CEO ARTICLE

ดีเซล 25 บาท

Published on November 23, 2021


Follow Us :

    

‘ภาษีสรรพสามิต’ เรียกเก็บจากสินค้าที่มีผลเสียต่อสุขภาพ ศีลธรรม ก่อให้เกิดมลภาวะ มีลักษณะฟุ่มเฟือย กระทบสิ่งแวดล้อม ได้ประโยชน์เป็นพิเศษจากรัฐ หรือเกิดภาระต่อรัฐบาล

นิยามข้างต้นทำให้สินค้าจำนวนมากต้องเสียภาษีสรรพสามิต เช่น สุรา ยาสูบ ไพ่ หินอ่อน เครื่องแก้ว เครื่องสำอางค์ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ พรม สนามกอล์ฟ อาบอบนวด น้ำมัน เป็นต้น
ใครไม่อยากเสียภาษีสรรพสามิตก็หลีกเลี่ยงการบริโภคสินค้าและบริการข้างต้น
แต่น้ำมันที่ใช้ในเครื่องยนต์เป็นสินค้าเดียวที่ประชาชนคนเมืองหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกคนต้องเดินทาง ต้องพึ่งพาการขนส่งเพื่อกระจายสินค้าอุปโภคและบริโภคให้มาถึงปากท้อง
ยิ่งรัฐบาลส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เป็นรายได้หลักของประเทศ น้ำมันก็ยิ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเคลื่อนย้ายคนไปท่องเที่ยวในแหล่งต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาค
หากจะกล่าวว่า น้ำมันก่อให้เกิดมลภาวะจากเครื่องยนต์ตามนิยาม ‘ภาษีสรรพสามิต’ ก็ใช่ แต่หากจะว่า น้ำมันคือความจำเป็นและเป็นต้นทุนที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต ก็ใช่อีก
กลางปี 2564 สถานการณ์ Covid-19 ทั่วโลกคลายตัว ความต้องการน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น เมื่อรวมกับค่าเงินบาทอ่อนตัวทำให้ราคาดีเซลที่อยู่ในระดับ 25 บาทต่อลิตรในเดือน พ.ค. 64 วิ่งสูงขึ้นเกิน 30 บาท ในเดือน พ.ย. 64 แต่ถูกนโยบายรัฐบาลควบคุมไว้ไม่ให้เกิน 30 บาท
การควบคุมทำให้กองทุนน้ำมันต้องติดลบลิตรละ 1.99 บาท แต่มีภาษีสรรสามิตฝังอยู่ราว 5.99 บาท รวมทั้งค่าการตลาดและอื่น ๆ (MGR Online 17.11.64) เป็นภาระให้ผู้ขนส่ง ผู้บริโภค และกลายเป็นต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศในภาพรวมให้สูงขึ้น
วันนี้ปัญหาการเมืองเริ่มทุเลาลง แต่เสียงเรียกร้องจากผู้ประกอบการให้ควบคุมราคาดีเซลไม่เกิน 25 บาทกลับดังขึ้นแทนที่พร้อมเสียงขู่จะหยุดรถขนส่งส่วนหนึ่ง รัฐบาลตอบโต้ด้วยการจะใช้รถทหารออกช่วยเหลือประชาชนโดยไม่มีแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนส่งที่ชัดเจน

ต้นทุนโลจิสติกส์ คือ ‘สัดส่วน’ ต่อ GDP (Gross Domestic Product) หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ในรายงานย้อนหลังตั้งแต่ปี 2560 – 2562 พบค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 13.5% – 13.6%
แต่ในปี 2563 กลับกระโดดสูงไปอยู่ที่ 14.1% ซึ่งสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และในปี 2564 ก็มีทีท่าจะสูงกว่านี้ (http//: nesdo.go.th)
หากจะกล่าวง่าย ๆ สินค้าและบริการที่มีราคาขาย 100 บาทในท้องตลาดไทยของปี 2563 จะมีค่าโลจิสติกส์ที่ผู้บริโภคต้องจ่ายรวมอยู่ในค่าสินค้าราว 14.10 บาท
สมมุติไม่ต้องมีค่าโลจิสติสก์ สินค้าที่ขายในราคา 100 บาท ก็จะเหลือ 85.90 บาท ทันที ตัวเลขที่สมมุตินี้ทำให้เห็นว่า หากไม่มีโลจิสติกส์ ค่าครองชีพจะลดลง แม้ไม่มากถึง 14.1% ก็ตาม
แต่ความจริงคือ สินค้าและบริการไม่มีมือ ไม่มีเท้าที่จะเดินไปหาผู้บริโภคได้เองจำเป็นต้องอาศัยกิจกรรมการโลจิสติกส์ (Logistics Activity) ตั้งแต่การรวบรวมวัตถุดิบ เข้าสู่การผลิต จนถึงการจัดเก็บ การเคลื่อนย้าย และการกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภคซึ่งต้องอาศัย ‘การขนส่ง’ ทั้งสิ้น
แม้การขนส่งจะหลีกเลี่ยงมาใช้ก๊าซ NGV มากขึ้น แต่ก็ใช้น้ำมันดีเซลไม่น้อย ราคาดีเซลที่สูงถึง 30 บาท จึงส่งผลต่อต้นทุนโลจิสติกส์โดยตรง อาจสูงเกิน 14.1% ในปี 2564 เมื่อผสมกับค่าไฟฟ้าที่มีข่าวจะสูงขึ้นในเดือน ม.ค. 2565 อีก แบบนี้ค่าครองชีพของประชาชนต้องสูงขึ้นแน่
เสียงขู่นี้ไม่ใช่การเมือง แต่มาจากผู้ประกอบการขนส่งที่เป็นหัวใจสำคัญของต้นทุนโลจิสติกส์ หากรัฐบาลยังยึดนิยามภาษีสรรพสามิต ไม่ยอมคิดนอกกรอบ ประชาชนก็ต้องเดือดร้อน
เมื่อค่าครองชีพสูงขึ้น เงินก็เฟ้อตาม ประชาชนที่มีรายได้ไม่พอจ่ายอยู่แล้วก็ต้องเดือดร้อนมากยิ่งขึ้น สุดท้ายก็หนีรัฐบาลต้องนำเงินภาษีมาแจกไม่พ้น
หากราคาดีเซลสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน การลักลอบนำเข้าจะมีมาก แต่หากรัฐบาลใช้เงินภาษีมาอุดหนุนจนราคาต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน การลักลอบส่งออกไปขายก็จะเกิดขึ้น
ทุกด้านมีดีและเสียคู่กัน แต่รัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจและควบคุมให้เกิดความสมดุล
ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือ รัฐบาลควรคิดนอกกรอบ ควรทบทวนสินค้าในนิยามภาษีสรรพสามิตและอัตราใหม่ ควรควบคุมราคาดีเซลให้ต่ำลงแม้ไม่ถึง 25 บาท เพื่อรักษาต้นทุนโลจิสติกส์ในภาพรวม ป้องกันการลักลอบนำเข้าและส่งออกไปในตัว และสร้างแนวทางให้ทุกฝ่ายเห็นอย่างชัดเจน
นายกรัฐมนตรีอาจไม่มีความรู้ทางเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องเสียหายเพราะนายกฯ ยังมีรัฐมนตรีและทีมเศรษฐกิจที่เป็นคนในคอยให้คำแนะนำ
แต่หากนายกฯ ฟังแต่เสียงคนใน ไม่ฟังเสียงคนนอกโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนส่งเพื่อหาแนวทางร่วมกัน ความเสียหายจะมีมาก ยิ่งหากนำรถทหารที่มีค่าน้ำมัน ไม่เหมาะกับการขนส่ง ให้มาเกี่ยวข้องทั้งที่ไม่ใช่ภัยพิบัติก็ยิ่งเห็นการไม่ร่วมมือแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ถูกทางมากยิ่งขึ้น
อะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยก็ขึ้นอยู่วิสัยทัศน์ นโยบาย และพฤติกรรมของภาครัฐทั้งสิ้น

