CEO ARTICLE

ส.ว. แต่งตั้ง

Published on November 9, 2021


Follow Us :

    

ส.ว. 250 คน ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่กลับได้สิทธิตัดสินใจเรื่องราวต่าง ๆ แทนคนทั้งประเทศหลายสิบล้านคน เช่น ‘การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี’ เพื่อสืบทอดอำนาจ
ทำอย่างไรจึงจะกำจัด ส.ว. แต่งตั้ง 250 คน ให้ออกไปจากการเมืองของไทย ???

‘ประชาธิปไตย’ เป็นเรื่องของการใช้ ‘สิทธิ’ และ ‘เสรีภาพ’ ของประชาชนด้วยเสียงส่วนใหญ่ในการทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งภายใต้กรอบของ ‘กฎหมาย’ ตัวอย่างเช่น
ประชาชนบางประเทศใช้ ‘สิทธิ’ และ ‘เสรีภาพ’ ด้วยเสียงส่วนใหญ่เลือกนักการเมือง จากนั้นก็ให้นักการเมืองใช้สิทธิแทนประชาชนออก ‘กฎหมาย’ ให้ค้าประเวณีได้ ให้เฆี่ยนตีได้ เป็นต้น
‘กฎหมาย’ จึงมีความสำคัญมากที่สุดในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องออกโดยประชาชนที่มี ‘สิทธิ’ และ ‘เสรีภาพ’ ด้วยเสียงส่วนใหญ่โดยเฉพาะ ‘รัฐธรรมนูญ’ ให้เป็นกฎหมายสูงสุด
แต่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้คือ การหาสถานที่ให้ประชาชนนับสิบล้าน นับร้อย หรือนับพันล้านคนมานั่งประชุมกันเพื่อออกกฎหมาย ประชาธิปไตยจึงออกแบบให้ประชาชนเลือกนักการเมืองให้เข้ามาทำหน้าที่ออกกฎหมายแทน และเลือก ‘ผู้บริหารประเทศ’ ให้มาขจัดทุกข์ บำรุงสุข และควบคุม ‘สิทธิ’ และ ‘เสรีภาพ’ ของประชาชนให้อยู่ภายใต้ขอบเขตของ ‘กฎหมาย’
ประชาธิปไตยจึงเป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประโยชน์ของประชาชน
ประเทศใดที่มี ‘กฎหมาย’ ออกโดยคณะบุคคล เช่น คณะรัฐประหาร ไม่ได้ผ่าน ‘สิทธิ’ และ ‘เสรีภาพ’ ของประชาชนด้วยเสียงส่วนใหญ่จึงถือว่าไม่เป็นประชาธิปไตย
ด้วยเหตุนี้รัฐธรรนูญ 2560 และคำถามพ่วงให้ ส.ว. แต่งตั้ง 250 คน เลือกนายกรัฐมนตรีได้เป็นเวลา 5 ปี จึงออกแบบให้ประชาชนใช้ ‘สิทธิ’ และ ‘เสรีภาพ’ ลงประชามติก่อนในวันที่ 7 ส.ค. 2559 และผลคือ ประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบ 16 ล้านเศษ และไม่เห็นชอบ 10 ล้านเศษ

