CEO ARTICLE

กองเรือไทย

Published on May 17, 2022


Follow Us :

    

สายการเดินเรือเอกชนไทย สายการเดินเรือแห่งชาติ หรือจะเรียก ‘กองเรือไทย’ ก็ได้ ทุกชื่อสามารถทำให้ค่าระวางขนส่ง (Freight) ถูกลง และการจัดการโลจิสติกส์ทำได้ง่ายขึ้น
มันถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยควรมี ‘กองเรือไทย’ เพื่อขนส่งสินค้าของตนเอง ?

หลายปีที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมมอบให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย หรือ กทท. ทำข้อเสนอและติดตาม ‘การจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ’ ขึ้น กระทั่ง 8 เม.ย. 2565 กทท. ก็มีรายงาน
รายงานเสนอให้จัดตั้งเรือ 2 แบบคือ สายการเดินเรือชายฝั่ง (Domestics Shipping Line) เพื่อมุ่งบริการขนส่งชายฝั่ง และสายการเดินเรือระหว่างประเทศ (Charter Shipping) ซึ่งดูจากชื่อก็น่าจะเป็นการเช่าเหมาลำเรือต่างชาติ (Charter) มาให้บริการมากกว่า
ส่วนการถือหุ้น รายงานเสนอให้เลือกคือ กทท. ถือหุ้น 100% หรือ กทท. ถือหุ้น 51% ร่วมกับเอกชน หรือ กทท. ถือหุ้นระหว่าง 1-50% และที่เหลือให้เอกชนถือหุ้นใหญ่
ข้อเสนอนี้ทำในปี 2565 แต่กลับไปสอดคล้องกับท่าที ‘ไม่เห็นด้วย’ ของสภาหอการค้าไทยปี 2564 (ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ เผยแพร่ 7 ก.ค. 2564) ซึ่งเอกชนอื่นก็อาจไม่เห็นด้วย
เหตุผลที่ไม่เห็นด้วยของสภาหอการค้าไทยคือ ไทยเคยมีกิจการลักษณะนี้มาก่อนในชื่อ ‘บริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด’ เป็นรัฐวิสาหกิจ ไม่มีเรือเป็นของตัวเอง แต่เป็นการจ้างเรือต่างชาติให้มาขนส่งสินค้ารัฐบาล และให้สิทธิประโยชน์จากการเป็นรัฐวิสาหกิจ
ต่อมาก็เลิกกิจการ และจัดตั้ง ‘บริษัท บทด จำกัด’ (TMN Co., Ltd.) ขึ้นแทนโดยรัฐบาลถือหุ้น 30% และเอกชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นสายการเดินเรือถือหุ้น 70% มีเรือเป็นของตนเอง แต่เป็นเรือที่มุ่งให้บริการขนส่งน้ำมัน และการขนส่งชายฝั่ง ไม่ใช่เรือตู้สินค้า (Container) อย่างที่นิยม
ในเมื่อข้อเสนอคล้ายกิจการในอดีต และปัจจุบันก็มี บทด อยู่แล้ว สภาหอการค้าไทยจึงเสนอให้ใช้กลไกของ บทด ซึ่งน่าจะเหมาะสมกว่าโดยไม่จำเป็นต้องจัดตั้งกิจการใหม่

