CEO ARTICLE

มติลับมอร์ริส

Published on May 10, 2022


Follow Us :

    

3 พ.ค. 2565 ครม. มีมติลับมากให้ยุติการฟ้องกรณี ‘บุหรี่มอร์ริส’ ถูกจับกุมย้อนหลัง ถูกประเมินว่าภาษีที่ชำระขาดมหาศาล และขัดแย้งกันใน WTO (แนวหน้าออนไลน์ 4 พ.ค. 2565)
กรณีนี้ให้ข้อคิดอะไรกับผู้นำเข้า และทำไมเรื่องลับมากจาก ครม. จึงถูกเปิดเผย ??

บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ประเทศไทย) จำกัด หรือ ‘มอร์ริส’ เป็นผู้นำเข้าบุหรี่จากบริษัทแม่ในประเทศฟิลิปปินส์ระหว่างปี พ.ศ. 2546 – 50 มีการนำเข้ารวม 272 ครั้ง
การจับกุม การต่อสู้ที่ยืดเยื้อ และการโยงเข้าการเมืองจนเรียกกรณีนี้ว่า ‘บุหรี่มอร์ริส’
ตอนนั้น มอร์ริสสำแดงราคาบุหรี่ยี่ห้อ ‘Marlboro’ ประมาณ 7.76 บาทต่อซอง และยี่ห้อ ‘L & M’ ประมาณ 5.88 บาทต่อซอง แต่ศุลกากรไม่จับกุมขณะนำเข้าตั้งแต่แรก ในข่าวชี้ว่าอาจมีรางวัลนำจับจำนวนมากเป็นแรงจูงใจจึงทำให้เกิดการจับกุมย้อนหลัง (Post Audit)
จากนั้น กรมศุลกากรก็ร่วมมือกับ DSI ลงพื้นที่ร้านค้าปลอดอากรในไทยเพื่อสืบหาราคามาเปรียบเทียบ และพบว่า ‘King Power’ นำเข้าบุหรี่ยี่ห้อ ‘Marlboro’ ราคา 27.46 บาทต่อซอง และยี่ห้อ ‘L & M’ ราคา 16.81 บาทต่อซองซึ่งสูงกว่าราคาของ ‘มอร์ริส’ มาก
บุหรี่จัดเข้าสินค้าประเภทพิกัด 2402.20.90 อัตราอากรเวลานั้น 60% ภาษีสรรพสามิต 90% ภาษีบำรุงท้องถิ่น 10% ของภาษีสรรพสามิต และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ซึ่งรวมภาษีที่ต้องเสียแล้วประมาณ 231.20% ของราคาประเมิน ส่วนราคาขายปลีกของ ‘Marlboro’ อยู่ประมาณ 125 บาทต่อซอง และ ‘L & M’ ประมาณ 87 บาทต่อซอง
ราคานำเข้าของ ‘มอร์ริส’ ต่ำกว่า ‘King Power’ มาก ศุลกากรมองว่าผู้ซื้อและผู้ขายเป็นกิจการในเครือข่ายจึงไม่เชื่อถือราคา และพิจารณาอากรชำระขาด 306,497,667.87 บาท และที่หนักสุดคือ การกำหนดโทษปรับสูงสุด 4 เท่าซึ่งเป็นเงินค่าปรับถึง 1,125,990,671 บาท
เงินเยอะมาก ‘มอร์ริส’ ไม่ยอมรับ ไปร้อง WTO (World Trade Organization) โดยให้ยึดกฎของ GATT (General Agreement on Tariff and Trade) ที่ WTO กำหนดว่า ศุลกากรต้องยอมรับ ‘ราคาซื้อขายของที่นำเข้า’ เป็นลำดับที่ 1 ก่อน ย้ำว่าต้องเลือกใช้ ‘ลำดับที่ 1 ก่อน
แต่หากมีเหตุให้ไม่เชื่อถือจึงค่อยใช้ ‘ราคาซื้อขายของที่เหมือนกัน’ เป็นลำดับที่ 2 ซึ่งกฎของ GATT นี้ก็บรรจุอยู่ใน พรบ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 16 เช่นกัน
ราคาที่ซื้อขายกำหนดโดยบริษัทแม่ อาจดูไม่น่าเชื่อถือ และราคาที่ต่ำก็อาจไม่เป็นธรรมต่อผู้นำเข้ารายอื่น ศุลกากรจึงไม่ใช้ราคาซื้อขายลำดับที่ 1 หันมาใช้ ‘ราคาที่ซื้อขายของที่เหมือนกัน’ ของ King Power ในลำดับที่ 2 แทนตามกฎของ GATT และยื่นฟ้องมอร์ริสต่อศาลไทย
ในที่สุด ศาลก็พิพากษาตาม พรบ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 16 ให้มอร์ริสแพ้ แต่ WTO มีคำวินิจฉัยว่า การพิจารณาของไทยขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ให้ไทยใช้ราคาของมอร์ริสซึ่งเป็น ‘ราคาซื้อขายของที่นำเข้า’ ลำดับที่ 1 ในการประเมินภาษี
มอร์ริสยึดคำวินิจฉัยของ WTO แต่ศุลกากรยึดคำพิพากษาของศาลไทยจนเป็นความขัดแย้ง มีการอุทธรณ์ ขณะที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ยืนข้างมอร์ริส เข้าร่วมโต้ไทย เป็นกรณีพิพาทระหว่างประเทศ ไม่มีทีท่าจะยุติ เป็นมหากาพย์ และกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ในที่สุด 3 พ.ค. 2565 ครม. ก็มีมติลับให้ยุติการฟ้องร้องเนื่องจากไทยมีการลงทุนในฟิลลิปปินส์มาก การค้าและการลงทุนอาจเสียหาย

