CEO ARTICLE

หมูแพง 65

Published on January 18, 2022


Follow Us :

    

เนื้อหมูขึ้นราคาเป็นปัญหาที่หลอกหลอนคนไทยวันนี้ ดูเหมือนการแก้ไขปัญหาแบบทันใจคนไทยจะเป็นไปอย่างลำบากนอกจากการโทษดิน ฟ้า อากาศ และสร้างโวหารกันไปมา
หมูแพงและสินค้าขึ้นราคาเกิดขึ้นมานาน คนไทยจะหนีบ่วงกรรมนี้ให้พ้นได้อย่างไร ?

ต้นปี 2565 คนไทยและคนในหลายประเทศประสบปัญหาเหมือนกัน 2 ประการคือ หมูติดเชื้ออหิวาต์ ASF (African Swine Fever) และคนติดเชื้อ Covid-19 สายพันธ์ Omecon กันมาก
ยิ่งไปกว่านั้น ราคาน้ำมัน ก๊าซ อาหารที่จำเป็น สินค้าอุปโภค และบริโภคอื่นที่มีทีท่าจะขึ้นราคาตั้งแต่ปี 2564 ก็มาขึ้นราคาตั้งแต่ต้นในปี 2565
Covid-19 ทำให้คนเดินทางลดลง กิจการขาดรายได้ ปิดตัว การจ้างงานลดลง รายได้ของคนลดลง เมื่อมาเจอกับปัญหาหมูขาดตลาด น้ำมัน และสินค้าอื่นขึ้นราคาซ้ำเข้าไปอีก
มันจึงคล้ายบ่วงกรรมที่คล้องคอคนไทยให้หนีไม่พ้นจริง ๆ
ปัญหาค่าครองชีพต้องเกิดทั่วโลก ทุกประเทศจึงมีนักการเมืองให้เข้ามาทำหน้าที่รวบรวมข่าวสาร ข้อมูลล่วงหน้า กำหนดแผนงานล่วงหน้า กำกับข้าราชการ งบประมาณ และทรัพยากรต่าง ๆ ในการดำเนินการตามแผนงานที่กำหนดเพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้ ส่งผลกระทบต่อประชาชน
หากป้องกันแล้วปัญหายังเกิดก็เข้าสู่โหมดแก้ไขเฉพาะหน้า ตัวอย่างเช่น การเปิดให้นำเข้าเนื้อหมูภายใต้การควบคุมโรคโดยกรมปศุสัตว์ หรือให้นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป 3 เดือน เป็นต้น
หากเนื้อหมูและน้ำมันต่างประเทศแพงกว่า แต่ยังมีคนซื้อ แบบนี้ของในประเทศก็จะเหลือให้คนอื่นซื้อมากขึ้น รักษาราคาไว้ได้ แต่หากของต่างประเทศถูกกว่า คนซื้อมากกว่า แบบนี้ของในประเทศก็เหลือ ขึ้นราคาไม่ได้ แค่นี้ปัญหาสินค้าราคาแพงที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าก็แก้ไขได้ส่วนหนึ่ง
มันคือ ‘การทำงานเชิงรุก’ (Proactive) เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาของประเทศ