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : November 23, 2021

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

ค่าระวางเรือนิวไฮรอบ 100 ปี หลังเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว

ผู้ประกอบการเผย ค่าระวางเรือพุ่งสูงสุดในรอบศตวรรษ คาดค่าขนตู้ส่งออกยังอ่วม หลังเศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัว

นายวิฑูรย์ สันติบุญญรัตน์ นายกสมาคมผู้รับจัดการขนสินค้าระหว่างประเทศ (TIFFA-Thai International Freight Forwarders Association) ผู้ประกอบการรับจัดการขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ให้กับผู้ส่งออกรายย่อย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์โควิดส่งผลกระทบต่อการขึ้นค่าระวางเรือในช่วง 2 ปี (2563-2564)

โดยค่าระวางเรือหรือค่าเฟรต (freight) มีการปรับขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 1/64 ไม่ต่ำกว่า 200-300% เช่น การขนส่งตู้คอนเทนเนอร์เส้นทางไทย-สหรัฐสำหรับตู้ 40 ฟุต (ตู้ FEU-forty equivalent unit) จากเดิม 5,000 เหรียญสหรัฐ เพิ่มเป็น 15,000 เหรียญสหรัฐ

“ถือว่าสูงสุดในรอบ 1 ศตวรรษ ค่าขนส่งแพงแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแม้ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเคยปรับขึ้นถึง 100 เหรียญต่อบาร์เรล แต่ก็ไม่ได้มีการปรับค่าเรือร้อนแรงขนาดนี้ คาดว่าปีนี้ปีหน้าค่าขนตู้ส่งออกยังได้รับผลกระทบโควิดรุนแรง ทั้งค่าระวางเรือแพง และการแย่งตู้เปล่าของผู้ส่งออกไทยกับจีน”

สำหรับแนวโน้มไตรมาส 4/64 ประเมินว่าความต้องการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ส่งออก-นำเข้าจะฟื้นตัวกลับไปเทียบเท่ากับยุคก่อนโควิดในปี 2562 และดีมานด์จะสูงขึ้นเป็นลำดับในปี 2565 เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทั่วโลกทั้งสหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งขณะนี้มีความเชื่อมั่นจากการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ทำให้สามารถกลับมาทำธุรกิจและใช้ชีวิตได้ตามปกติมากขึ้น จึงมีความต้องการสินค้าส่งออกจากไทยเพิ่มขึ้น ถือเป็นไฮซีซั่นของการขนส่งสินค้าทางทะเลและทางอากาศ โดยเฉพาะดีมานด์ช่วงตรุษจีนในปลายเดือนมกราคม 2565

“เทรนด์การฟื้นตัวของดีมานด์ขนส่งทางเรือทำให้สร้างปัญหาต้นทุนค่าขนส่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ผ่านมาผู้ส่งออกไทยเผชิญปัญหาขาดแคลนตู้เปล่าที่จะนำมาขนสินค้าส่งออกอยู่แล้วและยังแก้ไม่ตก ในช่วงไฮซีซั่นตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไปกำลังมีปัญหาใหม่งอกขึ้นมา เพราะสถานการณ์โควิด แม้รัฐบาลทุกประเทศในโลกมีนโยบายเปิดประเทศแต่ก็ยังมีมาตรการควบคุมโควิด ณ ท่าเรืออยู่ดี ทำให้เกิดปัญหาท่าเรือแออัด” นายวิฑูรย์กล่าว

ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-802284

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.