ผู้นำเข้าของไทยได้อะไร และเรียนรู้อะไรจากกรณี ‘บุหรี่มอร์ริส’ ที่เป็นมหากาพย์นี้
1. ‘ราคาซื้อขายของที่นำเข้า’ ในลำดับที่ 1 เป็นราคาที่ผู้นำเข้าทุกรายอยากใช้ประเมินภาษี
ผู้นำเข้าจึงไม่ควรทำให้ราคาซื้อขายไม่น่าเชื่อถือ แต่ควรจัดเตรียมหลักฐานการซื้อสินค้า การชำระเงินที่ยอมรับ สัญญาซื้อขาย และอื่น ๆ เพื่อแสดง ‘ความน่าเชื่อถือ’ ทุกครั้งที่นำเข้า
2. หากผู้นำเข้ามีข้อขัดแย้งด้านภาษีศุลกากรและต้องการต่อสู้ในชั้นศาล การวินิจฉัยของศาลจะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากวินิจฉัยไปตามกฎหมายศุลกากรที่ให้อำนาจพิเศษแก่ศุลกากร
ดังนั้น ผู้นำเข้าจึงต้องพิจารณาเลือกทนายความที่มีความรู้ด้านกฎหมายศุลกากร
3. การประเมินราคามาตรา 16 และตามระบบ GATT มีเจตนาเพื่อลดข้อพิพาทด้านภาษีระหว่างประเทศ หากผู้นำเข้าถูกประเมินภาษีไม่เป็นธรรรม ผู้นำเข้าก็ควรร้องเรียนไปยัง WTO
4. รางวัลนำจับเป็นส่วนแบ่งจากค่าปรับที่ศุลกากรผู้จับกุมจะได้ และเป็นสิ่งจูงใจให้มีการจับกุมบ่อยครั้ง ผู้นำเข้าจึงควรมีพื้นฐานความรู้เบื้องต้น หรือมีที่ปรึกษาด้านศุลกากรที่ดี
ในส่วนของมติลับนั้น อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการแยกจากกัน ก้าวก่ายกันไม่ได้
หากรัฐบาลยึดคำวินิจฉัยของศาลโดยใช้กฎหมายศุลกากร การค้าและการลงทุนระหว่างไทยและฟิลิปปินส์ย่อมได้รับผลกระทบ และถูกตอบโต้จนนักลงทุนหลายด้านของไทยเสียหาย
แต่หากรัฐบาลใช้อำนาจยุติการฟ้องร้องก็เป็นการก้าวก่ายอำนาจศาลที่ไม่ควรทำ
ไม่ว่าจะเดินไปด้านไหนก็มีทั้งผลดีและผลเสีย มติลับมากของ ครม. จึงถูกนำมาเปิดเผยเพื่อให้ผลเสียเป็นหัวเชื้อทางการเมืองที่จะนำไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาฯ เร็ว ๆ นี้
หากมติลับมีผล ‘บุหรี่มอร์ริส’ คงจบ ความสัมพันธ์ไทยกับฟิลิปปินส์คงดีขึ้น แต่เมื่อเข้าสู่การเมือง รัฐบาลก็อาจล้มได้จากผลเสีย การมองในภาพกว้าง แต่การก้าวก่ายอำนาจตุลาการ

