CEO ARTICLE

วิกฤติค่าระวางปลายปี

Published on November 30, 2021


Follow Us :

    

การค้าระหว่างประเทศเกี่ยวพันกับการนำเข้าและะการส่งออกโดยแบ่งการจัดการเพื่อเคลื่อนย้ายสินค้าออกเป็น 3 ช่วง คือ
ช่วงที่ 1 การจัดการภายในประเทศส่งออกกระทั่งสินค้านำขึ้นเรือบรรทุก (On Board)
ช่วงที่ 2 การจัดการระวางขนส่งระหว่างประเทศ (Freight)
ช่วงที่ 3 การจัดการภายในประเทศนำเข้ากระทั่งสินค้าส่งมอบถึงมือผู้ซื้อ (Delivery)

หากจะเชื่อมต่อการค้าระหว่างประเทศให้สมบูรณ์ต้องถือว่าการจัดการระวางขนส่ง (Freight) ในช่วงที่ 2 มีความสำคัญที่สุด
แต่ปัจจุบัน การขนส่งทางเรือ (Shipping) กลับประสบปัญหาหนักมากจนกลายเป็นวิกฤติที่หนักต่อการนำเข้าและการส่งออกของไทย
ประเด็นสำคัญเกิดจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 ตั้งแต่ปี 63 คนทั่วโลก WFH (Work from Home) กันมาก แต่งานขนส่งและตู้สินค้าในท่าเรือเกือบทั้งหมด WFH ไม่ได้
เรือสินค้าจำนวนมากจึงติดที่ท่าเรือ หลายลำลอยกลางทะเลรอเทียบท่า ตู้สินค้าขนถ่ายไม่ได้ ถูกกองในท่าเรือโดยเฉพาะท่าเรือในยุโรปและสหรัฐที่เป็นผู้บริโภครายใหญ่สุดของโลก
วิกฤติการณ์นี้ทำให้เรือขนส่งและตู้สินค้า (Container) ติดขัด ค่าระวางในปี 63 สูงกระทบต่อการนำเข้าและการส่งออกทั่วโลก ช่วงนั้นประเทศไทยก็วุ่นวายและหนีไม่พ้น
พอขึ้นปี 64 Covid-19 ในสหรัฐและยุโรปค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ แม้คนส่วนหนึ่งยัง WFH แต่คนกลับมาทำงานในท่าเรือมากขึ้น สถานการณ์เรือขนส่งและตู้สินค้าจึงค่อย ๆ คลายตัว
แต่ตั้งแต่กลางปี 64 เป็นต้นมา Covid-19 คลายตัวมากขึ้น เศรษฐกิจทั่วโลกกลับมาคึกคัก ความต้องการน้ำมันมากขึ้น ราคาน้ำมันก็ค่อย ๆ สูงขึ้น ความต้องการสินค้าก็เพิ่มขึ้น ตู้สินค้าเป็นที่ต้องการมากขึ้น ขณะที่ตู้สินค้าเดิมยังเคลียร์ไม่หมดก็ยิ่งทำให้ตู้สินค้าทั่วโลกขาดแคลนมากยิ่งขึ้น
จากข่าวที่พบในวันนี้ ตู้สินค้ามหาศาลยังถูกกองในหลายประเทศ เรือสินค้ายังลอยลำหน้าท่าเรือโดยเฉพาะในสหรัฐที่ท่า Los Angeles และ Long Beach (Prachachart Online 04.11.64) ส่งผลให้ค่าระวาง (Freight) มีต้นทุนสูงขึ้น กระทบต่อผู้นำเข้าและผู้ส่งออกของไทยหนักมากขึ้น
พอเข้าไตรมาสสุดท้ายปี 64 จีนซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลกก็ยิ่งเร่งการผลิต เร่งการส่งออกให้เสร็จสิ้นก่อนจะหยุดยาวช่วงเทศกาลตรุษจีนในต้นเดือน ก.พ. 65
ความต้องการตู้สินค้าที่สูงถึง 80% ของโลกในจีนทำให้เรือสินค้าและตู้สินค้าวิ่งไปสนอง
ด้วยเหตุนี้ ค่าระวางที่ต้องเชื่อมการส่งออกของไทยให้สมบูรณ์จึงเพิ่มมากกว่า 200% หรือ 300% เช่น ตู้ขนาด 40 ฟุตไปสหรัฐ จากเดิม US$ 5,000 ถูกเพิ่มเป็น US$ 15,000 (สมาคม TIFFA เผยแพร่โดย Prachachart Online 15.11.64) และผลกระทบก็ลามไปสู่การนำเข้าด้วย
ในสถานการณ์ที่หนักมากเช่นนี้ ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าของไทยควรทำอย่างไร ?