หากการเมืองไทยจะยึดการทำงานเชิงรุก นักการเมืองก็ต้องรู้กฎเบื้องต้น 2 ข้อนี้ก่อน
ข้อ 1 ‘ยึดผลประโยชน์ของประชาชน’ นักการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้ง และได้เงินเดือนต้องรู้หน้าที่ ตนเองอยู่ฝ่ายบริหารเรื่องอะไร หรืออยู่ฝ่ายตรวจสอบเรื่องอะไรก็ต้องหาข้อมูลของเรื่องนั้นให้มากเพื่อคาดการณ์ปัญหาที่จะเกิดขึ้นใน 6 เดือนหรือ 1 ปี หรือในอนาคต
ข้อ 2 ‘มีแผนงานล่วงหน้า’ โดยการนำข้อมูลรอบด้านจากข้อ 1 มาสร้าง มาเสนอแผนงานล่วงหน้า หรือออกกฎหมายเพื่อป้องกันปัญหามิใช่เกิดขึ้นจนส่งผลกระทบต่อประชาชน
เอาแค่กฎเบื้องต้น 2 ข้อนี้ ข่าวที่ปรากฏ เช่น หมูติดเชื้อ ASF มาหลายปี แต่กรมปศุสัตว์ไม่รายงาน ฝ่ายบริหารไม่กำกับ ไม่มีการพัฒนาระบบการเลี้ยงหมูให้ปลอดเชื้อ การปล่อยราคาน้ำมัน และสินค้าอื่น ๆ ให้ขึ้นราคา เป็นต้น ก็เห็นแล้วว่า นักการเมืองส่วนใหญ่ทำงานเชิงรุกได้น้อยจริง ๆ
เมื่อทำงานเชิงรุกน้อยก็กลายเป็นเชิงรับ (Reactive) มากกว่าและได้งานไม่คุ้มเงินเดือน
ข่าวที่เห็นในวันนี้ นักการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้งส่วนใหญ่เป็นทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายตรวจสอบจะอยู่ในเชิงรุกได้ 2 เรื่องเท่านั้นคือ รักษาอำนาจของตน และชิงอำนาจจากฝ่ายตรงข้าม
การแสวงหาข้อมูลน้อย การกำกับข้าราชการน้อย คิดได้แต่ในกรอบ ยึดแต่ระบบราชการ รอปัญหาให้เกิดก่อน ไม่มีแผนงานล่วงหน้า รอฝ่ายตรงข้ามให้ผิดพลาด เพลี่ยงพล้ำจากนั้นค่อยขึ้นมาเป็นผู้รู้ทุกอย่าง บอกต้นเหตุ ขึ้นมาบูลลี่ และโจมตีกันไปมา
วันนี้ ประชาชนจึงถูกปล่อยให้อยู่ในเชิงรับตามไปด้วย ขัดกฎทั้งข้อ 1 และ 2 ผลักประชาชนให้อยู่ในบ่วงกรรมซ้ำซากทั้งที่ประชาชนเป็นผู้เลือกนักการเมืองเหล่านี้มาด้วยมือ
หากจะหนีบ่วงกรรมให้พ้นก็คงมีวิธีการเดียวคือ ‘มือของประชาชน’ ผ่านการเลือกตั้ง
วันนี้ การเลือกตั้งในปี 2562 จบไปนานแล้ว ประชาชนก็เห็นแล้ว นักการเมืองคนไหนยึดผลประโยชน์ของประชาชนมาก่อนส่วนตนหรือพรรคพวก คนไหนมีแผนงานล่วงหน้าสม่ำเสมอ คนไหนยึดกฎหมายเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนได้ดี
เมื่อเห็นแล้วก็ต้องรู้แล้วว่า การแก้ไขปัญหาที่วนเวียนในวันนี้คงแก้ไม่ทันด้วยนักการเมืองที่ขาดวิสัยทัศน์ ทำงานเชิงรุกน้อย เอาแต่เล่นเกมการเมืองเพื่อชิงอำนาจและเพื่อรักษาอำนาจอย่างที่ส่วนใหญ่ของชุดนี้ทำอยู่จนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ในครั้งหน้า
ปัญหาหมูแพงต้อนรับปี 2565 ปัญหาน้ำมันและสินค้าอื่นขึ้นราคาล้วนมีข้อมูลล่วงหน้าทั้งสิ้น การคิดนอกกรอบ และทำงานเชิงรุกย่อมมีทางออกที่ดีกว่านี้ หากการเลือกตั้งครั้งหน้ายังเลือกนักการเมืองแบบเดิม ประชาชนก็ต้องรับบ่วงกรรมซ้ำซากเช่นเดิม
ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นอย่างไรก็จะเลือกนักการเมืองอย่างนั้น สุดท้ายนักการเมืองก็จะพาประเทศให้มีสภาพแบบนักการเมืองตามนั้นไปด้วย
หากต้องการเปลี่ยนประเทศเพื่อแก้บ่วงกรรมก็ต้องเปลี่ยนการเมือง จะเปลี่ยนการเมืองก็ต้องให้ประชาชนรับรู้ให้มากขึ้น การแชร์บทความที่ให้ความรู้ให้มากที่สุดจึงเป็นทางออกทางหนึ่ง