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : May 10, 2022

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

ชิงต่าวเปิดตัวเรือคอนเทอนเนอร์อัจริยะนำทางด้วยตนเองลำแรกของจีน

วันที่ 22 เมษายน 2565 “เรือจื้อเฟย (智飞)” เรือคอนเทนเนอร์อัจฉริยะนำทางด้วยตนเองลำแรกของประเทศจีน ประเดิมการใช้งานอย่างเป็นทางการครั้งแรกที่ท่าเรือชิงต่าว มณฑลซานตง โดยได้บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ 37 ตู้ แล่นจากท่าเรือเฉียนวาน เมืองชิงต่าว สู่ท่าเรือรื่อจ้าว ตามเส้นทางที่ถูกกำหนดไว้ในระบบนำทางอัจฉริยะ ทั้งนี้การเดินเรือในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของจีนในด้านการวิจัยและการพัฒนาการนำทางอัจฉริยะของเรือ และยังมีนัยสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ การส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีเรืออัจฉริยะของจีนด้วย

เรือจื้อเฟยได้รับการออกแบบให้มีความยาว 110 เมตร กว้าง 15 เมตร ลึก 10 เมตร ความเร็วสูงสุดของเรืออยู่ที่ 12 นอต (Knot) เรือลำนี้เป็นผลสำเร็จจากโครงการวิจัยภายใต้พัฒนาแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติในการ “พัฒนาเทคโนโลยีหลักของการนำทางและการควบคุมเรืออัจฉริยะบนพื้นฐานของการทำงานร่วมกันระหว่างเรือกับชายฝั่ง” ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของบริษัท Intelligent Navigation (Qingdao) Technology Co Ltd, สถาบันวิจัย CSIC 704 สถาบันวิจัย การขนส่งทางน้ำแห่งประเทศจีน มหาวิทยาลัยการเดินเรือต้าเหลียน ตลอดจนสถาบันอื่น ๆ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเรือคอนเทนเนอร์ทั่ว ๆ ไป เรือจื้อเฟยมีฟังก์ชันเทคโนโลยีอัจฉริยะที่สำคัญเพิ่มขึ้นหลายประการ รวมไปถึงการฟังก์ชันการนำทางอัจฉริยะขั้นสูงที่ได้รับการพัฒนาขึ้น อาทิ การขับเรือด้วยรีโมทคอนโทรล การหลีกเลี่ยงการชนอัตโนมัติ และการเทียบท่าอัตโนมัติ เป็นต้น ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงานและยกระดับความปลอดภัยในการเดินเรือได้

เรือจื้อเฟยมีความสามารถในการแสดงตำแหน่งของเรือและสิ่งกีดขวางที่อยู่ใกล้เคียงอย่างแม่นยำ โดยผ่านเซนเซอร์กล้องและเรดาร์อินฟราเรด นอกจากนี้ การใช้โหมดการขับขี่อัตโนมัติก็สามารถทำได้โดยง่าย ด้วยการป้อนข้อมูลของท่าเรือปลายทางและเส้นทางเดินเรือเพียงเท่านั้น เรือก็จะสามารถขับเคลื่อนไปได้เอง โดยระหว่างเดินเรือหากมีเรือลำอื่นหรือสิ่งกีดขวางใด ๆ ระบบหลีกเลี่ยงการชนอัจฉริยะจะทำงานโดยอัตโนมัติตามระเบียบ International Regulations for Preventing Collisions at Sea (COLREGS) ส่งผลให้เรือจื้อเฟยสามารถนำสินค้าไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัย

นอต คือ หน่วยแสดงความเร็วตามระบบการเดินเรือ มีค่าเท่ากับ 1 ไมล์ทะเลต่อชั่วโมง หรือ 1.852กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ที่มา: https://thaibizchina.com

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.