ประเทศไทยมีอำนาจการต่อรองค่าระวางเรือน้อยกว่าประเทศจีน สหรัฐ และยุโรปมาก
ในสถานการณ์ปกติ การจัดการและการวางแผนโลจิสติกส์สามารถสร้างความชัดเจนและต้นทุนค่าระวางที่เหมาะสมให้แก่ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าของไทยได้ แต่ในสถานการณ์วิกฤติ การขายสินค้าส่งออกควรขายในราคา EXW (Ex-Work) หรือ FOB (Free On Board) มากกว่า
EXW หมายถึง ผู้ซื้อต่างประเทศจัดการหาตัวแทนมารับสินค้าที่หน้าโรงงานเอง ส่วน FOB หมายถึง ผู้ส่งออกมีภาระเพียงนำสินค้ามาขึ้นเรือที่ท่าเรือในประเทศไทยเท่านั้น
ทั้ง EXW และ FOB เป็นเงื่อนไขการส่งมอบสินค้า (Term of Delivery) ที่ผู้ซื้อต่างประเทศมีภาระต้องจัดหาเรือสินค้าและตู้สินค้าเพื่อมารับสินค้าจากประเทศไทยเอง ซึ่งมีผลให้ความเสี่ยงในการจัดการระวางสินค้าของผู้ส่งออกไทยลดลง
ในทางตรงกันข้าม การนำเข้าก็ควรซื้อสินค้าในราคา CFR (Cost and Freight) มากกว่าซึ่งหมายถึง ราคาสินค้ารวมค่าระวางขนส่ง (Freight) แล้ว ทำให้ผู้ขายต่างประเทศต้องจัดการหาตู้และเรือสินค้าเพื่อขนส่ง ส่วนผู้นำเข้าก็ลดความเสี่ยงด้านการจัดการลงไปทั้ง ๆ ที่ยามปกติ การนำเข้าด้วยเงื่อนไขราคา EXW จะให้ประโยชน์ด้านการจัดการต่อผู้นำเข้าของไทยมากกว่าก็ตาม
อีกทางเลือกหนึ่งคือ การร่วมมือกับ Freight Forwarder หรือ International Logistics Provider ให้เป็นเครือข่ายในการจัดการหาตู้สินค้า เรือสินค้า และค่าระวางที่เหมาะสม
ค่าระวางช่วงปลายปี 64 ถึงต้นปี 65 จะวิกฤติมากขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นที่คาดว่าจะค่อย ๆ ดีขึ้นหลังเทศกาลตรุษจีน เว้นแต่ Covid-19 หรือวิกฤติอื่นจะเข้ามาแทรกแซงอีก
การเปลี่ยนเงื่อนไขการส่งมอบสินค้าให้เหมาะสม การวางแผนล่วงหน้าแต่เนิ่น ๆ และการสร้างเครือข่ายการจัดการระวางสินค้าในช่วงปลายปี 64 ถึงต้นปี 65 จึงเป็นการลดความเสี่ยงให้แก่ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าของไทยได้เป็นอย่างดี

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : November 30, 2021

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

3 สมาคมขนส่งทางเรือตั้งรับ ปี’65 กระอักระวางขาด-ค่า Freight พุ่ง

โอกาสที่การส่งออกไทยในปี 2565 จะขยายตัว 5% จากการฟื้นตัวของตลาด ทำให้เกิดความต้องการสินค้าสูงขึ้น แต่ทว่า “ผู้ส่งออก” ยังต้องเผชิญความท้าทายจากต้นทุนค่าระวางเรือที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเช่นเดียวกัน เพราะจากภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับขึ้น การขาดแคลนพื้นที่ (สเปซ) เรือ
ประเด็นนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือในเวทีการเสวนาออนไลน์ “สถานการณ์ขนส่งสินค้าทางทะเลและแนวโน้มอัตราค่าระวางเรือ ปี 2022” โดยทางสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) สมาคมเจ้าของเรือและตัวแทนเรือกรุงเทพฯ หรือ BSAA และสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ หรือ TIFFA เมื่อเร็ว ๆ นี้