ข้อเสนอของ กทท. ข้างต้นเป็นเพียงข้อเสนอ อาจมีการเปลี่ยนแปลงภายหลัง อาจทำไม่ได้เลย หรือจริง ๆ แล้วอาจไม่คล้ายกับกิจการที่ บดท ดำเนินการอยู่ก็ได้
แต่การไม่เห็นด้วยและเหตุผลของสภาหอการค้าไทยกลับให้ข้อคิดตามมา
ปัจจุบันผู้ให้บริการโลจิสติกส์ต่างชาติจำนวนมาก ไม่มีเรือขนส่งเป็นของตนเอง เข้ามาเปิดสำนักงานสาขาเพื่อให้บริการในประเทศไทย แม้แต่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของไทยก็มีความรู้ ความสามารถ และออกไปเปิดสำนักงานสาขาในต่างประเทศก็มีไม่น้อย
ในแต่ละปี ผู้ให้บริการโลจิสติกส์เหล่านี้สามารถเคลื่อนย้ายสินค้าจำนวนมาก ผู้ให้บริการฯ บางรายมีการเช่าเหมาลำทั้งเรือและเครื่องบิน (Charter) เพื่อรับ-ส่งสินค้า และทำกำไร
การสร้าง ‘กองเรือไทย’ เป็นสิ่งที่ดี แต่หากสร้างขึ้นมาแล้ว กิจการยังบริหาร ยังจัดการ และยังทำการตลาดให้ได้สินค้ามาก ๆ จนเต็มลำเรือไม่ได้ ค่าระวางขนส่ง (Freight) ที่คิดว่าจะถูกลงก็คงไม่ถูก การจัดการโลจิสติกส์คงไม่ง่ายอย่างที่คิด และกิจการก็คงมีแต่ทรงกับทรุด
หากผู้นำเข้ายังรู้แต่เพียงการซื้อสินค้าด้วยเงื่อนไข CFR (Cost and Freight) ที่ผู้ขายเป็นผู้กำหนดระวางสินค้า หรือผู้ส่งออกยังป้องกันตนเองด้วยการขายสินค้าด้วยเงื่อนไข FOB (Free On Board) ที่ผู้ซื้อเป็นผู้กำหนดระวางสินค้า การสร้าง ‘กองเรือไทย’ ก็คงให้ประโยชน์ต่อไทยไม่มาก
สิ่งที่รัฐบาลควรทำมากที่สุดเวลานี้คือ ส่งเสริมความรู้การจัดการโลจิสติกส์ด้านการปฏิบัติจริง ๆ ไม่ใช่ความรู้แต่เพียงทฤษฏี และควรส่งเสริมมาตรการภาษีเพื่อจูงใจให้มากกว่าปัจจุบัน
ภาษีหัก ณ ที่จ่ายของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ที่ไม่มีพาหนะเป็นของตนเองควรลดลงจากร้อยละ 3 ให้เหลือ 1 เหมือนผู้ให้บริการฯ ที่มีพาหนะเพราะมีความรับผิดทางกฎหมายไม่ต่างกัน ภาษีเงินได้ และภาษีอื่น ๆ ก็ควรลดลงเพื่อจูงใจให้ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้มีความสามารถในการแข่งขัน
การส่งเสริมของรัฐบาลจะทำให้อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ตื่นตัว ผู้ให้บริการจะทำการตลาด จะเกิดการเรียนรู้ จะโน้มน้าวผู้นำเข้าให้ซื้อสินค้า และผู้ส่งออกให้ขายสินค้าด้วยเงื่อนไขที่ตนเป็นผู้กำหนดระวางสินค้า ทำให้อำนาจการจัดการและการต่อรองระวางสินค้ากลับมาอยู่ในมือคนไทย
ในที่สุดก็จะเกิดผู้บริหารที่มีความสามารถใหม่ ๆ และการเช่าเหมาลำที่ตรงกับตลาด
รัฐบาลจึงควรใช้กลไกของ ‘บริษัท บทด จำกัด’ ตามข้อเสนอของหอการค้าไทยไปก่อน ให้ บทด มีความสามารถที่จะเช่าเหมาลำเรือขนส่ง (Charter) แบบตู้สินค้า (Container) ให้ได้เหมือนที่เอกชนทำซึ่งจะนำไปสู่การมีเรือของตนเอง และการสร้าง ‘กองเรือไทย’ ในภายหลัง
หากจะว่า มันถึงเวลาแล้วที่ไทยควรมี ‘กองเรือไทย’ ก็ใช่ แต่หากจะว่า มันถึงเวลาที่รัฐบาลควรเริ่มจากการส่งเสริม ‘อุตสาหกรรมโลจิสติกส์’ ให้ตรงประเด็นก่อน ก็ใช่อีกเช่นกัน
ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของรัฐบาลที่จะมองเห็นอะไร และจะเดินไปทางไหนเท่านั้น

