CEO ARTICLE

HS Code 2022

Published on December 14, 2021


Follow Us :

    

1 มกราคม 2565 เลขรหัส ‘พิกัดฮาร์โมไนซ์’ ที่ใช้กำกับสินค้านำเข้าและส่งออกจะมีการเปลี่ยนแปลงจำนวน 225 ตอนย่อยในระดับโลก และจำนวน 604 ตอนย่อยในระดับอาเซียน
‘พิกัดฮาร์โมไนซ์’ คืออะไร และจะมีผลกระทบต่อผู้นำเข้าและผู้ส่งออกของไทยอย่างไร ?

‘พิกัดฮาร์โมไนซ์’ มาจาก 2 คำผสมกันคือ ‘พิกัดสินค้า’ และระบบ ‘ฮาร์โมไนซ์’
พิกัดสินค้าเป็น ‘เลขรหัส’ ที่ใช้กำกับสินค้านำเข้าและส่งออกทุกรายการ สาเหตุที่ต้องมีเลขรหัสก็น่าจะเกิดจากวัฒนธรรมการเรียกชื่อสินค้าของแต่ละประเทศแตกต่างกัน (ผู้เขียน)
เมื่อประกอบกับความชำนาญในการสื่อสารภาษาอังกฤษไม่เท่ากัน ชื่อสินค้าที่ใช้สื่อสารก็อาจถูกตีความเป็นอื่น ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีอากรและการควบคุมสินค้าผิดพลาดไปด้วย
ตัวอย่างเช่นคำว่า ‘Tissue’ คนไทยหมายถึง ‘กระดาษทำความสะอาดทุกประเภท’ ขณะที่ชาติอื่นเรียกแยกประเภท เช่น ‘Table Napkins, Facial Tissue, และ Toilet Paper’ เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้พิกัดสินค้า (Tariff Code) จึงถูกกำหนดขึ้นเพื่อใช้กำกับสินค้านำเข้าและส่งออกเพื่อสื่อความหมายให้ตรงกัน
พิกัดสินค้าน่าจะเริ่มตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินในปี 2396 โดยตอนนั้น กลุ่มสินค้าแบ่งไว้เพียง 5 กลุ่ม และมีเพียง 29 ประเทศเท่านั้นที่ยอมรับและใช้
97 ปีต่อมา ในปี 2493 สินค้าที่ซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศมีมากขึ้น พิกัดสินค้าจึงถูกจัดระบบใหม่โดยใช้ตัวเลข 4 หลัก แสดง ‘ชนิดสินค้า’ เพื่อให้ศุลกากรในประเทศสมาชิกเข้าใจตรงกัน และเรียกระบบที่จัดใหม่นี้ว่า ‘พิกัดสินค้าระบบ BTN’ (Brussels Tariff Nomenclature)
อีก 33 ปีต่อมา ในปี 2526 ก็พบว่า พิกัด BTN ให้ความหมายไม่สัมพันธ์กัน เกิดการตีความและความขัดแย้งระหว่างผู้นำเข้า ผู้ส่งออก และศุลกากรในประเทศสมาชิกมากขึ้น
องค์การศุลกากรโลก หรือ WCO (World Customs Organization) จึงร่วมกันสร้างระบบ ‘พิกัดสินค้า’ ใหม่ให้มีลักษณะ ‘ประสานกัน’ (Harmonize) ไปในทิศทางเดียวกันโดยเพิ่มตัวเลขเป็น 6 หลัก และเรียกระบบใหม่ว่า ‘พิกัดฮาร์โมไนซ์’ (Harmonized System Code) หรือ HS Code
HS Code ใหม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2531 โดยมีข้อกำหนดให้ปรับปรุงทุก ๆ 5 ปี เพื่อรองรับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้า ควบคุมและรักษาสภาพแวดล้อม สุขอนามัย และความปลอดภัยทางสังคม
แต่ประเทศในกลุ่มอาเซียนต้องการเพิ่มการเก็บสถิติ และการระบุสินค้าให้เจาะจงมากขึ้น จึงเกิด ‘ความตกลงด้านศุลกากรอาเซียน’ (ASEAN Agreement on Customs) โดยขอเพิ่มตัวเลขเข้าไปอีก 2 หลักเป็นเลข 8 หลัก ให้ใช้เฉพาะการนำเข้าและการส่งออกในกลุ่มอาเซียน
เลขพิกัด 8 หลักของกลุ่มอาเซียนถูกเรียกว่า ‘พิกัดอัตราศุลกากรฮาร์โมไนซ์อาเซียน’ หรือ AHTN (ASEAN Harmonized Tariff Nomenclature)
ปัจจุบัน ประเทศที่ใช้พิกัดฮาร์โมไนซ์ทั่วโลกมีถึง 176 ประเทศ จัดกลุ่มสินค้าได้ 21 หมวด แต่ละหมวดแบ่งเป็นตอน รวม 97 ตอน ไล่เรียงตั้งแต่ตอนที่ 01 ถึง 97
พิกัดตอนที่ 01 ถึง 97 เป็นตอนหลัก เมื่อแยกเป็นตอนย่อย 6 หลักในระดับโลกแล้วจะได้ถึง 5,387 ตอนย่อย แต่เมื่อแยกเป็น 8 หลักในระดับอาเซียนแล้วกลับได้ถึง 10,813 ตอนย่อย
การปรับปรุงมีมาทุก ๆ 5 ปี ส่วนที่จะเริ่มอีกครั้งในวันที่ 1 มกราคม 2565 จะทำให้ตอนย่อย 6 หลักระดับโลกเพิ่มอีก 225 ตอนย่อย รวมเป็น 5,612 ตอนย่อย และ 8 หลักระดับอาเซียนเพิ่มอีก 604 ตอนย่อยรวมเป็น 11,417 ตอนย่อย
ประเทศไทยเป็นสมาชิกทั้งองค์การศุลกากรโลกและศุลกากรอาเซียน การนำเข้าและการส่งออกของไทยจึงต้องใช้พิกัดระบบ ‘ฮาร์โมไนซ์’ ตัวเลขทั้ง 6 หลักและ 8 หลักตามไปด้วย

