CEO ARTICLE

สินค้าตกทะเล

Published on January 25, 2022


Follow Us :

    

สินค้าขนส่งทางทะเลได้รับความเสียหาย ผู้ขนส่ง (Carrier) ต้องรับผิดชอบ
แต่ในกรณีเรือสินค้าประสบภัยพิบัติไม่คาดฝัน สินค้าสูญหาย หรือตกทะเล เจ้าของสินค้ารายที่โชคดี ปลอดภัยก็ยังต้องร่วมเฉลี่ยค่าเสียหายกับผู้ขนส่งให้กับเจ้าของสินค้าที่เสียหายด้วย

มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ เรือสินค้าที่ใช้ในการขนส่งทางทะเลอาจประสบภัยพิบัติไม่คาดฝันกลางทะเลจนสินค้าบางส่วนตกไปในทะเล สูญหาย และเสียหาย
บางกรณี กัปตันเรืออาจเป็นผู้สั่งการให้นำสินค้าทิ้งทะเล ทั้งนี้เพื่อรักษาความปลอดภัยให้แก่เรือบรรทุกและสินค้าของผู้อื่น หรือบางกรณีสินค้าไม่ได้ตกทะเล แต่เพียงได้รับความเสียหายในระหว่างการขนส่ง
กรณีเหล่านี้ เจ้าของสินค้าที่ได้รับความเสียหายย่อมสามารถเรียกร้องได้จากเรือสินค้าหรือผู้ขนส่ง (Carrier) ภายใต้กฎหมาย แต่กฎหมายก็มีเพดานจำกัดความรับผิดชอบให้ผู้ขนส่ง
พรบ. การรับขนส่งทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 58 จำกัดความรับผิดชอบของผู้ขนส่งไว้เพียง 10,000 บาทต่อหนึ่งหน่วยการขนส่ง (ใบตราส่ง) หรือ 30 บาทต่อกิโลกรัมน้ำหนักสุทธิของสินค้าแล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า
ตัวอย่างเช่น เครื่องจักรมีน้ำหนักสุทธิ 1,000 กิโลกรัม มีมูลค่าเสียหาย 2 ล้านบาท หากเป็นไปตามมาตรา 58 ผู้ขนส่งจะรับผิดชอบเพียง 30 บาทต่อกิโลกรัม หรือ 30,000 บาท เป็นต้น
แต่มาตรา 58 ก็มีข้อยกเว้นโดยมาตรา 60 หากเจ้าของสินค้าพิสูจน์ได้ว่า ผู้ขนส่งได้กระทำโดยเจตนา ประมาท หรือเลินเล่ออย่างร้ายแรงในระหว่างการขนส่งจนสินค้าเสียหาย หรือสูญหาย เจ้าของสินค้าก็อาจเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มจากเพดานที่กำหนดในมาตรา 58 ได้
ทั้งหมดเป็นไปตามจารีต และปัจจุบันได้กลายเป็นกฎหมายดังกล่าว
ในทำนองเดียวกัน จารีตกรณีสินค้าตกทะเล หรือถูกทิ้งทะเลไม่ว่าโดยภัยพิบัติ หรือคำสั่งของกัปตันเพื่อความปลอดภัยของเรือและสินค้าอื่น เจ้าของสินค้าที่ปลอดภัยก็ต้องจ่ายค่าเสียหายร่วมกับผู้ขนส่งเพื่อมอบให้กับเจ้าของสินค้าที่เสียหายด้วยเช่นกัน
เหตุผลง่าย ๆ เพราะความปลอดภัยที่ได้รับเกิดจากความสูญเสียของเจ้าของสินค้าอื่น
จารีตการเฉลี่ยค่าเสียหายมีหลักการ มีเหตุผล และพอรับฟังได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะน่ารับฟังได้เสมอ ยิ่งกรณีความเสียหายมีจำนวนมากเกินกว่าจะรับได้ หรือเจ้าของสินค้าที่ปลอดภัยไม่ยินยอม
ปัจจุบันจารีตได้พัฒนาเป็นกฎหมาย พรบ. การเฉลี่ยความเสียหายทั่วไปจากภยันตรายในการเดินเรือ พ.ศ. 2547 มาตรา 3 และ 6 บางส่วนสรุปได้ว่า ผู้ขนส่งหรือเจ้าของสินค้าที่ปลอดภัยจากภยันตรายต้องร่วมเฉลี่ยความเสียหายทั่วไปกับผู้ได้รับความเสียหายทั่วไปด้วย
ในเมื่อเป็นกฎหมาย ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกซึ่งอาจไปอยู่ในฐานะเจ้าของสินค้าอย่างไม่รู้ตัว สินค้าอาจเสียหายและได้รับการชดใช้ไม่เต็มจำนวน หรือสินค้าอาจปลอดภัย แต่สินค้าของผู้อื่นตกทะเลจนต้องร่วมเฉลี่ยค่าเสียหายจึงควรปัองกันตัวเองทุกครั้งที่มีการขนส่งทางทะเล
วิธีการป้องกันตัวเองที่ดีที่สุดคือ การมีกรมธรรม์ประกันภัยที่คุ้มครอง