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : January 18, 2022

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

ขนส่งญี่ปุ่นเตรียมยกระดับบริการ ส่งสินค้าด้วยโดรนทางอากาศ

บริษัทขนส่งสินค้ารายใหญ่ของญี่ปุ่นได้เริ่มทดลองการส่งสินค้าด้วยโดรนทางอากาศในพื้นที่ภูเขา และเกาะที่เดินทางได้ลำบาก ซึ่งมีผู้สูงอายุอาศัยอยู่มาก มีความจำเป็นต้องซื้อของใช้ในชีวิตประจำวัน และเวชภัณฑ์ต่างๆ ทั้งนี้รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนผ่อนคลายกฎข้อบังคับการใช้โดรนในปี 2565 โดยจะอนุญาตให้บินผ่านพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่ เช่น พื้นที่อยู่อาศัยได้ บริษัทขนส่งต่างๆ จึงได้พยายามทดลองการขนส่งทางอากาศเพื่อให้สามารถใช้งานจริงได้ในอนาคตอันใกล้

บริษัทขนส่งรายใหญ่ในญี่ปุ่น Seino Holdings เป็นบริษัทแรกที่นำโดรนมาใช้ในการส่งสินค้าได้เป็นบริษัทแรก ภายใต้ความร่วมมือกับบริษัท Aeronext ซึ่งเป็นบริษัทในกรุงโตเกียวที่พัฒนาโดรนอยู่ ได้เริ่มให้บริการส่งสินค้าด้วยโดรนทางอากาศในหมู่บ้านโคสุเกะ จังหวัดยามานาชิ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ทั้งนี้บริษัทได้คาดการณ์ถึงสินค้าที่ลูกค้าจะซื้อ ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม และของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวันต่างๆ โดยนำสินค้าเตรียมเก็บเอาไว้ที่ฐานสำหรับจัดส่งที่ใกล้ที่สุดก่อนล่วงหน้า และใช้โดรนนำสินค้าที่ลูกค้าสั่งซื้อไปส่งตามเวลาที่ลูกค้าระบุว่าสะดวกในการรับสินค้าที่ “ฐานรับสินค้าโดรน” ซึ่งติดตั้งไว้ใกล้กับที่อยู่อาศัย พอโดรนนำสินค้ามาส่งที่ฐานรับสินค้า ก็จะมีอีเมล หรือการแจ้งเตือนไปยังผู้สั่งสินค้า เพื่อให้มานำสินค้าที่สั่งกลับไปจากฐานรับสินค้า

นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับร้านค้าท้องถิ่นเพื่อให้บริการเป็นตัวแทนในการไปซื้อสินค้าแทนลูกค้าอีกด้วย โดยผู้อยู่อาศัยเลือกสินค้าประมาณ 1,000 รายการจากซูเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่น แล้วจัดส่งสินค้าด้วยโดรนทางอากาศ ซึ่งมีการกำหนดค่าขนส่งด้วยโดรนไว้ที่ 300 เยน (ประมาณ 87 บาท) ต่อครั้ง ซึ่งถือว่ามีราคาไม่แพง หากเทียบกับค่าขนส่งสินค้าปกติในญี่ปุ่น

การบังคับโดรนนี้แบ่งระดับความยากออกเป็น 4 ระดับ โดยระดับ 1 เป็นระดับที่บังคับได้ง่ายที่สุด ผู้บังคับโดรนสามารถบังคับได้ด้วยสายตา และระดับ 4 เป็นระดับความยากสูงสุด ซึ่งเป็นการบินผ่านพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นโดยระบบอัตโนมัติ ซึ่งคาดว่าจะมีการใช้งานจริงภายในปีนี้ ในขณะนี้ บริษัทขนส่งแต่ละรายจึงทำการทดลองกันอย่างจริงจัง เพื่อเตรียมใช้งานส่งสินค้าด้วยโดรนทางอากาศในอนาคต

ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ไปรษณีย์ญี่ปุ่น (Japan Post) ได้ทดลองส่งพัสดุด้วยโดรนทางอากาศเป็นระยะๆ ในเมือง Okutama กรุงโตเกียว ทั้งยังมีระบบที่ย้ายพัสดุที่ส่งที่ฐานรับสินค้าโดรนไปบนหุ่นยนต์ แล้วนำส่งตามบ้านอีกที การทดลองนี้มีขึ้นเพื่อระบุปัญหาในการใช้งาน และนำไปพัฒนาต่อ เพื่อให้สามารถใช้งานจริงได้สำหรับที่ทำการไปรษณีย์ประมาณ 2000 แห่งซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่หุบเขา จากที่ทำการไปรษณีย์ประมาณ 24,000 แห่งทั่วญี่ปุ่น

นอกจากนี้ บริษัท Yamato Transport ซึ่งเป็นบริษัทขนส่งรายใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นภายในเครือ Yamato Holdings ก็เริ่มทดลองการส่งเวชภัณฑ์ด้วยโดรนทางอากาศในเมืองวาเคะ จังหวัดโอกายามะ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมาเช่นกัน โดยมุ่งที่จะสร้างระบบที่ผู้ป่วยสูงอายุสามารถรับยา และเวชภัณฑ์ได้โดยไม่ต้องออกจากบ้าน ภายใต้ความร่วมมือกับโรงพยาบาล และร้านขายยา บริษัท Yamato ก็รับผิดชอบเรื่องการบริการส่งสินค้าด้วยโรน ทั้งยังเผยว่าจะขยายบริการนี้ให้กว้างขึ้น โดยจะนำไปประยุกต์ใช้ส่งสินค้าอื่นๆ นอกจากยา และเวชภัณฑ์ด้วย

สำหรับบริษัท Sagawa Express บริษัทขนส่งรายใหญ่อีกรายในเครือ SG Holdings ก็เริ่มทดลองส่งพัสดุขนาดเล็กโดยขนส่งด้วยโดรนทางอากาศให้กับแต่ละครัวเรือน ใน 3 จังหวัด เช่น Shimane และ Kagawa โดยใช้ระบบ GPS ในการระบุตำแหน่งของสถานที่ส่งมอบสินค้า และควบคุมโดรนจากระยะไกลจากสำนักงานใหญ่ของ Sagawa Express ที่กรุงโตเกียว

บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย)
ธุรกิจขนส่งในประเทศญี่ปุ่นพัฒนาเรื่อยมา โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น ทำให้ความต้องการในความรวดเร็ว และปริมาณสินค้าที่ต้องจัดส่งมีเพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ในญี่ปุ่นเอง นอกจากพื้นที่เมืองซึ่งมีความต้องการในการใช้บริการการขนส่งสูง เนื่องจากความหนาแน่นของประชากรที่สูง แต่บริษัทขนส่งก็ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในการจัดส่ง ความพยายามในการนำโดรนมาใช้ในการส่งมอบสินค้า ก็ถือเป็นอีกทางออกสำหรับแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานพนักงานขนส่ง หากกฎระเบียบการอนุญาตให้ใช้โดรนส่งสินค้าในพื้นที่ประขากรหนาแน่นได้รับการผ่อนคลายลง ตลอดจนการส่งสินค้าในพื้นที่หุบเขา หรือพื้นที่ที่เข้าถึงได้ลำบาก แต่มีผู้อยู่อาศัยอยู่ การขนส่งทางอากาศด้วยโดรนก็เป็นอีกทางออกที่น่าจับตามอง เห็นได้จากความพยายามในการทดลองการใช้งานโดรนส่งสินค้าในพื้นที่ต่างๆ ของแต่ละบริษัทขนส่งรายใหญ่ในญี่ปุ่น ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มในอนาคตของธุรกิจขนส่งทั้งในญี่ปุ่น และอาจจะเป็นแนวทางที่จะสามารถขยายไปในประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศไทยได้ ถือเป็นการยกระดับการให้บริการด้านการขนส่งสินค้าให้สูงขึ้นไปอีกขั้นนั่นเอง บริษัท Yamato ทดลองส่งเวชภัณฑ์ทางอากาศในจังหวัดโอกายามะ

https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/760652/760652.pdf&title=760652&cate=413&d=0

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.