วนคำว่า “ไม่ใช้ประโยชน์” มีความหมายรวมถึง ไม่นำไปเป็นของตัวอย่าง ไม่นำไปแสดง ไม่นำไปทดลองใช้ ไม่นำไปทดสอบ หรือตัดส่วนหนึ่งเช่น การตัดผ้าผืนไปตรวจสอบ เป็นต้น
(2) “ของนั้นไม่เปลี่ยนแปลงสภาพหรือลักษณะ”
หมายถึง ตัวสินค้ามีลักษณะนำเข้าอย่างใดก็ส่งออกในลักษณะเดิมอย่างนั้น
กฎหมายใช้คำว่า “ของ” ซึ่งหมายถึง “สินค้า” ด้วย ไม่เกี่ยวกับ “หีบห่อ” ซึ่งสามารถเปลี่ยนหีบห่อและเปลี่ยน “เครื่องหมายและเลขหมาย” (Shipping Mark) ข้างหีบห่อเพื่อส่งออกได้ด้วย
(3) “ส่งกลับภายใน 1 ปี และยื่นขอคืนภายใน 6 เดือน”
หมายถึง การนับเวลา ณ วันที่เรือนำเข้าเทียบท่าไป 1 ปีเพื่อการส่งกลับออกไป และให้นับเวลา ณ วันที่เรือออกเดินทางที่มีหลักฐานไป 6 เดือนเพื่อการยื่นขอรับเงินคืนอากร

การพิสูจน์ว่าเป็นสินค้ารายเดียวกับที่นำเข้านั้นก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงรับศุลกากรมาตรวจที่คลังของเราเท่านั้น แต่ผู้ประกอบการที่มีสิ่งผิดกฎหมายก็อาจรู้สึกหวั่นเกรงเป็นธรรมดา
ทางแก้ไขทางหนึ่งคือ การจัดแยกพื้นที่ในคลังสินค้าเพื่อให้ศุลกากรตรวจพิสูจน์ หรือนำมาตรวจที่เขตศุลกากร หรือเสนอวิธีการพิสูจน์อื่นก็ได้แต่ต้องได้รับความเห็นชอบก่อน
ส่วนการเข้าสุ่มตรวจ ณ สถานประกอบการเพื่อค้นหาความผิดโดยศุลกากรที่มีข่าวปรากฎนั้นเป็นการสุ่มตามระบบ สุ่มตรวจตามบัญชีรายชื่อที่ต้องสงสัย และเป็นเรื่องปกติที่ผู้ประกอบการทุกรายจะอยู่ในบัญชีการตรวจค้นอยู่แล้ว
มันเป็นหน้าที่ของตัวแทนออกของ (Customs Broker) ทุกรายที่ต้องรู้ เสนอวิธีการพิสูจน์ ปฏิบัติตามเงื่อนไขการส่งกลับออกไปแบบ “นอกอารักขา” และนำเงินคืนอากรมามอบให้
ในกรณีที่สินค้าส่งกลับออกไปแบบ ‘นอกอารักขา’ ไม่อยู่ในเงื่อนไขกฎหมาย 3 ข้อ เช่น มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะสินค้า มีการผลิต ผสม ประกอบ บรรจุเป็นสินค้าใหม่ มีการใช้ประโยชน์ นำสินค้าไปแสดง นำไปทดสอบ หรือสินค้ายังอยู่ ‘ในอารักขา’ ของศุลกากร
กฎหมายศุลกากร และกฎหมายอื่นก็ยังคืนอากรขาเข้าได้ ให้ใช้ธนาคารค้ำประกัน หรือให้ยกเว้นภาษีอากรขณะนำเข้าเลยก็ยังทำได้อีกด้วย
ผู้ประกอบการเพียงเข้าใจหลักเจตนารมณ์ หลักการส่งเสริม และหลักกฎหมาย จากนั้นสั่งการให้ตัวแทนออกของทำหน้าที่ ป้องกันความเสี่ยง และนำเงินอากรขาเข้ามาคืนให้เท่านั้น

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group

ปล. ข้อความเต็ม มาตรา 28 แห่ง พรบ. ศุลกากร 2560
ผู้นําของเข้ามาในราชอาณาจักรและเสียอากรแล้ว หากส่งของนั้นกลับออกไปนอกราชอาณาจักร หรือส่งไปเป็นของใช้สิ้นเปลืองในเรือหรืออากาศยานที่เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ให้มีสิทธิขอคืนอากรขาเข้าสําหรับของนั้นเก้าในสิบส่วนหรือส่วนที่เกินหนึ่งพันบาทของจํานวนที่ได้เรียกเก็บไว้โดยคำนวณตามใบขนสินค้าขาออกแต่ละฉบับ แล้วแต่จํานวนใดจะสูงกว่า ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) ต้องพิสูจน์ได้ว่าเป็นของรายเดียวกันกับที่นําเข้ามาในราชอาณาจักร
(๒) ต้องไม่นําของนั้นไปใช้ประโยชน์ในระหว่างที่อยู่ในราชอาณาจักร เว้นแต่การใช้ประโยชน์ เพื่อส่งของนั้นกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และมิได้เปลี่ยนแปลงสภาพหรือลักษณะแห่งของนั้น
(๓) ได้ส่งของนั้นกลับออกไปนอกราชอาณาจักรภายในกําหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่นําของนั้น เข้ามาในราชอาณาจักร และ
(๔) ต้องขอคืนอากรภายในกําหนดหกเดือนนับแต่วันที่ส่งของนั้นกลับออกไปนอกราชอาณาจักร การขอคืนอากร การพิสูจน์ของ การส่งของกลับออกไป และการคืนอากร ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไป ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : September 14, 2021