ปัจจุบัน HS Code ถือเป็นส่วนหนึ่งของการค้าและกฎหมายระหว่างประเทศไปแล้ว การสำแดง HS Code ผิดพลาดจึงมีความผิด
ส่วนบทลงโทษจะมีมากหรือน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับผลที่ตามมา เช่น หากกระทบกับสิทธิประโยชน์จากการยกเว้นหรือลดหล่อนภาษี หรือภาษีอากรชำระขาดก็อาจมีค่าปรับสูงตามไปด้วย
หากสินค้าของท่านผู้นำเข้าและผู้ส่งออกไม่อยู่ในรายการที่เปลี่ยนแปลงก็มีผลกระทบน้อย
แต่หากท่านต้องการตรวจสอบเพื่อความมั่นใจก็สามารถทำได้ถึง 3 ทาง คือ 1. ตรวจสอบกับผู้ชำนาญการศุลกากร (Customs Specialist) ที่มีความรู้ หรือ 2. ตรวจสอบทางวาจากับกองพิกัด หรือทางเว็บไซต์กรมศุลกากร (www.customs.go.th)
การตรวจสอบทั้ง 2 ทางนี้ไม่สามารถนำไปอ้างอิงในทางกฎหมายได้ และโดยทางที่ 3. การทำหนังสือสอบถามอย่างเป็นทางการ มีค่าธรรมเนียม และสามารถใช้อ้างอิงในทางกฎหมายได้
ส่วนวิธีการทำหนังสือที่ดีที่สุดคือ การร่วมกับตัวแทนออกของ (Customs Broker) ที่ท่านใช้บริการให้ช่วยดำเนินการ
HS Code 2022 ที่เปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นไปตามวิวัฒนาการของโลกและข้อกำหนดทุก ๆ 5 ปีของ WCO ซึ่งท่านผู้นำเข้าและผู้ส่งออกควรมีความเข้าใจไม่มากก็น้อย

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group

ป.ล. ตัวอย่างสินค้าใหม่และรหัสพิกัด 4 หลักที่ยังไม่แยกย่อยใน HS Code 2022 ที่กรมศุลกากรให้มาเป็นตัวอย่าง เช่น ชุดตรวจสำหรับใช้ในห้องปฏิบัติการ (38.22) ผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยนิโคติน (24.04) เครื่องพิมพ์ 3 มิติ (84.85) เศษและของที่ใช้ไม่ได้ทางไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (85.49) อากาศยานไร้คนขับ (88.06) เป็นต้น
รายการสินค้าที่จะมีการเปลี่ยนแปลงประกอบด้วย เกษตรกรรม เครื่องจักร เคมีภัณฑ์ ไม้ โลหะ ยานพาหนะ สิ่งทอ และสินค้าอื่น ๆ อีก 52 รายการ
อ้างอิง http://boi.go.th//พิกัดอัตราศุลกากร, สำนักพิกัดอัตราศุลกากร