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : May 17, 2022

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

เซินเจิ้นนำเข้าทุเรียนมากที่สุดในจีน ปี 2564

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 กรมศุลกากรจีนเปิดเผยว่า เมื่อปี 2564 จีนนำเข้าทุเรียนจำนวน 821,500 ตัน มูลค่ากว่า 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.7 เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งในจำนวนนี้ ทุเรียนไทยคิดเป็นร้อยละ 90 โดยมีมูลค่ากว่า 3,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเมืองเซินเจิ้นเป็นเมืองท่าที่มีการนำเข้าทุเรียนมากที่สุดในจีน

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจวขอเรียนว่า ปัจจุบัน เมืองเซินเจิ้นมีการนำเข้าผลไม้ที่สำคัญผ่าน 3 ด่าน ได้แก่ (1) ท่าเรืออ่าวเซินเจิ้น (Shenzhen Bay Port) เป็นด่านทางบกที่ติดกับเขตบริหารพิเศษฮ่องกง (2) ท่าเรือเสอโข่ว (Port of Shekou) เป็นท่าเรือที่มีเส้นทางเดินเรือระหว่างท่าเรือแหลมฉบังกับท่าเรือเสอโข่วเฉลี่ยวันละ 1 – 4 เที่ยว ใช้ระยะเวลาขนส่ง 6 – 11 วันและ (3) ท่าอากาศยานนานาชาติเซินเจิ้น เป่าอัน (Shenzhen Bao’an International Airport) เป็นท่าอากาศยานที่มีเที่ยวบินขนส่งสินค้าระหว่างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกับท่าอากาศยานนานาชาติเซินเจิ้น เป่าอัน ซึ่งมีบริษัท S.F. เป็นบริษัทขนส่งสินค้า ซึ่งรองรับน้ำหนักบรรทุกประมาณ 25 ตัน/เที่ยว และมีการขนส่งสัปดาห์ละ 6 เที่ยว (ยกเว้นวันเสาร์) ทั้งนี้ นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2565 เมืองเซินเจิ้นได้เปิดเส้นทางการขนส่งทางราง ได้แก่ รถไฟสายเซินเจิ้น – ลาว – ไทย เป็นรถไฟตู้คอนเทนเนอร์แบบเย็นสายพิเศษ ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการขนส่งสินค้า

อนึ่ง นอกจากด่านนำเข้าที่เมืองเซินเจิ้นข้างต้นแล้ว จีนนำเข้าผลไม้จากไทยผ่านด่านอื่น ๆ ด้วย โดยด่านนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ด่านท่าเรือหนานซา (มณฑลกวางตุ้ง) ด่านโหย่วอี้กวน ด่านรถไฟผิงเสียง ด่านตงซิง ด่านท่าเรือชินโจว (เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง) ด่านโม่ฮาน (มณฑลยูนนาน) ด่านท่าเรือเซี่ยงไฮ้และด่านท่าอากาศยานนานาชาติเซี่ยงไฮ้ ผู่ตง (นครเซี่ยงไฮ้)

โดยที่ปัจจุบันจีนยังคงมีการดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิดอย่างเคร่งครัด ซึ่งหากมีการตรวจพบเชื้อโควิดจะต้องมีการดำเนินตามมาตรการโควิดที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้การส่งออกสินค้าดังกล่าวเข้าจีนประสบความล่าช้า ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรติดตามมาตรการท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การส่งออกสินค้าจากไทยสามารถเป็นไปด้วยความราบรื่น

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.