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

อาเซียน : คู่ค้าและจุดหมายการลงทุนที่สำคัญของไต้หวัน

ผลการสำรวจความคิดเห็นของเหล่าผู้ประกอบการไต้หวันเกี่ยวกับการค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนจัดทำโดย Standard Chartered พบว่า ผู้ประกอบการไต้หวันเกือบทั้งหมดยังมั่นใจในศักยภาพของตลาดอาเซียน โดยร้อยละ 95 ของผู้ประกอบการเห็นว่า ผลประกอบการจากภูมิภาคนี้จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 91 ของผู้ประกอบการคาดว่า จะเพิ่มการลงุทนในภูมิภาคนี้มากขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 25 ภายในระยะเวลา 3-5 ปี ส่วนตลาดที่ผู้ประกอบการไต้หวันเห็นว่ามีศักยภาพมากที่สุด คือ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และไทย

โดยรายงานดังกล่าวชี้ว่า ปัจจัยที่ทำให้นักธุรกิจไต้หวันเข้าลงทุนในประเทศอาเซียนนั้น ร้อยละ 66 เห็นว่า การบริโภคภายในตลาดอาเซียนมีการขยายตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รองลงมาคือ ระบบห่วงโซ่อุปทานภายในภูมิภาคมีความพร้อมสมบูรณ์ (ร้อยละ 55) และเห็นประโยชน์จากการใช้อาเซียนเป็นช่องทางสู่ตลาดโลกผ่านการใช้ประโยชน์จากการทำ FTA ของประเทศในภูมิภาคนี้
(ร้อยละ 52) โดยนักธุรกิจไต้หวันเห็นว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ เป็นปัจจัยที่ดึงดูดให้ลงทุนในภูมิภาคนี้เป็นอย่างมาก ในขณะที่ร้อยละ 50 เห็นว่า นโยบายส่งเสริมการลงทุนของประเทศต่างๆ มีส่วนดึงดูดให้เข้าลงทุนในอาเซียน ในขณะที่ร้อยละ 32 ของผู้ประกอบการต้องการกระจายฐานการผลิตออกไปสู่ตลาดต่างประเทศ และร้อยละ 25 ถูกดึงดูดด้วยปริมาณแรงงานมีทักษะ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในภูมิภาคนี้

ผู้บริหารของ Standard Chartered เห็นว่า ในช่วงหลายปีมานี้ อาเซียนถือเป็นตลาดสำคัญของผู้ประกอบการไต้หวันที่ต้องการกระจายห่วงโซ่อุปทานเข้าสู่ระดับภูมิภาค และเป็นตลาดสำคัญในการจำหน่ายสินค้าด้วย โดยร้อยละ 43 ของผู้ประกอบการเห็นว่าตลาดที่มีศักยภาพมากที่สุด คือ สิงคโปร์ เนื่องจากมีโอกาสขยายตัวสูงจากการเป็น Regional Hub ในด้านการขนส่ง และมีความสามารถในการผลิตเซมิคอนดัคเตอร์ รองลงมาได้แก่ฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 39) มาเลเซีย (ร้อยละ 34) ไทย (ร้อยละ 32) อินโดนีเซีย (ร้อยละ 27) และเวียดนาม (ร้อยละ 25) โดยนอกจากการส่งออก Semiconductor ไปยังอาเซียน ซึ่งมีแนวโน้มความต้องการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการไต้หวันยังต้องการสร้างฐานการผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากแรงกดดันด้านภูมิรัฐศาสตร์และความตึงเครียดทางการค้า ประกอบกับเครือข่ายการผลิตของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ ทำให้ไต้หวันให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์การลงทุนในอาเซียนมากขึ้น

นอกจากนี้ การมีฐานการผลิตใน ASEAN จะทำให้ผู้ประกอบการไต้หวันได้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงทางการค้าจากข้อตกลง RCEP โดยเห็นตัวอย่างได้จากการเพิ่มกำลังการผลิตในเวียดนามโดยการลงทุนกว่า 270 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ของบ. Hong Hai Precision Industry Co.,Ltd. ยักษ์ใหญ่ด้านอิเล็กทรอนิกส์ของไต้หวัน เพื่อใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP
ที่มา : Taipei Times / Central News Agency / United Daily News (September 9, 2021)

ข้อคิดเห็น/เสนอแนะของสคต.
ทิศทางการค้าและการลงทุนของไต้หวันที่มุ่งไปยังภูมิภาคอาเซียนมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับนโยบาย New South Bound Policy ของประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน (Tsai, Ing-Wen) ของไต้หวัน ที่ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2016 นับจากการเข้ารับตำแหน่ง ความตึงเครียดระหว่างไต้หวันกับจีน และสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการไต้หวันต้องมองหาทางเลือกในการโยกย้ายฐานการผลิต โดยไทยนับเป็นหนึ่งในประเทศที่ผู้ประกอบการไต้หวันให้ความสนใจในการลงทุน การร่วมมือกับไต้หวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจที่ไต้หวันมีศักยภาพ เช่น อิเล็กทรอนิกส์, Bio-economy, Circular Economy น่าจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการเข้าถึงเทคโนโลยีและเครือข่ายการผลิตที่แข็งแกร่งได้

ที่มา : https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/752790/752790.pdf&title=752790&cate=413&d=0

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.