ไม่มีใครเดาได้ถูกว่า ประชาชนในปี 2559 คิดอย่างไรจึงได้เห็นชอบกับ ส.ว. แต่งตั้ง 250 คน และให้รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการสืบทอดอำนาจด้วยเสียงมากกว่ามาก
แต่ปัจจุบัน กระแสต่อต้าน ‘ส.ว. แต่งตั้ง’ เกิดขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ในประเด็น ‘การสืบทอดอำนาจ’ โดยตั้งสมมุติฐานว่าประชาชนที่ลงมติในปี 2559 ไม่มีความรู้ในรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง
แต่ฝ่ายที่ ‘เห็นชอบ’ ก็แย้งว่าหากมีความรู้อย่างแท้จริง ประชาชนในปี 2559 ก็อาจลงมติเห็นชอบมากกว่า 16 ล้านเสียงก็ได้ ทุกอย่างเป็นการคาดเดา ถูกผิดเท่ากัน และย้อนแย้งกันในตัว
ประเด็นที่ย้อนแย้งกันคือ ‘ส.ว. แต่งตั้ง’ ไม่ได้มาจาก ‘การเลือกตั้ง’ ของประชาชนส่วนใหญ่ แต่กลับมีสิทธิในการตัดสินใจเรื่องแทนคนทั้งประเทศหลายสิบล้านคนจึงขาด ‘ความชอบธรรม’ แต่ ส.ว. 250 คนนี้มาจากประชามติของประชาชนด้วยเสียงส่วนใหญ่จึงกลับมี ‘ความชอบธรรม’
แม้เห็นชัด ๆ ว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ แต่ในเมื่อประชาชนในปี 2559 ได้ใช้ ‘สิทธิ’ และ ‘เสรีภาพ’ เห็นชอบรัฐธรรนูญ 2560 ให้เป็น ‘กฎหมาย’ สูงสุด ประชาชนในปี 2564 ก็ควรเคารพ
การแก้ไข ‘ความย้อนแย้ง’ นี้จึงควรย้อนกลับไปที่สิทธิ เสรีภาพ และกฎหมาย
1. เคารพเสียงส่วนใหญ่ของปี 2559 รอให้ครบ 5 ปี ให้สิ้นวาระไปเองตามบทเฉพาะกาล แต่ฝ่ายที่ไม่ชอบก็ค้านเพราะจะทำให้ ส.ว. แต่งตั้ง 250 คน ได้สิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีอีกรอบ
2. แก้ไขโดยนักการเมืองที่ประชาชนเลือกมา แต่นักการเมืองและประชาชนในปี 2564 ก็แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งอยากให้ยกเลิก ส.ว. แต่งตั้ง 250 คน อีกฝ่ายขอเคารพเสียงประชาชนปี 2559 ที่ต้องการให้มี ส.ว. แต่งตั้งเพื่อปฏิรูปประเทศตามวาระจนกลายเป็นความขัดแย้งครั้งใหญ่
3. ทำประชามติใหม่เพื่อดูว่าประชาชนในปี 2564 ที่มีคนรุ่นใหม่มากขึ้น เสียงส่วนใหญ่จะคิดเหมือนคนรุ่นปี 2559 หรือไม่ หรืออาจเปลี่ยนไป แต่อีกฝ่ายก็ค้านว่าประชามติเพิ่งทำ 5 ปีเอง ทำใหม่ต้องใช้เงินหลายพันล้านบาท ประเทศยังขาดเงิน และต้องมีกฎหมายรองรับ
ในแนวคิดและทฏษฏี ‘การเลือกตั้ง’ นักการเมืองโดยประชาชนย่อมดีกว่า ‘การแต่งตั้ง’ แน่
แต่การเอาแต่ตำหนิ ‘ส.ว. แต่งตั้ง’ นอกจากจะไม่เคารพเสียงส่วนใหญ่ในปี 2559 แล้วก็ยังทำให้คนในปี 2559 และปี 2564 แตกแยกกันมากยิ่งขึ้น เว้นแต่จะมีคนกลุ่มใดได้ประโยชน์จากการแบ่งประชาชนเพื่อแยกปกครองเท่านั้นจึงอยากส่งเสริมความขัดแย้งให้คงอยู่
แม้ทั้ง 3 แนวทาง จะเลือกทางไหนก็ได้ มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ แต่ก็เป็นการเคารพ ‘สิทธิ’ และ ‘เสรีภาพ’ ภายใต้ ‘กฎหมาย’ ของคนในปี 2559 และ 2564 ไปพร้อม ๆ กัน

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group

ปล. ผลการลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค. 2559 (https://th.wikipedia.org/wiki/)
เห็นชอบให้ใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ด้วยคะแนน 16,820,402 เสียง (61.35%) ไม่เห็นชอบด้วยคะแนน 10,598,037 เสียง (38.65%)
เห็นชอบกับคำถามพ่วงให้มี ส.ว. แต่งตั้ง 250 คน ให้มีอำนาจ เช่น เลือกนายกรัฐมนตรี และอื่น ๆ ใน 5 ปีแรกของรัฐธรรนูญด้วยคะแนน 15,132,050 เสียง (58.07%) ไม่เห็นชอบด้วยคะแนน 10,926,648 เสียง (41.93%)