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธาน สรท. ระบุว่า ภาพรวมการส่งออกปี 2564 จะขยายตัวมากกว่า 12% สูงสุดในรอบ 33 ปีเป็นผลมาจากตลาดจีนและสหรัฐฟื้นตัวมีความต้องการสินค้ามากขึ้น

ขณะที่ทิศทางการส่งออกปี 2565 สรท.มองว่าทั้งปีส่งออกไทยจะขยายตัว 5% เป็นผลมาจากตลาดต่าง ๆ เริ่มฟื้นตัวมากขึ้น มีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น แต่ผู้ส่งออกยังต้องเจอปัจจัยปัญหาเรื่องต้นทุนค่าขนส่งระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ยังไม่นับรวมปัญหาอื่นที่อาจจะส่งผลต่อการผลิต และต้นทุนผู้ผลิต ทั้งการขาดแคลนแรงงาน ต้นทุนแรงงาน ค่าเงินบาท เงินเฟ้อ การขาดแคลนวัตถุดิบ และปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยที่ผู้ส่งออกต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และต้องปรับตัว

“ค่า Freight เป็นปัญหาที่ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าทุกประเทศเจอเหมือนกันหมด โดยยังมองว่าในระยะ 6 เดือนจากนี้ค่า Freight จะยังไม่ปรับลดลง และสิ่งที่น่าห่วงตามมาคือ การขยายวงไปทั้งฝั่งเอเชียใต้ อินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา ที่จะเจอปัญหาดังกล่าวนี้เช่นกัน แนวทางแก้ไข ทาง สรท.หยิบยกประเด็นหารือในหลายเวที โดยเฉพาะในเวทีองค์การการค้าโลก (WTO) พร้อมเสนอให้ตั้งคณะกรรมการคอยกำกับ ติดตามกับปัญหานี้เพื่อหาความชอบธรรมร่วมกันด้วย”

ปรับตัวรับเอฟเฟ็กต์ “ค่าระวาง”

ในส่วนของเอกชนต้องปรับตัว เพื่อแก้ปัญหาค่าระวางเรือ พื้นที่บนเรือและตู้คอนเทนเนอร์ขาด โดยจะต้องตกลงกับลูกค้าให้ชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศสะดุด

สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามอีกประเด็นคือ การอำนวยความสะดวกด้านขนส่ง เพิ่มความคล่องตัวและหมุนเวียนการขนส่งสินค้าเข้าออกท่าเรือให้รวดเร็ว จะช่วยหมุนเวียนตู้คอนเทนเนอร์เข้าออกได้มากขึ้น ส่งผลดีต่อภาพการส่งออกของไทยในอนาคต และในระยะยาว ไทยต้องปรับ เพราะในส่วนของระบบโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรของไทยยังไม่เพียงพอรองรับความต้องการ หากไทยยังพึ่งการขนส่งทางเรืออย่างเดียวจะเป็นเรื่องยาก ดังนั้น การหาช่องทางการขนส่งอื่นเป็นสิ่งสำคัญ

นายชัยชาญยอมรับว่า ปัญหาเรื่องของต้นทุนสินค้าในปีหน้าเป็นความท้าทายของผู้ผลิต ผู้ส่งออกที่ต้องบริหารต้นทุนของสินค้าให้ได้ เพราะหากไม่ดำเนินการใดอาจจะมีผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อได้ ซึ่งรัฐบาลเองจำเป็นต้องเข้ามาดูแลหาแนวทางแก้ไขปัญหา

เรือใหม่เข้าระบบพุ่ง 30%

นายพิเศษ ฤทธาภิรมย์ ประธานสมาคม BSAA กล่าวว่า ผลจากการที่ประเทศต้นทางมีปัญหาความแออัดในการนำเรือเข้าท่า ส่งผลให้การหมุนเวียนตู้เรือทำได้ล่าช้า นำมาสู่ปัญหาการขาดแคลนพื้นที่ (สเปซ) ตู้เปล่าในเรือลดลง ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการส่งออก