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : December 14, 2021

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

ท่าเรือเวียดนามติดอันดับใน 50 ท่าเรือมีประสิทธิภาพของโลก

ท่าเรือหลักเวียดนาม 3 แห่งได้รับการจัดอันดับให้อยู่ใน 50 อันดับแรกจากการประเมิน Container Port Performance Index (CPPI) โดย World Bank และ IHS Markit โดยทางเรือใหญ่ของเวียดนามที่ได้รับการประเมินอยู่ใน 50 อันดับแรก ได้แก่

1) ท่าเรือนานาชาติก๊ายลาน (Cai Lan International Container Terminal) ในจังหวัดกว๋างนิญ (Quang Ninh) อยู่ในอันดับที่ 46

2) ท่าเรือห๋ายฟอง (Hai Phong) ในจังหวัดห๋ายฟอง อยู่ในอันดับที่ 47

3) ท่าเรือนานาชาติก๊ายแม็ป (Cai Mep International Terminal) ในจังหวัดบ่าเหรี่ย-หวุงเต่า (Ba Ria-Vung Tau) อยู่ในอันดับที่ 49

ท่าเรือโยโกฮาม่า (Yokohama) ของประเทศญี่ปุ่นได้รับการจัดอันดับให้เป็นท่าเรือที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลก รองลงมาคือท่าเรือ King Abdullah ของประเทศซาอุดีอาระเบีย ท่าเรืออื่นๆ ใน 5 อันดับแรกคือ ท่าเรือชีวัน (Chiwan) ท่าเรือเซินเจิ้น (Shenzhen) ท่าเรือกวางโจว (Guangzhou) ของประเทศจีน และท่าเรือเกาชิ่ง (Kaohsiung) ของไต้หวัน ในขณะที่ สหรัฐฯ เป็นผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดในโลก โดยนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าประมาณ 2,500 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ท่าเรือลอสแองเจลิส (Los Angeles) และท่าเรือลองบีช (Long Beach) ของสหรัฐฯ รองรับการขนส่งสินค้าทางทะเลมากที่สุดในบรรดาท่าเรือของสหรัฐฯ แต่เป็นท่าเรือที่ได้รับการประเมินว่ามีประสิทธิภาพน้อยที่สุดในโลก จากการจัดอันดับที่ตรวจสอบท่าเรือคอนเทนเนอร์ 351 แห่งทั่วโลก โดยท่าเรือลอสแองเจลิส (Los Angeles) อยู่ในอันดับที่ 328 และท่าเรือลองบีช (Long Beach) อยู่ในอันดับที่ 328
(แหล่งที่มา https://vietnamnet.vn/ ฉบับวันที่ 24 ตุลาคม 2564)

– วิเคราะห์ผลกระทบ

Container Port Performance Index (CPPI) ได้รับการประเมิน และให้คะแนนโดยอิงจากดัชนีต่างๆ โดยให้การเปรียบเทียบระดับประสิทธิภาพของท่าเรือทั่วโลก CPPI ท่าเรือที่มีประสิทธิภาพจะช่วยรับรองการเชื่อมต่อทางธุรกิจ ปรับปรุงความยืดหยุ่นของท่าเรือที่เป็นความสำคัญในระบบโลจิสติกส์ทั่วโลก ปัจจุบันเวียดนามมีท่าเรือ 3 แห่งที่ถือว่ามีประสิทธิภาพสูงติด 50 อันดับแรกของโลก ซึ่งแสดงให้เห็นศักยภาพในการจัดการสินค้าที่ท่าเรือเวียดนาม ซึ่งสามารถเชื่อมต่อทางระบบขนส่งทางราง และทางบกเป็นช่องทางหนึ่งในการขนส่งสินค้าไปยังประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศลาว สหภาพยุโรป เป็นต้น

– นำเสนอโอกาส / แนวทาง

ปัจจุบันรัฐบาลเวียดนามให้ความสำคัญการพัฒนาท่าเรือ และมีโครงการลงทุนในการพัฒนาท่าเรือของเวียดนามให้มีขีดความสามารถที่จะรองรับการจัดการสินค้าได้มากขึ้น รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงระบบการขนส่งทางราง และทางบก เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าไปยังประเทศจีน และสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ส่งออกไทยการขนส่งสินค้าผ่านทางเวียดนามไปยังตลาดปลายทาง และเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการ ด้านธุรกิจโลจิสติกส์ไทยที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้านโลจิสติกส์ในเวียดนาม ซึ่งมีแนวโน้มการขยายตัว

ที่มา : www.ditp.go.th

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.