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : November 9, 2021

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

“สินค้าไทย” พร้อมหรือไม่ สนามบินหนานหนิงเปิดใช้ “คลังสินค้าระหว่างประเทศ” แห่งใหม่ กรุยทางสู่ Hub ขนส่งสินค้ากับอาเซียน

มีความเคลื่อนไหวให้เห็นอย่างต่อเนื่องสำหรับ “ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง” (Nanning Wuxu International Airport/南宁吴圩国际机场) หลังจากที่เมื่อเดือนกันยายน 2564 เพิ่งได้รับอนุมัติจากสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน หรือ GACC ให้จัดตั้ง “สถานที่ตรวจสอบและควบคุมเฉพาะสำหรับผลไม้นำเข้า” ในท่าอากาศยานเพื่อรองรับการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง ได้เปิดใช้ “คลังสินค้าระหว่างประเทศ” แห่งใหม่อย่างเป็นทางการแล้ว หลังจากที่ได้ผ่านการตรวจรับจากสำนักงานศุลกากรหนานหนิงเป็นที่เรียบร้อย โดยคาดหมายว่า คลังสินค้าแห่งใหม่นี้จะช่วยขยายขีดความสามารถในการขนถ่ายสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศให้เพิ่มสูงขึ้น (แยกการทำงานออกจากการขนส่งสินค้าทางอากาศในประเทศ)

ตามรายงาน คลังสินค้าระหว่างประเทศแห่งใหม่นี้ มีพื้นที่รวม 8,200 ตร.ม. พร้อมรองรับการขนถ่ายสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศได้ 80,000 ตัน/ปี เป็นคลังสินค้าระหว่างประเทศที่มีฟังก์ชันรองรับการนำเข้า-ส่งออกอย่างครบครัน ทั้งสินค้าทั่วไป พัสดุส่งด่วนและไปรษณียภัณฑ์ รวมถึงสินค้ามีชีวิต (สนามบินแห่งนี้เป็นด่านที่ได้รับอนุมัติให้เป็นด่านนำเข้าสินค้ามีชีวิต และเคยนำเข้ากุ้งขาวแวนนาไมค์ (Penaeusvannamei) มีชีวิตจากไทยด้วย)

ด้วยความใกล้ชิดทางเศรษฐกิจการค้า และยุทธศาสตร์ Gateway to ASEAN ในทุกมิติ ทำให้ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิงกลายเป็นหนึ่งในกลไกที่รัฐบาลกว่างซี(จีน) กำหนดตำแหน่งให้เป็น Hub การบินที่ใช้เพื่อสร้างความเชื่อมโยงด้านการค้าสินค้าและภาคประชาชนกับประเทศสมาชิกอาเซียน เป็นด่านสากลทางอากาศที่สำคัญของจีนและเป็นหนึ่งในสนามบินที่เหมาะสมในการรองรับอากาศยานเมื่อต้องลงจอดระหว่างทางในเส้นทางบินระหว่างประเทศ (alternate airport)

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การบินพาณิชย์เป็นหนึ่งในภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะช่วงต้นของการระบาดที่มีมาตรการจำกัดการเดินทาง ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารลดลงอย่างมาก สายการบินได้ทยอยปรับตัวด้วยการหันมาขนส่งสินค้าแทนผู้โดยสาร

สำหรับเที่ยวบินคาร์โก้ “นครหนานหนิง-กรุงเทพฯ” ได้เริ่มเปิดให้บริการเที่ยวปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 เวลา 15:49 น. ด้วยเครื่องบินคาร์โก้รุ่น B757-200F ความจุ 29 ตันของ China Postal Airlines โดยมีบริษัท Guangxi Tianhang Internatinal Supply-Chain Co.,Ltd (广西天航国际供应链有限公司) เป็นผู้ดำเนินการ