การมีประกันภัย (Marine Insurance) เพื่อคุ้มครองการขนส่งระหว่างประเทศ (Shipping) หรือการขนส่งทางทะเล (Sea Freight) แม้กฎหมายจะไม่ได้บังคับ และสินค้าบางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องมีการประกันภัย
แต่อุบัติเหตุและภัยพิบัติทางทะเลก็เป็นเรื่องไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
ขณะที่การขนส่งทางทะเลก็มีทั้งข้อตกลงการส่งมอบ (Incoterms 2020) ที่กำหนดความรับผิดชอบ มีจารีต เพดานจำกัดความรับผิดชอบ การเฉลี่ยค่าเสียหายโดยเจ้าของสินค้าที่ปลอดภัย และมีกฎหมาย การมีประกันภัยที่คุ้มครองจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
ในกรณีส่งออกแบบ FOB (Free On Board) หรือเงื่อนไขอื่นที่ผู้ซื้อต่างประเทศเป็นผู้จัดหาประกันภัยเอง ผู้ส่งออกก็ควรสร้างความชัดเจนให้ผู้ซื้อต่างประเทศมีกรมธรรม์ในทันทีที่เรือสินค้าออกเดินทางจากท่าเรือประเทศไทย
ในกรณีนำเข้าแบบ FOB หรือเงื่อนไขอื่นที่ผู้นำเข้าจัดหากรมธรรม์ ผู้นำเข้าก็ควรเร่งให้มีกรมธรรม์คุ้มครองในทันทีที่เรือสินค้าออกเดินทางจากท่าเรือต่างประเทศเช่นกัน
ส่วนในกรณีส่งออกและนำเข้าแบบ CIF (Cost Insurance and Freight) ซึ่งรวมค่าประกันภัยในราคาสินค้าแล้ว ความเสียหายจากอุบัติเหตุและภัยพิบัติย่อมได้รับความคุ้มครอง
แต่จะต้องการคุ้มครองมากน้อยแค่ไหน ก่อนจะเสนอขายสินค้าส่งออก หรือสั่งซื้อสินค้านำเข้าก็ควรพิจารณาเงื่อนไขความคุ้มครอง หรือหารือตัวแทนประกันภัยที่น่าเชื่อถือก่อน
เบี้ยประกันถูกไม่ใช่จะคุ้มครองดีทั้งหมด และการคุ้มครองที่ดีทั้งหมดก็ไม่ใช่เบี้ยประกันถูก

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group

ปล. พรบ. การเฉลี่ยความเสียหายทั่วไปจากภยันตรายในการเดินเรือ พ.ศ. 2547 มาตรา 3 วรรค 6 “ผู้ที่ต้องร่วมเฉลี่ยความเสียหายทั่วไป” หมายความว่า เจ้าของเรือและเจ้าของทรัพย์สินซึ่งเรือหรือทรัพย์สินของตนรอดพ้นจากภยันตราย และสามารถเดินทางไปถึงท่าปลายทางหรือถึงท่าที่การเดินทางต้องสิ้นสุดลงตามมาตรา 6”

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : January 25, 2022

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

ซุปเปอร์มาร์เก็ตสหรัฐฯ ขาดแคลนสินค้า-อาหาร โอมิครอนกระทบการขนส่ง

ซุปเปอร์มาร์เก็ตสหรัฐฯ ขาดแคลนสินค้า อาหารเกลี้ยงชั้นวาง ผลพวงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนกระทบการขนส่ง

สำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า การแพร่ระบาดของโควิดโอมิครอน ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขเท่านั้น แต่ยังกระทบทำให้ซุปเปอร์มาร์เก็ตขาดแคลนสินค้า โดยเฉพาะอาหารเช่น เนื้อสัตว์ ขนมปัง และซุปกระป๋อง ซึ่งชาวอเมริกันจำนวนมากได้แชร์ภาพบนสื่อสังคมออนไลน์ แสดงให้เห็นชั้นวางสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งว่างเปล่า สินค้าหมดเกลี้ยง

การขาดแคลนสินค้าในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่ทำให้พนักงานภาคการขนส่งหลายรายต้องกักตัวหลังจากติดโรคโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถเข้าทำงานได้ กระทบต่อการขนส่งสินค้าทั่วสหรัฐอเมริกา ขณะที่กระบวนการผลิตอาหารนั้นไม่เอื้อต่อการบังคับใช้มาตรการควบคุมโรค นอกจากนี้สหรัฐฯยังต้องเผชิญกับปัญหาสภาพอากาศสุดโต่ง กระทบต่อการผลิตอาหาร ในขณะที่การขนส่งเป็นไปอย่างล่าช้า

ขณะเดียวกันนายแพทย์ แอนโทนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ระบุว่า โรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนนั้นมีอัตราการแพร่ระบาดที่รวดเร็ว และทุกคนมีโอกาสติดโรคโควิด-19 แทบทั้งสิ้น ซึ่งผู้ที่ไม่ยอมเข้ารับการฉีดวัคซีนจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วจะมีอาการไม่รุนแรงหากติดโรค

ที่มา : https://www.thairath.co.th/business/market/2286661

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.