โดยเฉพาะในเส้นทางหลักอย่างสหรัฐและสหภาพยุโรป อาจจะเจอปัญหาความล่าช้า ทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นทั้งการประกันความเสี่ยงสินค้า จากปกติใช้เวลา 6 เดือนจะขยายเป็น 1-2 ปี ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะต้องเผชิญปัญหานี้ต่อเนื่องระยะ 6 เดือนนี้ หรือไปจนถึงกลางปี 2565

อย่างไรก็ตาม สมาคมพบว่า จากสถานการณ์ความต้องการเรือ ตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงอัตราค่าระวางเรือที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ทำให้มีลูกค้าโดยเฉพาะจากจีนติดต่อให้มีการต่อเรือเพิ่มขึ้น และมีบริษัทสายเดินเรือขนาดใหญ่หลายสายเปิดให้บริการเช่าเรือและต่อเรือเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเรือขนาดใหญ่ที่บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ 1-2 หมื่นตู้

นั่นจึงทำให้จำนวนเรือเปล่าเพิ่มขึ้น 20-30% จากปกติ 24 ล้านทีอียู แต่ละปีจะเพิ่มเฉลี่ยเพียง 4-5 แสนทีอียูเท่านั้น แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเป็น 2 ล้านทีอียู และเป็น 4-5 ล้านทีอียู ล้อไปตามปัญหาค่าระวางเรือ ซึ่งการเพิ่มจำนวนเรือดังกล่าว มาพร้อมกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย ลดการใช้แรงงานบนเรือลงใช้ไม่เกิน 10 คนต่อลำ

“เมื่อจำนวนเรือเพิ่มขึ้นจะทำให้มีเรือว่างเพิ่มขึ้น พื้นที่บนเรือเพิ่มขึ้น คาดว่าใน 2-3 ปีข้างหน้าจะมีเรือส่วนเกินเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 30% ซึ่งเป็นปัญหาที่สายเรือจะต้องบริหารจัดการ และเชื่อว่าอนาคตค่าระวางเรือจะปรับตัวลดลงตามการส่งออกที่ย่อตัวลง”

TIFFA ผนึกพาณิชย์ช่วย SMEs

นายวิฑูรย์ สันติบุญญรัตน์ นายกสมาคม TIFFA กล่าวว่า ทางสมาคมร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จัดทำโครงการรวมกลุ่มเพื่อจองตู้สินค้า และร่วมกับ Thai Trade Center ของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ประจำสหรัฐ จัดหาระวางเรือ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในการหาพื้นที่ระวางเรือในการส่งออก ตาม trade lane ที่ผู้นำเข้า-ส่งออกแจ้งมา

พร้อมกันนี้ ยังได้นำเสนอให้มีการพัฒนา NDPT : national digital trade platform และ eLMP : e-Logistics market place ซึ่ง TIFFA EDI กำลังพัฒนาอยู่ เพื่อให้บริการทางด้าน digital connectivity ทุกภาคส่วนที่อยู่บนระบบ ecosystem

นอกจากนี้ ได้ฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยผลักดันและแก้ไขปัญหา เช่น การ turnaround time ของตู้สินค้า จาก 15 วัน ปรับลดเหลือ 7 วัน เพื่อให้การขนส่งเกิดความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมถึงปัญหาจัดเก็บ VAT 7% เหลือ 0% ของผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มเงินหมุนเวียนให้แก่ผู้ส่งออกด้วย

ชี้โอกาสเชื่อมไทย-จีน

อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งเห็นว่า การที่รถไฟความเร็วสูงเส้นทางคุนหมิง-เวียงจันทน์ ซึ่งจะเริ่มให้บริการวันที่ 2 ธ.ค. 2564 นี้ จะมีส่วนช่วยเชื่อมโยงการส่งผ่านสินค้าจากประเทศไทยไปเวียงจันทน์ ประเทศลาว และต่อเนื่องไปจีน น่าจะเป็นโอกาสดีสำหรับสินค้าผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด และลำไย สามารถช่วยลดความแออัดในการขนส่งทางทะเล และอาจจะส่งผลให้ต้นทุนค่าขนส่งถูกลงด้วย

https://www.prachachat.net/economy/news-809803

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.