สินค้าที่ขนส่งมาที่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นไปรษณีย์ภัณฑ์ที่สั่งซื้อผ่านระบบ Cross-border e-Commerce สินค้าทั่วไป และชิ้นส่วนที่ใช้ในงานวิศวกรรมก่อสร้าง ขณะที่สินค้าที่รับจากกรุงเทพฯ กลับไปที่นครหนานหนิง ส่วนใหญ่เป็นอาหารทะเล ปลาสวยงาม ดอกกล้วยไม้ และพืชผัก

สถิติข้อมูลด้านการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง มีดังนี้

ปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศมีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด จาก 821.7 ตันในปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 2,294.99 ตันในปี 2562 (1.8 เท่า) และเพิ่มขึ้นเป็น 10,858.4 ตันในปี 2563 (3.7 เท่า)
ข้อมูล ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2564 ท่าอากาศยานแห่งนี้มีปริมาณการขนถ่ายสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ รวม 14,730.29 ตัน เพิ่มขึ้น 77% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 และเพิ่มขึ้น 11.5 เท่าจากช่วงเดียวกันของปี 2562
เส้นทางบินคาร์โก้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากกรุงเทพฯ แล้ว ยังมีเส้นทางบินคาร์โก้กับนครโฮจิมินห์ของเวียดนาม กรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ กรุงพนมเปญของกัมพูชา กรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย สิงคโปร์ กรุงธากาของบังกลาเทศ กรุงกาฐมัณฑุของเนปาล มีเครื่องบินคาร์บินประจำการอยู่ 2 ลำ
บีไอซี เห็นว่า “ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง” เป็นอีกหนึ่งช่องทางใหม่ที่ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งใกล้ไทย (ระยะเวลาบินเพียง 2 ชั่วโมง) การเป็นตลาดใหม่ที่ยังมีคู่แข่งไม่มาก รวมทั้งการอำนวยความสะดวกของหน่วยงานภาครัฐ ในการบุกเบิกตลาดสินค้าสัตว์น้ำมีชีวิต กล้วยไม้ไทย และสินค้าทั่วไปที่ซื้อขายในรูปแบบ Cross-border e-Commerce เพื่อเจาะตลาดจีนตอนใต้ได้

ปีนี้ นครหนานหนิงเตรียมขยายโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งนี้ให้มีศักยภาพรองรับงานขนส่งทางอากาศที่เพิ่มมากขึ้น อาทิ ทางวิ่งเส้นที่ 2 ความยาว 3.8 กิโลเมตร รวมทั้งการเร่งเตรียมการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารที่ 3 (Terminal 3) และคลังสินค้า เพื่อให้มีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 48 ล้านคนครั้ง และปริมาณสินค้า 5 แสนตัน

ทั้งนี้ ผู้ค้าไทยสามารถใช้จุดได้เปรียบจากทำเลที่ตั้ง เพื่อใช้ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิงเป็นจุดกระจายสินค้าไปยังเมืองและมณฑลต่างๆ โดยไม่จำกัดรูปแบบการขนส่งเชื่อมต่อเฉพาะเครื่องบินเท่านั้นแต่ยังสามารถใช้รูปแบบการขนส่งทางถนนและทางรถไฟที่เชื่อมโยงถึงกันได้อีกด้วย

ในอนาคต ภายหลังจากที่ “สถานที่ตรวจสอบและควบคุมเฉพาะสำหรับผลไม้นำเข้า” ในท่าอากาศยานแห่งนี้ได้พัฒนาแล้วเสร็จ และผ่านการตรวจรับจาก GACC แล้ว ท่าอากาศยานแห่งนี้จะเป็นทางเลือกใหม่ที่ช่วยสร้าง “โอกาส” ให้กับผลไม้ไทยที่มีศักยภาพชนิดอื่นๆ ที่ผู้บริโภคชาวจีนยังไม่รู้จักมากนัก ผลไม้เกรดพรีเมียม รวมถึงผลไม้มีเงื่อนไขด้านเวลาและการขนส่ง (บอมช้ำง่าย เน่าเสียง่าย) อาทิ ลองกอง ขนุน ชมพู่ มะขาม จากผลไม้ไทยที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าทั้ง 22 ชนิดได้อีกด้วย

ที่มา : https://thaibizchina.com/

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.